ต่อมาเมื่อมีการพิมพ์หนังสือเป็นเล่มขึ้นจึงได้มีการนำข้อความใบลานนั้นมาเรียงพิมพ์จัดทำพระไตรปิฎกเป็นเล่มหนังสือ โดยเฉพาะในประเทศไทยมีการพิมพ์พระไตรปิฎกเป็นเล่มหลายครั้ง ดังต่อไปนี้
๑. การพิมพ์พระไตรปิฎกครั้งแรกกระทำในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ มีการตรวจชำระและจัดพิมพ์ระหว่าง พ.ศ. ๒๔๓๑ - พ.ศ.๒๔๓๕ จำนวนครบชุดในครั้งนั้นมี ๓๙ เล่ม นอกจากใช้ประโยชน์ในราชอาณาจักรไทยแล้วยังได้ส่งไปยังสถาบันสำคัญต่าง ๆ ในต่างประเทศด้วย
๒. การพิมพ์ครั้งที่ ๒ จัดทำในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๗ มีการตรวจชำระสอบทานกับพระไตรปิฎกที่พิมพ์ในประเทศอื่น ๆ และบันทึกไว้เป็นหลักฐานด้วย การพิมพ์ครั้งนี้มีจำนวนพระไตรปิฎกเพิ่มขึ้นเป็น ๔๕ เล่ม เพิ่มเติมส่วนที่ยังขาดอยู่ ในการพิมพ์ครั้งแรก ระยะเวลาตรวจชำระและจัดพิมพ์ระหว่าง พ.ศ. ๒๔๖๘ - ๒๔๗๓ เมื่อมีผู้ต้องการมากขึ้นจึงได้มีการพิมพ์ซ้ำอีก ๒ ครั้งใน พ.ศ. ๒๕๐๒ และ พ.ศ. ๒๕๒๓ ในการนี้มหามกุฎราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ซึ่งได้รับมอบหมายจากทางราชการเป็นฝ่าย ดำเนินการเมื่อจัดพิมพ์ครั้งที่ ๒
๓. การพิมพ์ครั้งที่ ๓ จัดทำตามพระบรมราชโองการพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ ๙ ประกาศสังคายนาพระธรรมวินัยตรวจชำระพระไตรปิฎกลงวันที่ ๒๙ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๒๘ เพื่อให้มีการตรวจชำระและจัดพิมพ์พระไตรปิฎก เนื่องในมงคลดิถีที่ทรงเจริญพระชนมพรรษา ๕ รอบในวันที่ ๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๓๐ การดำเนินงานในครั้งนี้มีเวลา ๒ ปี และได้พิมพ์แล้วเสร็จทั้งฉบับภาษาบาลีและฉบับแปลเป็นภาษาไทย
โดยกรมศาสนา กระทรวงศึกษาธิการเป็นฝ่ายดำเนินงาน
๔. การพิมพ์ครั้งที่ ๔ มิใช่เป็นของ ทางราชการแต่เป็นผลงานของมหาวิทยาลัยสงฆ์ คือมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ซึ่งทำงานติดต่อกันมาเป็นเวลากว่า ๓๐ ปี และพิมพ์ได้สำเร็จใน พ.ศ. ๒๕๓๔ รวม ๔๕ เล่มชุด และในขณะเดียวกัน นอกจากจะพิมพ์พระไตรปิฎกฉบับภาษาบาลีแล้ว มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ยังได้จัดพิมพ์คำอธิบาย
พระไตรปิฎกที่เรียกว่า อรรถกถา ด้วยการดำเนินงานของอาจารย์ท่านหนึ่งแห่งมหาวิทยาลัยสงฆ์นี้ มีการริเริ่มหาทุนจัดตั้งคณะทำงาน ในที่สุดก็จัดพิมพ์ได้สำเร็จชุดแรก ๓๔ เล่ม และจะพิมพ์เพิ่มเติมอีกให้สมบูรณ์ อาจารย์ของมหาวิทยาลัยสงฆ์ท่านนั้น คือ นายพร รัตนสุวรรณ
ในขณะเดียวกันทางคณะสงฆ์คือมหาเถรสมาคม มีสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก เป็นพระประมุข ได้ดำเนินการจัดพิมพ์คำอธิบายพระไตรปิฎกที่เรียกว่าอรรถกถาให้ครบชุดสมบูรณ์เพื่อเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ในวโรกาสเฉลิมพระชนพรรษา ๕ รอบ ในวันที่ ๑๒ สิงหาคม พ.ศ. ๒๕๓๕ ด้วย
รวมความว่าในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ ๙ นี้ เป็นระยะเวลาที่ตำราทางพระพุทธศาสนา คือ พระไตรปิฎกภาษาบาลีและที่แปลเป็นไทยรวมทั้งคำอธิบายพระไตรปิฎกที่เรียกว่าอรรถกถา ทั้งภาษาบาลีและภาษาไทยได้มีการจัดพิมพ์ขึ้นสมบูรณ์
การแปลพระไตรปิฎกและคำอธิบายภาษาบาลีเป็นภาษาไทยรวมกัน ๙๑ เล่ม อันเป็นผลงานของมหามกุฎราชวิทยาลัย ในพระบรมราชูปถัมภ์ เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๓๐ เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ในวโรกาสทรงเจริญพระชนมพรรษา ๕ รอบนั้นจะกล่าวถึงในส่วนที่ว่าด้วยพระไตรปิฎกฉบับแปลเป็นภาษาไทยในลำดับต่อไปจากเรื่องภาษาที่รองรับพระไตรปิฎก
มีข้อที่ควรกล่าวในที่นี้อีกเล็กน้อย คือ ในปัจจุบันประเทศที่จัดพิมพ์พระไตรปิฎกภาษาบาลีสมบูรณ์แล้ว คือ ประเทศไทย ประเทศ อินเดีย (พิมพ์เป็นตัวอักษรเทวนาครี) ประเทศ พม่า (พิมพ์เป็นตัวอักษรพม่า) ประเทศอังกฤษ (พิมพ์เป็นตัวอักษรโรมัน)
พระไตรปิฎกภาษาบาลีที่พิมพ์ในประเทศ ศรีลังกา (พิมพ์เป็นตัวอักษรลังกาหรือสีหล)เคยใช้เป็นหนังสืออ้างอิงในการพิมพ์พระไตรปิฎกของไทยในสมัยรัชกาลที่ ๗ ในสมัยปัจจุบันคงหายาก เพราะเท่าที่สอบถามพระภิกษุในประเทศ ศรีลังกา กลับปรากฏว่าท่านใช้พระไตรปิฎกฉบับอักษรไทย เป็นหลักในการศึกษาค้นคว้าของท่าน พระไตรปิฎกฉบับตัวอักษรรามัญหรือมอญ ฉบับตัวอักษรพม่า ฉบับตัวอักษรขอมพิมพ์ในประเทศเขมร และฉบับตัวอักษรลังกา ยังพอหาได้ในห้องสมุดบางแห่งในประเทศไทย เช่น ของสภาการศึกษามหามกุฎราชวิทยาลัยมหาวิทยาลัยสงฆ์