ผ้าไทย
ผ้าไทย, ผ้าไทย หมายถึง, ผ้าไทย คือ, ผ้าไทย ความหมาย, ผ้าไทย คืออะไร
ผ้าที่คนไทยเราใช้เป็นเครื่องนุ่งห่มนั้นจะค้นคิดประดิษฐ์ได้สำเร็จตั้งแต่เมื่อไรนั้น ไม่มีหลักฐานแน่นอนเด่นชัด ทราบแต่ว่าคนไทยเรารู้จักนำเอาฝ้าย ปอ และไหม มาทอเป็นผ้าได้นานแล้ว ปัจจุบันเจริญขึ้นถึงขั้นค้นคิดประดิษฐ์ใยสังเคราะห์ทางวิทยาศาสตร์ขึ้นมาทอเป็นผ้าดังที่พบอยู่มากมาย หลักฐานทางโบราณคดีและประวัติศาสตร์ศิลปะที่พบแสดงให้เห็นว่า บนแผ่นดินไทยมีร่องรอยการใช้ผ้าและทอผ้าได้ ตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ คือ เมื่อราว ๕,๐๐๐ ปี มาแล้ว และสืบทอดต่อมาตลอดทั้งสมัยทวารวดี ศรีวิชัย และลพบุรี ในจดหมายเหตุจีนที่บันทึกเกี่ยวกับดินแดนของไทยไว้ตั้งแต่สมัยราชวงศ์สุย เมื่อพุทธศตวรรษที่ ๑๐-๑๑ และได้มีการลอก ต่อๆ มา ปรากฏข้อความเกี่ยวกับผ้าบันทึกอยู่ในภาพเขียน "คนไทย" จากส่วนหนึ่งของแผ่นภาพบันทึกเรื่องชาติที่ถวายเครื่องราชบรรณาการจีนภาพนี้เขียนโดยเซียะสุย (Hsich-Sui) จิตรกรแห่งราชสำนักจีน ใน ค.ศ. ๑๗๖๒ (พ.ศ. ๒๓๐๕) รัชกาลพระเจ้าเฉียนหลงแห่งราชวงศ์ชิงซึ่งตรงกับรัชกาลสมเด็จพระเจ้าเอกทัศน์หรือสมเด็จพระที่นั่งสุริยามรินทร์ บันทึกเป็นข้อความภาษาจีนและภาษาแมนจู แปลได้ความว่า
" "สยาม" ตั้งอยู่บนบริเวณทิศตะวันตกเฉียงใต้ของแจ้นเฉิน ในสมัยราชวงศ์สุยและราชวงศ์ถังเรียกประเทศนี้ว่า "ซื่อถู่กวั๋ว" แปลว่าประเทศที่มีดินสีแดงต่อมา ซื่อถู่กวั๋ว ได้รับการแบ่งออกเป็นสองรัฐ รัฐหนึ่งเรียกว่า หลัวฮู่ อีกรัฐหนึ่งเรียกว่า ฉ้วน (เสียน หรือ เสียมในภาษาแต้จิ๋ว)ต่อมารัฐฉ้วนถูกรัฐหลัวฮู่เข้าตีและรวมกันได้พระเจ้าหงอู่ แห่งราชวงศ์หมิง จึงทรงเรียกประเทศใหม่ว่า "ฉ้วนหลัว" ซึ่งได้ส่งเครื่องบรรณาการมาถวายพระเจ้ากรุงจีน และรัฐทั้งสองอ่อนน้อมเชื่อฟังจีนมาก
ประเทศฉ้วนหลัวมีเนื้อที่ ๑,๐๐๐ ลี้ ประกอบด้วยรัฐต่างๆ ๙ รัฐเมืองใหญ่ๆ ๑๔ เมือง กับอีก ๗๒ จังหวัด
ตำแหน่งขุนนางมี ๙ ชั้น ๔ ชั้นแรกปกติจะสวมหมวกทองที่มียอดสูง และประดับด้วยอัญมณีต่างๆ ชั้นต่ำลงมาใช้ผ้าโพกศีรษะ ซึ่งจีนเรียกว่าหลงต้วน ทำด้วยผ้าไหม กำมะหยี่ ผ้าเหล่านี้ปักอย่างสวยงามและทอด้วยเส้นทอง หรือมีผ้าสั้นที่มีลายพิเศษด้านนอก ผู้ชายมีผ้าคาดเอวทำด้วยผ้าปักไหม ผู้หญิงมีปิ่นทองหรือปิ่นเงินปักผมผ้าคลุมชั้นนอกมี ๕ สี ส่วนผ้าชั้นในมีสีสันสวยงามและทอผสมกับเส้นทอง ผ้านุ่งยาวมากกว่าตัวผู้นุ่ง ๒-๓ ชุ้น และผู้หญิงจะสวมรองเท้าหนังสีแดง"
บันทึกนี้เป็นหลักฐานที่สำคัญที่สนับสนุนถึงความเจริญรุ่งเรืองทางวัฒนธรรมของคนไทยที่มีมานานนับพันปีได้อย่างดียิ่งหลักฐานหนึ่ง โดยเฉพาะในเรื่องผ้าซึ่งปรากฏว่า เราสามารถผลิตได้เองและได้มีการติดต่อค้าขายกับต่างประเทศ นำผ้าจากต่างประเทศเข้ามาใช้ประโยชน์ต่างๆ ตลอดมา ศิลาจารึกของพ่อขุนรามคำแหงบอกให้เราทราบว่า พ่อขุนศรีอินทราทิตย์ พระราชบิดาของพระองค์ ได้ประกาศตั้งเมืองสุโขทัยเป็นราชธานีประมาณ พ.ศ. ๑๘๐๐
ในจดหมายเหตุของราชทูตจีน หรือบันทึกพวกพ่อค้า มีข้อความกล่าวถึงผ้าที่ใช้ในสมัยนั้นอยู่บ้าง ดังเช่น ผ้าที่นำมาทำเป็นฉลองพระองค์ของพระเจ้าแผ่นดิน "...เสี่ยงอี่ (ภูษาเฉียง) ยาวสามเชียะ ใช้แพรตึ้งห้าสี เหียอี (ภูษาทรง) ทำด้วยด้ายห้าสี เอ๋ย, บ๊วย (ฉลองพระบาท,ถุงพระบาท) ทำด้วยแพรตึ้งสีแดง... ใช้ผ้าขาวพันศีรษะ ใช้หมวกทำด้วยแพรตึ้ง และทำด้วยกำมะหยี่ นุ่งห่ม ใช้ผ้าสองผืน... ผ้าห่มทำด้วยด้ายห้าสียกดอกผ้านุ่งทำด้วยด้ายห้าสี แต่เอาไหมทองยกดอก..."
บันทึกนี้บอกให้ทราบได้ว่า ในสมัยสุโขทัยนั้นผ้าที่มีค่า คือ ผ้าไหม ผ้าแพร ผ้ากำมะหยี่ และรองลงมาคือ ผ้าที่ท่อด้วยด้ายหรือฝ้ายและย้อมเป็นสีต่างๆ ที่เรียกว่า ห้าสี คงได้แก่ สีดำ สีขาวสีแดง สีเขียวและสีเหลือง ครั้งนั้น เรียกว่า ผ้าเบญจรงค์ คนจีนในสมัยนั้นเรียกคนไทยว่า "เสียน" และว่าคนไทยทอผ้าได้ดี รู้จักเย็บผ้าซึ่งในสมัยนั้น นับเป็นเทคนิคใหม่และยาก ดังบันทึกของโจวต้ากวาน พ.ศ. ๑๘๙๓ ว่า "ชาวเสียนใช้ไหมทอเป็นผ้าแพรบางๆ สีดำ ใช้เป็นเครื่องนุ่งห่มผู้หญิงเสียนนั้นเย็บชุนเป็น...." คราวที่กรุงสุโขทัยรับรองพระมหาเถรจากนครพัน มาจำพรรษาเมื่อ พ.ศ. ๑๙๐๔ กษัตริย์ได้รับสั่งให้ใช้ผ้าเบญจรงค์ปูลาดพื้น "...แล้วเสด็จให้ปูลาดซึ่งผ้าเบญจรงค์ไม่ให้พระบาทลงยังพื้นธรณีทุกแห่ง..." การใช้ผ้าหรือพรมปูลาดพื้นต้อนรับพระเจ้าแผ่นดิน หรือพระสังฆราชในการเสด็จพระราชดำเนินนั้น เป็นประเพณีของไทยมาช้านาน ถือว่าเป็นการแสดงคารวะอย่างสูง
หนังสือไตรภูมิพระร่วง ทำให้เราทราบถึงผ้าที่นำมาใช้ในรูปแบบต่างๆ อีกหลายชนิด เช่น ผ้าขาวเนื้อดี ซึ่งเรียกว่า ผ้าสุกุลพัสตร์ ผ้าเล็กหลก ผ้าสำลี ผ้าชมพู ผ้าหนง ผ้ากรอบ หลักฐานต่างๆ ดังกล่าวแสดงให้เห็นว่า คนไทยแม้มีความเชี่ยวชาญในการทอผ้า แต่ก็นิยมสั่งซื้อผ้าจากต่างประเทศ เช่น จีนและอินเดียด้วย ส่วนการทอนั้นน่าจะเกิดจากประสบการณ์ที่สืบทอดกันมาเป็นเวลานานดังคำที่กล่าวว่า "...หน้าแล้งผู้หญิงทอผ้าผู้ชายตีเหล็ก..." นอกจากจะสั่งซื้อผ้าไหมจากจีนแล้ว เวลาที่ไทยส่งราชฑูตไปเฝ้าพระจักรพรรดิจีนหรือพระจักรพรรดิจีนส่งราชฑูตมาตอบแทน ก็มักจะส่งเครื่องราชบรรณาการตอบแทนด้วยในบรรดาเครื่องราชบรรณาการเหล่านี้จะมีผ้ารวมอยู่ด้วยอย่างหนึ่ง ซึ่งมักจะเป็นผ้าแพร โดยส่งมาเป็นร้อยๆ ม้วน แพรนี้มีหลายชนิด แต่ที่เป็นเครื่องราชบรรณาการมักเป็นแพรหมังตึ้ง นอกจากผ้าจากเมืองจีนแล้ว ยังมีผ้าจากอินเดียมาจำหน่ายด้วย ได้แก่ ผ้าเบงกะลีหรือเจตครี
นอกจากจะใช้ผ้าทำเครื่องนุ่งห่มแล้วก็ยังนำผ้ามาตกแต่งบ้านเรือน ทำหมอนนั่ง หมอนนอน ฟูก ธงทิว สัปทน ม่าน ฯลฯ ในการทำบุญจะมีผ้าเป็นปัจจัยอย่างหนึ่งโดยถวายเป็นจีวรบ้างผ้าเช็ดหน้าบ้าง ถวายเป็นกองก็มี เป็นผืนๆ ก็มีบางครั้งนำผ้าแพรมาสอดกากะเยีย ซึ่งเป็นที่ตั้งรองคัมภีร์ใบลานในเวลาอ่านหนังสือต่างโต๊ะเล็ก ในปัจจุบัน บางครั้งนำมาทำผ้าสมุดลายปัก สำหรับห่อพระคัมภีร์ที่จารบนใบลาน เป็นต้น
ผ้าไทย, ผ้าไทย หมายถึง, ผ้าไทย คือ, ผ้าไทย ความหมาย, ผ้าไทย คืออะไร
ร่วมเป็นแฟนเพจเรา บน Facebook..ได้ที่นี่เลย!!