ความสัมพันธ์ทางด้านวัฒนธรรมกับชาติตะวันตก
ความสัมพันธ์ทางด้านวัฒนธรรมกับชาติตะวันตก, ความสัมพันธ์ทางด้านวัฒนธรรมกับชาติตะวันตก หมายถึง, ความสัมพันธ์ทางด้านวัฒนธรรมกับชาติตะวันตก คือ, ความสัมพันธ์ทางด้านวัฒนธรรมกับชาติตะวันตก ความหมาย, ความสัมพันธ์ทางด้านวัฒนธรรมกับชาติตะวันตก คืออะไร
ประเทศไทยมีความสัมพันธ์ทางด้านวัฒนธรรมกับชาติตะวันตกตั้งแต่ พ.ศ. ๒๐๕๔ ซึ่งตรงกับสมัยสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๒ (พ.ศ. ๒๐๓๔-๒๐๗๒) แห่งกรุงศรีอยุธยา โปรตุเกส เป็นชาติตะวันตกชาติแรกที่เดินทางเข้ามาติดต่อค้าขายกับกรุงศรีอยุธยา วัฒนธรรมสำคัญที่พ่อค้าโปรตุเกสนำเข้ามาเผยแพร่คือคริสต์ศาสนารัฐบาลไทยได้เปิดรับวัฒนธรรมของชาติตะวันตกและให้เสรีภาพในการนับถือและเผยแผ่ศาสนาแก่ชาวต่างประเทศ อนุญาตให้สร้างโบสถ์คริสต์และมีบาทหลวงคาทอลิกคณะต่างๆ เช่น โดมินิกันและฟรานซิสกัน เดินทางเข้ามาเผยแผ่ศาสนาแก่ชาวพื้นเมือง เช่น ไทย ลาว มอญ ญวน จีน ฯลฯแต่ไม่ค่อยจะประสบความสำเร็จ เนื่องจากประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวพุทธและไม่สนใจเรื่องศาสนาอื่น ต่อมาในแผ่นดินสมเด็จพระนารายณ์มหาราช (พ.ศ. ๒๑๙๙-๒๒๓๑) ความสัมพันธ์กับชาติตะวันตกได้เจริญสูงสุด คณะบาทหลวงฝรั่งเศสนิกายเจซูอิตเข้ามามีบทบาทด้านการเผยแผ่ศาสนา และชักชวนให้พระเจ้าหลุยส์ที่ ๑๔ แห่งฝรั่งเศสเปิดสัมพันธไมตรีกับไทย คณะบาทหลวงฝรั่งเศสได้นำศิลปวิทยาการต่างๆ ซึ่งเป็นวัฒนธรรมสำคัญๆ ของตะวันตกมาสู่สังคมไทย เช่น ระบบการศึกษาในโรงเรียนการแพทย์ สถาปัตยกรรม และวิชาการในแขนงต่างๆ เป็นต้นว่า ภูมิศาสตร์ ดาราศาสตร์และวิทยาศาสตร์ อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่แผ่นดินสมเด็จพระเพทราชา (พ.ศ. ๒๒๓๑-๒๒๔๖)เป็นต้นมา สัมพันธไมตรีระหว่างไทยกับชาติตะวันตกได้เสื่อมลง คณะบาทหลวงส่วนใหญ่เดินทางออกนอกราชอาณาจักร ศิลปวิทยาการตะวันตกต่างๆ จึงมิได้สืบทอดและแพร่หลายในหมู่ราษฎร ยกเว้นศาสนาคริสต์ซึ่งยังคงเผยแผ่อยู่ในหมู่ชาวต่างชาติและชาวไทยบางส่วนที่เลื่อมใสมาจนถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ตัวอย่างของวัฒนธรรมตะวันตกที่ปรากฏในสมัยกรุงศรีอยุธยาได้แก่ เทคโนโลยีด้านการก่อสร้าง เช่น การต่อเรือการสร้างป้อมปราการ และเคหสถาน โดยใช้รูปแบบสถาปัตยกรรมตะวันตกและเทคโนโลยีอื่นๆ เช่น การหล่อปืนใหญ่ และการสร้างหอดูดาว
วัฒนธรรมตะวันตกได้แพร่หลายมากขึ้นในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งตั้งแต่รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวเป็นต้นมา ใน พ.ศ. ๒๓๗๑ ทรงมีพระบรมราชานุญาตให้มิชชันนารีชาวยุโรป คือ คาร์ลกุสลาฟ (Karl Gutzlaff) และ เจคอบ ทอมลิน (Jacob Tomlin) เข้ามาเผยแผ่ศาสนาคริสต์นิกาย โปรเตสแตนต์เป็นครั้งแรก ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๓๗๔ เป็นต้นมา มิชชันนารีอเมริกัน เช่น หมอบรัดเลย์หมอสมิธ ฯลฯ ได้เข้ามารับผิดชอบการเผยแผ่ศาสนาคริสต์นิกายโปรเตสแตนต์ต่อจากมิชชันนารีชาวยุโรป และมีบทบาทสำคัญในการเผยแพร่วัฒนธรรมตะวันตกในสังคมไทยด้วย เนื่องจากมีโอกาสใกล้ชิดกับราษฎร ส่วนพวกคาทอลิกซึ่งเข้ามาสอนศาสนาตั้งแต่สมัยกรุงธนบุรีก็ได้มีบทบาทมากขึ้น ตั้งแต่สังฆราชปัลเลอกัวซ์ (Pallegoix)เข้ามาไทยในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว
ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ประเทศไทยได้มีสัมพันธไมตรีกับนานาชาติเพิ่มมากขึ้น โดยได้ทำสนธิสัญญากับอังกฤษ ในสมัยที่เซอร์ จอห์น บาวริง เป็นราชทูตเข้ามาเจริญสัมพันธไมตรีเมื่อ พ.ศ. ๒๓๙๘ เรียกว่า สนธิสัญญาบาวริง (Bowring Treaty) และสนธิสัญญากับประเทศอื่น ๆ ในทำนองเดียวกับสนธิสัญญาบาวริงในเวลาต่อมา สนธิสัญญาเหล่านั้นได้อนุญาตให้ชาวต่างประเทศเข้ามาติดต่อค้าขายกับราษฎรโดยเสรี ชาวต่างประเทศจึงเดินทางเข้ามาอาศัยในประเทศไทยมากขึ้นกว่าแต่ก่อน จำนวนมิชชันนารีอเมริกันและคาทอลิกก็ได้เพิ่มขึ้นด้วย และกระจายกันเผยแผ่ศาสนาทั้งในเขตพระนครและหัวเมืองต่างๆ ทำให้วัฒนธรรมตะวันตกแพร่หลายเข้าไปถึงชนบท ในรัชกาลนี้ได้เริ่มมีการเรียนภาษาอังกฤษเป็นครั้งแรกโดยจ้างผู้หญิงชาวอังกฤษมาสอนในพระบรมมหาราชวัง นอกจากนี้พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงปฏิรูปประเทศและสนับสนุนให้นำศิลปวิทยาการตะวันตกแขนงต่างๆ เข้ามาเผยแพร่ โดยเฉพาะการศึกษา การแพทย์ การคมนาคม การสื่อสาร เป็นต้น ยังทรงจ้างผู้เชี่ยวชาญชาวต่างประเทศมาเป็นที่ปรึกษาในการพัฒนาความเจริญในด้านต่างๆ รวมทั้งทรงส่งนักเรียนไทยไปศึกษาในต่างประเทศ เพื่อนำความรู้และวิทยาการต่างๆ มาช่วยสร้างความเจริญให้บ้านเมืองอีกด้วย ดังนั้นวัฒนธรรมตะวันตกจึงได้ผสมผสานอยู่ในสังคมไทยมากขึ้นอย่างไรก็ตาม ในช่วงเวลานับตั้งแต่ไทยทำสนธิสัญญาบาวริง จนถึง พ.ศ. ๒๔๘๐ ซึ่งเป็นปีที่ยกเลิกสนธิสัญญาซึ่งไม่เป็นธรรมทั้งหมดได้สำเร็จนั้น วัฒนธรรมตะวันตกที่ผสมผสานอยู่ในสังคมไทย ยังคงมีสภาพเป็น "ของฝรั่ง" อยู่มากและยังมิได้ผสมกลมกลืนเป็นส่วนหนึ่งในวิถีชีวิตของชาวไทย แต่หลังจาก พ.ศ. ๒๔๘๐ แล้ววัฒนธรรมตะวันตกได้หลั่งไหลเข้ามาสู่สังคมไทยมากขึ้น และได้ผสมผสานจนกลายเป็นส่วนหนึ่งของสังคมไทยปัจจุบัน
การเผยแพร่วัฒนธรรมตะวันตกในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ก่อนพ.ศ. ๒๔๘๐ ส่วนใหญ่เกิดจากความเห็นชอบและการสนับสนุนของรัฐบาล เนื่องจากได้พิจารณาแล้วว่า วัฒนธรรมเหล่านั้นล้วนมีส่วนช่วยพัฒนาประเทศให้เจริญก้าวหน้าทัดเทียมนานาประเทศ นอกจากนี้แล้วเจ้านายและขุนนางยังเป็นผู้นำในการรับวัฒนธรรมตะวันตก โดยเฉพาะ รูปลักษณ์ภายนอก (appearance) เป็นต้นว่า การแต่งกาย การกีฬา นันทนาการ การรับวัฒนธรรมตะวันตกจึงกลายเป็น "พระราชนิยม" ที่ผู้คนในสังคมไทยถือเอาเป็นแบบอย่างและถือเป็น "ความทันสมัย" ที่น่าภาคภูมิใจจึงอาจกล่าวได้ว่าการรับวัฒนธรรมตะวันตกเกิดจากเหตุผล ๒ ประการ คือ เพื่อพัฒนาบ้านเมืองให้เจริญก้าวหน้า และเพื่อพัฒนาให้ทันสมัย ในการติดต่อกับชาวตะวันตกโดยทั่วไปเจ้านายและขุนนางได้ปรับตัวให้ทันสมัยเพื่อมิให้เป็นที่ดูถูกเหยียดหยามของชาวตะวันตก มีการรับแบบแผนประเพณีและค่านิยมแบบตะวันตกมาปรับปรุงการดำเนินชีวิต และมีผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางด้านวัฒนธรรมในสังคมไทยอย่างรวดเร็ว เนื่องจากราษฎรทั่วไปได้ยึดถือเป็นแบบอย่างและหล่อหลอมเข้าเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิตคนไทยในปัจจุบัน อิทธิพลของวัฒนธรรมตะวันตกที่เห็นเด่นชัด ได้แก่ แนวความคิดแบบตะวันตก การแต่งกาย การตกแต่งบ้านเรือน เครื่องเรือน การรับประทานอาหาร การกีฬาและนันทนาการ
แนวคิดแบบตะวันตก เมื่อมีการพัฒนาด้านการศึกษาและการพิมพ์ วรรณกรรมตะวันตกทั้งที่เป็นแนววิชาการและบันเทิงจึงได้แพร่หลายเข้ามาสู่สังคมไทย และมีอิทธิพลต่อการสร้างแนวคิดและสำนึกของไทย เช่น แนวคิดเกี่ยวกับการเมือง การปกครองในระบอบประชาธิปไตย การเข้าใจถึงคุณค่าของมนุษย์ และความทัดเทียมกันแนวคิดต่างๆ เหล่านี้ได้สะท้อนออกมาในรูปของวรรณกรรมที่ตีพิมพ์ในภาษาไทย เช่น งานเขียนของเทียนวรรณ ดอกไม้สด ศรีบูรพา และ มาลัย ชูพินิจ
การแต่งกาย ราชสำนักไทยและขุนนางเป็นกลุ่มแรก ที่รับเอาวัฒนธรรมการแต่งกายแบบตะวันตก ทั้งของหญิงและชายมาประยุกต์ใช้ เมื่อพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จประพาสยุโรป ถึง ๒ ครั้ง ก็ทรงฉลองพระ-องค์แบบตะวันตก ต่อมาการแต่งกายแบบตะวันตกของเจ้านายก็กลายเป็น "พระราชนิยม" ที่คนทั่วไปยึดเป็นแบบอย่าง
การตกแต่งบ้านเรือน นับตั้งแต่ชาวตะวันตกได้นำสถาปัตยกรรมการก่อสร้างอาคารและการตกแต่งภายในแบบตะวันตกมาสู่สังคมไทยราชสำนักและชนชั้นสูงก็เริ่มปรับวิถีชีวิตตามแบบวัฒนธรรมดังกล่าว จากเดิมที่เคยปลูกสร้างอาคารแบบเรือนไทยและค่อยๆ รับรูปแบบสถาปัตยกรรมและการตกแต่งแบบจีน ก็เริ่มเปลี่ยนเป็นแบบตะวันตก มีการสร้างที่อยู่อาศัยและตกแต่งบ้านเรือนด้วยเครื่องเรือนแบบตะวันตก เช่น โต๊ะ ตู้ ภาพประดับ ของใช้ต่างๆ เช่น ช้อน ส้อม มีด ถ้วย ชาม ฯลฯ นอกจากนี้ยังเปลี่ยนวิธีการรับประทานอาหารด้วยมือมาเป็นการใช้มีด ช้อน และส้อม แทน วัฒนธรรมเหล่านี้กลายเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมไทยในปัจจุบัน
การกีฬาและนันทนาการ การกีฬาและนันทนาการแบบตะวันตก เริ่มเข้ามาแพร่หลายในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น เมื่อมีชาวตะวันตก เข้ามาติดต่อค้าขาย และพำนักอยู่ในเมืองไทยการกีฬาแบบตะวันตกที่แพร่หลายในระยะแรกๆ คือ การขี่ม้า ยิงปืน ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว กีฬาที่แพร่หลาย ได้แก่ ฟุตบอล รักบี้ เทนนิส แบดมินตัน แข่งม้า จักรยาน กรีฑา ยิมนาสติก ฟันดาบ ในราชสำนักมีการเล่นกีฬาโครเกต์ (Croquet)
ต่อมาการกีฬาแบบตะวันตกได้แพร่หลายอยู่ในหลักสูตรพลศึกษาในโรงเรียน มีการแข่งขันกีฬานักเรียนประเภทต่างๆ ที่แพร่หลายได้แก่ กรีฑา ฟุตบอล มวยสากล และยิมนาสติก นอกจากนี้แล้วยังทรงส่งเสริมให้ชาวไทยและชาวต่างประเทศจัดตั้งสถาบันที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมนันทนาการ เช่น สโมสร บันเทิงสถานเมืองตรัง ราชกรีฑาสโมสร และสโมสรราชเสวก ซึ่งพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้ตั้งขึ้นสำหรับข้าราชบริพารในพระองค์
จะเห็นได้ว่าการรับวัฒนธรรมตะวันตกทั้งเพื่อพัฒนาบ้านเมืองและเพื่อความทันสมัย ล้วนมีผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อวิถีชีวิตและวัฒนธรรมดั้งเดิมของชาวไทย ซึ่งการเปลี่ยนแปลงนี้มีทั้งผลดีและผลเสียต่อสังคมไทย
ความสัมพันธ์ทางด้านวัฒนธรรมกับชาติตะวันตก, ความสัมพันธ์ทางด้านวัฒนธรรมกับชาติตะวันตก หมายถึง, ความสัมพันธ์ทางด้านวัฒนธรรมกับชาติตะวันตก คือ, ความสัมพันธ์ทางด้านวัฒนธรรมกับชาติตะวันตก ความหมาย, ความสัมพันธ์ทางด้านวัฒนธรรมกับชาติตะวันตก คืออะไร
ร่วมเป็นแฟนเพจเรา บน Facebook..ได้ที่นี่เลย!!