ความรู้ เกร็ดความรู้ สารานุกรม สารานุกรมออนไลน์ ความรู้รอบตัว ความรู้ทั่วไป พจนานุกรม เกมส์ เพลงใหม่ เพลง

พันธุ์เป็ด พันธุ์ไก่, พันธุ์เป็ด พันธุ์ไก่ หมายถึง, พันธุ์เป็ด พันธุ์ไก่ คือ, พันธุ์เป็ด พันธุ์ไก่ ความหมาย, พันธุ์เป็ด พันธุ์ไก่ คืออะไร
| เปิดอ่าน 0 | ความคิดเห็น 0
พันธุ์เป็ด พันธุ์ไก่

          ไก่เลี้ยงทุกวันนี้เชื่อว่าสืบตระกูลมาจากไก่ป่าสีแดงของเอเชียใต้ และอินเดีย ซึ่งมีอยู่ใน
ประเทศไทยเองด้วย เมื่อคนนำไก่ป่ามาเลี้ยงให้เชื่อง หรือเลี้ยงได้ในที่คุมขังแล้ว  ก็มีผู้นำต่อไปยังท้องที่ต่างๆ  แล้วทำการคัดเลือกผสมพันธุ์ให้ได้ลักษณะสีสันตามความชอบ จนเกิดเป็นพันธุ์แท้มากมายหลายพันธุ์ ที่เรียกว่า พันธุ์แท้ หมายถึงพันธุ์ที่ให้ลูกซึ่งมีลักษณะรูปร่างของตัว ขนาดตัวและสีขนเหมือนพ่อแม่เสมอ
          พันธุ์เป็ดปัจจุบันก็มีต้นตระกูลมาจากเป็ดป่าของเอเชียเหมือนกัน  หลังจากผ่านฝีมือปรับปรุงคัดเลือกผสมพันธุ์โดยมนุษย์ เราจึงมีเป็ดพันธุ์ทาง และเป็ดพันธุ์แท้เลี้ยงกันทุกวันนี้
          กล่าวกันว่า  ชาวกรีกโบราณได้เขียนถึงการเลี้ยงไก่บ้าน  อันเป็นเวลานานร่วม ๔,๐๐๐ ปีมาแล้วต่อมาชาวยุโรปในสมัยกลางได้สนใจนิยมเลี้ยงไก่ชนกันแพร่หลาย ไก่ชนนี้ดูจะมีคนนิยมทั้งในเอเชีย และอเมริกากลางด้วย ในรอบ ๑๐๐ ปีนี้ ได้มีพันธุ์ไก่ซึ่งแบ่งหมวดหมู่ได้  เป็นพันธุ์ไก่อังกฤษ พันธุ์ไก่เมดิเตอร์เรเนียน  พันธุ์ไก่เอเชีย  และพันธุ์ไก่อเมริกา การแบ่งหมวดหมู่อาศัยลักษณะตัวว่า  อ้วนป้อม ตัวลีบ ตัวกลม ลักษณะท่าทางเวลายืนว่าตัวขนานพื้นหรือเชิด  ลักษณะสีของผิวหน้าและแข้งขาเป็นหลัก นอกจากนี้ก็มีลักษณะหงอน รูปร่างต่างๆ ชนิดกัน ซึ่งเป็นลักษณะที่จัดว่าสวยงามตามสายตาของผู้ผสมพันธุ์ และอาจแบ่งอย่ากว้างๆ ตามผลิตผล เป็นไก่กระทง ไก่เนื้อ ไก่ไข่ กับพันธุ์เนื้อและไข่  สำหรับเป็ดก็อาจแบ่งเป็นพันธุ์เนื้อและพันธุ์ไข่ปัจจุบัน  ลักษณะเศรษฐกิจสำคัญเป็นอันดับต้นลักษณะสวยงามจึงถูกละเว้นไป   นักพันธุศาสตร์ได้ใช้ลักษณะเศรษฐกิจต่อไปนี้เป็นข้อตัดสินในการคัดเลือกไก่หรือเป็ดพันธุ์   เพื่อให้ได้ผลตอบแทนในการเลี้ยงไก่และเป็ด  เป็นการค้าหรืออุตสาหกรรม คือ
          ๑. ไข่ดก/ให้ลูกได้มาก
          ๒. เติบโตเร็ว เนื้อมากตั้งแต่ระยะเริ่มเติบโต
          ๓. ฟักออกดี
          ๔. ให้ลูกแข็งแรง เลี้ยงง่าย รอดมาก
          ๕. ขนงอกเร็วและคลุมเต็มตัว ตั้งแต่อายุ ๒-๔ สัปดาห์
          สีขนก็ยังมีความสำคัญ แต่เป็นความสำคัญในแนวทางใหม่ สำหรับเป็ดเนื้อหรือไก่เนื้อ ขนสีขาวมีภาษีดีกว่าขนสีแดงหรือดำ เพราะทำให้ผิวหนังของไก่น่ารับประทาน สวยงาม เกลี้ยงเกลาเนื่องด้วยตอขนสีขาวมองเห็นได้ยาก แต่ตอขนสีแดงหรือดำจะเห็นชัดผู้บริโภครังเกียจ
          สีของผิวหนังก็ยังมีความสำคัญทางด้านเอาใจผู้บริโภค  ถ้าตลาดนิยมผิวหนังสีเหลืองในไก่รับประทาน  เขาก็คัดสายพันธุ์ที่มีผิวหนังสีเหลือง และสามารถใช้สารแซนโทรฟิลล์  ซึ่งมีมากในข้าวโพดเหลือง  และใบกระถิ่นในอาหารมาเพิ่มเติมสีเหลืองของผิวหนังให้เข้มน่าดูน่าซื้อ แต่ถ้าตลาดชอบผิวหนังสีขาวเขาก็สามารถคัดสายพันธุ์ที่ให้ผิวหนังสีขาวได้
ระบบการผสมพันธุ์และคัดไก่พันธุ์  ได้เปลี่ยนจากคตินิยมแต่เดิมสมัยที่มุ่งผสมพันธุ์แท้เพื่อให้ลูกสืบทอดลักษณะของพันธุ์แต่ละพันธุ์ มาเป็นการผสมพันธุ์และคัดสายพันธุ์  หรือสายเลือด ที่จะให้ลูกซึ่งแข็งแรงเติบโตเร็วดีกว่าพ่อแม่เมื่อผสมข้ามสายเลือด  ทั้งนี้เป็นการใช้ประโยชน์จากปรากฏการณ์ธรรมชาติที่ค้นพบในรอบ ๔๐ ปีนี้เองว่า สายเลือดผสมมีลักษณะความแข็งแรงและการเติบโตสูงกว่าสายพ่อ-แม่ที่เป็นสายเลือดบริสุทธิ์และสามารถใช้ลูกผสมจากสายเลือดผสมอีกชั่วหนึ่งเมื่อเลี้ยงเป็นไก่ไข่  หรือไก่กระทงให้มีความสมบูรณ์ ทนทานและโตเร็ว
          หลักการที่กล่าวข้างบนนี้ฟังง่าย แต่ปฏิบัติได้ยาก ต้องการผู้เชี่ยวชาญและทุนทรัพย์มากสำหรับที่จะค้นหา ทดสอบ และบำรุงรักษาสายเลือดบริสุทธิ์ที่จะนำมาผสมพันธุ์เพื่อให้ผลตามที่การเลี้ยงไก่เป็นการค้าต้องการ  ขณะนี้ทั่วโลกมีบริษัทผสมพันธุ์ไก่ที่สามารถดำเนินการในลักษณะที่กล่าวได้ประมาณ ๑๐ บริษัท   ชื่อของพันธุ์หรือสายพันธุ์ไก่สมัยใหม่นี้  โดยมากจะใช้ชื่อของบริษัทที่ผสมพันธุ์ไก่นั้นๆ  และด้วยข้อตกลงทางการค้าก็สามารถจัดส่งไก่พันธุ์ให้แก่ลูกค้าระดับต่างๆ ได้เกือบทั่วโลก
          การเลี้ยงไก่ในประเทศไทยได้ผ่านสมัยที่เลี้ยงพันธุ์แท้มาเป็นสมัยที่ชี้ชวนให้รู้จักเลี้ยงเพื่อผลิตไข่ไก่  และไก่รับประทาน  จำหน่ายโดยแพร่หลาย  แล้วข้ามมายังสมัยปัจจุบัน  คือ  เลี้ยงแบบธุรกิจอุตสาหกรรม  โดยใช้ระยะเวลาเพียง ๕๐ ปีเศษ นับแต่ พ.ศ. ๒๔๖๗ เมื่อ ม.จ. สิทธิพร กฤดากรบิดาแห่งเกษตรแผนใหม่ของไทยได้ทรงนำไก่เศรษฐกิจจากต่างประเทศ   คือ ไก่เลกฮอร์นขาวเพื่อกสิกรไทยจะได้เรียนรู้การเลี้ยงไก่เป็นอาชีพสำหรับผลิตอาหารชั้นดีให้ได้ปริมาณมาก  พระประสงค์นี้ได้รับการส่งเสริม แนะนำด้วยการสาธิตควบคู่กับการศึกษาทดลองของ  หลวงสุวรรณวาจกกสิกิจ  ขณะดำรงตำแหน่งอธิการบดีมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และได้รับการสนับสนุนทั้งในรูปเงินยืมเป็นทุนหมุนเวียน และเงินอุดหนุนจากรัฐบาลมาดำเนินการเลี้ยงไก่ เริ่ม แต่ พ.ศ. ๒๔๙๓  จนยุติเมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๐ ซึ่งยังผลให้ทั้งเกษตรกร ตลาด และผู้บริโภคยอมรับไข่ไก่และไก่กระทงโดยแพร่หลายจนเป็นสินค้าซื้อขายกันปีละหลายพันล้านบาท
         ปัจจุบัน เราอาจกล่าวได้ว่า การเลี้ยงไก่ในประเทศไทยได้มาถึงขั้นธุรกิจอุตสาหกรรมเกษตรมีระบบการผลิตลูกไก่ให้ผู้เลี้ยง  มีระบบการรับซื้อไข่และไก่เนื้อเพื่อแปรรูปและจัดจำหน่าย  มีระบบการลงทุนร่วมโดยใช้สินเชื่อทั้งเงินสดและเป็นอาหารสัตว์  ระบบเหล่านี้เชื่อมโยงการดำเนินการแต่ละขั้นตอนให้กระทำตามแผนการตลาดที่กำหนดไว้ล่วงหน้านับว่าเป็นข้อก้าวหน้ากว่าสินค้าเกษตรอีกหลายๆ อย่าง และควรใช้เป็นบทเรียนในการปรับปรุงระบบการเกษตรของเราต่อไปข้างหน้าได้ด้วย  
(ดูเพิ่มเติมเรื่อง นก ในเล่ม ๑)

พันธุ์เป็ด พันธุ์ไก่, พันธุ์เป็ด พันธุ์ไก่ หมายถึง, พันธุ์เป็ด พันธุ์ไก่ คือ, พันธุ์เป็ด พันธุ์ไก่ ความหมาย, พันธุ์เป็ด พันธุ์ไก่ คืออะไร

ร่วมเป็นแฟนเพจเรา บน Facebook..ได้ที่นี่เลย!!

บทความอื่น ของสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ เล่มที่ 5

สารานุกรมเล่มอื่นๆ

คำยอดฮิต

Sanook.commenu