การติดตาต่อกิ่ง เป็นศิลปะของการเชื่อม ส่วนของต้นพืชเข้าด้วยกัน เพื่อที่จะให้ส่วนของพืชนั้นๆ ติดต่อกันและเจริญต่อไปเหมือนกับเป็นต้นพืชต้นเดียวกัน ส่วนของต้นพืชที่ต่ออยู่ทางส่วนฃ บนหรือที่ทำหน้าที่เป็นยอดของต้นพืชนั้น เรียกว่า กิ่งพันธุ์ดี (scion) และส่วนของพืชที่ต่ออยู่ทางส่วนล่างหรือที่ทำหน้าที่เป็นรากเรียกว่า ต้นตอ (stock or rootstock) จะเห็นได้ว่าในการขยายพันธุ์ด้วยวิธีการติดตาต่อกิ่ง ส่วนของต้นพืชที่เกี่ยวข้องก็คือต้นตอ และกิ่งพันธุ์ดี ด้วยเหตุนี้การศึกษาเกี่ยวกับต้นตและกิ่งพันธุ์ดีจึงเป็นเรื่องที่ควรทำเป็นอันดับแรกต้นตอ ในการขยายพันธุ์ด้วยวิธีการติดตาต่อกิ่ง การใช้ต้นตอที่ปฏิบัติกันอยู่ทั่วๆ ไปพอจะแบ่งออกได้เป็น ๒ ชนิด
๑. ต้นตอที่ได้จากการขยายพันธุ์ด้วยเมล็ดหมายถึงต้นพืชที่จะใช้เป็นต้นตอนั้นเพาะมาจากเมล็ด เมื่อต้นมีขนาดโตพอแล้วจึงนำมาใช้เป็นต้นตอสำหรับติดตาต่อกิ่งหรือทาบกิ่ง เรามักเรียกต้นตอชนิดนี้ว่า ต้นตอเพาะเมล็ด (seedling-rootstock)เนื่องจากต้นตอชนิดนี้เพาะมาจากเมล็ด อาจมีความผิดเพี้ยนหรือกลายพันธุ์ไปบ้าง จึงต้องมีการคัดเลือกต้นที่ไม่ตรงตามพันธุ์หรือผิดเพี้ยนไปจากลักษณะที่ต้องการออกเสีย ตลอดจนต้นที่อ่อนแอหรือมีลักษณะไม่เหมาะสมที่จะนำมาใช้เป็นต้นตอเช่น ลำต้นคดบิด หรือมีลักษณะของรอยต่อระหว่างต้นและราก เป็นแบบคอห่านซึ่งเกิดจากการวางเมล็ดเพาะผิดวิธี ถ้านำต้นพืชที่มีลักษณะดังกล่าวนี้ไปเป็นต้นตอแล้ว มักจะเกิดการหักโค่นตรงบริเวณที่ปเป็นคอห่านได้ง่าย ฉะนั้นจึงต้องคัดทิ้งเสีย เนื่องปจากต้นตอที่ขยายพันธุ์จากเมล็ดมีระบบรากที่หยั่งลึกสามารถจะยึดเกาะต้นได้แข็งแรง จึงได้รับความนิยมใช้เป็นต้นตอของไม้ยืนต้น เช่น มะม่วง ทุเรียน มะขาม เป็นต้น พืชพันธุ์ใดก็ตามที่จะนำมาใช้เป็นต้นตอนั้น ควรจะเป็นพันธุ์พืชที่หาเมล็ดได้ง่ายหรือมีเมล็ดมากด้วย
๒. ต้นตอที่ได้จากการตัดชำ การตอนหรือการแยกหน่อ มักเรียกต้นตอเช่นนี้ว่า ต้นตอตัดชำ(cutting stock) ข้อดีของต้นตอชนิดนี้ก็คือ เป็นต้นตอที่ตรงตามพันธุ์แน่นอน เหมาะที่จะใช้ในงานทดลองหรือใช้เพื่อวัตถุประสงค์บางอย่าง เช่น ใช้เป็นต้นตอ ทนโรค ทนแล้ง ทนแฉะ หรือทนสารบางอย่าง แต่เนื่องจากเป็นต้นตอที่มีระบบรากตื้น จึงไม่นิยมใช้กับไม้ยืนต้น แต่มักใช้กับไม้ดอกหรือไม้ประดับที่เป็นพุ่ม เช่น กุหลาบ ชบา ดอนย่า ฯลฯ และพืชพันธุ์ใดก็ตามที่จะนำมาใช้เป็นพันธุ์ต้นตอนั้น นอกจากจะมีคุณสมบัติพิเศษตามวัตถุประสงค์ที่ต้องการแล้ว ควรจะมีคุณสมบัติในการเจริญเติบโตและการออกรากได้ดีด้วย
ต้นตอ เป็นปัจจัยสำคัญที่มีผลเกี่ยวกับความสำเร็จในการติดตาต่อกิ่ง การเลี้ยงดูต้นตอให้สมบูรณ์ และการเลือกขนาดของต้นตอให้พอเหมาะในการติดตาต่อกิ่งต้นพืชแต่ละชนิด จะช่วยให้ได้ผลดีขึ้นด้วย
กิ่งพันธุ์ดี คือ ส่วนของต้นพืชที่ทำหน้าที่เป็นส่วนยอดของต้นพืชที่ต่ออยู่ หรืออาจหมายถึงกิ่งพืชที่จะนำไปติดหรือต่อบนต้นตอก็ได้ ในการติดตาต่อกิ่งมีเรื่องที่เกี่ยวข้องกับกิ่งพันธุ์ดีที่ควรจะทราบ คือ
ก. การเลือกกี่พันธุ์ดี (selection of scion wood)
ข. การเก็บรักษากี่งพันธุ์ดี (storage of scion wood)
ค. การเตรียมกิ่งพันธุ์ดี
ในการติดตาต่อกิ่ง กิ่งพันธุ์ดีที่นำมาใช้อาจได้มาจากบริเวณใกล้เคียง ซึ่งสามารถจะติดหรือต่อให้แล้วเสร็จได้ภายในวันเดียว ซึ่งเรียกกิ่งพันธุ์ดีพวกนี้ว่ากิ่งสด (fresh scion) หรืออาจเป็นกิ่งที่เก็บไว้ใช้ในเวลาอื่น หรือฤดูอื่นที่เหมาะสม ซึ่งเรียกกิ่งพวกนี้ว่า กิ่งเก็บ (storage scion) ก็ได้ อย่างไรก็ตาม ไม่ว่ากิ่งแก่ที่พักตัวหรือกิ่งอ่อนสีเขียว และจะนำมาใช้ทันทีหรือนำมาใช้ในเวลาต่อไปก็ดี จะต้องปฏิบัติดูแลให้กิ่งที่ตัดมานั้นมีสภาพเหมือนกับอยู่บนต้นเดิมให้มากที่สุด วิธีที่จะรักษากิ่งพันธุ์ดีให้สดอยู่ได้นานๆ นั้น ควรจะปฏิบัติดังนี้
๑. หลังจากที่ตัดกิ่งพันธุ์ดีออกจากต้น จะต้องรีบลดการคายน้ำจากกิ่งที่ตัดทันที โดยเฉพาะกิ่งพันธุ์ดีที่เป็นกิ่งอ่อนและมีใบติดอยู่บนกิ่ง จะมีการคายน้ำออกจากใบได้อย่างรวดเร็ว จะต้องรีบตัดใบออกทันที เหลือแต่โคนก้านใบที่จะใช้จับเวลาสอดแผ่นตาเท่านั้น
๒. เก็บกิ่งที่ริดใบหมดแล้วไว้ในที่ชื้น เช่นในกาบกล้วย ในห่อผ้าที่ชื้นหรือในถุงพลาสติก โดยมีผ้า กระดาษ หรือสำลีชุบน้ำและบีบจนสะเด็ดน้ำใส่ไว้ในถุงแล้วรัดปากถุงพลาสติกให้แน่น
๓. เก็บห่อหรือถุงที่ใส่กิ่งพันธุ์ดีไว้ในที่ร่มชื้นหรือเย็น หรือในห้องที่มีการถ่ายเทอากาศดี
๔. ถ้ามีห้องเย็นหรือตู้เย็น ควรเก็บกิ่งพันธุ์ดีไว้ในอุณหภูมิ ๔๐°ฟ. หรือชั้นเก็บผลไม้สด ซึ่งการเก็บกิ่งในอุณหภูมิต่ำเช่นนี้จะสามารถเก็บกิ่งไว้ได้นาน ๒-๔ สัปดาห์