ความรู้ เกร็ดความรู้ สารานุกรม สารานุกรมออนไลน์ ความรู้รอบตัว ความรู้ทั่วไป พจนานุกรม เกมส์ เพลงใหม่ เพลง

ธรรมชาติของปลากัด, ธรรมชาติของปลากัด หมายถึง, ธรรมชาติของปลากัด คือ, ธรรมชาติของปลากัด ความหมาย, ธรรมชาติของปลากัด คืออะไร
| เปิดอ่าน 0 | ความคิดเห็น 0
ธรรมชาติของปลากัด

          ปลาป่า หรือ ปลาลูกทุ่ง ที่พบในธรรมชาติ  ตามท้องนา หนองบึง เป็นปลากัดขนาดเล็กที่ไม่มีลักษณะเด่นสะดุดตา   ปลาป่าขนาดใหญ่ที่สุดมีขนาดไม่เกิน ๕ เซนติเมตร ในสภาพปกติสีอาจเป็นสีน้ำตาล สีเทาหม่น  หรือสีเขียว และอาจมีแถบสีดำจางๆ  พาดอยู่ตามความยาวของลำตัวก็ได้ปลาป่าอาศัยหลบซ่อนตัวอยู่ระหว่างพรรณไม้น้ำในที่ตื้น ความพิเศษของปลากัดอยู่ที่ความเป็นนักสู้โดยธรรมชาติ เมื่อพบปลาตัวอื่นจะเข้าต่อสู้กันทันที และปลากัดตัวผู้สามารถเปลี่ยนสีให้งดงามเมื่อถูกกระตุ้น ในสภาวะตื่นตัว ครีบทุกครีบจะแผ่กางออกเต็มที่ แผ่นหุ้มเหงือกขยายพองตัวออก พร้อมกับมีสีน้ำเงินหรือสีแดงปรากฏขึ้นชัดเจนในโทนสีต่างๆ ทำให้ดูสง่าสวยงาม

          ปลากัดเป็นปลาที่มีอวัยวะช่วยหายใจ อยู่ที่โพรงเหงือกทั้งสองข้าง ทำให้สามารถใช้ออกซิเจนได้โดยตรงจากอากาศ   จึงดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างทนทานในที่ที่มีออกซิเจนต่ำ โดยการขึ้นมาฮุบอากาศที่ผิวน้ำเป็นระยะๆ  ในฤดูแล้ง ถ้าน้ำในแหล่งน้ำแห้งลง ปลากัดอาจจะเข้าไปอาศัยอยู่ในรูปูนาตามขอบหนอง ชายบึง  ริมคู  และร่องรางน้ำตื้นๆ เมื่อน้ำเริ่มลดไปจนตลอดหน้าแล้ง ปูก็จะขุดรูลึกตามระดับน้ำลงไปเรื่อยๆ พอต้นฤดูฝนปลาจะกลับออกมาแพร่พันธุ์ใหม่ และกระจายออกไปหากินตามที่มีหญ้ารกๆ ในเขตน้ำตื้น ปลากัดเป็นปลาที่ชอบน้ำตื้น จึงไม่พบตามแม่น้ำลำคลอง  หนอง  บึงที่มีน้ำลึก ปลากัดเป็นปลาที่มีอายุสั้น ส่วนใหญ่จะมีอายุไม่เกิน  ๒ ปี

          ในการผสมพันธุ์วางไข่  ปลากัดจะก่อหวอดหรือสร้างรังขึ้นมาก่อน โดยปลากัดตัวผู้เป็นผู้สร้าง ดูแลไข่และลูกอ่อน รังเป็นหวอดที่ก่อขึ้นจากฟองอากาศที่ฮุบเข้าไปผสมกับเมือกในปาก แล้วนำมาพ่นเป็นหวอดบริเวณผิวน้ำ เพื่อเป็นที่สำหรับฟองไข่และลูกอ่อนเกาะติด ปลาตัวผู้จะเลือกทำหวอดให้เกาะติดอยู่กับใบไม้ หรือพรรณไม้น้ำ หลังจากที่เกี้ยวพาราสีจนตัวเมียยินยอมแล้ว ตัวผู้จะทำการรัดตัวเมียซึ่งจะปล่อยไข่ออกมาตัวผู้ก็จะปล่อยน้ำเชื้อออกมาผสมกันภายนอก ไข่จะถูกปล่อยออกมาเป็นชุดๆ และจมลงสู่พื้นอย่างช้าๆ พ่อปลาจะใช้ปากฮุบฟองไข่ แล้วนำไปพ่นไว้ที่ฟองหวอดจนกว่าไข่จะหมด ซึ่งอาจใช้เวลานับชั่วโมง หลังจากนั้นพ่อปลาจะเป็นผู้ทำหน้าที่เฝ้าระวังไข่และลูกอ่อน ในการผสมพันธุ์แต่ละครั้ง แม่ปลาจะวางไข่ประมาณ  ๒๐๐ - ๗๐๐ ฟอง ลูกปลาที่เพิ่งฟักออกเป็นตัว จะพักอยู่ภายใต้หวอดจนกว่าอาหารในถุงอาหารที่ติดตัวมาด้วยจะถูกใช้หมด  และครีบได้พัฒนาอย่างสมบูรณ์ หากมีลูกปลาพลัดออกจากหวอด พ่อปลาจะทำหน้าที่พาลูกกลับมาไว้ที่หวอดดังเดิม และคอยเสริมหวอดด้วยการพ่นฟองอากาศใหม่อยู่เรื่อยๆ ในระยะนี้พ่อปลาจะคอยดูแลลูกทั้งวันโดยไม่มีการพักผ่อน นอกจากจะต้องซ่อมแซมหวอดและคอยดูแลลูกปลาที่พลัดตกจากหวอดแล้ว พ่อปลายังต้องเฝ้าระวังศัตรูที่จะเข้ามากินลูกอ่อนโดยเฉพาะอย่างยิ่งแม่ปลาที่จะต้องถูกขับไล่ให้ไปอยู่ห่างๆ เนื่องจากชอบกินลูกของตัวเอง ๑ เดือนหลังจากวางไข่ ปลาตัวเมียก็พร้อมที่จะสร้างไข่ชุดใหม่  ในระยะเวลา ๑ ปี  ปลาตัวเมีย ๑ ตัว สามารถให้ไข่ได้ประมาณ  ๒,๕๐๐ - ๕,๐๐๐  ฟอง หรือมากกว่านั้น

          ในธรรมชาติการต่อสู้กันของปลากัดมักไม่จริงจังนัก ส่วนมากเพียงแต่แผ่พองครีบหางขู่กันเพื่อแย่งถิ่น บางตัวเห็นท่าไม่ดีก็อาจเลี่ยงไปโดยไม่ต่อสู้กันเลยก็มี แต่บางคู่ก็ต่อสู้กันอย่างจริงจัง ปลาตัวผู้ตัวใดที่ยึดชัยภูมิที่เหมาะได้ ก็จะก่อหวอดไว้  แล้วพองตัวเปล่งสีเกี้ยวตัวเมียที่ผ่านไปมา เพื่อผสมพันธุ์วางไข่

          ปลาป่านั้นเมื่อนำมากัดกันจะไม่อดทนมากนัก  ระยะเวลาการต่อสู้ของปลาพวกนี้ส่วนใหญ่ไม่เกิน  ๑๕ - ๒๐ นาที แต่ปลาลูกหม้อที่มีการคัดสายพันธุ์มาอย่างต่อเนื่อง สามารถต่อสู้ได้นานนับชั่วโมง บางคู่อาจจะกัดกันข้ามวันข้ามคืน แต่โดยเฉลี่ยแล้วใช้เวลาอย่างต่ำประมาณ ๓  ชั่วโมง ปลากัดสามารถต่อสู้อย่างต่อเนื่องได้นานโดยไม่ต้องพัก อาจมีการคั่นเวลา   เพียงโผล่ขึ้นมาฮุบอากาศที่ผิวน้ำในช่วงระยะเวลาสั้นๆ เมื่ออยู่ในสภาพเตรียมต่อสู้ ปลาจะมีการแผ่ครีบปิดเหงือกและเปล่งสีเต็มที่ หันหัวไปในทางเดียวกัน โดยตัวใดตัวหนึ่งอยู่เยื้องไปทางด้านหลังเล็กน้อย  ปลาจะอยู่ในท่านี้ในระยะเวลาสั้นๆ เป็นวินาทีหรือหลายนาที แล้วจะเริ่มเข้ากัดโจมตีอย่างรวดเร็ว อาวุธหลักที่ใช้ทำร้ายศัตรูคือฟัน การโจมตีจะต่อเนื่องรุนแรง โดยมีระยะเวลาพักสั้นๆ ที่ปลาจะแยกตัวออกมาอยู่ในท่าเตรียมพร้อม แล้วเข้าต่อสู้กันอีก จุดหลักสำหรับการโจมตี  คือ  ครีบก้น   ครีบหาง  และครีบหลัง  ส่วนครีบอกและตะเกียบนั้น  มักไม่ได้รับความสนใจมากนัก เมื่อการต่อสู้ผ่านไปเรื่อยๆ  ครีบเหล่านี้จะถูกกัดขาดวิ่นไป  จนบางครั้งเหลือแต่โคนของก้านครีบ ซึ่งจะทำให้ประสิทธิภาพในการว่ายน้ำ และการควบคุมทิศทางลดลง  จุดอื่นที่เป็นเป้าโจมตีของปลา คือ  ด้านข้างลำตัว การกัดบริเวณนี้อย่างรวดเร็วอาจทำให้เกล็ดร่วงหลุด  แต่ส่วนใหญ่ไม่ค่อยทำให้ถึงกับเป็นแผลบาดเจ็บ ยกเว้นบริเวณเหงือกที่บางครั้งอาจถูกกัดขาดเป็นแผล การพัฒนาสายพันธุ์ในระยะหลังๆ ทำให้ได้ปลากัดที่ฉลาด รู้จักเลือกที่กัดเพื่อเอาชนะคู่ต่อสู้ สามารถกัดเฉพาะที่ที่เป็นจุดสำคัญๆ ทั้งกัดได้แม่นยำและหนักหน่วง

          เมื่อปลาที่ถูกโจมตีซึ่งๆ หน้าไม่สามารถหลบหลีกได้ทัน จะประสานปากเข้ากัดรับ และหันส่วนหัวเข้ากัดกัน ล็อกขากรรไกรแน่น ท่านี้นักเลงปลาเรียกว่า “ติดบิด”  ปลาจะปล่อยตัวตามยาว  ทำให้ส่วนที่เหลือของลำตัวหมุนบิดเป็นเกลียว จนจมลงพื้น และคงอยู่ท่านี้ประมาณ ๑๐ - ๒๐ วินาที  จึงแยกจากกัน แล้วขึ้นสู่ผิวน้ำเพื่อฮุบอากาศ จากนั้นกลับมาต่อสู้กันใหม่ในท่าเดิม ในช่วงที่ขึ้นฮุบอากาศจะไม่มีปลาตัวไหนถูกลอบกัด  ในการต่อสู้บางครั้งปลาอาจจะติดบิดถึง  ๒๐  ครั้ง จึงมีการแพ้การชนะ

          การแพ้ชนะของปลากัด ส่วนใหญ่เกิดจากการยอมแพ้เพราะเหนื่อย  และสูญเสียความอดทน มากกว่าพ่ายแพ้จากการบาดเจ็บ เมื่อปลากัดยอมแพ้ไม่ต้องการต่อสู้ จะว่ายน้ำหนี หรือหันด้านหางเข้าหาเมื่อคู่ต่อสู้เข้าโจมตี

          จากบันทึกของนาย เอช. เอ็ม.  สมิท (H.M. Smith) ที่ปรึกษาทางด้านสัตว์น้ำของประเทศไทยในรัชกาลที่  ๖  ซึ่งได้ชมการกัดปลามากกว่า  ๑๐๐  ครั้ง  ยืนยันว่าการกัดปลาไม่โหดร้ายป่าเถื่อนสยดสยองเหมือนดังที่เข้าใจกัน แต่เป็นการต่อสู้ที่เร้าใจ เต็มไปด้วยศิลปะและความงามในลีลาการเคลื่อนไหวที่สง่างาม  คล่องแคล่ว เฉียบแหลม และอดทน เมื่อสิ้นสุดการต่อสู้อันยืดเยื้อ ปลาทั้งคู่อาจอยู่ในสภาพไม่น่ามอง เนื่องจากครีบถูกกัดขาดวิ่น หรือเกล็ดหลุด แต่ภายในเวลาประมาณ ๒ - ๓ สัปดาห์ ก็สามารถงอกกลับมาเป็นปกติใหม่ จนไม่พบร่องรอยของการบาดเจ็บ

ธรรมชาติของปลากัด, ธรรมชาติของปลากัด หมายถึง, ธรรมชาติของปลากัด คือ, ธรรมชาติของปลากัด ความหมาย, ธรรมชาติของปลากัด คืออะไร

ร่วมเป็นแฟนเพจเรา บน Facebook..ได้ที่นี่เลย!!

บทความอื่น ของสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ เล่มที่ 30

สารานุกรมเล่มอื่นๆ

คำยอดฮิต

Sanook.commenu