ชนชาติไทยมีวัฒนธรรมเป็นของตนเองขนบธรรมเนียมประเพณีต่างๆที่ปฏิบัติและสืบทอดกันต่อมา บางอย่างมีหลักเกณฑ์และเหตุผลที่ชัดเจน บางอย่างเป็นเพียงความเชื่อที่ไม่สามารถพิสูจน์ได้ การยึดถือเอาพันธุ์ไม้เป็นสื่อ เป็นสัญลักษณ์เชื่อมโยงกับความรัก ความสุข ความทุกข์ ความสูญเสีย และการพลัดพราก เพราะชื่อของพันธุ์ไม้บ้าง เพราะลักษณะของพันธุ์ไม้บ้าง เป็นธรรมเนียมความเชื่อที่อยู่ในวิถีชีวิตของคนไทยมาโดยตลอดเรื่องของไม้มงคล และไม้ต้องห้ามนานาชนิดยังสืบทอดมาถึงปัจจุบัน ตัวอย่างพันธุ์ไม้ที่เกี่ยวข้องกับความเชื่อดังกล่าวนี้ ได้แก่ สวาด (Caesalpinia bonduc (L.) Roxb.)
เห็นสวาดขาดทิ้งกิ่งสบัด
เป็นรอยตัดต้นสวาทให้ขาดสาย
สวาทพี่นี้ก็ขาดสวาทวาย
แสนเสียดายสายสวาทที่ขาดลอย
ในวรรณคดีหลายเรื่องที่กล่าวถึงต้นสวาดในเชิงเปรียบเทียบกับความรัก ความพิศวาสระหว่างชายหญิง เพราะมีความพ้องเสียงกันนั่นเอง นอกจากนั้น ตามธรรมเนียมไทย ในการจัดขันหมากงานแต่งงานบางแห่ง มีการใช้ใบรักและใบสวาดรองก้นขันหมากโท ซึ่งใส่หมากพลู ส่วนขันหมากเงินทุนและสินสอด ใส่ใบรักและใบสวาดลงไปรวมกับดอกไม้ และสิ่งมงคลอื่นๆเช่น ใบเงิน ใบทอง ดอกบานไม่รู้โรย และถั่วงา เป็นต้น
สวาด หรือที่คนทางภาคใต้เรียกว่า หวาดนั้น เป็นไม้เลื่อยที่พบทั่วไปในเขตร้อน ในประเทศไทยพบมากตามป่าละเมาะใกล้ทะเล ลำต้นและกิ่นก้านของเถาสวาดมีหนามแหลมอยู่ทั่วไป ใบประกอบแบบขนนกสองชั้น ขนาดใหญ่ ยาว ๓๐-๕๐ ซม. ดอกสีเหลือง เป็นช่อยาว ๑๕-๒๕ ซม.ออกดอกตรงกิ่งเหนือซอกใบขึ้นไปเล็กน้อย ช่อเดี่ยวหรืออาจแตกแขนงบ้าง ก้านช่อยาวและมีหนาม ผลเป็นฝักรูปรี หรือขอบขนานแกมรูปรี มีขนยาวแหลมแข็งคล้ายหนามตามเปลือก แต่ละฝักมี ๒ เมล็ดเมล็ดกลมเปลือกแข็ง เส้นผ่านศูนย์กลาง ๑.๕-๒ ซม. สีเทาแกมเขียว เป็นสีที่เรียกกันว่า สีสวาดนั่นเอง ในสมัยก่อน เด็กๆ นำมาใช้เล่นหมากเก็บ เพราะมีขนาดและรูปร่างเหมาะสม ใบสวาดมีสรรพคุณเป็นยาขับลม แก้จุกเสียด ผลใช้แก้กระษัย