บานเย็น (Mirabilis jalapa Linn.) ไม้ดอกต้นเล็กๆ วงศ์เดียวกับเฟื่องฟ้า มีดอกสีสวย และบานในเวลาเย็น เป็นไม้ประดับที่ปลูกกันตามบ้านทั่วๆ ไป ต้นสูง ๓๐-๕๐ ซม.แตกแขนงเป็นพุ่มเตี้ยๆ มีรากพองเป็นหัวใต้ดินใบเดี่ยวรูปหัวใจ หรือคล้ายรูปสามเหลี่ยม ปลายเรียวแหลม ออกเรียงสลับ ดอกออกเป็นช่อที่ปลายกิ่ง ช่อละ ๒-๕ ดอก แต่จะทยอยกันบานดอกบานเย็นเป็นรูปกรวยปลายดอกเป็น ๕ หยักขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางดอกประมาณ ๓ ซม. กลีบดอกบางและนิ่ม มีหลายสี เช่น ชมพู แดง เหลือง ขาว ส้ม และสองสีปนกัน พันธุ์ดอกสีชมพูเข้มเป็นที่รู้จักและนิยมมาก จนมีชื่อเรียกสีชมพูเข้มแบบนั้นว่า สีบานเย็น ผลค่อนข้างกลมผิวขรุขระ เมื่อแก่มีสีดำ มีเมล็ด ๑ เมล็ด
เมล็ดบานเย็นมีรูปร่างค่อนข้างกลม ภายในมีแป้งสีขาวเป็นผงละเอียด ผู้หญิงไทยรู้จักใช้ผัดหน้าให้ผิวสวยและไม่เป็นสิว ดังปรากฏในพระราชนิพนธ์ของรัชกาลที่ ๒ เรื่อง อิเหนาตอนหนึ่งว่า
ลางนางบ้างเก็บลูกบานเย็น มาผัดหน้าทาเล่นไม่เป็นสิว
มีหลักฐานว่า หญิงชาวจีนและญี่ปุ่นเคยใช้แป้งชนิดนี้ผัดหน้าแก้สิว เช่นเดียวกัน
บานเย็นมีถิ่นกำเนิดในเปรู สันนิษฐานว่านำเข้ามาในไทยในสมัยแผ่นดินพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว หรือก่อนหน้านั้น มีปลูกกันทั่วไปจนเป็นที่รู้จักคุ้นเคยและอาจคิดว่าเป็นไม้ พื้นเมืองของไทย ดอกบานเย็นเริ่มบานประมาณ ๑๖.๐๐ น. และบานเรื่อยไปจนถึงเช้าจึงจะหุบ ดังนั้นที่คนไทยเรียกว่า บานเย็น จึงเป็นชื่อที่เหมาะสม และสื่อความหมายได้ดีมาก ทางภาคเหนือเรียกว่า จำยาม หรือ ตามยาม ซึ่งหมายถึงเวลาบานของดอกเช่นเดียวกัน