ความรู้ เกร็ดความรู้ สารานุกรม สารานุกรมออนไลน์ ความรู้รอบตัว ความรู้ทั่วไป พจนานุกรม เกมส์ เพลงใหม่ เพลง

พัฒนาการธนาคารพาณิชย์ในประเทศไทย, พัฒนาการธนาคารพาณิชย์ในประเทศไทย หมายถึง, พัฒนาการธนาคารพาณิชย์ในประเทศไทย คือ, พัฒนาการธนาคารพาณิชย์ในประเทศไทย ความหมาย, พัฒนาการธนาคารพาณิชย์ในประเทศไทย คืออะไร
| เปิดอ่าน 0 | ความคิดเห็น 0
พัฒนาการธนาคารพาณิชย์ในประเทศไทย

           กิจการธนาคารพาณิชย์ในประเทศเริ่มในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวในขณะที่การค้าระหว่างประเทศไทยกับประเทศแถบยุโรปขยายตัวเพิ่มขึ้น จนทำให้นักธุรกิจชาวตะวันตกเข้ามาเปิดกิจการสาขาธนาคารพาณิชย์ในประเทศไทย เพื่ออำนวยความสะดวกทางการค้าระหว่างประเทศคือ ธนาคารฮ่องกงและเซี่ยงไฮ้ของอังกฤษในปี พ.ศ.๒๔๓๑ ธนาคารชาร์เตอร์ดของอังกฤษในปี พ.ศ. ๒๔๓๗ และธนาคารแห่งอินโดจีนของฝรั่งเศสในปี พ.ศ.๒๔๓๙ ทางด้านของไทยเองได้มีการจัดตั้งกิจการประกอบธุรกิจในลักษณะธนาคารพาณิชย์โดยให้ชื่อว่า บุคคลัภย์ (Book Club) ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็น บริษัทแบ๊งค์สยามกัมมาจล ทุนจำกัด (The Siam Commercial Bank Ltd.) ในปีพ.ศ. ๒๔๔๙ และเปลี่ยนเป็น ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด ในปี พ.ศ. ๒๔๘๒

           หลังจากธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด ซึ่งเป็นธนาคารไทยแห่งแรกประสบความสำเร็จพอสมควรในการประกอธุรกิจ ก็ได้มีธนาคารพาณิชย์ของไทยก่อตั้งเพิ่มขึ้นมาในระหว่างปีพ.ศ. ๒๔๗๖-๒๔๘๔ (ก่อนสงครามโลกครั้งที่ ๒) ซึ่งได้มีการเปลี่ยนชื่อและดำเนินงานมาจนถึงปัจจุบัน ๔ แห่ง คือ ธนาคารนครธน จำกัด๑ ธนาคารมหานคร จำกัด๒ ธนาคารเอเชีย จำกัด๓ และธนาคารนครหลวงไทย จำกัด๔ แต่การดำเนินงานของธนาคารไทยยังไม่มีประสิทธิภาพและความก้าวหน้าเท่าเทียมกับสาขาธนาคารพาณิชย์ของต่างประเทศในประเทศไทย เนื่องจากขาดผู้มีความรู้ความเชี่ยวชาญในการบริหารงานธนาคาร บางธนาคารต้องจ้างชาวต่างประเทศมาเป็นผู้บริหาร

           ในระหว่าง  พ.ศ. ๒๔๘๔-๒๔๘๘ (ระหว่างสงครามโลกครั้งที่ ๒) เป็นช่วงเวลาและโอกาสให้ธนาคารพาณิชย์ของไทยได้พัฒนาอย่างเต็มที่ เนื่องจากสาขาธนาคารต่างประเทศในประเทศไทยหยุดกิจการชั่วคราว และรัฐบาลส่งเสริมให้คนไทยก่อตั้งธนาคารพาณิชย์เพิ่มมากขึ้น ธนาคารที่ตั้งขึ้นในระหว่างนี้คือ ธนาคารกรุงไทย จำกัด๕ ธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชย์การ จำกัด  ธนาคารกรุงเทพ จำกัด  ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด๖ ธนาคารกสิกรไทย จำกัด

           หลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ ธนาคารพาณิชย์ของไทยเจริญเติบโตขึ้นจนแข่งขันกับสาขาธนาคารพาณิชย์ต่างประเทศในประเทศไทยได้ทั้งด้านการดำเนินงานและการบริหารงาน ประชาชนมีความเข้าใจในการฝากเงินกับธนาคารพาณิชย์มากขึ้น  กิจการค้าและการเกษตรที่ต้องใช้บริการของธนาคารพาณิชย์มีมากขึ้นเป็นลำดับ เป็นสิ่งจูงใจให้ธนาคารพาณิชย์ที่มีอยู่ขยายงานออกไปยังส่วนภูมิภาค ขณะเดียวกันได้มีการตั้งธนาคารพาณิชย์เพิ่มขึ้นอีก ๖ ธนาคาร ตามชื่อที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน  คือ ธนาคารไทยทนุ จำกัด ธนาคารสหธนาคาร จำกัด๗ ธนาคารศรีนคร จำกัด ธนาคารแหลมทอง จำกัด ธนาคารทหารไทยจำกัด และธนาคารสยาม จำกัด๘

          ธนาคารพาณิชย์ของไทยได้ขยายการประกอบการตามความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ ด้วยการเปิดสาขาเพิ่มมากขึ้นทั่วประเทศทั้งในกรุงเทพมหานครและต่างจังหวัด ตลอดจนต่างประเทศด้วย ขณะเดียวกันธนาคารพาณิชย์ต่างประเทศก็ได้เข้ามาเปิดสาขาประเทศไทยเพิ่มขึ้นด้วย โดยส่วนใหญ่เปิดสำนักงานในกรุงเทพมหานคร ปัจจุบันมีธนาคารพาณิชย์ไทย ที่ดำเนินงานอยู่  ๑๖ ธนาคาร และธนาคารพาณิชย์ต่างประเทศที่เปิดสาขาในประเทศไทย ๑๔ ธนาคารด้วยกัน

          ๑. ธนาคารนครธน จำกัด เมื่อแรกตั้งชื่อ ธนาคารหวั่งหลีจั่น ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นธนาคารหวั่งหลี จำกัด เมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๙ และเปลี่ยนเป็นธนาคารนครธน จำกัด เมื่อเดือนเมษายน ๒๕๒๘
          ๒. ธนาคารมหานคร จำกัด เมื่อแรกตั้งชื่อ บริษัทแบงค์ตันเปงชุน จำกัด ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นธนาคารไทยพัฒนา จำกัด เมื่อ พ.ศ.๒๕๐๓ และเปลี่ยนเป็นธนาคารมหานคร จำกัด เมื่อเดือนกรกฎาคม ๒๕๒๐
          ๓. ธนาคารเอเชีย จำกัด ชื่อเดิมคือ ธนาคารแห่งเอเชียเพื่อการอุตสาหกรรมและพาณิชยกรรม จำกัด ได้เปลี่ยนเป็นธนาคารเอเชีย จำกัด เมื่อเดือนมีนาคม ๒๕๑๙
          ๔. ธนาคารนครหลวงไทย จำกัด ชื่อเดิมคือ ธนาคารนครหลวง แห่งประเทศไทย จำกัด ได้เปลี่ยนเป็นชื่อในปัจจุบันเมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๗
          ๕. เป็นการควบกิจการของธนาคารเกษตร จำกัด และธนาคารมณฑล จำกัด เข้าด้วยกัน (ธนาคารมณฑล จำกัด เดิมชื่อบริษัท ธนาคารไทย จำกัด เปลี่ยนเป็นธนาคารมณฑลเมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๘) แล้วใช้ชื่อว่าธนาคารกรุงไทย จำกัด เมื่อเดือนมีนาคม ๒๕๐๙
          ๖. เปลี่ยนจากธนาคารแห่งกรุงศรีอยุธยา จำกัด เป็นธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด เมื่อเดือนเมษายน ๒๕๑๒
          ๗. เมื่อแรกตั้งใช้ชื่อว่า สหธนาคารกรุงเทพฯ จำกัด ต่อมาเมื่อเดือนมีนาคม ๒๕๑๘ ได้เปลี่ยนชื่อเป็น สหธนาคาร จำกัด และเป็นธนาคารสหธนาคาร จำกัด เมื่อเดือนมีนาคม ๒๕๒๖
          ๘. เมื่อเดือนธันวาคม ๒๕๒๗ ได้เปลี่ยนชื่อจาก ธนาคารเอเชียทรัสท์ จำกัด เป็นธนาคารสยาม จำกัด






พัฒนาการธนาคารพาณิชย์ในประเทศไทย, พัฒนาการธนาคารพาณิชย์ในประเทศไทย หมายถึง, พัฒนาการธนาคารพาณิชย์ในประเทศไทย คือ, พัฒนาการธนาคารพาณิชย์ในประเทศไทย ความหมาย, พัฒนาการธนาคารพาณิชย์ในประเทศไทย คืออะไร

ร่วมเป็นแฟนเพจเรา บน Facebook..ได้ที่นี่เลย!!

บทความอื่น ของสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ เล่มที่ 13

สารานุกรมเล่มอื่นๆ

คำยอดฮิต

Sanook.commenu