ลักษณะของถมจุฑาธุชคำว่า "ถมจุฑาธุช" เป็นชื่อเครื่องถมที่สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจุฑาธุชธราดิลกกรมขุนเพ็ชรบูรณ์อินทราชัย ได้ทรงคิดพัฒนาให้มีกระบวนการที่เร็วขึ้นและทรงประสิทธิภาพสูงขึ้นโดยนำวิธีการเขียนลวดลายและวิธีการถ่ายภาพมาประยุกต์ใช้ในการทำเครื่องถม แทนวิธีการสลักลวดลายแบบโบราณซึ่งทำได้ช้าเพราะต้องผ่านหลายขั้นตอน นอกจากนั้นเมื่อนำขั้นตอนของการสลักลวดลายแบบโบราณมาใช้ ก็ไม่สามารถ พลิกแพลงทำรูปทรงที่ยากๆ ได้ เพราะจะทำให้เสียรูปทรงและจะประกอบให้เหมือนเดิมได้ยากทั้งยังเสียเวลามากด้วย กรรมวิธีในการผลิตเครื่องถมจุฑาธุชมีวิธีการดังต่อไปนี้
๑. วิธีการทำเครื่องถมโดยการเขียนลวดลายแล้วกัดกรด
๒. วิธีการทำเครื่องถมโดยการถ่ายแบบลวดลายที่กัดกรดแล้ว
๒.๑ การถ่ายแบบลวดลายลงในแผ่นกระจกโดยอาศัยน้ำยาโคโลเลียน (ใช้ในยุคที่การถ่ายภาพยังไม่เจริญ)
๒.๒ การถ่ายแบบลวดลายลงบนแผ่นฟิล์ม ซึ่งยังมีใช้อยู่ในปัจจุบัน ขั้นตอนและวิธีการดังกล่าว ที่พระองค์ท่านได้ทรงคิด ค้นขึ้นมานี้ ทำให้วงการทำเครื่องถมไทยสามารถพัฒนางานได้รวดเร็ว และตัดขั้นตอนในการทำเครื่องถมไปถึง ๔ ขั้นตอน (จากการทำเครื่องถมแบบโบราณ) การที่พระองค์ท่านทรงนำเอาวิธีการดังกล่าวมาเผยแพร่นี้ นอกจากได้ประโยชน์ในเชิงวิชาการแล้วยังส่งผลให้เครื่องถมนั้นมีแพร่หลายในหมู่ผู้ใช้มากขึ้น และเจริญก้าวหน้าสืบทอดมาเป็นมรดกของชาติจนถึงปัจจุบันอีกด้วย เป็นที่รู้จักกันทั่วไปทั้งในประเทศและต่างประเทศทั่วโลกว่าถ้าเป็นถมลักษณะอย่างนี้ต้องเป็นถมจุฑาธุช ซึ่ง
เรียกตามพระนามของท่านผู้คิดค้นนั่นเอง
ลักษณะของถมจุฑาธุช มีข้อสังเกตได้ดังนี้
๑. ด้านหลังของลวดลายจะเป็นพื้นเรียบสวยงาม
๒. ลวดลายจะทำได้ละเอียดมาก และคมชัด
๓. ลักษณะของรูปทรงจะเรียบร้อยและสวยงาม
๔. โดยทั่วไปแล้วจะมีแต่ถมสีเงิน (ถมดำ)เท่านั้นไม่นิยมทาทองเพราะพื้นถมจะหลุดง่าย
๕. ใช้วิธีแต่งลายโดยวิธีแกะแร เพราะจะป้องกันการกะเทาะของพื้นถม
๖. พื้นถมนั้นจะไม่มีตามด เพราะพื้นลวดลายที่เกิดจากการกัดกรดจะลึกและเรียบเท่ากันหมด
๗. สามารถทำเป็นรูปแบบเครื่องถมยากๆได้ทุกรูปแบบ
๘. สามารถผลิตเครื่องถมที่เหมือนกันได้เป็นจำนวนมาก
๙. เนื้อวัสดุที่เกิดจากการกัดกรดรูปพรรณและแต่งลวดลายรูปพรรณจะหลุดหายไป
วิชาช่างถมที่เปิดสอนในโรงเรียนเพาะช่างได้รับการส่งเสริมจากผู้บริหารทุกยุคทุกสมัย ทั้งวิธีทำเครื่องถมแบบโบราณ (ตำราถมนครฯ) และ "ถมจุฑาธุช" (ซึ่งมีแห่งเดียวในประเทศไทย) เพราะมีครูช่างถมที่มีฝีมือชำนาญสืบต่อจากครูช่างถมชุดบุกเบิก (พ.ศ. ๒๔๕๖) ถึง ๔ คน คือ ครูปลอด เทียนศิริ (เมื่อเกษียณอายุได้มีโอกาสเป็นครูช่างถมของศูนย์ศิลปาชีพ ปัจจุบันถึงแก่กรรม) ครูสะท้าน ครูเฉื่อย ชินสิริ และครูสุพัฒน์ มาลินนท์
ในด้านการเรียนการสอน แม้ว่าทางราชการให้ทุนเป็นค่าวัสดุฝึกน้อยมากคือ ๓๐๐ บาท และแม้จะเพิ่มขึ้นเป็น ๗๐๐ บาทต่อคนต่อปีโรงเรียนก็สอนให้ทำเครื่องถมได้เพียงงานชิ้นเล็กๆ เช่น กำไล ตุ้มหู กระดุม เข็มกลัด และได้นำกรรมวิธีทางวิทยาศาสตร์และเครื่องทุ่นแรงมาใช้บ้างบางขั้นตอน คือ ปั๊มรูปและปั๊มลาย
ในด้านอนุรักษ์ โรงเรียนเพาะช่างยังคงรักษาวิธีทำเครื่องถมแบบโบราณ คือทำด้วยมือล้วนๆ ซึ่งเป็นเครื่องถมที่ทำทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวตามพระราชประสงค์ปัจจุบันอยู่ที่พระที่นั่งวิมานเมฆ และในพระบรมมหาราชวังจะมีกลุ่มเครื่องถม พ.ช. มีการอนุรักษ์ "ถมจุฑาธุช" เพื่อรักษาและส่งเสริมซึ่งศิลปะของไทย อาทิ การวาดเขียนการแกะสลัก การทำเครื่องลงหิน การทำเครื่องเงินเครื่องทอง และการลงถมในลักษณะและวิธีการที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานชื่อว่า "ถมจุฑาธุช" ให้เป็นที่นิยมยิ่งๆ ขึ้น ทั้งภายในและภายนอกประเทศ "มูลนิธิสมเด็จฯ เจ้าฟ้าจุฑาธุช" ซึ่งมีพระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าสุทธสิริโสภา ทรงเป็นองค์ประธานและเป็นองค์อุปถัมภ์สถาบันเทคโนโลยีราชมงคลวิทยาเขตเพาะช่าง ได้ให้ทุนอุดหนุนการทำเครื่องถมจุฑาธุชปีละหลายหมื่น ชุดเครื่องถมจุฑาธุชงดงามวิจิตรตระการตาอีกแบบหนึ่งมีอยู่ที่ตึก "จุฑาธุช" ในบริเวณสถาบันเทคโนโลยีราชมงคลวิทยาเขตเพาะช่าง กรุงเทพมหานคร
ปัจจุบันสถาบันเทคโนโลยีราชมงคลวิทยาเขตเพาะช่าง เปิดสอนวิชาช่างถมในระดับปริญญาตรี แผนกเครื่องโลหะ คณะศิลปหัตถกรรมมีอาจารย์สอน ๒ ท่านคือ อาจารย์มนตรี จันทพันธ์และอาจารย์มานะ แก้วดี ท่านทั้งสองจบหลักสูตรปวส. จากวิทยาลัยเทคโนโลยีอาชีวศึกษา นครศรีธรรมราช (โรงเรียนช่างถมนครศรีธรรมราชเดิม) แล้วมาศึกษาต่อระดับปริญญาตรีที่สถาบันเทคโนโลยีราชมงคล วิทยาเขตเพาะช่าง นับเป็นความก้าวหน้าของสถาบันที่มีอาจารย์มีฝีมือถ่ายทอดวิชาช่างถมแก่อนุชนรุ่นต่อๆ ไป เพื่ออนุรักษ์ให้ "เครื่องถม" เป็นมรดกแผ่นดินไทยชั่วกัลปาวสาน