จากการที่ไม้ดีๆ ต้องสูญเสียไปกับคลองเลื่อย ในการแปรรูปไม้โดยวิธีเลื่อยตามธรรมดาจำนวนมาก จึงทำให้มีผู้คิดหาทางแก้ไข พบว่ามีวิธีหนึ่งที่ได้ผลดี คือ ปอก หรือผ่านเป็นไม้บาง มีความหนาตั้งแต่ ๑-๔ มิลลิเมตร ไม้บางนี้ลำพังตัวของมันเองไม่มีคุณสมบัติในด้านความแข็งแรง อาจฉีกหรือหักให้แยกจากกันได้ง่าย ต้องนำไปทากาวแล้วอัดติดกันหลายๆ ชั้น หรือติดกับวัตถุอย่างอื่น จึงจะใช้งานได้ดี
เป็นไม้ที่ได้จากการนำไม้บาง ๓ หรือ ๕ หรือ ๗ แผ่นมาทากาวแล้วอัดให้แผ่นที่อยู่ติดกันมีแนวเสี้ยนตั้งฉากกัน อาจผลิตให้มีความหนาบางแตกต่างกันได้หลายขนาด โดยเลือกใช้ไม้บางที่มีความหนาต่างๆ กัน หรือเพิ่มจำนวนชั้นไม้บางตามความเหมาะสม ไม้บางที่ผลิตออกสู่ตลาดถือตามขนาดมาตรฐาน คือ กว้าง ๔ ฟุต ยาว ๘ ฟุต แต่ในโอกาสต่อไปอาจต้องเปลี่ยนเป็นกว้าง ๑๒๐ เซนติเมตร ยาว ๒๔๐ เซนติเมตร ตามมาตรฐานของไทย ซึ่งมีการกำหนดให้ ๓๐ เซนติเมตร เป็นหน่วยมาตรฐาน
ไม้อัดอาจแบ่งออกได้เป็น ไม้อัดภายใน และ ไม้อัดภายนอก ตามประเภทของกาวที่ใช้ กาวที่ใช้ในอุตสาหกรรมไม้อัดสำคัญของโลกปัจจุบัน ได้แก่ กาวยูเรียฟอร์มัลดีไฮด์ ทนน้ำได้ดีพอควร ใช้สำหรับทำไม้อัดภายใน กาวรีซอสซีนอล และฟีนอลฟอร์มัลดีไฮด์ สามารถทนน้ำและความร้อนได้ดี แม้แช่ในน้ำหรือต้ม ไม้อัดก็ไม่หลุดลอกออกจากกัน จึงใช้ทำไม้อัดภายนอก
ไม้อัดที่ใช้กันอยู่ทั่วๆ ไปในเวลานี้ มักคำนึงถึง แต่ความสวยงามและความทนทานต่อการหลุดลอก เมื่อถูกความชื้นหรือน้ำ ในโอกาสต่อไปอาจจะต้องมีการพิจารณาในเรื่องความแข็งแรงด้วย เมื่อมีการนำไปใช้ประกอบโครงสร้างที่ต้องรับกำลังมากๆ เช่น ทำเป็นคาน ตง นอกจากไม้อัดที่มีขนาดตามมาตรฐานของตลาด ดังกล่าวแล้ว การอัดไม้ให้ได้ขนาดจำเพราะตามวัตถุประสงค์ที่จะนำไปใช้ หรืออัดให้มีรูปโค้งนูนอย่างไร อาจมีทางทำได้เป็นอเนกประการ