ดังที่ได้กล่าวมาแล้วว่าสามารถแบ่งกลุ่มของสัตว์ทะเลหน้าดินตามลักษณะการกินอาหารของมันแหล่งอาหารของสัตว์ทะเลหน้าดิน ได้แก่ พืชสีเขียวสาหร่ายทะเล หญ้าทะเล แพลงก์ตอนพืชและแพลงก์ตอนสัตว์ และอินทรียสาร พวกที่กรองอาหารจากมวลน้ำจะมีอวัยวะที่ใช้กรองอาหารพวกแพลงก์ตอนหรืออินทรียสารจากน้ำ เช่น รยางค์ส่วนหนวดหรือเหงือก พวกนี้บางครั้งจะปล่อยเมือกออกมาช่วยในการกรองอาหารจากน้ำด้วย ต้นแบบของสัตว์ทะเลหน้าดินที่กรองอาหารจากน้ำคือพวกฟองน้ำ พวกนี้เป็นต้นแบบของสัตว์หลายเซลล์ที่ดึกดำบรรพ์ในทะเล พบรวมทั้งสิ้นมากกว่า ๕,๐๐๐ ชนิด ตัวของฟองน้ำจะเป็นรูพรุนเล็กๆ เต็มไปหมด ซึ่งน้ำสามารถซึมเข้าสู่ตัวและเข้าสู่โพรงใหญ่ภายในตัวของฟองน้ำได้แพลงก์ตอนและอินทรียสารที่อยู่ในน้ำจะถูกกรองและกักไว้ น้ำที่เหลือจะถูกขับออกมาสู่ภายนอกโดยผ่านทางช่องเปิดใหญ่ ฟองน้ำจะต้องอยู่ในที่ที่มีการหมุนเวียนของน้ำตลอดเวลาทั้งนี้เพราะมันอาศัยกรองอาหารจากน้ำนั่นเอง เซลล์แต่ละเซลล์ที่ทำหน้าที่ในการกรองอาหารจะมีหนวดยาวหนึ่งเส้น เพื่อทำหน้าที่พัดโบกน้ำให้ผ่านภายในตัวและทำหน้าที่กรองอาหารจากน้ำ หอยสองฝาก็จะใช้ส่วนเหงือกในการกรองแพลงก์ตอนหรืออินทรียสารจากน้ำ พวกเพรียงหินที่เกาะอยู่ตามหินหรือเสาในทะเลจะยื่นรยางค์ส่วนอกของมันออกมาจากเปลือกหนาของมันเพื่อกรองอาหารจากน้ำมันจะโบกรยางค์ส่วนอกนี้เป็นจังหวะเพื่อจับอาหารที่มากับน้ำ
สัตว์ทะเลหน้าดินกลุ่มใหญ่อีกกลุ่มหนึ่งที่กินอินทรียสารเป็นอาหารก็มักจะมีกลยุทธ์ในการกินอาหารได้หลากหลาย พวกแมลงสาบทะเลจะคืบคลานไปตามพื้นเพื่อกินซากพืชซากสัตว์เท่านั้นพวกหนอนถั่วที่พบฝังตัวอยู่ในดิน หรือฝังตัวอยู่ในปะการังมีขนาดตั้งแต่ ๐.๒-๗.๒ เซนติเมตรจะมีลำตัวแบ่งออกเป็นสองส่วนคือส่วนหัวจะมีรยางค์ส่วนหนวดยาวอยู่ล้อมรอบปาก และส่วนลำตัวจะเป็นทรงกระบอกที่พองออกด้านท้ายลำตัวหนอนถั่วจะยื่นส่วนหัวออกมาเพื่อจับอาหาร เช่น เดียวกับพวกไส้เดือนทะเลพวก แฟน วอร์มส์ (fanworms) พวกนี้จะฝังตัวอยู่ในดินหรือในปะการังยื่นแต่รยางค์ส่วนหนวดที่ยาวมากออกมากวาดอินทรียสารที่อยู่บนพื้นดิน กวาดรวบรวมในลักษณะเป็นก้อนอินทรียสารเล็กๆ และส่งเข้าปากอีกครั้งหนึ่ง หอยสองฝาบางชนิดจะมีท่อน้ำเข้าและท่อน้ำออกแยกจากกัน ท่อน้ำเข้าที่ยื่นยาวออกจะทำหน้าที่เสมือนเป็นท่อดูดของเครื่องดูดฝุ่นดูดเอาอินทรียสารเข้าภายในตัว ปลิงทะเลกินอินทรียสารที่อยู่ตามพื้นดินโดยใช้รยางค์ส่วนหนวดกวาดเข้าไปสู่ปาก ลำไส้ของปลิงทะเลจะมีความยาวมากขดไปมา การแยกอินทรียสารออกจากดินตะกอนทั่วไปจะเกิดขึ้นบริเวณลำไส้ ส่วนดินทรายที่เหลือจะถูกขับออกมาในรูปมูลดินเป็นอุจจาระ
สัตว์ทะเลหน้าดินกลุ่มใหญ่อีกกลุ่มหนึ่งจะดำรงชีพเป็นผู้ล่าเหยื่อนับตั้งแต่พวกไส้เดือนทะเลที่มีขนาดเล็ก พวกนี้จะมีรยางค์สำหรับเคลื่อนที่ตามเหยื่ออย่างรวดเร็ว ที่ส่วนหัวจะมีตาที่พัฒนาอย่างดีสำหรับมองเห็นเหยื่อและมีเขี้ยวที่แข็งแรงสำหรับกัดฉีกเหยื่อ หนอนสายพานสามารถยืดตัวออกได้ยาวมากอาศัยอยู่ในรูตามกอสาหร่ายหรือแทรกอยู่ตามซอกหินปะการัง มีรยางค์ส่วนหัวที่ใช้ยืดออกมาพันรอบเหยื่อ รยางค์ที่ใช้จับเหยื่อนี้จะมีหนามแหลมหรือเข็มพิษที่ใช้แทงเข้าไปในเหยื่อเหยื่อของหนอนสายพานอาจมีขนาดใหญ่กว่าตัวของมัน นอกจากนี้หนอนสายพานบางชนิดยังปล่อยเมือกเหนียวออกมาช่วยจับเหยื่อได้ หนอนสายพานมักเป็นผู้ล่าตอนกลางคืน มันจะกินหนอนชนิดอื่น ไส้เดือนทะเลครัสเตเชียน และปลาขนาดเล็กเป็นอาหาร ดอกไม้ทะเลและปะการังก็เป็นผู้ล่าเช่นกัน สัตว์ทั้งสองชนิดเวลาล่าเหยื่อจะอยู่กับที่ ยืดรยางค์ส่วนหนวดที่รายล้อมรอบปากออกมา ที่หนวดของมันจะมีเข็มพิษสำหรับแทงเพื่อสยบเหยื่อเราเรียกว่า เนมาโตซิสต์(nematocysts) เข็มพิษบางชนิดจะแทงเข้าไปในตัวเหยื่อทำให้เหยื่อเป็นอัมพาตหยุดการเคลื่อนที่และตายได้ในที่สุด บางชนิดจะมีลักษณะเป็นหนามแหลม บางชนิดจะเป็นใยเหนียวเพื่อพันรอบเหยื่อ เมื่อเหยื่อถูกจับได้ดอกไม้ทะเลและปะการังจะใช้หนวดจับส่งเหยื่อเข้าปากและเข้าสู่
ทางเดินอาหารในที่สุด เหยื่อจะถูกย่อยในทางเดินอาหารนี้ ส่วนที่ย่อยไม่ได้ เช่น เปลือกแข็งเป็นต้น จะถูกพ่นออกมาทางปาก ปลาดาวก็เป็นผู้ล่าเหยื่อในทะเลที่น่าสนใจ มันจะใช้เท้าเล็กๆบนแขนของมันจับเหยื่อ ปลาดาวสามารถเปิดฝาของหอยสองฝาให้แยกจากกันได้ เมื่อเกิดเป็นช่องว่างระหว่างฝาเปลือกของหอยสองฝาแล้วปลาดาวจะยื่นส่วนของกระเพาะอาหารของมันออกมาสัมผัสกับเนื้อเยื่อของหอย และทำการย่อยกินเนื้อหอยสองฝาทันที พวกหอยกระแจะหรือหอยมะระส่วนมากชอบเกาะบนก้อนหินซึ่งมีเพรียงและหอยนางรมติดอยู่ตามชายฝั่งช่วงน้ำขึ้นน้ำลงระดับกลาง อาหารของหอยกระแจะในธรรมชาติคือ เพรียงหิน หอยแมลงภู่ และหอยนางรม หอยกระแจะเมื่อพบอาหารจะใช้แผ่นเท้าเกาะคลุมบนเปลือกของเหยื่อ แล้วใช้ฟันลิ้นเจาะเปลือกเหยื่อจนเป็นรู จากนั้นก็ใช้อวัยวะที่คล้ายงวงเรียกว่าโพรบอสซิส (proboscis) ดูดอวัยวะภายในของเหยื่อกิน พบว่าหอยกระแจะส่วนใหญ่จะเจาะกินหอยนางรมวัยอ่อนหรือตัวเล็กที่แรกลงเกาะ ปูทะเลที่เรารู้จักกันดีเป็นสัตว์ที่ชอบหากินในเวลากลางคืนปูทะเลจัดเป็นผู้ล่าที่สำคัญของสัตว์หน้าดินชนิดต่างๆ โดยเฉพาะสัตว์ทะเลหน้าดินที่เคลื่อนที่ช้าอาหารหลักในบริเวณป่าชายเลนที่ปูทะเลชอบเข้ามาอาศัย ได้แก่ พวกปูแสม ปูก้ามดาบ พวกปลาขนาดเล็ก หอยฝาเดียว เช่น พวกหอยขี้นก หอยขี้กา ปูทะเลชอบไล่จับกินอาหารที่เคลื่อนที่มากกว่าพวกที่อยู่กับที่ การกินอาหารของปูทะเลจะขึ้นกับชนิดของอาหาร ปูทะเลจะใช้ส่วนปลายของขาเดินในการสำรวจเหยื่อ เมื่อส่วนปลายของขาเดินสัมผัสกับเหยื่อแล้ว ปูทะเลจะหยุดและใช้ก้ามจับเหยื่อป้อนเข้าปาก ในกรณีที่เหยื่อมีขนาดเล็กปูทะเลจะใช้ส่วนรยางค์แมกซิลลิปเพด (maxilliped) คู่ที่ ๓ ในการจับประคองเหยื่อแล้วใช้ฟันที่แข็งแรงคือ แมนดิเบิล (mandible) กัดเหยื่อเป็นชิ้นเล็กขนาด ๓-๔ มิลลิเมตร หนาประมาณ ๑-๒ มิลลิเมตร ก่อนที่จะทำการกลืนเข้าสู่กระเพาะอาหารเพื่อย่อยต่อไป
การกินอาหารของสัตว์ทะเลหน้าดิน
การกินอาหารของสัตว์ทะเลหน้าดิน, การกินอาหารของสัตว์ทะเลหน้าดิน หมายถึง, การกินอาหารของสัตว์ทะเลหน้าดิน คือ, การกินอาหารของสัตว์ทะเลหน้าดิน ความหมาย, การกินอาหารของสัตว์ทะเลหน้าดิน คืออะไร
การกินอาหารของสัตว์ทะเลหน้าดิน, การกินอาหารของสัตว์ทะเลหน้าดิน หมายถึง, การกินอาหารของสัตว์ทะเลหน้าดิน คือ, การกินอาหารของสัตว์ทะเลหน้าดิน ความหมาย, การกินอาหารของสัตว์ทะเลหน้าดิน คืออะไร
ร่วมเป็นแฟนเพจเรา บน Facebook..ได้ที่นี่เลย!!