
โรคนี้พบได้ทั่วโลก พบได้บ่อยในเขตร้อน และเขตอบอุ่น อาจมีการระบาดเกิดขึ้นเป็นครั้งคราว มักเป็นในเด็กและวัยหนุ่มสาว โดยเฉพาะผู้ที่อยู่ในสภาพแออัด เช่น ในกองทหาร ในโรงเรียน เป็นต้น
เชื้อต้นเหตุ เกิดจากเชื้อบัคเตรี ที่มีชื่อว่าไนซ์ซีเรีย เมนิงไจทิดิส (Neisseria meningitidis) หรือเมนิงโกค็อกไซ (Meningococci) ลักษณะเป็นเชื้อรูปถั่วอยู่เป็นคู่ แบ่งออกเป็นกลุ่มย่อยหลายกลุ่ม กลุ่มที่ก่อโรคคือ กลุ่มเอ บี และซี
ระยะฟักตัว ประมาณ ๓-๔ วัน แต่อาจพบได้ตั้งแต่ ๒-๑๐ วัน
ลักษณะอาการ เป็นโรคที่มีอาการเฉียบพลันไข้สูง ปวดศีรษะมาก คลื่นไส้ และอาเจียน คอแข็งปวดหลัง มักมีจุดแดงเป็นผื่นขึ้นหรือเป็นจุดเลือดออกผู้ป่วยน้อยรายจะมีผื่นขึ้นแบบตุ่มน้ำ ระยะต่อมาซึมหมดสติ ในรายที่อาการรุนแรงมากๆ จะเริ่มด้วย อาการอ่อนเพลียมาก ช็อก ตั้งแต่ระยะแรก ในบางรายผู้ป่วยอาจมีเชื้ออยู่ในกระแสเลือดโดยไม่มีอาการอักเสบของเยื่อหุ้มสมอง ดังนั้น ในผู้ป่วยที่แสดงอาการไข้เฉียบพลัน มีผื่นเป็นจุดเลือดออก และจำนวนเม็ดเลือดขาวในเลือดสูง อาจเป็นโรคนี้ได้ ในสมัยก่อนโรคนี้อัตราตายสูงถึงร้อยละ ๕๐ แต่ปัจจุบันมียาต้านจุลชีพที่ให้ผลดี อัตราตายลดต่ำลงมาก
การติดเชื้อไข้กาฬนกนางแอ่น แบ่งได้เป็น ๓ กลุ่ม กลุ่มแรก พบเชื้ออยู่เฉพาะบริเวณจมูกร่วมหลอดลม (nasobronchial) โดยไม่มีอาการเจ็บป่วย หรือเป็นเพียงเล็กน้อย กลุ่มที่สอง เชื้อเข้าสู่กระแสเลือด ทำให้เกิดอาการไข้ มีผื่นขึ้น มีจุดเลือดออก และบางคนมีอาการปวดข้อ ส่วนกลุ่มที่สาม เชื้อเข้าสู่เยื่อหุ้มสมอง ทำให้เยื่อหุ้มสมองอักเสบมีอาการรุนแรง
การติดต่อ ในผู้ที่ติดเชื้อโดยไม่แสดงอาการพบเชื้ออยู่ในบริเวณจมูกร่วมหลอดลม จะแพร่เชื้อได้มากกว่าผู้ป่วย เชื้อกระจายออกมาในน้ำมูก น้ำลายติดต่อสู่ผู้อื่นโดยทางสูดดม
การป้องกันและควบคุมโรค โดยทั่วไปควรให้การศึกษาแก่ประชาชนในการรักษาสุขภาพอนามัย ระวังไม่ให้เสมหะ น้ำมูก น้ำลาย กระเด็นไปถูกผู้อื่น
ในกรณีที่มีผู้ป่วย ต้องรายงานให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขทราบ และแยกผู้ป่วย ทำลายเชื้อที่ออกมาจากผู้ป่วยโดยใช้ยาฆ่าเชื้อ เครื่องใช้และเสื้อผ้าผู้ป่วยควรต้มหรือแช่น้ำยาก่อนนำไปซักล้าง ผู้ที่ใกล้ชิดผู้ป่วย ควรกินยาพวกซัลโฟนาไมด์ (sulfonamide) หรือเพนิซิลลิน (penicillin) เพื่อป้องกันโรค