ความรู้ เกร็ดความรู้ สารานุกรม สารานุกรมออนไลน์ ความรู้รอบตัว ความรู้ทั่วไป พจนานุกรม เกมส์ เพลงใหม่ เพลง

สำนักพระราชวัง, สำนักพระราชวัง หมายถึง, สำนักพระราชวัง คือ, สำนักพระราชวัง ความหมาย, สำนักพระราชวัง คืออะไร
| เปิดอ่าน 0 | ความคิดเห็น 0
สำนักพระราชวัง

          สำนักพระราชวังเป็นหน่วยงานราชการที่มีประวัติของการวิวัฒนาการมาตั้งแต่พุทธศักราช๑๘๙๓ เมื่อสมเด็จพระรามาธิบดีที่ ๑ (พระเจ้าอู่ทอง) ทรงสถาปนากรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานีและทรงจัดระเบียบการปกครองภายในราชธานีออกเป็น ๔ แผนก เรียกรวมกันว่า  “จตุสดมภ์”  ซึ่งแปลว่า “หลักทั้ง ๔” คือ เมือง (เวียง) วังคลัง  และนา  หัวหน้าจตุสดมภ์ทั้ง ๔ มีตำแหน่งเป็น “ขุน”

          แผนกที่เรียกว่า  “วัง” อันเป็นต้นกำเนิดของสำนักพระราชวังนี้ มีหน้าที่ดูแลฝ่ายพระราชสำนัก และช่วยแบ่งเบาภาระของพระมหากษัตริย์ในหน้าที่ตุลาการ โดยมี  “ขุนวัง” เป็นหัวหน้า

          ต่อมาในรัชสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ  (พุทธศักราช ๑๙๙๑ - ๒๐๓๑) ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ปรับปรุงระเบียบการปกครองใหม่ โดยแยกการทหารและการพลเรือนออกจากกันเป็นครั้งแรกคือ “สมุหพระกลาโหม” บังคับการฝ่ายทหารทั่วไป และ  “สมุหนายก” บังคับการฝ่ายพลเรือนทั่วไป มีตำแหน่งเป็นอัครมหาเสนาบดีเสมอกัน นอกจากนี้ ยังมีจตุสดมภ์อีก ๔ กรม  คือ กรมเมือง(กรมเวียง) กรมวัง กรมคลัง และกรมนา ซึ่งมีตำแหน่งรองลงมาคือ เสนาบดี

          ในรัชสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถเป็นต้นมานั้น  “กรมวัง” มีอำนาจหน้าที่รับผิดชอบต่อทุกเรื่องที่เกี่ยวกับพระราชสำนัก รวมทั้งการซ่อมแซมพระบรมมหาราชวัง การพระราชพิธีต่างๆ  การตรวจสอบดูแลขุนนางทั้งหมดที่จะเข้ามาในพระบรมมหาราชวัง ยกเว้นมหาดเล็ก ควบคุมพระราชทรัพย์พิเศษที่เกี่ยวกับพระบรมมหาราชวัง ตลอดจนดูแลแจกจ่ายทาสและไพร่ไปทำงานในวัดหลวง นอกจากนี้ ยังมีหน้าที่ในการแบ่งเบาพระราชภาระของพระมหากษัตริย์ในหน้าที่ตุลาการและมีอำนาจหน้าที่ในการแต่งตั้ง  “ยกกระบัตร” ออกไปประจำอยู่ตามหัวเมืองต่างๆ เมืองละคนโดยทำหน้าที่เป็นหัวหน้าผู้พิพากษาประจำหัวเมืองและเป็นผู้ดูแลตรวจสอบข้าหลวง อีกทั้งยังมีอำนาจหน้าที่ในการแต่งตั้ง “หลวงวัง” ที่มีหน้าที่ดูแลกิจการภายในจวนข้าหลวงนั้น ออกไปประจำตามหัวเมืองอีกด้วย

          “กรมวัง”  ได้มีการแบ่งส่วนราชการออกเป็นกรมย่อย ๆ  หลายกรม อาทิ กรมพระตำรวจวัง  (ตำรวจ เป็นบรรดาศักดิ์ของเขมรโบราณ หมายถึง ขุนนางที่มีหน้าที่รับใช้พระมหากษัตริย์ หรือองครักษ์ของพระมหากษัตริย์) กรมพระราชยาน  กรมอาวุธหลวง  กรมฉางข้าวหลวง  และกรมสวนหลวง

          สำหรับตำแหน่งเสนาบดีกรมวังนั้น ในสมัยกรุงศรีอยุธยามีบรรดาศักดิ์หรือราชทินนามเป็น  “พญาธรรมาธิบดี” แต่ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์เป็น  “เจ้าพระยาธรรมาธิกรณ์” ใช้ตราเทพยดาขี่พระนนทิการ (พระโคเผือก) เป็นตราประจำตำแหน่ง

          การจัดระเบียบการปกครองที่สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถทรงวางระเบียบไว้นั้น  ยังคงยึดถือปฏิบัติกันต่อมาตลอดสมัยกรุงศรีอยุธยากรุงธนบุรี  และกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น ซึ่งนับเป็นเวลานานกว่า ๔๐๐ ปี จนกระทั่งรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้จัดระเบียบราชการบริหารแบบกระทรวง  ทบวงกรม  ขึ้นโหม่ ในส่วนของการบริหารราชการส่วนกลางนั้น ได้มีพระบรมราชโองการประกาศตั้งกระทรวงต่างๆ  ออกเป็น ๑๒  กระทรวง  เมื่อวันที่ ๑ เมษายน พุทธศกราช ๒๔๓๕ และทรงพระกรุณาโปรดเก ล้าโปรดกระหม่อมให้ยุบเลิกตำแหน่งอัครมหาเสนาบดีและเสนาบดีจตุสดมภ์ ให้มีเสนาบดีรับผิดชอบการบริหารราชการแต่ละกระทรวงเสมอกัน ดังนั้น  “กรมวัง” จึงถูกยกฐานะขึ้นเป็นกระทรวง เรียกว่า  “กระทรวงวัง” มีหน้าที่ปฏิบัติราชการในพระราชสำนักเช่นเดิม  ส่วนงานที่เกี่ยวกับการตุลาการนั้นได้โอนไปขึ้นอยู่กับกระทรวงยุติธรรม ซึ่งได้ตั้งขึ้นใหม่ และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมแต่งตั้งให้พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงประจักษ์ศิลปาคม ครั้งยังทรงดำรงพระอิสริยยศเป็นพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นประจักษ์ศิลปาคม ซึ่งดำรงตำแหน่งเสนาบดีกรมวังแต่เดิมอยู่ก่อนแล้วนั้นเป็นเสนาบดีกระทรวงวัง

          ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้มีการปรับปรุงส่วนราชการต่างๆ  ในกระทรวงวัง ให้มีความเหมาะสมต่อราชการในพระองค์เพิ่มขึ้น อาทิ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ตั้งกรมสังกัดกระทรวงวัง  ๒๐ กรม คือ กรมบัญชาการ  กรมสารวัตรใน  พระราชสำนัก  กรมทะเบียน  กรมปลัดบัญชี  กรมคลังราชการ  กรมพระราชพิธี  กรมภูษามาลา  กรมสนมพลเรือน  กรมวัง  กรมรองงาน  กรมช้างต้น  กรมพระตำรวจหลวงรักษาพระองค์  กรมทหารรักษาวัง  กรมพระนิติศาสตร์  กรมศิลปากร  กรมธรรมการ  กรมสังฆการี กรมกัลปนากรมราชบัณฑิต  และกรมวังในพระราชสำนักสมเด็จพระพันปีหลวง

          สำหรับตราประจำตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงวังนั้น  ในปีพุทธศักราช  ๒๔๕๖  พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว  ได้มีประกาศพระบรมราชโองการให้ยกเลิกตราเทพยดาขี่พระนนทิการ (พระโคเผือก)  ที่ใช้มาแต่เดิม และให้ใช้ตราพระมหาเทพทรงพระนนทิการ (พระโคเผือก)  สำหรับเสนาบดีกระทรวงวังใช้ประทับในสารตราแห่งกิจราชการแทน ส่วนตราประจำตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงวังที่ใช้ประทับในกิจการอื่นๆ  นั้น ให้ใช้ตราพระนนทิการน้อย ซึ่งเป็นลายพระนนทิการยืนแท่น

          ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้า เจ้าอยู่หัว ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้โอนกรมธรรมการ กรมสังฆการี  กรมราชบัณฑิต  กรมกัลปนา  และกรมศิลปากรไปสังกัดกระทรวงธรรมการ  และยุบฐานะกรมมหาดเล็กหลวงลงเป็นกรมสามัญ สังกัดกระทรวงวังตามเดิม

         เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงการปกครองในปีพุทธศักราช  ๒๔๗๕  แล้ว  ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม ให้ประกาศพระบรมราชโองการเปลี่ยนชื่อกระทรวงวังเป็น “ศาลาว่าการพระราชวัง” และตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงวังเป็น  “ผู้สำเร็จราชการพระราชวัง”  ศาลาว่าการพระราชวังนี้ มีฐานะเทียบเท่ากระทรวงและมีหน้าที่บริหารราชการในพระราชสำนัก แบ่งส่านราชการออกเป็น ๑๐ กรม ตามพระราชบัญญัติจัดตั้งกระทรวงและกรม พุทธศักราช  ๒๔๗๖ คือ กรมราชเลขานุการในพระองค์  กรมปลัด กรมวัง กรมพระราชพิธี กรมโขลนกรมวังนอก กรมมหาดเล็กหลวง กรมราชพาหนะกรมทหารรักษาวัง และกรมพระคลังข้างที่

          ในวันที่ ๙ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๔๗๖  ศาลาว่าการพระราชวังได้เปลี่ยนมาเป็นกระทรวงวังดังเดิม ตามพระราชบัญญัติปรับปรุงกระทรวงทบวง กรม พุทธศักราช ๒๔๗๖ มีอำนาจ และหน้าที่เกี่ยวกับราชการในพระราชสำนัก และแบ่งส่วนราชการออกเป็น ๗ กรม คือ สำนักงานเลขานุการรัฐมนตรี สำนักงานปลัดกระทรวง กรมทหารรักษาวัง กรมพระคลังข้างที่  กรมมหาดเล็กหลวง กรมราชเลขานุการในพระองค์และกรมวัง แต่ในปีต่อมา สภาผู้แทนราษฎรมีมติเห็นสมควรให้ยกกรมทหารรักษาวังออกจากหน้าที่ราชการกระทรวงวัง และให้ยุบกรมมหาดเล็กหลวงและกรมวังไปรวมอยู่ในสำนักงานปลัดกระทรวง ตังนั้น กรมโนสังกัดกระทรวงวังจึงเหลือเพียง ๔ กรมเท่านั้น

          ปีพุทธศักราช ๒๔๗๘ รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล พระอัฐมรามาธิบดินทร  กระทรวงวังได้ยุบฐานะลงมาเป็นทบวงการเมือง มีฐานะเทียบเท่ากรม และเปลี่ยนนามเป็นสำนักพระราชวัง มีอำนาจหน้าที่จัดการพระราชวัง ตลอดจนการดูแลรักษาทรัพย์สินและผลประโยชน์ของพระมหากษัตริย์และอยู่ในบังคับบัญชาของนายกรัฐมนตรี มีเลขาธิการพระราชวังรับผิดชอบในการบริหารราชการ ได้แบ่งส่วนราชการเป็น ๔ กอง คือสำนักงานเลขานุการ  กองมหาดเล็ก  กองวังและพระราชพิธี  และสำนักงานพระคลังข้างที่

          ในรัชกาลปัจจุบัน เมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินนิวัตจากประเทศสวิตเซอร์แลนด์ มาประทับในราชอาณาจักรเป็นการถาวร ในปีพุทธศักราช ๒๔๙๔ แล้วนั้นสำนักพระราชวังจึงได้เพิ่มจำนวนกองมากขึ้นโดยลำดับ เพื่อรองรับพระราชกรณียกิจต่างๆ  มากมายที่ต้องทรงปฏิบัติในฐานะองค์พระประมุขของประเทศ

          ปัจจุบัน  สำนักพระราชวังยังคงเป็นทบวงการเมือง มีฐานะเทียบเท่ากรม อยู่ในบังคับบัญชาของนายกรัฐมนตรี และยังคงทำหน้าที่จัดการพระราชวัง  ตลอดจนดูแลรักษาทรัพย์สินและผลประโยชน์ของพระมหากษัตริย์เช่นเดิม ตามพระราชกฤษฎีกาแบ่งส่วนราชการสำนักพระราชวัง พุทธศักราช ๒๕๓๗ นั้นได้กำหนดให้สำนักพระราชวังมีอำนาจหน้าที่ดังต่อไปนี้
          ๑.  ถวายความสะดวก ความปลอดภัยแด่พระมหากษัตริย์ และพระบรมวงศานุวงศ์
          ๒.  ปฏิบัติงานในพระองค์พระมหา กษัตริย์ตามพระราชประสงค์
          ๓.  ปฏิบัติงานในพระองค์พระบรมวงศานุวงศ์
          ๔.  ปฏิบัติงานเกี่ยวกับการตรวจรักษาพยาบาลถวายพระมหากษัตริย์และพระบรมวงศานุวงศ์
          ๕.  ดูแลรักษาและบูรณะซ่อมแซมเครื่องราชภัณฑ์ราชูปโภค และปูชนียสถานต่างๆ  ที่อยู่ในความรับผิดชอบของสำนักพระราชวัง
          ๖. จัดการและปฏิบัติงานพระราชพิธี รัฐพิธี  การพระราชกุศลต่าง ๆ ตลอดจนงานเสด็จพระราชดำเนิน
          ๗. จัดการกองทุนต่างๆ และผลประโยชน์ทรัพย์สินของกองทรัพย์ วัดวาอารามที่อยู่ในความรับผิดชอบของสำนักพระราชวัง และที่อยู่ในพระบรมราชูปถัมภ์ ตลอดจนทรัพย์สินของพระบรมวงศานุวงศ์ที่ฝากไว้โดยพระบรมราชานุมัติ
          ๘. ควบคุมดูแลรักษาและบูรณะซ่อมแซมพระราชฐานต่างๆ ตลอดจนวัดหลวง สุสานหลวงและอาคารสถานที่  ซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของสำนักพระราชวัง รวมทั้งพระราชพาหนะ
          ๙. จัดสวัสดิการเจ้าหน้าที่ในสังกัดตั้งแต่ที่พักอาศัย  สโมสรข้าราชบริพาร ตลอดจนฌาปนกิจสงเคราะห์
          ๑๐.  ปฏิบัติการฝึกอบรม เพื่อพัฒนาผู้ปฏิบัติงานในสังกัด  ตลอดจนจัดฝึกอบรมบุตรหลานของผู้ปฏิบัติงานในสังกัด เพื่อให้เป็นทรัพยากรบุคคลที่มีค่าแก่สังคมและประเทศชาติต่อไป
          ๑๑. เผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมและขนบธรรมเนียมประเพณีไทย อาทิ การจัดพิพิธภัณฑ์พระแสงปืนและอาวุธปืนโบราณ  พิพิธภัณฑ์วัดพระศรีรัตนศาสดาราม  พิพิธภัณฑ์พระที่นั่งวิมานเมฆ และพิพิธภัณฑ์ศิลปาชีพ พระที่นั่งอภิเศกดุสิต เป็นต้น
          ๑๒. ปฏิบัติการอื่นใดตามที่กฎหมายกำหนดให้เป็นอำนาจหน้าที่ของสำนักพระราชวังหรือตามที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม

สำนักพระราชวัง, สำนักพระราชวัง หมายถึง, สำนักพระราชวัง คือ, สำนักพระราชวัง ความหมาย, สำนักพระราชวัง คืออะไร

ร่วมเป็นแฟนเพจเรา บน Facebook..ได้ที่นี่เลย!!

บทความอื่น ของสารานุกรมไทย ฉบับกาญจนาภิเษก

สารานุกรมเล่มอื่นๆ

คำยอดฮิต

Sanook.commenu