วัสดุและอุปกรณ์การแพทย์ในประเทศไทย
วัสดุและอุปกรณ์การแพทย์ในประเทศไทย, วัสดุและอุปกรณ์การแพทย์ในประเทศไทย หมายถึง, วัสดุและอุปกรณ์การแพทย์ในประเทศไทย คือ, วัสดุและอุปกรณ์การแพทย์ในประเทศไทย ความหมาย, วัสดุและอุปกรณ์การแพทย์ในประเทศไทย คืออะไร
ปัจจุบันประเทศไทยมีการใช้วัสดุการแพทย์และอุปกรณ์การแพทย์ต่างๆ เพื่อรักษาผู้ป่วยเป็นจำนวนมาก แต่วัสดุและอุปกรณ์การแพทย์ที่สามารถผลิตได้ในประเทศจัด เป็นกลุ่มผลิตภัณฑ์ที่ใช้เทคโนโลยีระดับต่ำถึงระดับกลาง คือ
๑. กลุ่มผลิตภัณฑ์ด้านโลหะ เช่น เตียงผ่าตัด เตียงคนไข้
๒. กลุ่มผลิตภัณฑ์ทันตกรรม เช่น ชุดยูนิตทำฟันครบชุด เครื่องขูดหินปูนไฟฟ้า
๓. กลุ่มผลิตภัณฑ์ชุดแต่งกายสำหรับการใช้งานในห้องผ่าตัด
๔. กลุ่มผลิตภัณฑ์ประเภทใช้สิ้นเปลืองจำนวนมาก เช่น สำลี ผ้ากอซ ผ้าพันแผล ชุดให้น้ำเกลือ
๕. กลุ่มผลิตภัณฑ์ด้านอิเล็กทรอนิกส์ที่ใช้เทคโนโลยีระดับกลาง เช่น เครื่องรังสีเอกซ์ เครื่องนึ่ง เครื่องวัดความดันโลหิต
ส่วนวัสดุและอุปกรณ์การแพทย์ที่ต้องใช้เทคโนโลยีระดับสูง เช่น วัสดุปลูกฝัง (implant) ต่างๆ ซึ่งเป็นวัสดุอุปกรณ์ที่ต้องนำเข้ามาจากต่างประเทศแทบทั้งหมด ทำให้วัสดุและอุปกรณ์การแพทย์ดังกล่าวมีราคาค่อนข้างสูง ส่งผลให้ผู้ป่วยซึ่งมีฐานะยากจน ไม่สามารถที่จะได้รับการรักษาที่ถูกต้องและเหมาะสมได้ นอกจากนี้อุปกรณ์บางประเภทที่นำเข้าจากต่างประเทศมักได้รับการออกแบบ โดยใช้ข้อมูลกายวิภาคของชาวตะวันตกเป็นหลัก ซึ่งแตกต่างจากกายวิภาคของคนไทย ดังนั้นจึงทำให้การใช้งานบางครั้งมีอุปสรรค และประสิทธิภาพในการรักษาลดลง ซึ่งจากข้อมูลของกรมเศรษฐกิจการพาณิชย์ กระทรวงพาณิชย์ ระบุว่าประเทศไทยนำเข้าผลิตภัณฑ์เครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์ในช่วง พ.ศ. ๒๕๓๘ - ๒๕๔๑ เป็นมูลค่าปีละ ๖,๐๐๐ - ๘,๐๐๐ ล้านบาท และใน พ.ศ. ๒๕๔๖ มีมูลค่านำเข้า ๑๒,๒๘๓ ล้านบาท โดยส่วนใหญ่นำเข้าเครื่องมือและอุปกรณ์ทางการแพทย์ประเภทเทคโนโลยีระดับกลางถึงระดับสูงจากประเทศสหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และสิงคโปร์
เป็นที่น่ายินดีว่าปัจจุบันมีการศึกษาวิจัยในด้านการพัฒนาวัสดุการแพทย์ เพื่อทดแทนการนำเข้าจากต่างประเทศอย่างจริงจัง และมีหน่วยงานที่ทำวิจัย และพัฒนาเพิ่มมากขึ้น โดยกระจายอยู่ตามมหาวิทยาลัยต่างๆ เกือบทุกแห่ง และศูนย์วิจัยเฉพาะทาง เช่น ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) โดยแบ่งเป็น ๒ ส่วน คือ ส่วนของอุปกรณ์การแพทย์ต่างๆ ซึ่งผลิตจากวัสดุประเภทโลหะเป็นส่วนใหญ่ และในส่วนของวัสดุ ซึ่งมีการวิจัยเน้นหนักทางด้านพอลิเมอร์ เซรามิก และคอมโพสิต เช่น ไฮโดรเจล ไคทิน ไคโตซาน พอลิเมทิลเมทาคริเลต ไฮดรอกซีแอปาไทต์ คอมโพสิตของพอลิเอทิลีนและไฮดรอกซีแอปาไทต์ อะมัลกัม ปรากฏว่าผลงานวิจัยบางส่วนได้มีการนำไปใช้รักษาผู้ป่วยได้ผลเป็นที่น่าพอใจ
นอกจากนี้ปัจจุบันเริ่มมีบริษัทของคนไทยที่ผลิตและจำหน่ายเครื่องมือแพทย์จำพวกอุปกรณ์ปลูกฝัง เช่น แผ่นโลหะดามกระดูก สกรู อุปกรณ์ยึดตรึงกระดูกภายนอก อุปกรณ์ยึดตรึงกระดูกสันหลัง แต่วัสดุ หรือวัตถุดิบที่นำมาใช้ในการผลิตเครื่องมือแพทย์ดังกล่าวส่วนใหญ่ยังต้องนำเข้าจากต่างประเทศ เนื่องจากยังไม่มีการผลิตขึ้นเองในประเทศไทย
ดูเพิ่มเติมเรื่อง เครื่องมือทางการแพทย์ที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง เล่ม ๑๙
วัสดุและอุปกรณ์การแพทย์ในประเทศไทย, วัสดุและอุปกรณ์การแพทย์ในประเทศไทย หมายถึง, วัสดุและอุปกรณ์การแพทย์ในประเทศไทย คือ, วัสดุและอุปกรณ์การแพทย์ในประเทศไทย ความหมาย, วัสดุและอุปกรณ์การแพทย์ในประเทศไทย คืออะไร
ร่วมเป็นแฟนเพจเรา บน Facebook..ได้ที่นี่เลย!!