ในการที่จะฟื้นฟูสมรรถภาพเยาวชนผู้พิการทางการศึกษานั้น จำเป็นจะต้องกำหนดประเภทของเด็กเหล่านี้พร้อมทั้งให้คำนิยามเด็กแต่ละประเภท เพื่อประโยชน์ในแง่การจัดการเรียนการสอนที่สนองตอบความต้องการจำเป็นเฉพาะของเด็กพิการแต่ละคน ซึ่งอาจแบ่งประเภทเด็กพิการในทางการศึกษาได้ดังนี้
๑. เด็กที่มีความบกพร่องทางสติปัญญา อาจแบ่งออกได้เป็น ๒ กลุ่มใหญ่ๆ ดังนี้
๑.๑ เด็กเรียนช้า หมายถึง เด็กที่มีปัญหาในการเรียนอันเนื่องมาจากระดับเชาวน์ปัญญาต่ำกว่าเด็กปกติ เช่น มีการรับรู้และเข้าใจได้ช้าหรืออาจเป็นเด็กด้อยโอกาสทางสังคม ทางวัฒนธรรมและทางเศรษฐกิจ มากจนมีผลกระทบต่อเชาวน์ปัญญา แต่ไม่จัดว่าเป็นเด็กปัญญาอ่อนหากทดสอบจะพบว่ามีระดับเชาวน์ปัญญาอยู่ระหว่างประมาณ ๗๐-๙๐
๑.๒ เด็กปัญญาอ่อน หมายถึง เด็กที่มีความสามารถทางสมองหรือสติปัญญาและความสามารถในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมต่ำกว่าเกณฑ์ปกติ ซึ่งความบกพร่องนี้จะเกิดขึ้นในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่งของพัฒนาการเด็ก
ความสามารถในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมหมายถึง ความสามารถที่จะดำรงชีวิตอยู่ได้ในสภาพแวดล้อมและสถานการณ์ต่างๆ ได้อย่างเหมาะสมกับระดับอายุ เช่น ที่บ้าน ในชุมชนการมีความสัมพันธ์กับเพื่อน บทบาทหน้าที่ในสังคม การมีบทบาทในฐานะผู้ประกอบอาชีพหรือผู้บริโภค และการดูแลตนเอง การที่เราให้ความสำคัญกับความสามารถในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม และได้กำหนดในคำจำกัดความของเด็กปัญญาอ่อนไว้ด้วยนอกเหนือจากการกำหนดด้านสติปัญญาแต่เพียงอย่างเดียวนั้น เพราะได้เคยมีการศึกษารายงานว่าเด็กบางคนเป็นเด็ก "ปัญญาอ่อน ๖ ชั่วโมง" กล่าวคือ เด็กบางคนเมื่อเรียนอยู่ในโรงเรียนประมาณวันละ ๖ ชั่วโมงจะมีความสามารถเรียนรู้ในระดับเด็กปัญญาอ่อนแต่เมื่อกลับไปบ้านและอยู่ในชุมชน เด็กมีพฤติกรรมปกติสามารถปรับตัวและมีความสามารถเช่นเดียวกับเด็กปกติอีก ๑๘ ชั่วโมง จึงทำให้ต้องมีการตรวจสอบความสามารถในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมนอกจากความสามารถทางสติปัญญาด้วย
เด็กปัญญาอ่อนในแง่การศึกษาอาจแบ่งออกได้เป็น ๓ ประเภท
๑. ประเภทเรียนได้ เป็นปัญญาอ่อนขนาดน้อย มีระดับเชาวน์ปัญญาอยู่ในระหว่างประมาณ ๕๐-๗๐
๒. ประเภทฝึกได้ เป็นปัญญาอ่อนระดับปานกลาง มีระดับเชาวน์ปัญญาอยู่ในระหว่างประมาณ ๒๕-๕๐
๓. ปัญญาอ่อนมากและรุนแรง มีระดับเชาวน์ปัญญาต่ำกว่า ๒๕
๒. เด็กที่มีปัญหาทางการเรียนรู้ หมายถึงเด็กที่มีความบกพร่องอย่างใดอย่างหนึ่งหรือหลายอย่างในกระบวนการพื้นฐานทางจิตวิทยาที่เกี่ยวกับความเข้าใจหรือการใช้ภาษา อาจเป็นภาษาพูดและ/หรือภาษาเขียน ซึ่งจะมีผลทำให้มีปัญหาในการฟัง การพูด การคิด การอ่าน การเขียน การสะกด หรือการคิดคำนวณ นอกจากนี้ยังรวมถึงเด็กที่มีสภาพความบกพร่องในการรับรู้ สมองได้รับบาดเจ็บ การปฏิบัติงานของสมองสูญเสียไป ซึ่งทำให้มีปัญหาในการอ่าน และปัญหาในการเข้าใจภาษาหรือการใช้ภาษาอันเนื่องจากสมองถูกทำลาย
เด็กที่มีปัญหาทางการเรียนรู้ไม่รวมเด็กที่มีปัญหาทางการเรียนเนื่องจากความบกพร่องทางการเห็น การได้ยิน หรือการเคลื่อนไหวเด็กปัญญาอ่อน เด็กที่มีปัญหาทางอารมณ์ หรือเด็กที่ด้อยโอกาสเนื่องจากสิ่งแวดล้อม วัฒนธรรมหรือเศรษฐกิจ
๓. เด็กที่มีปัญหาทางอารมณ์หรือเด็กที่มีปัญหาทางพฤติกรรม หมายถึง เด็กที่มีพฤติกรรมเบี่ยงเบนไปจากปกติเป็นอย่างมากและปัญหาทางพฤติกรรมนั้นเป็นไปอย่างต่อเนื่องไม่เป็นที่ยอมรับทางสังคมหรือวัฒนธรรม
เด็กที่มีปัญหาทางอารมณ์รุนแรง หมายถึง เด็กที่
๑. ไม่สามารถเรียนรู้แต่ไม่ใช่เนื่องจากองค์ประกอบทางสติปัญญา ประสาทสัมผัสหรือสุขภาพ
๒. ไม่สามารถสร้างหรือรักษาความสัมพันธ์ที่ดีกับเพื่อนและครูได้
๓. มีพฤติกรรมหรือความรู้สึกที่ไม่เหมาะสม แม้อยู่ในเหตุการณ์ปกติ
๔. โดยทั่วไปมีอารมณ์ขุ่นมัว ไม่มีความสุขหรือมีอาการซึมเศร้า
๕. มีแนวโน้มที่จะพัฒนาอาการทางกายหรือความกลัวที่มีความเกี่ยวข้องกับปัญหาส่วนตัวหรือปัญหาทางโรงเรียน นอกจากนี้ยังรวมถึงเด็กที่เป็น "โรคจิตวัยเด็ก" และ "เด็กออทิสติก" (ปัจจุบันแยกเด็กออทิสติกออกจากกลุ่มเด็กโรคจิตวัยเด็ก เพราะออทิสซึม เป็นความบกพร่องในวัยเด็กที่เกิดขึ้นในช่วงอายุก่อน ๓๐ เดือนและมีลักษณะแยกตัวอยู่โดดเดี่ยวคนเดียวอย่างมาก ทำการกระตุ้นตนเอง มีความบกพร่องในทางความรู้ ความจำ ความเข้าใจ และภาษาส่วนโรคจิตวัยเด็กนั้นโดยทั่วไปจะไม่เกิดขึ้นก่อนเด็กมีอายุ ๕ ปีหรือมากกว่านั้น)
๔. เด็กที่มีความบกพร่องทางการพูด และภาษา อาจแยกอธิบายเป็น ๒ กลุ่ม ดังนี้
๔.๑ เด็กที่มีความบกพร่องทางการพูดหมายถึง เด็กที่มีความบกพร่องในเรื่องของการออกเสียงพูด ได้แก่ เสียงผิดปกติ เช่น คุณภาพเสียง ระดับเสียง ความดังของเสียง เสียงขึ้นจมูก และความคล่องของการออกเสียงพูด ได้แก่ อัตราความเร็ว และจังหวะการพูดผิดปกติ
๔.๒ เด็กที่มีความบกพร่องทางภาษาหมายถึง เด็กที่มีความบกพร่องหรือพัฒนาการเบี่ยงเบนในเรื่องความเข้าใจและหรือการใช้ภาษาพูด การเขียน และ/หรือระบบสัญลักษณ์อื่นที่ใช้ในการติดต่อสื่อสาร ความบกพร่องอาจจะเกี่ยวกับ (๑) รูปแบบของภาษา ได้แก่ ระบบเสียงของภาษาและกฎของสัทศาสตร์ที่ควบคุมการรวมเสียง ระบบทางสัทศาสตร์ที่เกี่ยวกับโครงสร้างของคำและการสร้างคำจากความหมายพื้นฐาน ระบบประโยค คือ ลำดับที่และการรวมคำเป็นประโยค ความสัมพันธ์ระหว่างหน่วยต่างๆ ภายในประโยค (๒) เนื้อหาของภาษา ได้แก่ ระบบที่เกี่ยวกับรูปแบบของเนื้อหาหรือความหมายของการพูดออกมา ความตั้งใจ และความหมายของคำและประโยค (๓) หน้าที่ของภาษา ได้แก่ ระบบสังคมวิทยา ภาษาที่จัดรูปแบบการใช้ภาษาในการติดต่อสื่อสารซึ่งอาจแสดงออกทางการเคลื่อนไหว ทางเสียงหรือทางการพูด
๕. เด็กที่มีความบกพร่องทางการได้ยินหมายถึง เด็กที่สูญเสียการได้ยินตั้งแต่ระดับรุนแรงจนถึงระดับน้อย อาจแบ่งออกได้เป็น ๒ ประเภท คือ
๕.๑ เด็กหูหนวก หมายถึง เด็กที่สูญเสียการได้ยินมากจนไม่สามารถรับข้อมูลผ่านทางการได้ยิน ไม่ว่าจะใส่หรือไม่ใส่เครื่องช่วยฟังก็ตาม โดยทั่วไปหากตรวจการได้ยินจะมีการสูญเสียการได้ยินประมาณ ๙๐ เดซิเบลขึ้นไป (เดซิเบล เป็นหน่วยวัดความดังของเสียง) หมายถึง เมื่อเปรียบเทียบระดับเริ่มได้ยินเสียงของเด็กปกติเมื่อเสียงดังไม่เกิน ๒๕ เดซิเบล เด็กหูหนวกจะเริ่มได้ยินเสียงที่ดังมากกว่า ๙๐ เดซิเบล
๕.๒ เด็กหูตึง หมายถึง เด็กที่มีการได้ยินเหลืออยู่พอเพียงที่จะรับข้อมูลผ่านทางการได้ยิน โดยทั่วไปจะใส่เครื่องช่วยฟัง และหากตรวจการได้ยินจะพบว่ามีการสูญเสียการได้ยินน้อยกว่า ๙๐ เดซิเบล ลงมาจนถึง ๒๖ เดซิเบล คือเมื่อเปรียบเทียบระดับเริ่มได้ยินเสียงของเด็กปกติ เมื่อเสียงดังไม่เกิน ๒๕ เดซิเบล เด็กหูตึงจะเริ่มได้ยินเสียงที่ดังมากกว่า ๒๖ เดซิเบลขึ้นไปจนถึง ๙๐ เดซิเบล อาจแบ่งออกเป็นกลุ่มย่อยดังนี้ ๑. ตึงเล็กน้อย (๒๖-๔๐ เดซิเบล) ๒. ตึงปานกลาง (๔๑-๕๕ เดซิเบล) ๓. ตึงมาก (๕๖-๗๐ เดซิเบล) และ ๔. ตึงรุนแรง (๗๑-๙๐เดซิเบล)
๖. เด็กที่มีความบกพร่องทางการเห็น หมายถึง เด็กที่สูญเสียการเห็นตั้งแต่ระดับเล็กน้อยจนถึงตาบอดสนิท อาจแบ่งออกได้เป็น ๒ ประเภทคือ
๖.๑ เด็กตาบอด หมายถึง เด็กที่สูญเสียการเห็นมากจนต้องสอนให้อ่านอักษรเบรลล์หรือใช้วิธีการฟังเทปหรือแผ่นเสียง หากตรวจวัดความชัดของสายตาข้างดีเมื่อแก้ไขแล้ว (เช่นใช้แว่นสายตา) อยู่ในระดับ ๖/๖๐ หรือ ๒๐/๒๐๐ ลงมาจนถึงบอดสนิท (หมายถึงคนตาบอดสามารถมองเห็นวัตถุได้ในระยะห่างน้อยกว่า๖ เมตรหรือ ๒๐ ฟุต ในขณะที่คนปกติสามารถมองเห็นวัตถุเดียวกันได้ในระยะ ๖๐ เมตร หรือ ๒๐๐ ฟุต) หรือหากตรวจวัดลานสายตาจะมีลานสายตาแคบกว่า ๒๐ องศา หมายถึงสามารถมองเห็นได้กว้างน้อยกว่า ๒๐ องศา
๖.๒ เด็กเห็นเลือนลาง หมายถึง เด็กที่สูญเสียการเห็นแต่ยังสามารถอ่านอักษรตัวพิมพ์ที่ขยายใหญ่ได้หรือต้องใช้แว่นขยายอ่าน หากตรวจวัดความชัดของสายตาข้างดีเมื่อแก้ไขแล้วอยู่ในระดับระหว่าง ๖/๑๘ หรือ ๒๐/๖๐ ถึง ๖/๖๐ หรือ ๒๐/๒๐๐ หรือมีลานสายตาแคบกว่า ๓๐ องศา
๗. เด็กที่มีความบกพร่องทางร่างกายและสุขภาพ หรือเรียกกว้างๆ ว่า เด็กพิการทางร่างกาย หมายถึง เด็กที่มีอวัยวะไม่สมส่วนอวัยวะส่วนใดส่วนหนึ่งหรือหลายส่วนขาดหายไป กระดูกและกล้ามเนื้อพิการ เจ็บป่วยเรื้อรังรุนแรง มีความพิการของระบบประสาท มีความลำบากในการเคลื่อนไหวซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการศึกษาในสภาพปกติ ทั้งนี้ไม่รวมพวกพิการทางประสาทสัมผัส ได้แก่ ตาบอด หูหนวก อาจแบ่งออกได้เป็นประเภทใหญ่ๆ ดังนี้
๗.๑ โรคของระบบประสาท เช่น ซีรีบรัลพัลซี (Cerebral palsy) หรือโรคอัมพาตเนื่องจากสมองพิการ โรคลมชัก มัลติเพิล สเคลอโรซีส (multiple sclerosis)
๗.๒ โรคทางระบบกล้ามเนื้อและกระดูกเช่น ข้ออักเสบ เท้าปุก โรคกระดูกอ่อน โรคอัมพาตกล้ามเนื้อลีบหรือมัสคิวลาร์ ดิสโทรฟี (muscular dystrophy) กระดูกสันหลังคด
๗.๓ การไม่สมประกอบมาแต่กำเนิด เช่น โรคศีรษะโต สไปนา เปฟฟิดา (spina bifida) แขนขาด้วนแต่กำเนิด เตี้ยแคระ
๗.๔ สภาพความพิการและความบกพร่องทางสุขภาพอื่นๆ ได้แก่
๗.๔.๑ สภาพความพิการอันเนื่อมาจากอุบัติเหตุและโรคติดต่อ เช่น ไฟไหม้แขนขาขาด โรคโปลิโอ โรคเยื่อบุสมองอักเสบจากเชื้อไวรัส และอันตรายจากการคลอด
๗.๔.๒ ความบกพร่องทางสุขภาพ เช่น หอบ หืด โรคหัวใจ วัณโรคปอด ปอดอักเสบ
๘. เด็กพิการซ้อน หมายถึง เด็กที่มีความพิการมากกว่าหนึ่งอย่างขึ้นไป เช่น เด็กตาบอด และหูหนวก เด็กปัญญาอ่อนและร่างกายพิการเด็กตาบอด หูหนวกและปัญญาอ่อน เป็นต้น
ประเภทความพิการ
ประเภทความพิการ, ประเภทความพิการ หมายถึง, ประเภทความพิการ คือ, ประเภทความพิการ ความหมาย, ประเภทความพิการ คืออะไร
ประเภทความพิการ, ประเภทความพิการ หมายถึง, ประเภทความพิการ คือ, ประเภทความพิการ ความหมาย, ประเภทความพิการ คืออะไร
ร่วมเป็นแฟนเพจเรา บน Facebook..ได้ที่นี่เลย!!