เครื่องดิน
เครื่องดิน, เครื่องดิน หมายถึง, เครื่องดิน คือ, เครื่องดิน ความหมาย, เครื่องดิน คืออะไร
ผลงานสร้างสรรค์ของมนุษย์ขั้นแรกคือ หัตถกรรมเครื่องดินเผา ซึ่งสร้างขึ้นเพื่อใช้สอยในชีวิตประจำวันและมีเจตจำนงที่จะแสดงออกถึงความนึกคิดและจิตใจของตนเองอยู่ด้วย การแสดงออกจะเริ่มต้นเมื่อนำเอาดินเหนียวมาปั้นเป็นรูปร่างต่างๆ ตามปรารถนา สร้างตุ๊กตาและเครื่องเล่นให้กับลูกหลานของตนเอง เพื่อให้มีความสนุกสนานในการใช้ชีวิตอยู่ร่วมกันในครอบครัวสร้างภาชนะต่างๆ เช่น หม้อ โอ่งใส่น้ำ ไหและครก สิ่งเหล่านี้แสดงให้เห็นถึงความเจริญรุ่งเรืองของฝีมือและความงดงามที่มีมาแต่อดีต ดังที่มีตัวอย่างที่ได้จากการขุดค้นทางโบราณคดี การทำงานหัตถกรรมนี้ในระยะเริ่มต้น ชาวบ้านจะใช้มือตนเอง ซึ่งมีขีดจำกัดในการผลิต ไม่เพียงพอแก่ความต้องการ จึงคิดค้นหาวิธีใหม่ๆ ขึ้น คือ วิธีการปั้นโดยใช้แป้นหมุน ซึ่งดูจะเป็นเครื่องผ่อนแรงชิ้นแรกที่มนุษย์คิดค้นขึ้นเพื่อเป็นประโยชน์ในการผลิตเป็นจำนวนมาก และต่อมาก็คิดแม่พิมพ์ขึ้นได้อีก แม่พิมพ์นี้เองที่ช่วยในการผลิตให้ได้รูปแบบเหมือนๆ กันเป็นจำนวนมาก ในทำนองเดียวกันความรู้เรื่องความงามก็มีวิวัฒนาการด้วย กล่าวคือ มนุษย์ปรารถนาที่จะตกแต่งผิวของหัตถกรรมเครื่องดินของตนให้มีความงดงามกว่าที่เคยทำ จึงคิดค้นเรื่องการนำเอาหินมาผสมกับดินที่ปั้นและทำน้ำยาเคลือบราดไปบนผิวของเครื่องดิน ก่อนที่จะนำไปเผาไฟ ทำให้ได้เครื่องดินที่งดงามและคงทนถาวรอีกด้วย จึงกล่าวได้ว่าเครื่องดินเผานั้นมีอยู่สองลักษณะคือ เครื่องดินเผาชนิดไม่เคลือบและเคลือบ ส่วนการเผานั้นแรกเริ่มเดิมที เผาบนลานดินหรือขุดหลุมลงไปในดินเล็กน้อย ภายหลังต่อมาจนถึงปัจจุบันนี้จึงได้มีการก่อเตาอิฐทนไฟขึ้น
เครื่องดินเผาในประเทศไทยเราได้มีวิวัฒนาการมาเช่นเดียวกับศิลปกรรมแขนงอื่น กล่าวคือเริ่มต้นจากสมัยก่อนประวัติศาสตร์ได้พบหม้อดินเผาเป็นแห่งแรกที่บ้านเชียง อำเภอหนองหาน จังหวัดอุดรธานี มีอายุประมาณ ๖,๐๐๐ ปี ต่อมาคือ สมัยทวาราวดี สมัยศรีวิชัย สมัยลพบุรี สมัยเชียงแสน และสมัยสุโขทัย ซึ่งมีการทำถ้วยชามที่เคลือบสีเขียวแบบหยก หรือเขียวไข่กา เรียกว่า เครื่องสังคโลก มีคุณลักษณะคือรูปทรงภายนอกงดงามมาก นอกจากนี้แล้วยังมีการทำหม้อไห และเครื่องประกอบงานสถาปัตยกรรม เตาที่ใช้เผาเรียกว่า "เตาทุเรียง" ต่อจากนี้ก็ถึงสมัยอู่ทอง สมัยอยุธยา ซึ่งมีเครื่องดินเผาที่ควรจะกล่าวถึง คือ เครื่องเบญจรงค์และลายน้ำทอง ซึ่งมีหลายสี เกิดจากการประดับตกแต่ง เป็นเครื่องถ้วยที่สั่งทำจากประเทศจีน แต่ลวดลาย และสีเป็นฝีมือเขียนของช่างไทย และสมัยสุดท้ายคือ สมัยรัตนโกสินทร์ (สมัยกรุงเทพฯ) ซึ่งมีวิวัฒนาการสืบต่อมาจากสมัยอยุธยา จนถึงสมัยรัชกาลที่ ๕ (พ.ศ. ๒๔๑๑-๒๔๕๓) นับเป็นยุคสุดท้ายของเครื่องเบญจรงค์และลายน้ำทอง เพราะต่อจากนี้เป็นสมัยที่นิยมเครื่องดินเผาจากยุโรป จีนและญี่ปุ่น ในสมัยนี้มีการเขียนสีและเขียนลายไทยทับบนเครื่องลายครามจีนด้วย
ในปัจจุบันยังคงมีการทำเครื่องดินเผากันอยู่ทั่วทุกภาคของประเทศ วัตถุประสงค์เดิมที่ทำขึ้นเพื่อใช้สอยกันภายในหมู่บ้านก็เปลี่ยนแปลงไปทำเพื่อการจำหน่าย ทำให้การสร้างงานหัตถกรรมต้องอาศัยเครื่องจักรมากขึ้น ชาวบ้านที่เคยชินอยู่กับวิธีการเดิมต้องพยายามต่อสู้กับความเจริญทางเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่เข้ามามีบทบาท วิธีการทำแบบเดิมก็จะค่อยๆ เลือนหายไปตามกระแสแห่งความเจริญ (ทางวัตถุ) ดังกล่าว กระแสแห่งความเจริญจึงมีผลกระทบต่อการอนุรักษ์อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ในภาคกลางมีการทำหัตถกรรมเครื่องดินเผากันมากที่จังหวัดราชบุรีและนนทบุรี ผลงานที่ขึ้นหน้าขึ้นตา คือ ครก หม้อ โอ่ง และไห ทางภาคใต้มีทำหม้อน้ำดื่ม หวด (สำหรับนึ่งข้าว) และหม้อหุงต้ม ฯลฯ ที่หมู่บ้านตำบลสทิงหม้อ อำเภอสทิงพระ จังหวัดสงขลา ตามความเป็นจริงแล้วชาวบ้านในตำบลนั้น มีอาชีพหลักในการทำน้ำตาลโตนด อีกแห่งหนึ่งคือ ที่ตำบลเกาะยอ ซึ่งอยู่ในทะเลสาบสงขลา ชาวบ้านทำหม้อ ไห และโอ่งต่างๆ ส่วนทางภาคอีสานนั้น หมู่บ้านที่อำเภอหนองหานและอำเภอบ้านเชียง จังหวัดอุดรธานี มีการทำโอ่งน้ำกันมาแต่เดิมแล้ว ใช้ดินเหนียวจากบริเวณใกล้ๆ กับหมู่บ้านนั้นเอง ที่ตำบลด่านเกวียน จังหวัดนครราชสีมา มีการตีหม้อโดยใช้วิธีพื้นบ้านเดิม แหล่งสุดท้ายคือ ที่จังหวัดเชียงใหม่มีการปั้นคนโทน้ำ หรือ "น้ำต้น" ซึ่งชาวเหนือนิยมใส่น้ำเอาไว้ดื่ม และใส่ดอกไม้ในเวลามีงานเทศกาลสลากภัต ทำกันที่ตำบลบ้านเหมือนกุง โดยใช้วิธีบีบและขด เช่นเดียวกับมนุษย์ก่อนประวัติศาสตร์ได้เคยทำกันมาก่อน วิธีบีบและขดนี้ได้ผลดีสำหรับงานทางศิลปะ แต่ไม่เหมาะกับงานอุตสาหกรรมที่ต้องการผลิตเป็นจำนวนมาก
เครื่องดิน, เครื่องดิน หมายถึง, เครื่องดิน คือ, เครื่องดิน ความหมาย, เครื่องดิน คืออะไร
ร่วมเป็นแฟนเพจเรา บน Facebook..ได้ที่นี่เลย!!