ความรู้ เกร็ดความรู้ สารานุกรม สารานุกรมออนไลน์ ความรู้รอบตัว ความรู้ทั่วไป พจนานุกรม เกมส์ เพลงใหม่ เพลง

โครงสร้างสังคม, โครงสร้างสังคม หมายถึง, โครงสร้างสังคม คือ, โครงสร้างสังคม ความหมาย, โครงสร้างสังคม คืออะไร
| เปิดอ่าน 0 | ความคิดเห็น 0
โครงสร้างสังคม

          สังคมไทยเป็นสังคมที่มีทั้งเหมือนและแตกต่างกันกับสังคมในประเทศอื่นๆ ทั่วโลกที่ว่าเหมือนกันก็คือ เป็นสังคมมนุษย์เหมือนกันแต่ละสังคมต่างก็เกี่ยวข้องกับเรื่องของโครงสร้างสังคม  ระบบทางเศรษฐกิจ  และความนึกคิดในเรื่องจักรวาลและระบบความเชื่อเหมือนกัน แต่ที่ต่างกันก็เนื่องมาจากการอยู่ในตำแหน่งทางภูมิศาสตร์  สภาพแวดล้อมทางธรรมชาติ  และมีความเป็นมาทางประวัติศาสตร์ที่แตกต่างกัน  การปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมดังกล่าวทำให้มีรูปแบบทางวัฒนธรรมแตกต่างไปจากสังคมอื่นๆ เพราะฉะนั้นการที่จะทำความเข้าใจถึงลักษณะโครงสร้างสังคม และรูปแบบทางวัฒนธรรมของไทยให้เกิดภาพพจน์ขึ้นอย่างเข้าใจนั้น จำเป็นต้องกล่าวถึงสภาพภูมิศาสตร์และความเป็นมาทางประวัติศาสตร์เป็นพื้นฐานเสียก่อน
          ประเทศไทยตั้งอยู่ในภูมิภาคพื้นแผ่นดินใหญ่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่อยู่ใกล้เส้นศูนย์สูตร  และมีลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้พัดผ่านทะเลเอาฝนมาตกตั้งแต่ราวเดือนมีนาคม-เมษายนจนถึงราวเดือนตุลาคม   ทำให้มีภูมิอากาศร้อนอบอ้าวและชุ่มชื้น   กับลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือที่พัดผ่านแผ่นดินใหญ่กลางทวีปเอเชียพาเอาความหนาวเย็นและแห้งแล้งมาปกคลุมตั้งแต่เดือนตุลาคมจนถึงเดือนกุมภาพันธ์และมีนาคมการมีฝนตกเป็นประจำเมื่อถึงฤดูกาลดังกล่าวนี้เป็นสิ่งเอื้ออำนวยอย่างยิ่งแก่การปลูกข้าวอันเป็นอาหารหลักของผู้คนส่วนใหญ่ในทวีปเอเชียจึงทำให้บรรดาประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวัน-ออกเฉียงใต้เกือบทุกประเทศเป็นสังคมเกษตรกรรมที่มีการปลูกข้าวเป็นอาชีพหลักมาช้านานแต่ดึกดำบรรพ์  ในเรื่องเช่นนี้ประเทศไทยแตกต่างไปจากเพื่อนบ้านอื่นๆ  ในลักษณะที่ว่า   มีที่ราบลุ่มที่เหมาะสมกับการเพาะปลูกกว้างขวางมากมาย ในขณะที่ผู้คนมีจำนวนน้อยกว่า  จึงทำให้มีโอกาสเลือกตั้งถิ่นฐานตามบริเวณต่างๆได้ตามชอบใจ  ผลที่ตามมาก็คือ  การเกิดชุมชนขนาดเล็กๆ กระจายกันอยู่ตามท้องถิ่นต่างๆซึ่งแม้ว่าแต่ละกลุ่มแต่ละแห่งจะมีการติดต่อกันทางเศรษฐกิจและสังคม แต่การอยู่ห่างกันทำให้ไม่มีการรวมตัวกันเป็นกลุ่มใหญ่ที่มีผู้คนอยู่กันหนาแน่นดังเช่นประเทศใกล้เคียงอื่นๆ ในภูมิภาคเดียวกัน แต่ในขณะเดียวกันดินแดนประเทศไทยก็อยู่ในตำแหน่งทางภูมิศาสตร์ที่อยู่ท่ามกลางการคมนาคมทั้งทางบกและทางทะเลเช่นบรรดาประเทศเพื่อนบ้านหลายๆ ประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เลยกลายเป็นสังคมเปิดที่มีการเคลื่อนไหวไปมาของผู้คนจากภายนอกตลอดเวลา ทำให้มีผู้คนเคลื่อนย้ายเข้ามาค้าขายและตั้งถิ่นฐานอยู่ตลอดระยะเวลาในประวัติศาสตร์ที่ยาวนานจนถึงปัจจุบัน   พร้อมกันนั้นก็มีการติดต่อแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมจากภายนอกอีกด้วย
          สังคมมนุษย์ในดินแดนประเทศไทยมีการติดต่อแลกเปลี่ยนอารยธรรมและวัฒนธรรมกับภายนอกมาช้านานกว่า  ๒,๐๐๐  ปี จนเกิดเป็นบ้าน  เป็นเมือง  เป็นรัฐ  และอาณาจักร  จนในที่สุดก็เป็นประเทศชาติอย่างที่เห็นในปัจจุบันนี้พัฒนาการทางสังคมดังกล่าวนี้ทำให้สังคมไทยมี ระดับคือ สังคมเมืองและสังคมชาวนาหรืออีกนัยหนึ่งสังคมบ้านกับสังคมเมืองนั่นเองสังคมทั้ง ระดับนี้มีความสัมพันธ์กันในลักษณะที่พึ่งพากันอย่างแยกไม่ออก สังคมบ้านมีหมู่บ้านเป็นหน่วยทางสังคมที่อาศัยทั้งพื้นที่และความสัมพันธ์ทางเครือญาติ  เป็นสิ่งที่สร้างให้เกิดการรวมกลุ่มทางสังคม ประกอบด้วยครัวเรือนหลายกลุ่มมาอยู่รวมกันในที่แห่งเดียวกัน  ส่วนใหญ่ครัวเรือนแต่ละกลุ่มมีความสัมพันธ์กันในการเป็นครอบครัวเดียวกัน กล่าวคือภายในพื้นที่ของครอบครัวหนึ่งจะประกอบด้วยครัวเรือนอย่างน้อย  หรือ หลังขึ้นไปซึ่งเจ้าของเรือนมักเป็นพี่สาวและน้องสาวกันทั้งนั้น เพราะประเพณีการสร้างบ้านเรือนหลังแต่งงานของคนไทยทั่วไปนั้น นิยมให้ฝ่ายชายมาอยู่กับทางฝ่ายหญิง โดยที่ในระยะแรกๆลูกเขยจะเข้ามาอยู่ในครัวเรือนของพ่อตาแม่ยายช่วยทำงานอยู่ราว ๑-๒ ปี หลังจากนั้นก็จะแยกออกมาสร้างครัวเรือนใหม่ในเนื้อที่ของบ้านพ่อตาแม่ยาย  ตามปรกติก่อนการแยกเรือนออกจากเรือนใหญ่นั้น  ครัวเรือนของพ่อตาแม่ยายจะเป็นครอบครัวรวม ที่มีคู่ผัวเมียอยู่รวมกันไม่น้อยกว่าสองหรือสามคู่ นั่นก็คือคู่ของพ่อแม่และคู่ของลูกสาวลูกเขยอีกหนึ่งหรือสองคู่   แต่ถ้าหากลูกสาวคนโตแยกเรือนออกไปแล้วครอบครัวของพ่อแม่ก็จะเล็กลง   มีพ่อแม่และลูกชายหรือลูกสาวคนสุดท้องอยู่รวมกัน   โดยปรกติเมื่อลูกสาวหรือลูกชายคนสุดท้องแต่งงานก็จะเอาคู่ของตนมาอยู่ร่วมกับพ่อแม่ด้วย  ลูกสาวคนสุดท้องมักเป็นคนที่พ่อแม่หวังจะฝากผีฝากไข้ให้ดูแลเมื่อยามแก่เฒ่า เมื่อสิ้นชีวิตลงแล้วก็มักจะเป็นผู้ที่ได้รับบ้านเรือนของพ่อแม่เป็นมรดก   แต่ทั้งนี้ไม่ได้หมายความว่าทรัพย์สินทั้งหมดของพ่อแม่จะตกเป็นมรดกแก่ลูกคนสุดท้องไม่ หากมีการแบ่งให้ได้เกือบเท่ากันหมดทุกคน เพราะฉะนั้นลูกชายเองก็ไม่ได้ไปอยู่กับทางฝ่ายภรรยาเพียงแต่ตัวเท่านั้น หากมีทรัพย์สมบัติหรือที่ดินที่พ่อแม่ของตนแบ่งให้ติดตัวไปด้วย
          เหนือระดับครัวเรือนและครอบครัวขึ้นไปก็เป็นกลุ่มเครือญาติ  การนับญาติของคนไทยโดยทั่วไปนั้นนับทั้งทางฝ่ายพ่อและแม่     เช่นน้องของพ่อจะเรียกว่าอา  ส่วนน้องของแม่เรียกว่าน้า เป็นต้น  ซึ่งการนับญาติจากทั้งสองฝ่ายนี้ถ้าหากมองแบบเผินๆ  แล้ว  ก็จะเห็นว่าคนไทยแต่ละคนน่าจะมีเครือญาติพี่น้องมากมาย  แต่ทว่าตามความเป็นจริงกลับไม่เป็นเช่นนั้น เพราะเป็นเรื่องที่ขึ้นอยู่กับบุคคคลแต่ละบุคคลจะสนใจหรือเห็นประโยชน์ในการสร้างความสัมพันธ์ด้วย  ถ้าหากไม่มีการพบปะหรือติดต่อกับผู้ที่เกี่ยวข้องเป็นญาติพี่น้องด้วยก็จะเหินห่างไปจนไม่รู้จักกันก็มี ดังเห็นได้จากการที่คนไทยสวนใหญ่มักไม่ทราบหรือสนใจว่า  ผู้ที่เป็นปู่เป็นทวดที่ห่างขึ้นไป ๓-๔ ชั่วคนเป็นใครบ้างลักษณะเช่นนี้ดูต่างกันกับการนับญาติของคนจีนซึ่งนับแต่ทางฝ่ายพ่อเท่านั้น    จึงดูแคบเพราะตัดการนับญาติทางฝ่ายแม่ออกไป  แต่ทว่าดูลึกกว่าเพราะมีการรับมรดกแต่เพียงลูกชายคนโตเท่านั้น ลูกคนอื่นๆ ต้องพึ่งพิงอยู่กับพี่ชายคนโตซึ่งนอกจากจะได้รับมรดกที่ดินและทรัพย์สินส่วนใหญ่แล้ว     ยังต้องทำหน้าที่รับผิดชอบในการเซ่นสรวงและดูแลหลุมศพหรือฮวงซุ้ยของบรรพบุรุษอีกด้วย   การไหว้ฮวงซุ้ยแต่ละปีและการเซ่นไหว้บรรพบุรุษในยามตรุษจีนจึงเท่ากับทำให้ญาติพี่น้องได้มาพบปะกันและฟื้นฟูความสัมพันธ์ต่อกัน ความสัมพันธ์ทางเครือญาติของคนไทยจึงมีลักษณะไม่แน่นอนตายตัว    แต่มีความยืดหยุ่นอย่างมากมายจนบุคคลหนึ่งๆ อาจใช้คำเรียกญาติกับคนอื่นเพื่อสร้างความสัมพันธ์ที่สนิทชิดเชื้อได้    โดยเฉพาะกับคนที่เป็นเพื่อนฝูงมิตรสหายหรือผู้ที่บุคคลแต่ละคนจะเห็นว่าเป็นประโยชน์แก่ตนได้  เลยทำให้คนบางคนอาจไม่มีญาติพี่น้องเพื่อนฝูงที่จะพึ่งพาได้เลยก็มีในขณะที่บางคนมีอย่างเหลือเฟือ  จนมักมีคำพังเพยกล่าวว่า "เวลามีเงินทองก็มีคนนับเป็นพี่เป็นน้อง"  เป็นต้น  การเลือกนับญาติโดยเอาตามความพอใจของแต่ละบุคคลเช่นนี้ มักมีผลไปถึงการแข่งขันชิงดีชิงเด่นกันระหว่างพี่น้องกันเองด้วยและดูเหมือนจะกลายเป็นความขัดแย้งอย่างสำคัญที่ทำให้กลุ่มเครือญาติของคนไทย ไม่มีความสำนึกในการช่วยเหลือเกื้อกูลกันเมื่อเปรียบเทียบกับกลุ่มเครือญาติของคนจีน
          เมื่อเป็นเช่นนี้ความมั่นคงในชีวิตความเป็นอยู่ของคนไทยในสังคมบ้านหรือสังคมชาวนา  จึงขึ้นอยู่กับการอยู่ร่วมกันในชุมชนหมู่บ้านเดียวกัน  ซึ่งในแต่ละหมู่บ้านนั้นก็มีกลุ่มคนที่ต่างตระกูลต่างครอบครัวมาอยู่รวมกัน จำเป็นที่จะต้องมีการสร้างความสัมพันธ์ทางสังคมให้เกิดความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันจึงจะอยู่ได้  สิ่งที่เป็นจุดรวมในการสร้างความสำนึกร่วมกันก็คือพื้นที่ซึ่งทุกคนได้สร้างบ้านเรือนที่อยู่อาศัยรวมกันเป็นหมู่บ้าน บ้านในความหมายที่แท้จริงก็คือชุมชนนั่นเอง  หาได้หมายถึงเรือนที่เป็นตัวอาคารไม่ แต่ละชุมชนหรือบ้านก็จะมีชื่อเรียกเฉพาะ เช่น บ้านต้นโพธิ์  บ้านนาดี  บ้านธาตุบ้านเจดีย์หัก เป็นต้น โดยอาศัยสิ่งที่เป็นลักษณะพิเศษทางสภาพแวดล้อมในบริเวณนั้นมากำหนดเป็นชื่อขึ้นมา  ชุมชนหมู่บ้านแต่ละแห่งจะมีทั้งโครงสร้างทางกายภาพและโครงสร้างทางสังคมโครงสร้างทางกายภาพสามารถเห็นได้จากการแบ่งพื้นที่ของชุมชนออกเป็นพื้นที่ทำนาหรือทำการเพาะปลูก  พื้นที่ในหมู่บ้านที่นอกจากจะเป็นที่ตั้งบ้านเรือนแล้วยังมีพื้นที่สำหรับส่วนรวมที่มีการสร้างวัด  สร้างโรงเรียน  สร้างป่าช้า และบริเวณที่กำหนดให้เป็นย่านตลาดที่แลกเปลี่ยนและซื้อขายสินค้ากัน ในขณะที่โครงสร้างทางสังคมนั้นคือการกำหนดให้มีบุคคลที่ทำหน้าที่ต่างๆ เพื่อการอยู่ร่วมกันขึ้น  ได้แก่ ผู้ใหญ่บ้านคณะกรรมการหมู่บ้าน  พระสงฆ์  สามเณร  ครู พ่อค้า  แม่ค้า  สัปเหร่อ เป็นต้น ในบรรดาบุคคลประเภทต่างๆ เหล่านี้ ผู้ที่มีตำแหน่ง  บทบาทและมีฐานะเป็นผู้นำของชุมชนก็คือ  ผู้ใหญ่บ้านพระสงฆ์ และครู ผู้ที่ได้ตำแหน่งผู้ใหญ่บ้านนั้นมาจากการเลือกตั้งของผู้คนที่อยู่ในชุมชนนั้นซึ่งโดยประเพณีแต่เดิมมักเลือกจากบุคคลที่มีอาวุโส มีความรู้ความสามารถและมีคุณธรรมเป็นที่ยอมรับแก่คนทั้งหลาย  ส่วนพระสงฆ์ก็มักได้แก่พระที่เป็นเจ้าอาวาสที่ผู้คนรักใคร่นับถือ หรือไม่ก็เป็นพระสงฆ์ที่มีความสามารถเป็นพิเศษในเรื่องการปฏิบัติทางธรรม   จนเป็นที่เคารพบูชาของคนทั้งหลาย  ในขณะที่ครูเป็นผู้ที่รับทราบและรับรู้ว่ามีความรู้ดีกว่าคนอื่นๆเพราะได้รับการศึกษาเล่าเรียนมา
          แม้ว่าในสังคมหมู่บ้านจะประกอบด้วยบุคคลประเภทต่างๆ ที่จะต้องสังสรรค์กัน  เพื่อให้ทุกคนในชุมชนอยู่รวมกันได้ตามที่กล่าวมาแล้วนี้ก็ตาม  ความสัมพันธ์ทางสังคมที่บุคคลเหล่านี้มีเหมือนกับชาวบ้านทั่วไป  ก็ยังมีลักษณะที่เป็นอย่างพี่น้องโดยอาศัยความอาวุโสในเรื่องอายุเป็นพื้นฐานที่สำคัญ จึงเป็นสิ่งที่ทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ภายในชุมชนไม่มีลักษณะโดดเด่นไปจากกัน ทำนองตรงข้ามกลับมีลักษณะคล้ายคลึงกันจนเป็นความเสมอภาคไป ความแตกต่างในเรื่องฐานะความร่ำรวยที่อาจเห็นได้จากการมีเรือนหรือยุ้งข้าวที่ใหญ่โตกว่ากันก็ดี  หรือจากการมีเงินทองมากกว่ากันก็ดี   หาได้ทำให้คนเหล่านี้แยกออกไปมีรูปแบบในชีวิตความเป็นอยู่ประจำวันที่ผิดแผกไปจากผู้อื่นไม่  เมื่อไม่มีความแตกต่างเช่นนี้เกิดขึ้น  ความเป็นชนชั้นทางสังคมก็ไม่ปรากฏในสังคมชาวบ้านแต่อย่างใด
         อย่างไรก็ตามความเป็นชุมชนหมู่บ้านในสังคมชาวนานั้นก็หาได้อยู่โดดเดี่ยวตามลำพังไม่เพราะโดยธรรมชาติก็เป็นเพียงกลุ่มชนขนาดเล็กที่ต้องอาศัยความสัมพันธ์ทั้งทางสังคม  เศรษฐกิจและการเมืองกับภายนอกจึงจะดำรงอยู่ได้ เงื่อนไข
เบื้องแรกของชุมชนหมู่บ้านก็คือต้องอยู่รวมกับชุมชนหมู่บ้านอื่นๆ ในท้องถิ่นเดียวกัน ต่อจากนั้นจึงเกี่ยวข้องกันทางการเมืองและวัฒนธรรมกับสังคมเมืองในส่วนภูมิภาคและศูนย์กลางการปกครองในส่วนกลางในอันดับต่อไป ในเรื่องแรกที่เกี่ยวกับการอยู่ร่วมกันกับชุมชนอื่นในท้องถิ่นนั้น  เนื่องมาจากการตั้งหลักแหล่งของชาวบ้านแต่เดิมนั้นกระจายกันอยู่ตามที่ต่างๆ ในลักษณะที่ห่างจากกัน เพราะที่ดินมีมากแต่ผู้คนมีน้อยเมื่อตั้งหลักแหล่งในที่ใดแล้วก็มักมีการขยายตัวอยู่ในบริเวณนั้น จากชุมชนหมู่บ้านในระยะแรกเริ่มเพียงสองสามแห่ง  ค่อยๆ  เพิ่มจำนวนขึ้นในเวลาต่อมา เพราะในรุ่นลูกหลานเมื่อมีคนมากขึ้นจำต้องเคลื่อนย้ายออกไปอยู่ใกล้ที่ทำกินที่อยู่ห่างออกไปจากชุมชนเดิม  โดยในขั้นแรกก็เพียงออกไปจากหมู่บ้านเดิมไปสร้างเรือนหรือห้างพักอยู่ใกล้ที่ทำนาหรือในไร่ในช่วงเวลาของการเพาะปลูก หลังเก็บเกี่ยวแล้วก็อพยพกลับมายังบ้านเดิม พอนานเข้าก็มีผู้คนอพยพออกมามากเข้าก็ปักหลักถาวรอยู่ใกล้ที่ทำกินนั้น  มีการสร้างวัดหรือสำนักสงฆ์ขึ้น  แล้วนิมนต์พระสงฆ์รูปหนึ่งหรือสองรูปมาจำพรรษา  โดยที่ชาวบ้านต่างผลัดกันทำอาหารไปถวายเป็นประจำ เมื่อเกิดวัดและบ้านเรือนขึ้นในลักษณะที่สัมพันธ์กันดังกล่าวก็เท่ากับเกิดหมู่บ้านขึ้นใหม่ แต่เป็นหมู่บ้านที่ยังคงความสัมพันธ์กับบ้านเดิม  เพราะยังมีการติดต่อกันทางเศรษฐกิจ สังคมและประเพณีพิธีกรรมอย่างสืบเนื่อง  ท้องถิ่นใดท้องถิ่นหนึ่งที่มีคนอยู่มานานก็มักจะมีการขยายตัวของชุมชนหมู่บ้านมากกว่าที่อื่นที่เพิ่มเกิดใหม่ การมีชุมชนหมู่บ้านเกิดขึ้นมากเช่นนี้ ทำให้เกิดความจำเป็นที่ต้องจัดให้มีบริเวณที่เป็นศูนย์กลางทางสังคม  วัฒนธรรมและการปกครอง  ในลักษณะเช่นนี้จึงทำให้เกิดเมืองขึ้น
          เมืองในสมัยก่อนนั้น  หาได้เป็นชุมชนแออัดที่เป็นย่านธุรกิจการค้าและสัมพันธ์กับสถานที่ราชการที่มีผู้คนหลายกลุ่มหลายอาชีพมาพบปะสังสรรค์กันไม่  หากเป็นแต่เพียงชุมชนหมู่บ้านหนึ่งเท่านั้น อาจมีขนาดใหญ่กว่าหมู่บ้านอื่น  แต่ที่สำคัญก็คือเป็นชุมชนที่ผู้ที่ทำหน้าที่เป็นเจ้าเมืองหรือผู้ปกครองท้องถิ่นตั้งบ้านเรือนอยู่เรือนของเจ้าเมืองเรียกว่าจวนเจ้าเมือง เป็นทั้งที่อยู่อาศัยและที่ทำงานเกี่ยวกับการบริหารและการปกครอง โดยนัยเช่นนี้ จวนเจ้าเมืองจึงเป็นสิ่งที่แสดงความสำคัญของชุมชน  เมืองบางเมืองที่อยู่มานานอาจมีการสร้างวัดหรือสถานที่ศักดิ์สิทธิ์เพื่อให้เป็นศูนย์กลางทางประเพณีพิธีกรรมของท้องถิ่นด้วย  ซึ่งเท่ากับเพิ่มบทบาทของเมืองให้มีหน้าที่ทั้งในการเป็นศูนย์กลางการปกครองและวัฒนธรรมในเวลาเดียวกัน  นอกจากการมีจวนเจ้าเมืองเป็นสัญลักษณ์ของการเป็นเมืองแล้วเมืองยังประกอบด้วยคณะบุคคลที่ทำหน้าที่เกี่ยวกับการปกครองโดยมีเจ้าเมืองเป็นหัวหน้า   ในบรรดาคณะบุคคลดังกล่าวนี้ก็มีผู้ใหญ่บ้านที่เป็นหัวหน้าชุมชนหมู่บ้านแต่ละแห่งรวมอยู่ด้วย ผู้ที่จะเป็นเจ้าเมืองได้นั้นต้องมีการแต่งตั้งจากศูนย์การปกครองที่ส่วนกลาง  ซึ่งอาจจะแต่งตั้งบุคคลในท้องถิ่นหรือจากถิ่นอื่นมาปกครองก็ได้  โดยปรกติเมืองเล็กๆ ก็อาจแต่งตั้งผู้ที่เป็นผู้นำในท้องถิ่นให้เป็นเจ้าเมือง แต่ถ้าหากเป็นเมืองใหญ่ในระดับนครก็อาจแต่งตั้งขุนนางข้าราชการจากส่วนกลางมาปกครองก็ได้
          ความแตกต่างที่สำคัญระหว่างเมืองเล็กกับเมืองใหญ่ก็คือ เมืองใหญ่มักมีสภาพและฐานะเป็นสังคมเมือง (urban society) ในขณะที่เมืองเล็กยังอยู่ในลักษณะที่เป็นสังคมหมู่บ้าน   สิ่งที่ทำให้แตกต่างอย่างเห็นได้ชัดเจนก็คือ การมีย่านตลาดอันเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจที่เป็นทั้งที่อยู่อาศัยและค้าขายภายในบริเวณเมือง  ทำให้มีผู้คนหลากหลายในอาชีพและชีวิตความเป็นอยู่มาอยู่รวมกัน  เกิดมีลักษณะที่เป็นชนชั้นขึ้นได้แก่ ชนชั้นปกครอง เช่น พวกเจ้านาย  ขุนนางที่มียศถาบรรดาศักดิ์  ชนชั้นกลาง เช่น พวกพ่อค้า  ข้าราชการ และชนชั้นสามัญ เช่น ชาวนาชาวไร่และผู้มีอาชีพเป็นกรรมกรรับจ้างทั่วไปโดยทั่วไปตำแหน่งที่จะเป็นย่านตลาดที่มีพัฒนาการเป็นสังคมเมืองได้นั้น มักเป็นบริเวณที่เป็นศูนย์กลางในการคมนาคม ไม่ว่าจะเป็นทางบกหรือทางน้ำ  ถ้าเป็นทางน้ำก็มักจะพบในบริเวณที่แม่น้ำลำคลองมาบรรจบกัน   ส่วนทางบกก็เป็นชุมทางของถนนสายต่างๆ ปัจจุบันเมืองใหญ่ๆ ที่เป็นศูนย์กลางของจังหวัดต่างๆ นั้นมีเป็นจำนวนมากทีเดียวที่สืบเนื่องและเติบโตจากชุมชนที่อยู่ใกล้กับแม่น้ำใหญ่ที่เป็นเส้นทางคมนาคมในอดีต เช่น กรุงเทพฯ  อยุธยา  อุบลราชธานี  เชียงใหม่  และเพชรบุรี เป็นต้น
          เหนือระดับเมืองใหญ่หรือนครขึ้นไปก็เป็นเมืองหลวง   ซึ่งในปัจจุบันมีเพียงเมืองเดียวคือกรุงเทพมหานคร     เป็นศูนย์กลางทางการคมนาคม  เศรษฐกิจ  สังคม  การเมืองและการปกครองของประเทศ แต่สิ่งที่ทำให้โดดเด่นและแตกต่างจากบรรดาเมืองใหญ่ๆ  ทั้งหลายก็คือเป็นสถานที่ที่ประทับของพระมหากษัตริย์   มีพระบรมมหาราชวังเป็นศูนย์กลางที่สำคัญและเป็นสัญลักษณ์ของความเป็นนครหลวง  สังคมเมืองหลวงจึงเป็นสังคมที่มีความซับซ้อนและหลากหลายในเรื่องชนชั้น   ระดับสูงที่สุดก็คือพระมหากษัตริย์และพระราชวงศ์ที่นับเนื่องเป็นชนชั้นเจ้านาย  รองลงมาก็คือบรรดาขุนนาง ข้าราชการชั้นผู้ใหญ่  ซึ่งปัจจุบันรวมไปถึงบรรดาพวกพ่อค้าคหบดีที่มั่งคั่งด้วย   ต่ำลงมาได้แก่ชนชั้นกลางที่มีพ่อค้า  ข้าราชการ  และผู้ประกอบอาชีพอื่นๆ ที่ไม่มีความเป็นอยู่และฐานะแบบกรรมกร จากนั้นก็มาถึงชนชั้นกรรมกรที่เป็นผู้ใช้แรงงาน จนถึงคนยากจนที่หาเช้ากินค่ำต่างๆ

โครงสร้างสังคม, โครงสร้างสังคม หมายถึง, โครงสร้างสังคม คือ, โครงสร้างสังคม ความหมาย, โครงสร้างสังคม คืออะไร

ร่วมเป็นแฟนเพจเรา บน Facebook..ได้ที่นี่เลย!!

บทความอื่น ของสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ เล่มที่ 16

สารานุกรมเล่มอื่นๆ

คำยอดฮิต

Sanook.commenu