การหาอาหารและการเจริญเติบโตของปลา
การหาอาหารและการเจริญเติบโตของปลา, การหาอาหารและการเจริญเติบโตของปลา หมายถึง, การหาอาหารและการเจริญเติบโตของปลา คือ, การหาอาหารและการเจริญเติบโตของปลา ความหมาย, การหาอาหารและการเจริญเติบโตของปลา คืออะไร
สัตว์ทุกชนิดไม่ว่าจะเป็นสัตว์บกหรือสัตว์น้ำ จำต้องได้รับพลังงานเข้าไว้ในร่างกายเพื่อใช้ในการดำรงชีวิต เช่น การเคลื่อนไหว การซ่อมแซมส่วนของร่างกายที่สึกหรอ การเจริญเติบโตและการสืบพันธุ์ พลังงานที่ได้รับ เหล่านี้มาจากอาหารที่สัตว์กินเข้าไป และการหายใจ
สำหรับปลาโดยทั่วไป เมื่อลูกปลาฟักออกมาจากไข่ใหม่ๆ อาหารที่ลูกปลาได้รับจะมาจากถุงไข่แดงซึ่งอยู่ติดกับตัวลูกปลานั่นเอง ซึ่งเป็นส่วนเดิมที่ได้รับจากแม่เพื่อช่วยให้ลูกปลาอยู่รอดไปได้ระยะหนึ่ง แต่อาหารที่มีในไข่แดงก็จะถูกใช้หมดไปในระยะเวลาอันสั้น ดังนั้น ลูกปลาจึงจำต้องเริ่มหาอาหารจากภายนอก และในระยะนี้เองที่ลูกปลาทั่วไปจะตายเป็นจำนวนมาก เหลือรอดเพียงเล็กน้อย หากไม่ได้อาหารที่เหมาะแก่ความต้องการหรือขนาดของอาหารใหญ่เกินไป ลูกปลาก็ไม่สามารถจะกลืนกินได้
ปลาแต่ละชนิดมีความต้องการในเรื่องชนิดของอาหารไม่เหมือนกัน ปลาบางชนิดกินพืชน้ำเป็นอาหารตลอดชีวิต เช่น ปลาจีน (Hypophthalmichthys sp.) ส่วนปลาทูกินสิ่งมีชีวิตขนาดเล็กที่ล่องลอยไปตามกระแสน้ำ ซึ่งเราเรียกว่า แพลงก์ตอน (plankton) เป็นอาหารปลา บางจำพวกหากินตามพื้นท้องน้ำ เช่น กินหอย ปู กุ้ง เป็นอาหาร ปลาขนาดใหญ่หลายชนิดตามล่าเหยื่อเป็นอาหาร เช่น ปลาช่อน ปลาดาบเงิน ปลาอินทรี เป็นต้น
นอกจากอาหารที่ปลาจะหาได้แล้ว ยังมีแร่ธาตุอื่นๆ ซึ่งปลาต้องใช้เพื่อการเจริญเติบโตแร่ธาตุต่างๆ เหล่านี้เป็นจำพวกเกลือหลายชนิดที่ละลายอยู่ในน้ำ ปลาสามารถรับแร่ธาตุเหล่านี้ได้โดยการซึมเข้าทางเหงือก เยื่อหุ้มโพรงปากและทางผิวหนัง แร่ธาตุบางอย่างหากมีมากก็อาจเป็นพิษแก่ปลา เช่น สารจำพวกสังกะสี ทองแดง ปรอท โคบอลต์ ฯลฯ
อาหารที่ปลาหาได้ในธรรมชาติ นอกจากจะเป็นพวกพืชน้ำ หรือ แพลงก์ตอนแล้วยังมีสัตว์ที่ไม่มีกระดูกสันหลัง เช่น หนอน (annelids) หอย กุ้ง ปู และแมลงชนิดต่างๆ (arthropods) นอกจากนี้เรายังอาจพบสัตว์ที่มีกระดูกสันหลังขนาดใหญ่ เช่น นก สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม สัตว์เลื้อยคลานและสัตว์ครึ่งน้ำครึ่งบก ในกระเพาะของปลาบางจำพวก ซึ่งแสดงว่าปลากินมันเข้าไป จะเห็นได้ว่านักตกปลาช่อนชอบใช้เขียดเป็นเหยื่อล่อปลาช่อน เป็นต้น
อาหารของปลาที่เป็นสิ่งที่มีชีวิตอาศัยในแหล่งน้ำไม่ว่าจะเป็นน้ำจืดหรือน้ำทะเล จะมีปริ-มาณไม่คงที่ทุกปี ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับชีวประวัติและสภาพแวดล้อมของปลาเป็นส่วนใหญ่ นี่เองเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดการเพิ่มลดโดยธรรมชาติในขนาดของประชากร (natural fluctuation) ของ
ปลาที่กินสิ่งที่มีชีวิตเหล่านั้นเป็นอาหาร นอกจากนี้ ความอุดมสมบูรณ์ของอาหารยังมีอิทธิพลต่อการอพยพย้ายถิ่นของปลาหลายชนิด ตัวอย่างเช่น ปลาทูในอ่าวไทยซึ่งกินแพลงก์ตอนจำพวกพืชเป็นอาหาร ปลาชนิดนี้จะวางไข่ในราวเดือนมกราคม-มีนาคม และอีกระยะหนึ่งราวเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน เมื่อลูกปลาฟักออกเป็นตัวและเริ่มหาอาหารกินเองภายในหนึ่งอาทิตย์หลังจากที่ฟักเป็นตัวแล้ว ฝูงลูกปลาจะเคลื่อนที่เข้ามาในที่ตื้น บริเวณใกล้ฝั่งเพื่อหาอาหาร บริเวณเหล่านี้ ได้แก่ ชายฝั่งทะเลจังหวัดประจวบคีรีขันธ์และชุมพร แล้วลูกปลาดังกล่าวจะค่อยๆเคลื่อนฝูงสู่ก้นอ่าวไทย และในระยะระหว่างเดือนพฤษภาคม-กรกฎาคมจนถึงประมาณเดือนตุลาคม-พฤศจิกายน ก็จะมีขนาดใหญ่ขึ้น เป็นปลาขนาดที่ชาวประมง เรียกว่า ปลาทูสาว ปลาเหล่านี้จะเดินทางย้อนกลับลงไปยังบริเวณทะเลนอกจังหวัดประจวบคีรีขันธ์และชุมพรเพื่อวางไข่ต่อไป
เมื่อได้ทราบถึงความสัมพันธ์ระหว่างอาหารและการเจริญเติบโตของปลา ผู้สนใจก็ควรมีความเข้าใจในหลักการทางนิเวศวิทยา (ecology) ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ด้วย กล่าวคือสิ่งที่มีชีวิตและอาหารของปลามีความสัมพันธ์กันเป็นห่วงโซ่ เช่น ปลาช่อนที่เลี้ยงไว้ในบ่อ จะเจริญเติบโตมีน้ำหนักเพิ่มขึ้นถึง ๑ กิโลกรัม ก็อาจจะต้องกินปลาหมอเทศถึง ๑๐ กิโลกรัมเป็นอาหาร และปลาหมอเทศจะเพิ่มน้ำหนัก ๑ กิโลกรัม ก็อาจจะต้องกินพืชน้ำและสาหร่ายในบ่อเป็นน้ำหนักนับสิบกิโลกรัม พืชน้ำและสาหร่ายจะเจริญเติบโตดีก็จำต้องอาศัยแร่ธาตุและอาหารต่างๆ ในบ่อพร้อมทั้งพลังงานแสงแดด แร่ธาตุ ต่างๆ และเกลือที่เป็นประโยชน์ต่อการเจริญเติบโตของพืชได้จากกการย่อยและการเปลี่ยนแปลงสภาพของอินทรียวัตถุต่างๆ เช่น โดยการกระทำของบัคเตรีซึ่งอาศัยอยู่ในโคลนตม บัคเตรีทำการย่อยสัตว์และพืชที่ตายและตกลงบนชั้นโคลนในบ่อให้สลายตัวและเน่าเปื่อย จึงทำให้เกิดเป็นห่วงโซ่อาหารขึ้น เมื่อคิดพลังงานที่ใช้ในการเติบโตของสิ่งที่มีชีวิตแต่ละตอน เราจะได้เป็นรูปพีระมิด
โดยหลักการดังกล่าวข้างต้น นักวิทยาศาสตร์จึงสามารถประเมินขนาดของประชากรของปลาที่มีคุณค่าทางเศรษฐกิจในบริเวณหนึ่งได้ เพื่อนำผลการวิเคราะห์ดังกล่าวไปใช้ในการพิจารณาพัฒนาการประมง ทำให้ทรัพยากรดังกล่าวมีขนาดมากพอที่จะผลิดอกออกผลให้บังเกิดประโยชน์แก่มนุษย์ได้
การตรวจดูลักษณะของอวัยวะบางอย่างของปลา ทำให้เราทราบถึงพฤติกรรมในการหาอาหารและการกินอาหารของปลาได้ เช่น
เมื่อเปิดกระดูกกระพุ้งแก้มของปลาเราจะเห็นเหงือกอยู่ภายใน บนด้านหน้าของกระดูกโครงเหงือกจะมีส่วนที่ยื่นออกมาเป็นซี่เรียวยาวหรือเป็นตุ่ม ส่วนนี้เราเรียกว่า ซี่เหงือก ปลาที่กินพืชน้ำ เช่น กินสาหร่าย ซี่เหงือกของปลาเหล่านี้จะสั้นและมีจำนวนน้อย ส่วนปลาจำพวกที่กินแพลงก์ตอนเป็นอาหาร ซี่เหงือกยาวเรียวและมีเป็นจำนวนมากสำหรับปลาบางชนิด เช่น ปลาทู ซี่เหงือกแต่ละซี่ยังแตกแขนงออกไปอีก ทั้งนี้เพื่อช่วยเพิ่มสมรรถภาพให้แก่ปลาในการกรองอาหารขนาดเล็กจากน้ำ ปลากินเนื้อหรือล่าเหยื่อเป็นอาหาร ซี่เหงือกอาจจะมีจำนวนลดลงมาก และสั้นทู่หรือเห็นเป็นเพียงตุ่มเท่านั้น หรืออาจจะไม่มีเลย เช่น ปลาปากคม
ปลาแต่ละชนิดอาจมีจำนวน ขนาด และรูปร่างซี่เหงือกเกือบคงที่ เช่น ปลาทูจะมีซี่เหงือกบนโครงเหงือกคู่ที่หนึ่งเป็นจำนวน ๕๔ ซี่ นักวิทยาศาสตร์ทางด้านอนุกรมวิธานของปลา จึงใช้ลักษณะดังกล่าวในการจำแนกแยกชนิดของปลา
การหาอาหารและการเจริญเติบโตของปลา, การหาอาหารและการเจริญเติบโตของปลา หมายถึง, การหาอาหารและการเจริญเติบโตของปลา คือ, การหาอาหารและการเจริญเติบโตของปลา ความหมาย, การหาอาหารและการเจริญเติบโตของปลา คืออะไร
ร่วมเป็นแฟนเพจเรา บน Facebook..ได้ที่นี่เลย!!