
เส้นใยลินินใช้ในงานหลายประเภท เช่น เสื้อผ้าฤดูร้อน ผ้าเช็ดหน้า ผ้าม่าน ผ้าห่ม ผ้าปูโต๊ะ ผ้าเต็นท์ ผ้าใบ ผ้าซับใน พรม ด้ายเย็บผ้า เชือกตกปลา และเชือกอื่น ๆ
ป่านลินินเป็นพืชในวงศ์ลินาซีอี (Linaceae) ให้เส้นใยจากส่วนของเปลือกของลำต้น เช่นเดียวกับปอ ดังนั้น การนำเส้นใยออกมาใช้ในอุตสาหกรรมสิ่งทอพวกทอผ้า จึงค่อนข้างยุ่งยากกว่าฝ้าย
เส้นใยป่านลินิน มีความยาวเฉลี่ย ๕๐ เซนติเมตร มีเซลล์ต่อกันเป็นข้อ ๆ และยึดรวมกันเป็นหมู่ด้วยยางเหนียว เซลล์หนึ่ง ๆ ยาว ๒.๕-๓.๐ เซนติเมตร มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง ๑๕-๑๘ ไมครอน ๑/๑,๐๐๐ มิลลิเมตร เมื่อเปรียบเทียบกับฝ้าย มีความเหนียวมากกว่า ๒ เท่า ยืดตัวได้น้อยกว่า เส้นใยเมื่อเปียกมีความเหนียวสูงขึ้น มีความถ่วงจำเพาะ ๑.๕ ซึ่งหนักกว่าไหมและขนสัตว์ สามารถดูดซึมความชื้นได้ดีและเป็นมันมาก ติดไฟช้า เป็นฉนวนกันความร้อนดี ทนต่อแสงอัลตราไวโอเลตได้มาก เส้นใยป่านลินินมีปริมาณเซลลูโลสภายในเส้นใยน้อยกว่าฝ้าย ป่านลินินไม่ฟอกขาวจะมีลิกโนเซลลูโลสประมาณ ๑-๒% ทนกรดได้สูงกว่าฝ้าย แต่ทนด่างได้น้อยกว่า ทนกรดคลอริก (กรดเกลือ) ได้น้อย แต่ทนกรดกำมะถันได้ดี ความร้อนเป็นอันตรายต่อใยลินินมากกว่าฝ้าย ย้อมสีได้เช่นเดียวกับฝ้าย เส้นใยลินินแต่ละเส้นละเอียด ยาว เกาะกันเป็นกลุ่ม เหนียวมาก ใช้ได้ทน เวลาสัมผัสรู้สึกนุ่มมาก ติดไฟยาก ทนน้ำดูดความชื้น และระเหยได้เร็ว เปียกชื้นเร็วกว่าฝ้าย เป็นรอยพับ และยับง่าย