ความรู้ เกร็ดความรู้ สารานุกรม สารานุกรมออนไลน์ ความรู้รอบตัว ความรู้ทั่วไป พจนานุกรม เกมส์ เพลงใหม่ เพลง

ประติมากรรมไทยสมัยรัตนโกสินทร์, ประติมากรรมไทยสมัยรัตนโกสินทร์ หมายถึง, ประติมากรรมไทยสมัยรัตนโกสินทร์ คือ, ประติมากรรมไทยสมัยรัตนโกสินทร์ ความหมาย, ประติมากรรมไทยสมัยรัตนโกสินทร์ คืออะไร
| เปิดอ่าน 0 | ความคิดเห็น 0
ประติมากรรมไทยสมัยรัตนโกสินทร์

          เริ่มตั้งแต่สถาปนากรุงรัตนโกสินทร์เมื่อพ.ศ. ๒๓๒๕ จนถึงปัจจุบัน นับเป็นยุคแห่งการเปลี่ยนแปลงทางศิลปวัฒนธรรมที่เป็นไปอย่างรวดเร็วฉับพลันมากกว่ายุคสมัยในอดีตที่ผ่านมา เนื่องจากอิทธิพลของความเจริญทางเทคโนโลยี อารยธรรมตะวันตกที่หลั่งไหลเข้ามาในประเทศอย่างรวดเร็วและมากมาย การติดต่อกับนานาประเทศทั่วโลกเป็นไปอย่างกว้างขวางมีการสื่อสารที่ฉับพลัน ล้วนมีส่วนอย่างมากต่อการเปลี่ยนแปลงของสังคมไทยและการสร้างงานประติมากรรม กล่าวโดยสรุปประติมากรรมไทยสมัยรัตนโกสินทร์แบ่งออกได้เป็น ๓ ระยะคือ ประติมากรรมแบบดั้งเดิม ประติมากรรมระยะปรับตัวและประติมากรรมร่วมสมัย          ประติมากรรมระยะปรับตัว สมัยรัชกาลที่ ๔ ถึงรัชกาลที่ ๕ เป็นยุคสมัยของการปรับตัวเปิดประเทศยอมรับอิทธิพลตะวันตก ยอมรับความคิดใหม่มาเปลี่ยนแปลงสังคม ระเบียบประเพณีเพื่อประคองให้ประเทศรอดพ้นจากภัยสงครามหรือจากลัทธิล่าอาณานิคมตะวันตก ซึ่งหลายประเทศในซีกโลกเอเชียยุคนั้นประสบอยู่  การสร้างงานศิลปกรรมทุกสาขารวมทั้งประติมากรรมก็ถูกกระแสการเมืองนี้ด้วย
          พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระราชดำริปั้นรูปเหมือนแบบตะวันตกขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทย จึงโปรดเกล้าฯ ให้หลวงเทพรจนา (พลับ)  ซึ่งต่อมาเป็นพระยาจินดารังสรรค์ปั้นถวาย โดยปั้นจากพระองค์จริงและเลียนแบบรูปปั้นของพระองค์ที่ฝรั่งปั้นจากรูปพระฉายที่ส่งมาถวายแต่ไม่เหมือน เมื่อทอดพระเนตรเห็นพระรูปที่หลวงเทพรจนาปั้นขึ้นใหม่ก็ทรงโปรด   ต่อมานำพระรูปองค์นี้ประดิษฐานไว้ ณ พระที่นั่งเวชยันต์วิเชียรปราสาทในพระนครคีรีที่เพชรบุรี  ปัจจุบันมีการหล่อไว้หลายองค์ประดิษฐานที่พระตำหนักเพชร วัดบวรนิเวศวิหาร กรุงเทพฯ และหอพระจอม วัดราชประดิษฐ์กรุงเทพฯ จากพระรูปองค์นี้นับเป็นการเปลี่ยนศักราชประติมากรรมไทยที่เดิมปั้นรูปราชานุสรณ์โดยใช้การสร้างพระพุทธรูปหรือเทวรูปแทนมาสู่การปั้นรูปราชานุสรณ์เหมือนรูปคนจริงขึ้น และจากจุดนี้เองส่งผลให้มีการปรับตัวทางประติมากรรมไปสู่ประติมากรรมสมัยใหม่ การปั้นหล่อพระพุทธรูปในยุคนี้ไม่ใหญ่โตเท่าสมัยรัชกาลที่ ๓ มีพุทธลักษณะที่เป็นแบบฉบับของตนเอง มีลักษณะโดยส่วนรวมใกล้ความเป็นมนุษย์  มีการปั้นจีวรเป็นริ้ว บนพระเศียรไม่มีต่อมพระเมาลี พระพุทธรูปที่สำคัญเหล่านี้คือ พระสัมพุทธพรรณี พระนิรันตราย และพระพุทธสิหังคปฏิมา พระประธานในพระอุโบสถวัดราชประดิษฐ์ ในรัชสมัยนี้มีการสร้างพระพุทธรูปยืนปางห้ามญาติเช่นกัน  แต่จีวรพระสมัยนี้เป็นริ้วใกล้เคียงธรรมชาติมากขึ้นประติมากรรมที่สำคัญอีกชิ้นหนึ่งคือ "พระสยามเทวาธิราช"  เป็นเทวรูปขนาดเล็กหล่อด้วยทองคำทั้งองค์สูง ๘ นิ้วฟุต ลักษณะงดงามมาก เป็นฝีพระหัตถ์ของพระองค์เจ้าประดิษฐวรการ

          สมัยรัชกาลที่ ๕ ระยะต้นรัชกาล อายุกรุงรัตนโกสินทร์จะครบ ๑๐๐ ปี  พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงทำนุบำรุงศิลปะ แบบดั้งเดิมอย่างมาก  มีการปฏิสังขรณ์วัดวาอารามต่างๆ ปราสาทราชมณเฑียร โดยเฉพาะวัดพระศรีรัตนศาสดาราม  เกิดงานประติมากรรมตกแต่งที่สวยงามในศาสนสถานแห่งนี้มากที่สุด งานประติมากรรมส่วนใหญ่เป็นฝีพระหัตถ์พระองค์เจ้าประดิษฐวรการทั้งสิ้น เช่น รูปสัตว์หิมพานต์ ๗ คู่ บนชานชาลาไพที รอบปราสาทพระเทพบิดรรูปพระบรมราชานุสาวรีย์ประจำรัชกาลที่ ๑, ๒ และ ๓ เป็นรูปบุษบกประดิษฐานพระราชลัญจกรบนพานแว่นฟ้าพร้อมช้างเผือกและฉัตร ตรงมุมด้านตะวันตกเฉียงเหนือของปราสาทพระเทพบิดร ปั้นหล่อพระบรมรูป ๓ รัชกาลคือ รัชกาลที่ ๑ รัชกาลที่ ๒  และรัชกาลที่ ๓ รวมทั้งปั้นแก้ไขรัชกาลที่ ๔ ที่พระยาจินดารังสรรค์ปั้นไว้ พระ-บรมรูปทั้ง ๔ รัชกาลปัจจุบันประดิษฐานอยู่ในปราสาทพระเทพบิดร  เป็นรูปเหมือนที่แปลกไปจากภาพเหมือนโดยทั่วไปเพราะเป็นศิลปะระยะปรับตัว  เป็นการผสมระหว่างความต้องการที่จะให้รูปปั้นเหมือนรัชกาลนั้นๆ  กับการสร้างรูปให้มีความงามแบบพระหรือเทวรูปที่ต้องการความเกลี้ยงเกลากลมกลึงของรูปทรงเป็นคุณค่าความงาม  รูปเหมือนจึงแสดงความเหมือนบุคคลออกมาพร้อมกับให้อารมณ์ความรู้สึกแบบไทยด้วย
          ในสมัยรัชกาลที่ ๕  มีการสร้างพระพุทธรูปขึ้นใหม่เหมือนกัน ที่สำคัญคือ พระพุทธนฤมลธรรมโมภาส  พระประธานวัดนิเวศน์ธรรมประวัติบางปะอิน อยุธยา ฝีพระหัตถ์พระองค์เจ้าประ-ดิษฐวรการ  นอกจากนี้ยังมีการปั้นหล่อพระพุทธรูปขนาดใหญ่  ซึ่งมีอยู่ครั้งเดียวในรัชกาลนี้ สร้างในระหว่างพ.ศ. ๒๔๔๒-๒๔๔๔ ในคราวนั้นโกลาหลมาก เนื่องจากไม่มีการปั้นพระขนาดใหญ่มานานแต่ก็สำเร็จลงด้วยดี  พระพุทธรูปองค์นี้คือ พระพุทธชินราชจำลอง  ปั้นหล่อขึ้นเพื่อนำมาประดิษฐานเป็นพระประธานวัดเบญจมบพิตร  ต้องลงไปปั้นหล่อที่พิษณุโลก ผู้ปั้นหล่อจำลองคือ หลวงประสิทธิปฏิมา

ประติมากรรมไทยสมัยรัตนโกสินทร์, ประติมากรรมไทยสมัยรัตนโกสินทร์ หมายถึง, ประติมากรรมไทยสมัยรัตนโกสินทร์ คือ, ประติมากรรมไทยสมัยรัตนโกสินทร์ ความหมาย, ประติมากรรมไทยสมัยรัตนโกสินทร์ คืออะไร

ร่วมเป็นแฟนเพจเรา บน Facebook..ได้ที่นี่เลย!!

บทความอื่น ของสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ เล่มที่ 14

สารานุกรมเล่มอื่นๆ

คำยอดฮิต

Sanook.commenu