เลือดที่ไหลเวียนในกระแสโลหิตของร่างกายอาจเปรียบเสมือนขบวนรถไฟสินค้า ขนส่งสินค้าที่จำเป็นในการดำรงชีวิตไปสู่สถานีต่างๆ ภายในกระแสโลหิตมีทั้งเม็ดเลือดแดง เม็ดเลือดขาว เกล็ดเลือด มีก๊าซ เช่น ออกซิเจน คาร์บอนไดออกไซด์ เกลือแร่ โปรตีน ไขมัน คาร์โบไฮเดรต นอกจากนี้แล้ว ยังมีสารจำพวกฮอร์โมน วิตามิน เอนไซม์และแอนติบอดี ซึ่งทั้งหมดนี้รวมตัวกันอยู่ในน้ำ ผู้โดยสารรถไฟขบวนพิเศษนี้ได้อาศัยการไหลเวียนของเลือดภายในร่างกายเดินทางไปสู่จุดหมายที่ต้องการ
เช่น มีการลำเลียงน้ำตาลกลูโคสจากที่เก็บไว้ในตับไปยังกล้ามเนื้อ เพื่อนำไปเป็นเชื้อเพลิง ทำให้เกิดการเผาผลาญเปลี่ยนเป็นพลังงานส่วนอื่นๆ เช่น เม็ดเลือดแดง เม็ดเลือดขาว เกล็ดเลือด ต่างก็มีหน้าที่พิเศษเฉพาะตัว ซึ่งจะได้บรรยายอย่างละเอียดต่อไป
มีอยู่ประมาณ ๕,๐๐๐-๑๐,๐๐๐ เซลล์ในเลือด ๑ มิลลิลิตร ประกอบด้วยเซลล์เม็ดเลือดขาว ๕ ชนิดต่างๆ กัน โดยอาศัยคุณลักษณะในการติดสีที่ใช้ย้อม และลักษณะของนิวเคลียสเมื่อส่องดูด้วยกล้องจุลทรรศน์ ได้แก่ นิวโตรฟิล (neutrophil) ลิมโฟไซต์ (lymphocyte) โมโนไซต์ (monocyte)เบโซฟิล (basophil) และอีโอซิโนฟิล (eosinophil)
นิวโตรฟิล มีหน้าที่กำจัดบัคเตรีหรือสิ่งแปลกปลอมที่เป็นเม็ดเล็กๆ เมื่อมีเชื้อจุลินทรีย์เข้าสู่ร่างกายจะถูกนิวโตรฟิลจับ(phagocytosis) เข้าไปในไซโตพลาสม์ (cytoplasm) ซึ่งมีแกรนนูลของนิวโตรฟิล คือ ไลโซโซมส์ (lysosomes) อยู่ ไลโซโซมส์เป็นถุง ซึ่งภายใน บรรจุน้ำย่อยจำพวกไฮโดรลิกหลายชนิด ดังนั้นไลโซโซมส์จะปล่อยน้ำย่อยเหล่านี้ออกมาย่อยเชื้อจุลินทรีย์และสิ่งแปลกปลอมที่มีขนาดเล็กๆ เหล่านี้
ลิมโฟไซต์ แต่เดิมนั้นมีผู้คิดว่าลิมโฟไซต์ไม่มีหน้าที่ใดๆ เลยแต่ในปัจจุบันทราบดีว่า ลิมโฟไซต์มีหน้าที่สำคัญๆ หลายอย่างทั้งที่ทราบดีแล้วและที่ยังไม่ทราบแน่นอนก็มีอยู่มาก
เชื่อว่าลิมโฟไซต์อยู่ ๒ จำพวก
๑. พวกที่กำเนิดมาจากต่อมไทมัส ซึ่งเป็นแหล่งกลางของปฏิกิริยาทางอิมมูน เป็นตัวส่งลิมโฟไซต์ออกไปให้กำเนิดแก่ลิมโฟไซต์ในอวัยวะน้ำเหลืองอื่นๆ ลิมโฟไซต์ชนิดนี้มีความจำและจะทำลายสิ่งที่ไม่เหมือนตัวเอง
๒. พวกที่กำเนิดมาจากต่อมน้ำเหลือง (lymph nodesและ lymphoid tissue) ของระบบทางเดินอาหาร ทำหน้าที่สร้างแอนติบอดี และควบคุมภาวะไวเกินจากภูมิคุ้มกันส่วนเซลล์(cell mediated hypersensitivity responses.)
โมโนไซต์ มีหน้าที่ป้องกันร่างกายเช่นเดียวกับนิวโตรฟิลสามารถกินเชื้อจุลินทรีย์ เช่น บัคเตรี เชื้อรา ยีสต์ หรือแม้แต่เม็ดเลือดแดง โดยที่โมโนไซต์สามารถกินของใหญ่ๆ ได้ บางทีจึงเรียกกันว่า แมโครเฟจ (macrophage) เทียบกับนิวโตรฟิล ซึ่งเรียกว่า ไมโครเฟจ (microphage) โมโนไซต์มีชีวิตในกระแสโลหิตที่หมุนเวียนเพียงระยะสั้น เท่านั้น ก่อนที่จะเคลื่อนย้ายเข้าสู่เนื้อเยื่อ แล้วเปลี่ยนรูปร่างกลายเป็น ฮิสติโอไซต์ (Histiocyte)
เบโซฟิล หรือ มาสท์เซลล์ (mast cell) ปัจจุบันเชื่อว่ามีบทบาทสำคัญยิ่งในปฏิกิริยาภูมิแพ้ (hypersensitivity) จากปฏิกิริยาของแอนติเจนกับแอนติบอดี โดยไปทำให้เม็ดแกรนนูลของเบโซฟิลสลายตัวปล่อยสารฮิสทามีน ซึ่งเป็นสารที่ทำให้มีอาการแพ้ออกมาอาการที่เกิดขึ้นจะแตกต่างกันไปตามลักษณะอวัยวะที่เกิด เช่น ถ้าเป็นที่ผิวหนัง ทำให้มีอาการคัน ถ้าเป็นที่หลอดลม ทำให้หลอดลมตีบ ทำให้มีอาการเป็นหืด หรือถ้าหากมีสารฮิสทามีนจำนวนมากเข้าไปในกระแสโลหิต อาจทำให้เกิดอาการช็อก (anaphylactic shock) ได้ เช่น ในกรณีของการแพ้เพนิซิลลิน เป็นต้น
อีโอซิโนฟิล เชื่อว่ามีหน้าที่เกี่ยวกับการขจัดฤทธิ์ของฮิสทามีน ในปัจจุบันยังไม่ทราบถึงธรรมชาติทางเคมี และกลไก ในการออกฤทธิ์ที่แน่นอน