
นอกจากลักษณะสากลดังกล่าวแล้ว ภาษาไทยยังมีลักษณะเฉพาะตัวอีก คือ ประโยคในภาษาไทยมีกริยาเรียงติดต่อกันได้หลายคำ เรียกว่า กริยาอนุกรม และคำกริยาเหล่านี้สื่อความหมายเรียงตามลำดับเรื่องที่เกิดขึ้นจริง เช่น
เด็กๆ เคยคิดจะออกไปเดินเล่นแถวนั้น
ในตัวอย่างนี้มีกริยาเรียงกันหลายตัว และกริยาที่เกิดก่อนในประโยคก็สัมพันธ์กับเรื่องที่เกิดก่อน ดังนี้ การเคย เกิดก่อน การคิด และการคิดเกิดก่อน การออกไป เป็นต้น
นอกจากนี้บางครั้งผู้กระทำกริยาก็หลายคนแต่ว่าไม่ปรากฏรูปในประโยค เช่น "ฉันบอกให้ออกไปข้างนอก" "ฉัน" เป็นประธานของ "บอก ให้" แต่ไม่ใช่ประธานของ "ออกไป" และผู้ใช้ภาษาไทยสามารถเข้าใจอย่างนี้ได้ก็เพราะความหมายส่วนหนึ่งของประโยคอยู่ในสภาพการใช้ภาษาผู้ที่อยู่ในการพูดจึงเข้าใจได้ ต่างจากภาษาอีกหลายภาษาในตะวันตก เช่น ภาษาอังกฤษ ซึ่งโดยทั่วไปประโยคจะสื่อความหมาย ทั้งหมดและความหมายไม่ขึ้นกับสภาพการพูดในทำนองนี้
ลักษณะเด่นของภาษาไทยอีกอย่างหนึ่งคือ เป็นภาษาที่ใช้คำลักษณะนามเมื่อเกี่ยวข้องกับจำนวนการชี้เฉพาะ หรือการกำหนดเฉพาะต่างๆ เช่น
เรามีพี่น้องหลายคน
เด็กคนนี้ขยัน
ทำคนละ ๔ อัน
เขาให้ห้าเล่ม
บ้านหลังนั้นเก่ามาก
แถวนี้ลูกละ ๑๙ บาท