การศึกษาประวัติศาสตร์ชาติไทยนั้น เคยมีผู้ตั้งข้อสังเกตว่า เพราะเหตุใดจึงมีเหตุการณ์ทำศึกสงครามอยู่มาก และในการทำศึกสู้รบนั้นก็ดูเหมือนจะมีชาติพม่าเป็นคู่กรณี ที่ขับเคี่ยวต่อสู้กันมาอย่างยาวนานหลายร้อยปี
ความดังกล่าวอาจอธิบายได้ว่า เพราะในอดีตนั้นยังเป็นช่วงระยะเวลาสร้างบ้านสร้างเมืองซึ่งแต่ละฝ่ายต่างต้องการผู้คนไว้เป็นกำลังส่งเสริมแสนยานุภาพของแว่นแคว้น รวมทั้งยังมีคติความเชื่อในเรื่องของความเป็นพระมหาจักรพรรดิราชคือความเป็นพระมหากษัตริย์ผู้ยิ่งใหญ่กว่ากษัตริย์พระองค์อื่นใด ด้วยการทำศึกสงครามเพื่อแผ่พระบรมเดชานุภาพ จึงเป็นจารีตที่ปฏิบัติกันสืบมาตราบจนกระทั่งลัทธิล่าอาณานิคมจากตะวันตกแพร่ขยายเข้ามา ลักษณะความสัมพันธ์ของบรรดารัฐใกล้เคียงกับไทยจึงเปลี่ยนแปลงไป และการเผชิญหน้าในรูปของการทำศึกสงครามต่อกันก็จบสิ้นลงไปด้วย
สงครามระหว่างไทยกับพม่าในประวัติศาสตร์นั้น มีเหตุการณ์เรื่องราวมากมายจนสามารถบันทึกเป็นเรื่องราวได้เฉพาะ ดังที่สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ พระบิดาแห่งประวัติศาตร์ไทย ทรงพระนิพนธ์ไว้เป็น "พงศาวดารไทยรบพม่า" ซึ่งในเหตุการณ์สู้รบต่อกันนี้ ล้วนเป็นตำนานแห่งการต่อสู้ การเสียสละของบรรพชนคนแล้วคนเล่า ฝากไว้ให้ลูกหลานไทยได้รับรู้และจดจำไปชั่วกาลนาน
ใน "พงศาวดารไทยรบพม่า" จำนวน ๔๔ ครั้งนี้ ได้มีบันทึกสงครามสำคัญครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์สมัยอยุธยาเป็นราชธานีเรียกว่า "สงครามครั้งที่ ๒ คราวสมเด็จพระสุริโยทัยขาดคอช้าง ปีวอก พุทธศักราช ๒๐๙๑" ได้จารึกพระวีรกรรมแห่งสมเด็จพระมเหสีพระองค์หนึ่ง ทรงมีพระนามว่า สมเด็จพระสุริโยทัย ได้พลีพระชนม์ชีพปกป้องพระราชสวามีอย่างองอาจกล้าหาญ จนทรงได้รับการสดุดีพระเกียรติให้ทรงเป็นพระวีรกษัตรีในประวัติศาสตร์ชาติไทยพระองค์หนึ่งและเป็นเพียงพระองค์เดียวเท่านั้น
ความเป็นมาของสงครามระหว่างไทยกับพม่าในครั้งนั้น มีเหตุการณ์สืบเนื่องมาจากพระเจ้าหงสาวดีตะเบงชะเวตี้ ได้รู้ข่าวกรุงศรีอยุธยาเกิดเหตุวุ่นวายเมื่อสิ้นรัชกาลสมเด็จพระไชยราชาธิราชเกิดการแย่งชิงราชสมบัติระหว่างพระแก้วฟ้า พระราชโอรส และขุนวรวงศาธิราช เหล่าขุนนางได้ร่วมมือกันกำจัดขุนวรวงศาธิราช และอัญเชิญพระราชอนุชาต่างพระชนนีในสมเด็จพระไชยราชาธิราช ขึ้นเสวยราชสมบัติทรงพระนามว่า "สมเด็จพระมหาจักรพรรดิ"
เมื่อกองทัพพระเจ้ากรุงหงสาวดียกมาถึงกรุงศรีอยุธยาแล้ว กองทัพกรุงศรีอยุธยาได้ยกออกไป ดังมีความบันทึกใน พระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ว่า
"...ครั้นรุ่งขึ้น ณ วันอาทิตย์ ขึ้น ๖ ค่ำ เดือน ๔ สมเด็จพระมหาจักรพรรดิราชาธิราชเจ้า จะเสด็จยกพยุหโยธาทวยหาญออกไปดูกำลังข้าศึก ณ ทุ่งภูเขาทอง จึงทรงเครื่องราชอลังการยุทธ เสด็จทรงช้างต้นพลายแก้วจักรพรรดิ สูงหกศอกคืบห้านิ้วเป็นพระคชาธาร ประดับคชาลังการาภรณ์เครื่องมั่นมีกลางช้างและควาญ พระสุริโยทัย ผู้เป็นเอกอัครราชมเหสี ประดับพระองค์เป็นพระมหาอุปราช ทรงเครื่องสำหรับราชณรงค์ เสด็จทรงช้างพลายทรงสุริยกษัตริย์ สูงหกศอกเป็นพระคชาธาร ประดับคชาภรณ์ เครื่องมั่นเสร็จมีกลางช้างและควาญ พระราเมศวร ทรงเครื่องสิริราชปิลันธนาวราภรณ์สำหรับพิชัยยุทธสงครามเสร็จเสด็จทรงช้างต้นพลายมงคลจักรพาฬ สูงห้าศอกคืบแปดนิ้ว ประดับคชาภรณ์เครื่องมั่น มีควาญและกลางช้าง พระมหินทราธิราช ทรงราชวิภูษนาลังการาภรณ์ สำหรับพระมหาพิชัยยุทธ เสด็จทรงช้างต้นพลายพิมานจักรพรรดิ สูงห้าศอกคืบแปดนิ้ว ประดับกุญชรอลงกต เครื่องมั่นมีกลางช้างและควาญ ครั้นได้มหาศุภวารฤกษ์ราชดฤถีพระโหราลั่นฆ้องชัยประโคมอุโฆษแตรสังข์อึงอินทเภรี สมเด็จพระมหาจักรพรรดิราชาธิราชเจ้าก็ยาตราพระคชาธารข้ามฟากไป พระอัครมเหสีและพระเจ้าลูกเธอทั้งสองพระองค์ โดยเสด็จเหล่าคชพยุหดั้งกันแทรกแซงค่ายค้ำพังคาโคดแล่นมีทหารประจำขี่กรกุมปืนปลายขอประจำคอทุกตัวสาร ควาญประจำท้ายล้อมเป็นกรรกงโดยขนัดแล้วถึงหมู่พยุหแสนยากร โยธาหาญเดินเท้าถือดาบดั้งเสโลโตมรหอกใหญ่หอกคู่ ธงทวนธนูปืนนกสับคับคั่งซ้ายขวาหน้าหลัง โดยกระบวนคชพยุหสงคราม เสียงเท้าพลและเท้าช้างสะเทื้อนดังพสุธาจะทรุด สมเด็จพระมหาจักรพรรดิ์ราชาธิราชเจ้าเสด็จยืนพระคชาธาร ประมวลพลและคชพยุหโดยกระบวนตั้งอยู่ ณ โคกพระยา..."
กองทัพฝ่ายกรุงศรีอยุธยาของสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ ซึ่งมีสมเด็จพระสุริโยทัย พระอัครมเหสี และสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอทั้งสองพระองค์ เสด็จมาในทัพด้วยนี้ ได้ปะทะกับกองทัพพระเจ้าแปร ซึ่งเป็นทัพหน้าของพระเจ้ากรุงหงสาวดี ได้ทรงเข้าชนช้างกัน ความในพงศาวดารไทยรบพม่าพรรณนาไว้ว่า "...ช้างพระที่นั่งสมเด็จพระมหาจักรพรรดิเสียที สมเด็จพระสุริโยทัยเกรงพระราชสวามีจะเป็นอันตราย จึงขับช้างทรงเข้าขวางช้างข้าศึกไว้ พระเจ้าแปรได้ทีฟันสมเด็จพระสุริโยทัย ด้วยสำคัญว่าเป็นชายสิ้นพระชนม์ซบลงกับคอช้าง..."
ความตอนนี้นับเป็นเหตุการณ์สำคัญที่แสดงถึงน้ำพระราชหฤทัยที่กล้าหาญเด็ดเดี่ยวโดยยอมถวายพระชนม์ชีพเพื่อป้องกันพระราชสวามีจากอันตราย
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระนราธิปประพันธ์พงศ์ ได้ทรงนิพนธ์พรรณนาเป็นบทกวีถวายราชสดุดีไว้ใน "เฉลิมเกียรติกษัตรีคำฉันท์"
การสู้รบหลังจากสมเด็จพระสุริโยทัยสิ้นพระชนม์แล้ว พระราเมศวรกับพระมหินทราธิราช พระราชโอรส ทรงขับช้างเข้าต่อสู้กับพระเจ้าแปร และกันพระศพสมเด็จพระราชชนนีกลับเข้าพระนคร โปรดเกล้าฯ ให้อัญเชิญประดิษฐานไว้ในสวนหลวงเป็นการชั่วคราว จนเมื่อกองทัพพระเจ้าหงสาวดีได้ข่าวว่า กองทัพหัวเมืองฝ่ายเหนือของไทย อันมีสมเด็จพระมหาธรรมราชา นำกำลังยกลงมาช่วยกรุงศรีอยุธยา ประจวบกับเสบียงอาหารเริ่มขาดแคลนลง จึงเลิกทัพกลับไปกรุงหงสาวดี
ส่วนการพระศพสมเด็จพระสุริโยทัยนั้นเมื่อเสร็จศึกสงครามแล้วโปรดให้ตั้งการพระราชพิธีพระราชทานเพลิง ณ สวนหลวง และให้สถาปนาที่พระราชทานเพลิงเป็นพระอารามเพื่ออุทิศพระราชกุศลพระราชทานแด่สมเด็จพระอัครมเหสี ประกอบด้วยพระเจดีย์ พระวิหาร แล้วพระราชทานนามพระอารามอันเป็นพระราชานุสรณ์แห่งสมเด็จพระสุริโยทัยแห่งนี้ว่า วัดสบสวรรค์
พระเกียรติคุณแห่งความเสียสละอันยิ่งใหญ่ในสมเด็จพระสุริโยทัยครั้งนั้นคงเป็นเหตุการณ์ที่กล่าวขวัญและสรรเสริญเลื่องลือไปทั่วแว่นแคว้นต่างๆ เพราะปรากฏเรื่องราวในประวัติศาสตร์ต่อมาว่า พระเจ้ากรุงศรีสัตนาคนหุตได้มีพระราชสาส์นมาถวายแด่สมเด็จพระมหาจักรพรรดิความว่า
"...ข้าพระองค์ผู้ผ่านพิภพกรุงศรีสัตนาคนหุตขอถวายอภิวาทวันทนามายังสมเด็จพระปิตุราธิราชผู้ผ่านพิภพกรุงเทพทวาราวดีศรีอยุธยาฯ... ข้าพระองค์ยังไป่มีเอกอัครราชกัลยาณี ที่จะสืบศรีสุริยวงศ์ในกรุงศรีสัตนาคนหุตต่อไปมิได้ ข้าพระองค์ขอพระราชทานพระราชธิดาอันทรงพระนามพระเทพกษัตรี ไปเป็นปิ่นศรีสุรางคนิกรกัญญา ในมหานคเรศปราจีนทิศ เป็นทางพระราชสัมพันธไมตรีสุวรรณปัฐพีแผ่นเดียวกันชั่วกาลปวสาน..."
ซึ่งการที่พระเจ้ากรุงศรีสัตนาคนหุต มีพระราชสาส์นมาทูลขอพระเทพกษัตรี พระราชธิดาในครั้งนั้น กล่าวกันว่าเป็นเพราะทรงสดับเรื่องราวแห่งพระวีรกรรมในสมเด็จพระสุริโยทัยพระราชชนนี ก็ปรารถนาที่จะได้หน่อเนื้อเชื้อไขแห่งพระวีรกษัตรีไปเป็นพระอัครมเหสี ดังมีความในพระราชพงศาวดารบันทึกไว้ต่อมาว่า ในครั้งนั้นพระเทพกษัตรีกำลังทรงพระประชวรอยู่สมเด็จพระมหาจักรพรรดิจึงพระราชทานพระแก้วฟ้าพระราชธิดาไปแทน แต่พระเจ้ากรุงศรีสัตนาคนหุตได้ขอถวายพระแก้วฟ้าคืน โดยทรงมีเหตุผลว่า
"...เดิมเราจำนงขอพระเทพกษัตรีซึ่งเป็นพระราชธิดาพระสุริโยทัย อันเสียพระชนม์แทนพระราชสามีกับคอช้าง เป็นตระกูลวงศ์กตัญญูอันประเสริฐ ตรัสแล้วก็แต่งให้พระยาแสน พระยานครพระยาทิพมนตรี เป็นทูตานุทูตให้มาส่งพระแก้วฟ้าราชบุตรีคืนยังกรุงพระนครศรีอยุธยา..."
การขอพระราชทานพระเทพกษัตรี พระราชธิดาในสมเด็จพระสุริโยทัยครั้งนี้ ปรากฏความต่อมาว่า เมื่อพระราชธิดาทรงหายจากอาการพระประชวรแล้ว ก็ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทานเชิญเสด็จไปยังกรุงศรีสัตนาคนหุต แต่พระเจ้าหงสาวดีได้ให้กองทัพคุมกำลังมาสกัด และอัญเชิญพระเทพกษัตรีไปยังกรุงหงสาวดีเสียก่อน
พระเจ้ากรุงศรีสัตนาคนหุต จึงมิได้พระเทพกษัตรีพระราชธิดาสมเด็จพระสุริโยทัยตามที่ทรงมีพระราชประสงค์ แต่ความตอนนี้ก็เป็นหลักฐานที่แสดงให้เห็นว่าพระเกียรติคุณแห่งความกล้าหาญในสมเด็จพระสุริโยทัยนั้น เป็นที่เลื่องลือและกล่าวขวัญถึงด้วยความยกย่องไปในแว่นแคว้นใกล้ไกล
สมเด็จพระสุริโยทัยพระองค์นี้ก็คือ สมเด็จพระอัยกีในมหาราชที่สำคัญพระองค์หนึ่งของไทยคือ สมเด็จพระนเรศวรมหาราช นั่นเอง