![การใช้ไมโครโพรเซสเซอร์ควบคุมการผลิตทางอุตสาหกรรม](https://s.isanook.com/gu/0/ui/0/1325/2106b11p145a.jpg?ip/crop/w300/q90/webp)
ในปัจจุบัน อุตสาหกรรมได้เจริญก้าวหน้าขึ้นมากทั้งนี้ก็ด้วยสาเหตุหนึ่งคือ การนำเอาการควบคุมอัตโนมัติเข้ามาช่วยในกระบวนการผลิต ซึ่งอาจมีการควบคุมความร้อนแสง เวลา การเคลื่อนที่ อัตราเร็ว ความดัน ระดับน้ำกระแสแรงดันไฟฟ้า และกำลังงาน เป็นต้น นอกจากนี้จะต้องมีหน่วยสัมผัสสัญญาณ (sensor) และมีการเปลี่ยนสัญญาณที่ได้รับมาให้เป็นสัญญาณของพลังงานรูปอื่น (transducer) เช่น รับสัญญาณมาเป็นพลังงานความร้อนแล้วเปลี่ยนเป็นพลังงานไฟฟ้า เรียกว่า เทอร์โมคัปเปิล (thermocouple) รับสัญญาณมาเป็นพลังงานแสงเปลี่ยนให้เป็นพลังงานไฟฟ้า เรียกว่า โฟโตอิเล็กทริกเซลล์ (photoelectric cell) เป็นต้น ให้นำสัญญาณเหล่านี้ป้อนเข้าอินเทอร์เฟซของไมโครโพรเซสเซอร์ซึ่งจะทำการประมวลผลตามชุดคำสั่งที่เตรียมไว้แล้ว ไมโครโพรเซสเซอร์ทำงานแล้วส่งสัญญาณออกมาป้อนให้อินเทอร์เฟซ อินเทอร์เฟซจะทำหน้าที่ขยายสัญญาณให้ใหญ่มากพอที่จะไปเปิดปิดสวิตช์ ดึงลิ้นปิดเปิด หมุนมอเตอร์ ซึ่งสามารถควบคุมกระบวนการผลิตให้ได้ผลดีทั้งด้านคุณภาพ ประสิทธิภาพ และเพิ่มผลผลิตให้สูงขึ้นในอุตสาหกรรมขนาดใหญ่อาจใช้ไมโครโพรเซสเซอร์หลายหน่วยทำหน้าที่ต่างๆ กัน ประสานงานกันภายใต้การควบคุมของมินิคอมพิวเตอร์ ทำให้สามารถใช้พนักงานจำนวนน้อยเข้าควบคุมตรวจสอบกระบวนการผลิตขนาดใหญ่ได้ พนักงานปฏิบัติงานด้วยความไม่เคร่งเครียด ไม่เหน็ดเหนื่อย และสนุกในการทำงาน
นอกจากนี้ยังสามารถใช้ไมโครโพรเซสเซอร์เข้าทำหน้าที่บังคับการทำงานของเครื่องมือที่มีลักษณะเหมือนแขน(robot) สามารถยกแขนขึ้นลง แกว่งไปมา หมุน หดเข้ายื่นออก พลิกกลับไปกลับมา ซึ่งเหมือนกับการเคลื่อนไหวของไหล่ ข้อศอก ข้อมือ มือและนิ้วมือของมนุษย์มากแต่สามารถทำงานได้เกินกว่ามนุษย์ โดยสามารถทำงานต่อเนื่องกันหลายพันชั่วโมง สามารถทำงานในสิ่งแวดล้อมที่เป็นอันตรายต่อมนุษย์ เช่น ในสิ่งแวดล้อมที่มีอุณหภูมิสูงมีประกายไฟในกลุ่มควัน หรือกลุ่มฟองพิษ โรงงานอุตสาหกรรมนิยมเอา "แขน" นี้มาใช้ในกระบวนการผลิตแบบเส้น (production line หรือ assembly line เป็นกระบวนการผลิตแบบต่อเนื่องเป็นแนวเส้นตรง โดยเริ่มจากคนที่ ๑ ทำงานที่ ๑ แล้วส่งต่อให้คนที่ ๒ ทำงานที่ ๒ เสร็จแล้วส่งต่อไปตามลำดับ จนงานเสร็จ) โดยเขียนชุดคำสั่งสั่งให้แขนแต่ละแขนปฏิบัติงาน ณ ที่ต่างๆ กันแต่ประสานงานกัน เช่น เชื่อม พ่น ทาสี ขัด ตัก ยก หล่อ กลึง เจาะและเคลื่อนย้ายสิ่งของประกอบชิ้นส่วนต่างๆ เป็นต้น แขนบางแขนมีหน่วยสัมผัสสัญญาณติดตั้งไว้ด้วย จึงสามารถดูหรือตรวจสอบชิ้นงานว่าถูกต้องตามที่ออกแบบไว้หรือไม่ ถ้ามีสิ่งผิดปกติเกิดขึ้น แขนจะสามารถแก้ไขดัดแปลงหรือหยุดทำงานทั้งนี้ขึ้นอยู่กับชุดคำสั่งที่เขียนสั่งไว้ ถ้าชิ้นงานยังส่งผ่านมาไม่ถึงก็รู้จักรอคอยและสิ่งที่สำคัญนั้นคือ เราสามารถสอนหรือเขียนชุดคำสั่งใหม่ สั่งให้แขนทำงานอย่างใหม่ได้ โดยปรับให้เหมาะสมกับการเปลี่ยนแบบแผนเพื่อปรับปรุงผลผลิตโรงงานประกอบรถยนต์ โรงงานเคมี โรงงงานผลิตแผ่นโลหะ โรงงานพลาสติกและโรงงานอื่นๆ อีกมาก นิยมนำแขนนี้ไปใช้งาน สามารถเพิ่มผลผลิตให้สูงขึ้น มีคุณภาพดีมีความแม่นยำสูง มีประสิทธิภาพดี และให้ผลคุ้มค่าการลงทุน