
การรับส่งโทรเลขแบบมอร์สแต่เดิมนั้น ใช้กระแสไฟฟ้าชนิดกระแสตรงส่งไปในสายลวด สามารถส่งโทรเลขได้เพียงครั้งละฉบับเดียว เมื่อสถานีต้นทางเป็นผู้ส่งโทรเลข สถานีปลายทางต้องเป็นผู้รับโทรเลขจนหมดฉบับ แล้วสถานีปลายทางจึงจะส่งโทรเลขของตนมาสถานีต้นทางได้ วิธีการเช่นนี้เรียกว่า ระบบซิมเพล็กซ์ (simplex) ต่อมาจึงได้มีการปรับปรุงทางวิชาการ จนสามารถส่งโทรเลขสวนทางกันไปมาได้ ในทางสายเส้นเดียวกัน ระบบนี้เรียกว่าระบบ ดูเพล็กซ์ (duplex)ภายหลังก็มีระบบ มัลติเพล็กซ์ (multiplex) ซึ่งสามารถส่งโทรเลขไปมาในเวลาเดียวกัน และใช้สายเส้นเดียวกันได้มากกว่าระบบดูเพล็กซ์ ถึง ๔ เท่า
ปัจจุบัน การโทรเลขทางสายได้พัฒนาไปมาก จนถึงกับใช้กระแสสลับความถี่วิทยุขนาดความถี่ต่ำๆ ส่งไปในสายโทรเลขแทนการส่งกระแสตรงอย่างที่เคยใช้กันมา ทำให้สามารถส่งโทรเลขไปในสายเส้นเดียวได้มากกว่า ๓๐๐ ฉบับ
ในเวลาเดียวกัน
เครื่องส่งสัญญาณโทรเลขมอร์สแบบอัตโนมัติ มีแป้นอักษรเหมือนเครื่องพิมพ์ดีด แต่ไม่ได้พิมพ์เป็นตัวอักษร ใช้ปรุหรือเจาะรูแถบกระดาษตามขวางตัวอักษรละ๒ รู ถ้ารูบนกับรูล่างตรงกันจะส่งสัญญาณเป็นจุด ถ้ารูเยื้องกันจะส่งสัญญาณเป็นขีดแล้วป้อนแถบที่ปรุแล้วเข้าเครื่องส่งอัตโนมัติ ส่งเป็นรหัสสัญญาณโทรเลขมอร์สออกไปแทนการเคาะด้วยมือ อาจใช้ความเร็วต่ำเพียง ๕ คำต่อนาทีหรือเพิ่มความเร็วถึง ๑๐๐ คำต่อนาทีก็ได้ (๑ คำโทรเลขเท่ากับ ๕ ตัวอักษรโรมัน)