ฐานข้อมูลเชิงวัตถุได้รับการพัฒนาขึ้นโดยนำเทคโนโลยีการโปรแกรมเชิงวัตถุเข้ามาใช้ ระบบฐานข้อมูลแบบนี้มีความเหมาะสมกับงานฐานข้อมูลที่เก็บข้อมูลซึ่งค่อนข้างซับซ้อนและมีขนาดใหญ่ตัวอย่างเช่น ฐานข้อมูลเก็บภาพลักษณ์ (Image) หรือภาพกราฟิกส์ (Graphics) ฐานข้อมูลเก็บข้อมูลการทดลองวิทยาศาสตร์ที่ต้องเก็บตัวเลขทศนิยมเป็นจำนวนมาก ฐานข้อมูลของข้อมูลทางภูมิศาสตร์ หรือฐานข้อมูลมัลติมีเดียเป็นต้น ดังนั้น การโปรแกรมเชิงวัตถุจึงมีความเหมาะสมที่จะนำมาใช้ในการพัฒนาฐานข้อมูลเหล่านี้เนื่องจากคุณสมบัติต่างๆ ของโปรแกรมเชิงวัตถุ เช่น วัตถุ คลาส ตัวสร้างชนิด (Type Constructors) หลักนามธรรมของข้อมูล (Encapsulation) ลำดับชั้นและกรรมพันธุ์ของชนิดข้อมูล (Type hierarchies and inheritance) วัตถุที่มีโครงสร้างซับซ้อน (Complex Object) และตัวดำเนินการที่ทำงานได้กับข้อมูลหลายชนิด (Overloading Operator) เป็นต้น
ระบบจัดการฐานข้อมูลเชิงวัตถุได้รับการพัฒนามากขึ้นเรื่อยๆ ตัวอย่างของซอฟต์แวร์ในท้องตลาด ได้แก่ โอทู ของบริษัทโอทูเทคโนโลยี (O2 of O2 Technology) อ็อบเจกต์สโตร์ ของบริษัทอ็อบเจกต์ดีไซน์ (ObjectStore of Object Design) เจ็มสโตน/โอพัล ของบริษัทเซอร์วิโอโลจิก (GEMSTONE/OPAL of ServioLogic) ออนโทส ของบริษัทออนโตลอจิก (ONTOS of Ontologic) อ็อบเจกทิวิตี ของบริษัทอ็อบเจกทิวิตี (OBJECTIVITY of Objectivity Inc.) และ เวอร์แซนต์ ของบริษัทเวอร์แซนต์เทคโนโลยี (VER SANT of Versant Technology) เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีหน่วยงานและมหาวิทยาลัยต่างๆ ที่พัฒนาระบบจัดการฐานข้อมูลเชิงวัตถุ เพื่อการทดลองและการศึกษาอยู่หลายแห่ง ตัวอย่างเช่น ระบบโอเรียน (Orion) พัฒนาที่หน่วยงานไมโครอิเล็กทรอนิกส์ และเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ (Microeletronics and Computer Technology Corporation) รัฐเทกซัส ประเทศสหรัฐอเมริกา ซอฟต์แวร์โอเพน โอโอดีบี (Open OODB) พัฒนาขึ้นที่บริษัทเทกซัสระบบไออาร์ไอเอส (IRIS) พัฒนาขึ้นที่หน่วยปฏิบัติการฮิวเลตต์ แพกการ์ด ระบบโอดีอี (ODE) พัฒนาขึ้นที่หน่วยหน่วยปฏิบัติการเอทีแอนที เบลล์ และ ซอฟต์แวร์เอนคอร์/อ็อบเซิร์ฟเวอร์ (ENCORE/ ObServer) พัฒนาขึ้นที่มหาวิทยาลัยบราวน์ เป็นต้น
ระบบฐานข้อมูลเชิงสัมพันธ์ได้รับความนิยมในการใช้งานเป็นอย่างมาก แต่ยังมีข้อจำกัดเมื่อนำไปใช้งานกับข้อมูลที่มีความซับซ้อนมาก จึงได้มีการพัฒนาเทคโนโลยีของแบบจำลองนี้ให้ดีขึ้น โดยนำเทคโนโลยีการโปรแกรมเชิงวัตถุ (Object Oriented Programming Technique) มาใช้ร่วมด้วย และเรียกระบบฐานข้อมูลแบบใหม่นี้ว่าระบบจัดการฐานข้อมูลเชิงวัตถุ-สัมพันธ์ (Object Relational Database Management System : ORDB) ซึ่งถูกพัฒนาขึ้นมาเพื่อตอบสนองต่อความต้องการของผู้ใช้ ซึ่งต้องการที่จะจัดเก็บข้อมูลที่ซับซ้อนมากยิ่งขึ้น เช่น งานสื่อประสม ข้อมูลทางการแพทย์ [เช่น ฟิล์มเอกซเรย์ (X - rays) ภาพลักษณ์เอ็มอาร์ไอ (MRI Imaging) งานแผนที่ ข้อมูลเกี่ยวกับอวกาศ และข้อมูลด้านการเงินซึ่งนับวันจะมีความซับซ้อนขึ้นเป็นอย่างมาก เป็นต้น ผู้ผลิตระบบจัดการฐานข้อมูลเชิงสัมพันธ์ตระหนักดีว่า ลักษณะของข้อมูลที่ผู้ใช้ ต้องการจัดเก็บลงในฐานข้อมูลนั้นมีความหลากหลายมาก การพัฒนาระบบให้สามารถทำงานได้กับชนิดของข้อมูลเพิ่มมากขึ้นนั้น เป็นการแก้ปัญหาระยะสั้น เพราะจะมีชนิดของข้อมูลแบบใหม่ ๆ เกิดขึ้นมาเรื่อยๆ ดังนั้น วิธีการที่เหมาะสมที่สุดก็คือ พัฒนาระบบจัดการฐานข้อมูลให้มีศักยภาพในการขยายความสามารถในการใช้งานกับชนิดของข้อมูลที่ผู้ใช้ต้องการ ซึ่งการขยายประสิทธิภาพตรงจุดนี้ควรที่จะนำเทคโนโลยีการโปรแกรมเชิงวัตถุมาใช้ด้วยเป็นอย่างยิ่ง เพราะมีข้อได้เปรียบใน
หลายๆ ประการ ได้แก่ สภาพเป็นส่วนจำเพาะมากยิ่งขึ้น (Greater Modularity) คุณภาพที่ดีขึ้น (Quality) การนำกลับมาใช้ใหม่ได้อีก (Reusabi lity) และการขยายความสามารถได้ (Extensibility) ตัวอย่างของระบบจัดการฐานข้อมูลที่ขยายจากเชิงสัมพันธ์เป็นเชิงวัตถุ-สัมพันธ์ ได้แก่ ดีบีทู รีเลชันแนล เอกซ์เทนเดอรส์ (DB2 Relational Extenders) อินฟอร์มิกซ์ เดทาเบลดส์ (Informix DataBlades) และ โอราเคิล คาร์ทริดจ์ (Oracle Cartridges) เป็นต้น