ปรอทเป็นโลหะสีขาวคล้ายเงิน เป็นของเหลวในอุณหภูมิปกติ สามารถทำให้เป็นของแข็งได้แต่เปราะ ในอุณหภูมิปกติจะระเหยเป็นไอได้ปรอทนำมาใช้ประโยชน์ต่างๆ ดังนี้
๑.ใช้ในการทำเครื่องมือวิทยาศาสตร์ เช่นเทอร์โมมิเตอร์ บารอมิเตอร์ เครื่องปั๊มดูดอากาศและเครื่องมือที่ใช้วัดความดันโลหิต
๒. ใช้ในอุตสาหกรรมไฟฟ้า เช่น สวิตช์อัตโนมัติสำหรับตู้เย็นและกระแสไฟฟ้าตรง
๓. สารประกอบของปรอทใช้ในการทำวัตถุระเบิด
๔. ซัลไฟด์ของปรอทใช้ทำสีแดงในอุตสาหกรรมเครื่องเคลือบดินเผา
๕ ออกไซด์แดงของปรอท ใช้ในการทำสีเพื่อป้องกันมิให้แตก หรือลอกง่าย ซึ่งใช้ในการทาใต้ท้องเรือ
๖. ปรอทเป็นตัวทำละลายที่ดีสำหรับโลหะบางชนิด และสารละลายเรียกว่า "อะมาลกัม" ดีบุกอะมาลกัมใช้ในการทำกระจกเงา เงิน-ดีบุกอะมาลกัมใช้เป็นวัสดุในการอุดฟัน
๗. สารประกอบของปรอท นำมาใช้ในวงการแพทย์ เช่น ผลิตยารักษาโรค เป็นต้น
๘. ใช้ในอุตสาหกรรมการทำหมวกสักหลาด
- ชนิดเฉียบพลัน พบได้น้อยในวงการอุตสาหกรรม แต่ถ้าหากสูดหายใจเข้าไปเป็นจำนวนมากทันทีทันใด จะทำให้เกิดอาการไอและปวดศีรษะอย่างรุนแรง อีก ๒-๓ ชั่วโมงต่อมาจะมีอาการเป็นไข้ หายใจอึดอัด ต่อมาปากจะเปื่อยเป็นแผลอักเสบ บางรายอาจมีอาการของหลอดลมอักเสบหรือปอดบวม บางรายอาจมีท้องเดินอย่างมาก หรือไตอักเสบ หรือเป็นโรคประสาทได้
- ชนิดเรื้อรัง พบได้บ่อยในวงการอุตสาหกรรม มีผลต่อหลายระบบของร่างกาย ได้แก่
๑. อาการของระบบทางเดินอาหาร จะมีน้ำลายไหลมากผิดปกติ ต่อมาเจ็บปวดบริเวณเหงือกและปาก เหงือกบวมอักเสบ เลือดออกง่าย อาจจะพบเส้นคล้ำๆ ของปรอทที่เหงือกต่อกับฟันได้เช่นเดียวกับตะกั่ว บางรายอาจมีอาการลำไส้ใหญ่อักเสบ ถ่ายเป็นมูกเลือด
๒. อาการระบบประสาทกล้ามเนื้อ ผู้ป่วยจะมีอาการสั่นกระตุกของกล้ามเนื้อ เปลือกตาริมฝีปาก ลิ้น และนิ้วมือเป็นพักๆ
๓. อาการทางจิตประสาท ผู้ป่วยจะมีอารมณ์อ่อนไหวเปลี่ยนแปลงได้ง่ายเมื่อมีอะไรมากระทบจิตใจ โมโห ฉุนเฉียว และหงุดหงิดง่ายระงับอารมณ์ไว้ไม่อยู่ ความจำเสื่อม
๔. อาการทางผิวหนัง เมื่อปรอทสัมผัสกับผิวหนังอาจจะทำให้เกิดการอักเสบเป็นผื่นแดงต่อมาทำให้ผิวหนังหนาตัวขึ้น