สัตว์ทั้งหลายในโลกนี้ เท่าที่ค้นพบแล้วมีอยู่เป็นจำนวนมากกว่าล้านชนิด สัตว์เหล่านี้อาศัยกระจายอยู่ทั่วไปตามส่วนต่างๆ ของโลกทั้งบนดิน ในน้ำและในอากาศ สัตว์บางชนิดมีความแตกต่างกันจนเห็นได้ชัด แต่บางชนิดก็มีความคล้ายคลึงกันมาก จนทำให้คิดว่าเป็นชนิดเดียวกัน บางชนิดมีการแพร่กระจายไปไกลครอบคลุมหลายประเทศ หรืออาจจะกระจายข้ามทวีปก็เป็นได้
นักสัตวศาสตร์มีความจำเป็นที่จะต้องจำแนกสัตว์ต่างๆ เหล่านี้ออกจากกันให้ละเอียดมากที่สุดเท่าที่จะสามารถกระทำได้ เพราะจำเป็นจะต้องศึกษาสัตว์ต่างๆ อยู่เสมอ การนำชื่อสามัญซึ่งเป็นชื่อที่ใช้ประจำท้องถิ่นต่างๆ มาใช้เป็นชื่อสากลนั้น อาจทำให้เกิดปัญหาได้ เพราะแต่ละถิ่นมีภาษาใช้เรียกสัตว์แต่ละชนิดต่างกันไป และเนื่องจากการศึกษาทางวิทยาศาสตร์นั้น จำเป็นต้องใช้ความละเอียดเป็นอย่างมากดังนั้นจึงได้มีการวางหลักเกณฑ์ในการจัดหมวดหมู่และการตั้งชื่อสัตว์ต่างๆ ให้รัดกุม เพื่อให้ชื่อเหล่านี้เป็นชื่อสากลและเป็นที่ยอมรับโดยนักวิทยา-ศาสตร์ทั่วโลกให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้
วิชาอนุกรมวิธานสัตว์ (animal taxonomy) เป็นสาขาหนึ่งของวิชาชีววิทยาซึ่งศึกษาเกี่ยวกับการจำแนกสัตว์ต่างๆ ในโลกนี้ออกเป็นพวก เป็นหมวดหมู่นักวิทยาศาสตร์ท่านแรกที่ได้ริเริ่มการจำแนกสิ่งมีชีวิตออกเป็นหมวดหมู่นั้น เป็นนักวิทยาศาสตร์สาขาพืช หรือที่เรียกกันในทุกวันนี้ว่า นักพฤกษศาสตร์ชื่อเดอ แคนโดลลี (De Candolle) จุดประสงค์ของท่านผู้นี้ก็คือการแยกพืชต่างๆ ที่ได้รวบรวมไว้ออกเป็นหมวดหมู่ เพื่อความสะดวกในการศึกษาและค้นคว้า ต่อมาภายหลัง นักวิทยาศาสตร์ที่ศึกษาเกี่ยวกับสัตว์ หรือนักสัตวศาสตร์ ได้ทดลองนำไปใช้จำแนกชนิดสัตว์ต่างๆ ดูบ้าง เห็นว่าได้ผลดีจึงได้มีผู้นิยมใช้การจำแนกสัตว์แบบของแคนโดลลีกันอย่างแพร่หลาย
วัตถุประสงค์ในการศึกษาอนุกรมวิธานสัตว์ในสมัยปัจจุบัน ได้ขยายขอบเขตกว้างออกไปอีกโดยมีจุดมุ่งหมาย ๓ ประการคือ ประการที่หนึ่งมุ่งที่จะหาวิธีจำแนกสัตว์ต่างๆ ออกเป็นหมวดหมู่โดยมีลักษณะหรือวิธีการที่จะใช้จดจำสัตว์แต่ละตัวได้ง่าย ประการที่สอง เพื่อที่จะพัฒนาหาวิธีอันเหมาะสมสำหรับการจัดอนุกรมวิธานสัตว์ โดยเฉพาะพวกที่จะใช้เป็นตัวอย่างอ้างอิง และประการสุดท้ายเพื่อจะหาวิธีการทำให้การจัดอนุกรมวิธานสัตว์มีความหมายและถูกต้องอย่างสมบูรณ์ นั่นคือสัตว์พวกใด เหล่าใด มีความใกล้ชิดกันตามสายเลือดก็ควรจะจัดให้อยู่ด้วยกัน และในทางตรงกันข้าม พวกใด เหล่าใด ที่มีบรรพบุรุษห่างกันก็จะถูกจัดให้อยู่ในตำแหน่งที่ห่างกันออกไปด้วย ความคิดประการ หลังนี้มีขึ้นภายหลังจากที่ได้มีการประกาศทฤษฎีวิวัฒนาการของชาลส์ ดาร์วิน (Charles Robert Darwin ค.ศ. ๑๘๐๙ - ๑๘๘๒, นักวิทยาศาสตร์ชาวอังกฤษ)เป็นต้นมา การจัดอนุกรมวิธานสัตว์ในสมัยก่อน ยึดหลักทางกายวิภาคของตัวแก่เต็มวัยเป็นสำคัญ พร้อมทั้งพิจารณาถึงประวัติความเป็นมาของตัวอ่อนประกอบด้วย อย่างไรก็ตาม ปัจจัยอื่น เช่น การแพร่กระจายของสัตว์และฟอสซิล (fossil) ที่ตกค้างอยู่ในหินก็เป็นเครื่องช่วยให้ศึกษาถึงความเกี่ยวข้องระหว่างสัตว์ชนิดต่างๆ ที่ยังมีชีวิตอยู่ในยุคปัจจุบันนี้ได้ ดังนั้นการจัดอนุกรมวิธานสัตว์ในยุคปัจจุบัน นอกจากจะอาศัยหลักฐานดังกล่าว ยังมีการนำความรู้ทางวิชาสรีรวิทยา นิเวศวิทยา พันธุศาสตร์ ฯลฯ มาเป็นหลักในการแบ่งอีกด้วย
การจำแนกและจัดลำดับหมวดหมู่ของสัตว์
การจำแนกและจัดลำดับหมวดหมู่ของสัตว์, การจำแนกและจัดลำดับหมวดหมู่ของสัตว์ หมายถึง, การจำแนกและจัดลำดับหมวดหมู่ของสัตว์ คือ, การจำแนกและจัดลำดับหมวดหมู่ของสัตว์ ความหมาย, การจำแนกและจัดลำดับหมวดหมู่ของสัตว์ คืออะไร
การจำแนกและจัดลำดับหมวดหมู่ของสัตว์, การจำแนกและจัดลำดับหมวดหมู่ของสัตว์ หมายถึง, การจำแนกและจัดลำดับหมวดหมู่ของสัตว์ คือ, การจำแนกและจัดลำดับหมวดหมู่ของสัตว์ ความหมาย, การจำแนกและจัดลำดับหมวดหมู่ของสัตว์ คืออะไร
ร่วมเป็นแฟนเพจเรา บน Facebook..ได้ที่นี่เลย!!