กายวิภาคศาสตร์ เป็นวิชาความรู้ที่เกี่ยวข้องกับร่างกายและอวัยวะต่างๆ ของมนุษย์ หรือสัตว์ ทั้งในด้านโครงสร้าง
ลักษณะ รูปร่าง และตำแหน่งที่อยู่ ตลอดจนความสัมพันธ์กับอวัยวะใกล้เคียงในสภาพปกติ
การศึกษาวิชากายวิภาคศาสตร์นั้น อาจจะศึกษาได้โดยการชำแหละมนุษย์ หรือสัตว์ เพื่อศึกษาผิวหนัง กล้ามเนื้อ หลอดเลือด เส้นประสาท กระดูก และอวัยวะต่างๆ เท่าที่เห็นได้ด้วยตาเปล่า และศึกษาได้โดยตัดชิ้นส่วนของอวัยวะต่างๆ ให้บางประมาณ ๗-๑๐ ไมครอนย้อมสีให้เห็นชัดเจนขึ้น แล้วดูรายละเอียดของอวัยวะนั้นๆ ด้วยกล้องจุลทรรศน์
วิชากายวิภาคศาสตร์จึงแบ่งได้เป็น ๕ สาขาวิชาใหญ่ คือ
๑. มหกายวิภาคศาสตร์ เป็นการศึกษาให้รู้และเข้าใจถึงรูปร่าง ลักษณะ โครงสร้าง ตำแหน่งที่อยู่ ความสัมพันธ์ และหน้าที่สำคัญของส่วนประกอบ และอวัยวะต่างๆของมนุษย์และสัตว์ เช่น ศึกษาผิวหนัง กล้ามเนื้อ หลอดเลือด เส้นประสาท กระดูก และอวัยวะภายในต่างๆ ของมนุษย์หรือสัตว์ที่จะใช้ชำแหละนี้ ต้องฉีดยากันเน่า เช่น น้ำยาฟอร์มาลิน ๑๐ เปอร์เซ็นต์ เพื่อให้อวัยวะต่างๆ คงสภาพเดิมไว้ไม่เน่าเปื่อยไป และยังต้องแช่ในน้ำยาป้องกันเชื้อจุลินทรีย์และเชื้อราต่อไปอีกประมาณ ๖ เดือนถึง ๑ ปี จึงจะนำมาชำแหละศึกษาได้
๒. จุลกายวิภาคศาสตร์ เป็นการศึกษาให้รู้และเข้าใจถึงลักษณะโครงสร้าง และส่วนประกอบของอวัยวะต่างๆ ถึงระดับเซลล์ของร่างกายอย่างละเอียด โดยอาศัยกล้องจุลทรรศน์ การศึกษาเช่นนี้จำเป็นต้องเอาชิ้นส่วนของแต่ละอวัยวะมาแช่ในน้ำยา เพื่อให้คงสภาพเดิมมากที่สุดแล้วตัดชิ้นส่วนของอวัยวะนี้ให้บางประมาณ ๗-๑๐ ไมโครมิเตอร์ มาติดที่กระจกใส แล้วย้อมสีเพื่อให้ชัดเจนขึ้นแล้วศึกษารายละเอียดด้วยกล้องจุลทรรศน์ ซึ่งช่วยขยายสิ่งที่เห็นได้ประมาณ ๕๐ - ๑,๐๐๐ เท่า
๓. เอ็มบริโอวิทยา เป็นการศึกษาให้รู้และเข้าใจถึงกำเนิด การเจริญเติบโต และการเปลี่ยนแปลงของร่างกายและอวัยวะต่างๆ จนถึงขั้นอนุชน พร้อมทั้งการเกิดรูปวิปริตของทารกแต่กำเนิด การศึกษาสาขาวิชานี้ โดยมากศึกษาจากเอ็มบริโอของไก่อายุต่างๆ ตั้งแต่การเริ่มฟักไข่จนถึง ๗๒ ชั่วโมง และจากเอ็มบริโอของหมูอายุต่างๆ กัน ขณะ อยู่ในมดลูกของแม่หมู เริ่มตั้งแต่ไข่ผสมกับเชื้ออสุจิของตัวผู้ จนถึงอายุประมาณ ๒๔ วัน นำเอาเอ็มบริโอของไก่และหมู มาตัดให้บางแล้วศึกษาด้วยกล้องจุลทรรศน์นอกจากนั้นก็ศึกษาด้วยเอ็มบริโอของมนุษย์ อายุตั้งแต่ไข่ผสมกับเชื้ออสุจิถึงอายุ ๘ สัปดาห์ในครรภ์ ต่อไปก็ศึกษาได้จากทารกในครรภ์อายุต่างๆ กันและศึกษาในทารกที่มีความพิการต่างๆ แต่กำเนิด
๔. ประสาทกายวิภาคศาสตร์ เป็นการศึกษาให้รู้และเข้าใจถึงรูปพรรณ โครงสร้าง ส่วนประกอบและหน้าที่ของระบบประสาทส่วนกลาง ได้แก่ สมอง และไขสันหลัง โดยอาศัยทั้งการศึกษาด้วยตาเปล่า และด้วยกล้องจุลทรรศน์ศึกษาส่วนต่างๆ ของสมองและไขสันหลัง ซึ่งตัดให้บางประมาณ ๑๐-๒๐ ไมครอน
๕. กายวิภาคศาสตร์ประยุกต์ เป็นการนำความรู้ทางกายวิภาคศาสตร์ทุกสาขาวิชาไปประยุกต์ใช้ในการวินิจฉัย การวิเคราะห์ การรักษา และการป้องกันโรคภัยไข้เจ็บต่างๆในผู้ป่วย หรือในชุมชนต่อไปได้
ดังนั้น จะเห็นได้ว่า วิชากายวิภาคศาสตร์ เป็นวิชาพื้นฐานที่สำคัญวิชาหนึ่ง สำหรับการศึกษาของแพทย์ ทันตแพทย์ สัตวแพทย์ พยาบาล และนักกายภาพบำบัด
การศึกษาร่างกายของมนุษย์และสัตว์ในสภาพปกตินั้น อาจแบ่งการศึกษาไปตามระบบต่าง ๆ ได้ ดังนี้ คือ
- ระบบผิวหนัง
- ระบบกระดูก
- ระบบข้อต่อ
- ระบบกล้ามเนื้อ
- ระบบการย่อยอาหาร หรือระบบทางเดินอาหาร
- ระบบการหายใจ
- ระบบขับปัสสาวะ
- ระบบสืบพันธุ์
- ระบบเลือดไหลเวียน
- ระบบน้ำเหลือง
- ระบบประสาท
- ระบบต่อมไร้ท่อ