ความรู้ เกร็ดความรู้ สารานุกรม สารานุกรมออนไลน์ ความรู้รอบตัว ความรู้ทั่วไป พจนานุกรม เกมส์ เพลงใหม่ เพลง

การหมุนเวียนของบรรยากาศ, การหมุนเวียนของบรรยากาศ หมายถึง, การหมุนเวียนของบรรยากาศ คือ, การหมุนเวียนของบรรยากาศ ความหมาย, การหมุนเวียนของบรรยากาศ คืออะไร
| เปิดอ่าน 0 | ความคิดเห็น 0
การหมุนเวียนของบรรยากาศ

          ธรรมดาอากาศย่อมเคลื่อนตัวอยู่เสมอ  การเคลื่อนตัวของอากาศก็คือลมซึ่งพัดตามแนวนอนนั่นเอง      แต่ตามความจริงแล้วอากาศเคลื่อนตัวทั้ง แนวนอนและแนวตั้ง    ลมทางแนวนอนมักจะมีอัตราเร็วมากกว่าตามแนวตั้งมาก   ลมตามแนวนอนอาจจะพัดตั้งแต่  ๕  กิโลเมตรต่อชั่วโมง  ถึง  ๓๐๐  กิโลเมตรต่อชั่วโมง  เช่น  ลมในพายุทอร์นาโดหรือพายุไต้ฝุ่นอาจจะมีความเร็ว  ๒๐๐  ถึง ๖๐๐  กิโลเมตรต่อชั่วโมง  ความเร็วของลมเฉลี่ยในบริเวณหนึ่ง  อาจจะอยู่ในขนาด  ๑๕ ถึง ๒๕ กิโลเมตรต่อชั่วโมง  แต่ในบางบริเวณ  เช่น  แถวประเทศนิวซีแลนด์ในซีกโลกใต้ซึ่งอยู่ระหว่างละติจูด  ๔๐  ถึง  ๕๐  องศาใต้  ลมตะวันตกมักจะพัดแรงอยู่ในขนาด  ๖๐  ถึง  ๘๐   กิโลเมตรต่อชั่วโมงเสมอ   นอกจากนี้แล้วในกระแสลมกรด (jetstream) ซึ่งอยู่ในระดับสูงประมาณ ๙ ถึง  ๑๐  กิโลเมตรจากพื้นดิน  ลมอาจจะแรงได้  ๒๐๐  ถึง  ๔๐๐  กิโลเมตรต่อชั่วโมง
           ส่วนลมในแนวตั้งนั้น   มักจะมีความเร็วน้อย  ในบรรยากาศส่วนใหญ่โดยทั่วไป  ลมนี้อาจจะมีความเร็วประมาณ  ๕  เซนติเมตรต่อวินาที  หรือ  ๑๘๐  เมตรต่อชั่วโมง แต่ในพายุฟ้าคะนองขนาดใหญ่กระแสลมแนวตั้งอาจจะมีความเร็วถึง ๑๐๐ กิโลเมตรต่อชั่วโมง กระแสลมเกิดขึ้นได้ก็เพราะอากาศมีความกดอากาศต่างกัน ซึ่งจะทำให้เกิดแรงดันขึ้น ความแตกต่างของความกดอากาศนี้  เกิดขึ้นได้เนื่องจากความแน่นของอากาศต่างกัน การที่มีความแน่นต่างกันก็เพราะอุณหภูมิของอากาศไม่เท่ากัน  ซึ่งเกิดจากความแตกต่างของ ความร้อนตามบริเวณต่างๆ ของโลก
           ตามธรรมดาแล้ว อากาศในบริเวณที่มีความกดสูง ย่อมเคลื่อนตัวไปยังบริเวณที่มีความกดอากาศต่ำ      รูปร่างของความกดอากาศมีลักษณะคล้ายๆ กับรูปร่างาของภูเขาและเหว  มีทั้งบริเวณความกดอากาศสูง  และบริเวณความกดอากาศต่ำ  เส้นที่ลากตามจุดต่างๆ  ซึ่งมีความกดอากาศเท่ากัน  เรียกว่าเส้นไอโซบาร์  (isobar) และเส้นที่ลากตามจุดต่างๆ ซึ่งมีอุณหภูมิเท่ากัน  เรียกว่าเส้นไอโซเทอร์ม (isotherm) และความแตกต่างของความกดอากาศหารด้วยระยะทางที่ใกล้ที่สุดระหว่างเส้นไอโซบาร์  เรียกว่า   เกรเดียนต์ของความกดหรือความชันของความกด  (pressure gradient)
          ถ้าหากว่าโลกของเราไม่หมุนรอบตัวเอง  ตามหลักแล้วอากาศซึ่งอยู่ในที่ซึ่งมีความกดสูงย่อมจะเคลื่อนตัวไปสู่ที่ซึ่งมีความกดต่ำ  แต่เราทราบกันดีอยู่แล้วว่า   โลกหมุนรอบตัวเองจากทิศตะวันตกไปทิศตะวันออกทุกๆ  ๒๔ ชั่วโมงต่อรอบ  การหมุนของโลกนี้มีอิทธิพลสำคัญต่อทิศทางของการเคลื่อนตัวหรือ หมุนเวียนของอากาศทั่วโลก  ซึ่งเราจะได้กล่าวต่อไปอีก
          การเคลื่อนตัวของอากาศจะอยู่ใต้อิทธิพลของแรงเฉ  (deflecting force)   ซึ่งเกิดจากการหมุนรอบตัวเองของโลก   แรงเฉนี้มีชื่อว่า แรงคอริ  โอลิส  (Coriolis  force)  ซึ่งตั้งชื่อไว้เพื่อเป็นเกียรติแก่  จี จี คอริ โอลิส   (Gaspard   Gustave  de  Coriolis, ค.ศ. ๑๗๙๒-๑๘๔๓ชาวฝรั่งเศส  นักคณิตศาสตร์)  ซึ่งเป็นผู้ดำเนินงานเกี่ยวกับแรงเฉนี้ตั้งแต่แรก
          ในซีกโลกเหนือ  แรงเฉจะทำให้ลมพัดเฉไปทางขวาของทิศเดิม  ในซีกโลกใต้แรงเฉจะทำให้ลมพัดเฉไปทางซ้ายของทิศเดิม
          เนื่องจากการพิจารณาแรงเฉนี้    จึงทำให้เรามีหลักเกี่ยวกับการสังเกตบริเวณความกดอากาศต่ำและสูงได้   เรียกว่า   กฎของบายส์-บัลลอต (Christoph H.D. Buys-Ballot, ค.ศ.๑๘๑๗-๑๘๙๐ ชาวฮอลันดา  นักอุตุนิยมวิทยา)  ซึ่งเขาเป็นผู้ค้นคิดกฎอันนี้ขึ้น  คือ
          - เมื่อเราหันหน้าไปตามทิศที่ลมพัดในซีกโลกเหนือ    บริเวณความกดอากาศต่ำจะอยู่ทางซ้ายมือ   และบริเวณความกดอากาศสูงจะอยู่ทางขวามือของเรา  หรือ
          - เมื่อเราหันหน้าไปตามทิศที่ลมพัดในซีกโลกใต้ บริเวณความกดอากาศต่ำจะอยู่ทางขวามือ  และบริเวณความกดอากาศสูงจะอยู่ทางซ้ายมือของเรา
    

ลมในความกดอากาศสูง และความกดอากาศต่ำ กับกฎของ บายส์-บัลลอต (Buys-Ballot's Law) ในซีกโลกเหนือ (ลูกศรแสดงทิศของลม)

การหมุนเวียนของบรรยากาศ, การหมุนเวียนของบรรยากาศ หมายถึง, การหมุนเวียนของบรรยากาศ คือ, การหมุนเวียนของบรรยากาศ ความหมาย, การหมุนเวียนของบรรยากาศ คืออะไร

ร่วมเป็นแฟนเพจเรา บน Facebook..ได้ที่นี่เลย!!

บทความอื่น ของสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ เล่มที่ 4

สารานุกรมเล่มอื่นๆ

คำยอดฮิต

Sanook.commenu