ความรู้ เกร็ดความรู้ สารานุกรม สารานุกรมออนไลน์ ความรู้รอบตัว ความรู้ทั่วไป พจนานุกรม เกมส์ เพลงใหม่ เพลง

กลุ่มชาติพันธุ์ดั้งเดิมในเอเชียอาคเนย์, กลุ่มชาติพันธุ์ดั้งเดิมในเอเชียอาคเนย์ หมายถึง, กลุ่มชาติพันธุ์ดั้งเดิมในเอเชียอาคเนย์ คือ, กลุ่มชาติพันธุ์ดั้งเดิมในเอเชียอาคเนย์ ความหมาย, กลุ่มชาติพันธุ์ดั้งเดิมในเอเชียอาคเนย์ คืออะไร
| เปิดอ่าน 0 | ความคิดเห็น 0
กลุ่มชาติพันธุ์ดั้งเดิมในเอเชียอาคเนย์

          ดังที่ได้กล่าวข้างต้น กลุ่มชาติพันธุ์ดั้งเดิมในเอเชียอาคเนย์จึงอาจพิจารณาแบ่งได้เป็น ๓ กลุ่ม คือ 
          ๑. กลุ่มชาติพันธุ์เร่ร่อน 
          ๒. กลุ่มชาติพันธุ์ตั้งถิ่นฐานกึ่งถาวร 
          ๓. กลุ่มรัฐประเทศ           การนำเสนอข้อมูลเกี่ยวกับกลุ่มชาติพันธุ์ที่ตั้งถิ่นฐานกึ่งถาวร จะเป็นการพิจารณากลุ่มที่ตั้งถิ่นฐานอยู่บนเทือกเขาในบริเวณตอนเหนือของประเทศพม่า ไทย ลาว เวียดนาม ในส่วนที่เชื่อมโยงกับตอนใต้ของประเทศจีน เนื่องจากชาวเขาเหล่านี้มีการอพยพโยกย้ายบ่อย จากเทือกเขาหนึ่งไปยังอีกเทือกเขาหนึ่ง การพูดถึงชาวเขาในเอเชียอาคเนย์ จึงจำเป็นต้องรวมภาคใต้ของประเทศจีนเช่นเดียวกับทางด้านตะวันตกด้วย การศึกษาถึงชาวเขาและคนพื้นราบของเอเชียอาคเนย์ต้องรวมอัสสัมในอินเดียด้วยเพราะมีกลุ่มที่พูดภาษาไท/ไตอยู่ นอกจากนี้กลุ่มชาติพันธุ์ที่ตั้งถิ่นฐานกึ่งถาวรในเอเชียอาคเนย์ยังรวมถึงกลุ่มคนในมาเลเซีย อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ด้วยเช่นกัน กลุ่มแรกคือ กลุ่มชาวเขาบนแผ่นดินใหญ่ และกลุ่มที่สองคือ กลุ่มชาวเขาบนเกาะ 
          ๒.๑ กลุ่มชาติพันธุ์บนแผ่นดินใหญ่ 
การศึกษาเรื่องชาวเขา มีวิธีการแบ่งกลุ่มชาวเขาได้หลายแบบ เช่น แบ่งตามภาษาพูดและแบ่งตามที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ เป็นต้นบทความนี้แบ่งกลุ่มตามวิธีการตั้งถิ่นฐานผนวกกับตามที่ตั้งทางภูมิศาสตร์
           บริเวณเทือกเขาในประเทศพม่าและรัฐอัสสัมในอินเดีย มีชาวเขาเผ่ากาโร (Garo) ชิน (Chin) และนากะ (Naga) ซึ่งพูดภาษาทิเบต-พม่า (Tibeto-Burman)  มีเชื้อชาติมองโกลอยด์ พวกกาโรตั้งถิ่นฐานอยู่ในเขตอัสสัมที่ระดับความสูงประมาณ ๑,๐๐๐ เมตรเหนือระดับน้ำทะเล มีอาชีพทำไร่เลื่อนลอย เลี้ยงสัตว์ จับปลา และหาของป่าเพื่อยังชีพ
           ในประเทศพม่ามีชาวเขา ๓-๔ กลุ่ม ซึ่งมีการตั้งถิ่นฐานค่อนข้างถาวรอยู่บนเขา และสามารถผนึกกำลังและรวมตัวกันได้ ถึงขนาดที่รัฐบาลพม่าต้องเกรงกลัวเป็นอย่างมาก กลุ่มที่อยู่ทางด้านตะวันตกมากที่สุดคือพวกชิน ซึ่งอาศัยอยู่บริเวณเขตแดนพม่าและอัสสัม และในเขตประเทศอินเดีย (รัฐอัสสัม) บังกลาเทศ และพม่า พวกชิน กาโร และนากะ มีลักษณะคล้ายคลึงกันหลายอย่าง ที่เห็นได้ชัดเจนที่สุดคือ ได้รับอิทธิพลของศาสนาฮินดูจากที่ราบลุ่มเมืองมณีปุระในรัฐอัสสัม ชินที่อาศัยอยู่บนเขาติดต่อค้าขายกับเมืองมณีปุระ แต่ชินที่อาศัยอยู่บนพื้นราบค้าขายกับพม่า ได้รับอิทธิพลของศาสนาพุทธนิกายหินยานจากพม่า แต่พวกชินมีระบบการมืองการปกครองที่ซับซ้อนกว่าพวกกาโรคล้ายกับคะฉิ่น
           กลุ่มชาติพันธุ์กลุ่มอื่นในประเทศพม่าที่สำคัญมี ฉาน คะฉิ่น และกะเหรี่ยง ทั้ง ๓ กลุ่ม ได้รับความสนับสนุนจากอังกฤษสมัยพม่าอยู่ภายใต้อาณานิคมของอังกฤษ รัฐอิสระฉานหรือไทยใหญ่หรือที่คนไทยเรียกว่า เงี้ยว คือกลุ่มชาติพันธุ์ที่อาศัยอยู่บนหุบเขาสูงทางภาคเหนือของประเทศพม่า คะฉิ่นคือ กลุ่มชาติพันธุ์ที่ตั้งรกรากอยู่ทางเหนือสุดของประเทศพม่าเหนือจากรัฐฉานหรือไทยใหญ่ หลังจากที่พม่าได้รับเอกราชจากอังกฤษ พวกคะฉิ่นได้พยายามตั้งเป็นรัฐคะฉิ่น ปัจจุบัน คะฉิ่นส่วนใหญ่ทำไร่เลื่อนลอย ปลูกข้าวไร่ และมีการเลี้ยงสัตว์ควบคู่กันไป ซื้อผ้าจากไทยใหญ่ กะเหรี่ยงอาศัยอยู่บริเวณชายแดนพม่าทางใต้ของรัฐฉานและไทยและหลังจากที่พม่าได้รับเอกราชจากอังกฤษจึงได้รับการยอมรับเป็นรัฐ ในช่วงที่ประเทศพม่าอยู่ภายใต้อาณานิคมของอังกฤษ อังกฤษใช้วิธีการปกครองโดยแบ่งตามกลุ่มชาติพันธุ์ และได้พยายามส่งเสริมช่วยเหลือพวกกะเหรี่ยงทางด้านการศึกษา โดยให้การศึกษาแก่ชนชั้นปกครอง
           เห็นได้ว่า ชาวเขาเผ่าต่างๆ ในประเทศพม่าและประเทศข้างเคียงนั้น มีทั้งกลุ่มทางตะวันตก ซึ่งได้รับอิทธิพลศาสนาฮินดูจากมณีปุระ จะมีวิถีชีวิตและโครงสร้างสังคมที่ไม่ซับซ้อน การแบ่งชนชั้นเห็นไม่ชัดเจนและกลุ่มที่ค่อนข้างก้าวหน้าคือ คะฉิ่นและไทยใหญ่ ซึ่งได้รับอิทธิพลจากพม่าแต่ในขณะเดียวกันไม่ยอมอยู่ภายใต้อาณัติของพม่า พยายามตั้งตนเป็นรัฐอิสระ และกลุ่มกะเหรี่ยง ซึ่งมีโครงสร้างสังคมสองแบบ คือ แบบที่ยอมรับอิทธิพลของพม่าจนแทบจะผสมกลมกลืนไป และแบบที่อาศัยอยู่บนเขาซึ่งแยกตัวเป็นอิสระโดยไม่ยอมรับอิทธิพลของพม่า ทั้งนี้เป็นเพราะแรงหนุนจากอังกฤษสมัยที่ประเทศพม่ายังเป็นอาณานิคมภายใต้การปกครองของอังกฤษ
           ชาวเขาในประเทศไทยมีหลายเผ่า แต่อาจแยกออกเป็น ๕ กลุ่มใหญ่ๆ คือ (๑) กลุ่มที่พูดภาษาในกลุ่มภาษาจีน (๒) กลุ่มที่พูดภาษาทิเบต-พม่า (๓) กลุ่มที่พูดภาษามอญ-เขมร (๔) กลุ่มที่พูดภาษาไต (ไต)-กะได และ (๕)กลุ่มที่พูดภาษามลายู-โพลินีเชียน กลุ่มที่พูดภาษาจีนคือ พวกฮ่อ แม้ว (ม้ง) และเย้า (เมี่ยน) นอกจากอาศัยอยู่ในประเทศไทยแล้ว ยังอาศัยอยู่ทางตอนใต้ของประเทศจีนเป็นจำนวนมากรวมทั้งในประเทศพม่า  ลาว และเวียดนามด้วยเดิมพวกแม้ว (ม้ง) และเย้า (เมี่ยน) อาศัยอยู่บนเขาในระดับความสูงประมาณ ๑,๐๐๐ เมตรเหนือระดับน้ำทะเล มีอาชีพทำไร่เลื่อนลอยปลูกข้าว ฝิ่น ฯลฯ และล่าสัตว์ ลักษณะครอบครัวเป็นครอบครัวขยาย เน้นการสืบสายเลือดทางฝ่ายชาย ซึ่งจะมีผลทำให้ฐานะทางสังคมของฝ่ายหญิงต่ำกว่าฝ่ายชาย ผู้ชายมีภรรยาได้หลายคน และฝ่ายหญิงทำงานหนักมากกว่าฝ่ายชาย ขนบธรรมเนียมประเพณีและวัฒนธรรมของแม้วและเย้า มีลักษณะที่แสดงให้เห็นว่า ได้รับอิทธิพลจากวัฒนธรรมจีน ซึ่งเป็นวัฒนธรรมพื้นราบที่อยู่ข้างเคียงเป็นอย่างมากอิทธิพลของวัฒนธรรมไทยเพิ่งจะมีให้เห็นในระยะหลังๆ นี้เท่านั้น
           ลีซอ มูเซอ และอีก้อ คือชาวเขากลุ่มที่พูดภาษาทิเบต-พม่า ชาวเขากลุ่มนี้อาศัยอยู่ในประเทศจีนตอนใต้ พม่า และไทย เช่นเดียวกับแม้ว (ม้ง) และเย้า (เมี่ยน) ขนบธรรมเนียมประเพณีหลายอย่างใกล้เคียงกับแม้ว (ม้ง) และเย้า (เมี่ยน) ประกอบอาชีพทำไร่เลื่อนลอยล่าสัตว์ จับปลา เชื่อในเรื่องภูตผีปีศาจ และมีการบูชาบรรพบุรุษ นอกจากนี้ ยังมีลัวะหรือละว้าซึ่งมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับคนเมืองหรือคนไทยในภาคเหนือ และยังมีลักษณะคล้ายคลึงกับคนไทยพื้นราบมาก
           กลุ่มชาติพันธุ์ที่อาศัยอยู่ในบริเวณภาคเหนือของประเทศไทย ลาวและเวียดนาม ประกอบด้วยพวกข่า ซึ่งแยกออกเป็นข่าขมุ และข่าละเม็ด ในประเทศไทยและลาว นอกจากนี้ มีกลุ่มไทดำ (ลาวโซ่ง) ซึ่งอาศัยอยู่ทางตอนเหนือของประเทศลาวและเวียดนาม พวกข่าอาศัยอยู่บนเขาในระดับความสูงต่ำกว่า ๑,๐๐๐ เมตรเหนือระดับน้ำทะเล มีอาชีพทำไร่เลื่อนลอย ล่าสัตว์ เก็บของป่าและเลี้ยงสัตว์ วิถีชีวิตคล้ายคลึงกับกาโรและชินในรัฐอัสสัม และพม่า แต่ให้ความสำคัญต่อญาติฝ่ายชายมากกว่ากาโร ไม่ได้รับอิทธิพลของศาสนาฮินดู เพราะตั้งถิ่นฐานอยู่ในเขตไทยและลาว ข่าบูชาบรรพบุรุษและเชื่อในเรื่องโตเตม (Totem) คือรูปสัตว์ที่ปักไว้บนเสาสำหรับเคารพบูชา มีการแบ่งชนชั้นโดยจะยกย่องคนมั่งมีที่สามารถสะสมวัวควายและซื้อกลองสัมฤทธิ์ได้ผู้ที่สามารถสร้างฐานะให้แก่ตัวเองได้ ถือว่าเป็นผู้ที่มีความสามารถ และจะได้รับการยกย่องเป็นพิเศษ อย่างไรก็ตาม การแบ่งฐานะในลักษณะนี้เป็นการแบ่งแบบง่ายๆและไม่ซับซ้อนมากนัก
           ลาวโซ่งหรือไทดำคือ กลุ่มชาติพันธุ์ที่อาศัยอยู่ในเขตประเทศลาว เวียดนาม และจีนตอนใต้ บริเวณนี้มีไทขาว ไทแดง และคะได (Kadai) ซึ่งถือว่าเป็นกลุ่มเดียวกัน พูดภาษากลุ่ม "ไท-คะได" ส่วนลาวโซ่งในเขตลาวและเวียดนามทำไร่เลื่อนลอย และมีการปลูกข้าวบริเวณที่ราบลุ่ม ล่าสัตว์ จับปลา และเลี้ยงสัตว์ด้วย มีการค้าขายกับคนจีนและคนเวียดนามลาวโซ่งเดิมสืบสายเลือดทางฝ่ายชาย และแบ่งออกเป็น ๓ กลุ่ม คือ กลุ่มผู้ปกครอง (ผู้เถ้า)กลุ่มสามัญชน (ผู้น้อย) และหมอผู้ประกอบพิธีต่างๆเช่น พิธีเสนเรือน มีการบูชาบรรพบุรุษและประกอบพิธีเป็นประจำ ชี้ให้เห็นถึงอิทธิพลของวัฒนธรรมที่มีต่อชนกลุ่มนี้ ทั้งนี้ เพราะลาวโซ่ง (ไทดำ) ไทขาว ไทแดง และคะได อาศัยอยู่ในประเทศจีนตอนใต้ และภาคเหนือของประเทศลาวและเวียดนาม และมีการติดต่อสัมพันธ์กับจีนมากกว่าลาว
           ซอง กุย ส่วย จะไร คือชาวเขากลุ่มที่พบในประเทศเขมรและประเทศไทยบนเทือกเขาที่ไม่สูง ภาษาพูดของจะไรถูกจัดให้อยู่ในกลุ่มภาษามลายู-โพลินีเชียน (Maloyo-Polynesian) ส่วนภาษาพูดของ ซอง กุย ส่วย ถูกจัดอยู่ในกลุ่มภาษามอญ-เขมร (Mon-Khmer) บางกลุ่มมีผมหยิก และเชื้อชาตินิกรอยด์ (Negroid) กลุ่มชาติพันธ์เหล่านี้มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับคนจามและคนเขมร อาชีพหลักคือทำไร่เลื่อนลอย ปลูกข้าวไร่และพืชหัว ขนาดของชุมชนค่อนข้างเล็กในระยะหลังๆ กุยบางกลุ่มหันมาปลูกข้าวบนพื้นราบ และปลูกพืชอื่น รวมทั้งค้าขายกับเขมรชาวเขากลุ่มนี้มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับกษัตริย์ในอาณาจักรขอม และกัมพูชา เพราะในการประกอบพิธีราชาภิเษก จะมีการนำชาวเขาบางกลุ่ม (กุยและจะไร) มาร่วมพิธี และได้รับพระมหากรุณาธิคุณเป็นพิเศษ โดยไม่ต้องส่งส่วยและไพร่มาเป็นบรรณาการ
           ๒. กลุ่มชาติพันธุ์บนเกาะ กลุ่มชาติพันธุ์ที่ตั้งถิ่นฐานกึ่งถาวรในกลุ่มชาวเกาะนี้ โดยทั่วไปมีลักษณะคล้ายคลึงกับกลุ่มชาวเขาบนแผ่นดินใหญ่ พวกอีบาน (Iban) และดยัค (Dayak) ในมาเลเซียอยู่ในเขตซาราวัค (Sarawak) ของมาเลเซีย เดิมอาศัยอยู่บริเวณกะลิมันตัน (Kalimantan) และบอร์เนียวของอินโดนีเซีย เนื่องจากอยู่ใกล้ทะเลจึงมีอาชีพจับปลา นอกจากนี้ยังทำไร่เลื่อนลอย และปลูกข้าวไร่ด้วย ระยะหลังจึงมีการปลูกข้าวบนพื้นราบบ้าง และยังมีการค้าขายทางทะเลกับเพื่อนบ้านใกล้เคียง
           แม้ว่าพวกอีบานและดยัคจะมีลักษณะคล้ายคลึงกันทางด้านอาชีพและขนบธรรมเนียม แต่กลับเป็นศัตรูกัน ลักษณะเด่นของพวกอีบานที่พบเมื่ออังกฤษเข้าไปปกครองใหม่ๆ คือ ธรรมเนียมล่าหัวมนุษย์ (โดยเฉพาะอย่างยิ่งหัวของดยัค) รัฐบาลอังกฤษพยายามสั่งห้ามโดยถือว่าผิดกฎหมาย และปัจจุบันก็ยกเลิกแล้ว พวกอีบานมีวัฒนธรรมหลายอย่างคล้ายพวกมาเลย์แต่ยังนับถือผีและไสยศาสตร์อยู่ ไม่ได้นับถือศาสนาอิสลามเหมือนพวกมาเลย์  
          คาดาซาน (Kadazan) หรือดุนซุน (Dunsun)คือกลุ่มชาติพันธุ์ที่อาศัยอยู่ในเขตซาบาห์ (Shbah) ของมาเลเซีย และในหมู่เกาะบอร์เนียวของอินโดนีเซีย มีหลายกลุ่มหลายชื่อ ตั้งรกรากกระจัดกระจายทั้งทางแถบชายทะเล บริเวณพื้นราบ และบนเขา พวกที่อยู่บนเขาทำไร่เลื่อนลอย พวกที่อยู่บนพื้นราบและชายฝั่งทะเลจะปลูกไม้ผลพวกยางและข้าว ธรรมเนียมเรื่องการแต่งงานและการตั้งถิ่นฐานจะแตกต่างกันระหว่างกลุ่มที่อยู่บนเขาและบนพื้นราบ กลุ่มบนเขามีแนวโน้มที่จะสืบสายเลือดทางพ่อ และกลุ่มบนพื้นราบสืบสายเลือดทางแม่
           ชาวเกาะที่รวมเป็นกลุ่มตั้งถิ่นฐานกึ่งถาวรนี้มีอยู่หลายกลุ่มมาก ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มไม่ใหญ่นัก อาศัยอยู่ตามเกาะต่างๆ ในเขตประเทศมาเลเซีย อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ เมื่อวัฒนธรรมกระแสหลักของมุสลิมแพร่กระจายมา ในบริเวณนี้ ชาวเขาบนเกาะก็ไม่ได้หันไปนับถือศาสนาอิสลาม แต่ยังคงนับถือภูตผีปีศาจอยู่ลักษณะทางกายภาพของชาวเขาบนเกาะนี้จะคล้ายคลึงกับลักษณะของคนมาเลย์ และบางกลุ่มก็มีลักษณะเป็นนิกรอยด์ อย่างไรก็ตาม ไม่อาจปฏิเสธได้ว่า การปรับตัวของชาวเขาบนเกาะนี้ก็คือการปรับวิถีการผลิต และการรับวัฒนธรรมของคนบนพื้นราบบางอย่าง การปรับวิถีการผลิต คือ การหันมาปลูกข้าวบนพื้นราบของคนบางกลุ่มและการรับวัฒนธรรมมาเลย์บางอย่าง ความสัมพันธ์ระหว่างชาวเขากับคนบนพื้นราบ ไม่ว่าจะเป็บนผืนแผ่นดินเอเชีย หรือบริเวณเกาะทางใต้เป็นความสัมพันธ์ที่พึ่งพากัน โดยที่ชาวเขาเป็นชนกลุ่มน้อย จึงยอมอยู่ภายใต้อิทธิพลของชนกลุ่มใหญ่บนพื้นราบ

กลุ่มชาติพันธุ์ดั้งเดิมในเอเชียอาคเนย์, กลุ่มชาติพันธุ์ดั้งเดิมในเอเชียอาคเนย์ หมายถึง, กลุ่มชาติพันธุ์ดั้งเดิมในเอเชียอาคเนย์ คือ, กลุ่มชาติพันธุ์ดั้งเดิมในเอเชียอาคเนย์ ความหมาย, กลุ่มชาติพันธุ์ดั้งเดิมในเอเชียอาคเนย์ คืออะไร

ร่วมเป็นแฟนเพจเรา บน Facebook..ได้ที่นี่เลย!!

บทความอื่น ของสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ เล่มที่ 23

สารานุกรมเล่มอื่นๆ

คำยอดฮิต

Sanook.commenu