กล้วยไม้
กล้วยไม้, กล้วยไม้ หมายถึง, กล้วยไม้ คือ, กล้วยไม้ ความหมาย, กล้วยไม้ คืออะไร
ดอกกล้วยไม้มีกลีบดอกอยู่ ๒ ชุดๆละ ๓ กลีบ ซ้อนแบบสลับกันอยู่ ๒ ชั้น ขณะที่ดอกยังตูมอยู่ ชุดหนึ่งจะหุ้มอยู่ภายนอก เมื่อดอกบาน กลีบดอกชุดนี้จะรองรับอยู่ด้านหลังของดอก ในวงการกล้วยไม้นิยมเรียกว่า กลีบนอก (sepals) ส่วนอีกชุดหนึ่งซึ่งมี ๓ กลีบ เช่นเดียวกัน แต่ในขณะที่ดอกยังตูมอยู่ จะถูกกลีบนอกห่อหุ้มไว้ภายใน เมื่อดอกบานจะอยู่ด้านหน้าเรียกว่า กลีบใน (petals)
ในขณะที่ดอกบานเต็มที่ กลีบนอกกลีบหนึ่งจะชี้หรือตั้งขึ้นด้านบน เรานิยมเรียกกันว่า กลีบนอกบน (dorsal sepal ก.๑)ส่วนกลีบนอกอีก ๒ กลีบนั้น ชี้ออกทางด้านข้างหรือเฉียงลงข้างล่าง มีลักษณะและสีเหมือนกันทั้งคู่ เราจึงเรียกว่า กลีบนอกคู่ล่าง (lateral sepals ก.๒, ก.๓) นอกจากดอกกล้วยไม้ในสกุลรองเท้านารี ซึ่งมีกลีบนอกคู่ล่างแฝดติดกัน และชี้ลงด้านใต้ของดอก ในทางวิชาการพฤกษศาสตร์ เราเรียกกลีบนอกคู่ล่างที่แฝดติดกันนี้ว่า synsepalum (ก.๒-๓) เราสามารถสรุปได้ว่ากลีบนอกของกล้วยไม้ทั้ง ๓ กลีบนี้ อาจมีลักษณะและสีสันเหมือนกันทั้งหมดก็ได้ หรือกลีบนอกบนกลีบเดียวที่มีลักษณะและสีสันแตกต่างออกไปแล้วแต่ชนิดของกล้วยไม้ ส่วนกลีบนอกคู่ล่างทั้งคู่จะต้องมีสีสันและลักษณะเหมือนกันเสมอ ไม่ว่าจะเป็นกล้วยไม้ชนิดใดก็ตาม เราจึงเรียกว่า กลีบนอกคู่ล่าง
ในบรรดากลีบในทั้ง ๓ กลีบนั้น เนื่องจากเป็นชุดของกลีบซึ่งอยู่สลับกับกลีบนอก ดังนั้น จะมีกลีบในคู่หนึ่ง (ข.๒,ข.๓)ชี้ออกทางด้านข้างของดอก หรือเฉียงขึ้นข้างบนข้างละกลีบ กลีบในคู่นี้มีลักษณะและสีสันเหมือนกัน ถ้ามองดูจากด้านหน้าของดอกกล้วยไม้จะรู้สึกว่า กลีบในแต่ละข้างอยู่ระหว่างกลีบนอกบนกับกลีบนอกที่อยู่ด้านข้าง อาจมีกล้วยไม้บางชนิดซึ่งมีกลีบในทั้งคู่ชี้ออกมาทางด้านหน้าของดอกด้วย ส่วนกลีบในอีกกลีบหนึ่ง หรือกลีบที่ ๓ (ข.๑) นั้นชี้ลงด้านล่าง หรือยื่นออกมาทางด้านหน้าของดอกด้วย กลีบในกลีบนี้มีลักษณะสีสันและรายละเอียดต่างๆ แตกต่างออกไปจากกลีบในคู่ที่กล่าวมาแล้วโดยสิ้นเชิง ดังนั้น ในด้านวิชาการจึงมีชื่อเรียกเฉพาะไว้ว่าlabellum ส่วนคำสามัญนั้นนิยมเรียกกันว่า lip ภาษาไทยเรียกว่า "ปาก" หรือ "กระเป๋า" ปากเป็นคำที่นิยมใช้กันมากกว่า ดังนั้น เมื่อมีการเรียกส่วนของดอกกล้วยไม้ว่า "ปาก" ในหลักการย่อมเป็นที่เข้าใจได้ว่า คือกลีบในกลีบที่ ๓ ซึ่งมีลักษณะแตกต่างไปจากกลีบอื่นๆ นั่นเอง
ก. ๑ กลีบนอกบน
ก. ๒ และ ก. ๓ กลีบนอกคู่ล่าง
ข. ๑ กลีบในล่าง ซึ่งมีชื่อเรียกเฉพาะว่า ปากหรือกระเป๋า
ข. ๒ และ ข. ๓ กลีบใน มี ๑ คู่
ดอกกล้วยไม้เป็นดอกไม้สมบูรณ์เพศ มีอวัยวะเพศตัวผู้และตัวเมียอยู่ในดอกเดียวกัน และอยู่บนชิ้นส่วนที่เป็นหลักชิ้นเดียวกันด้วย ตรงศูนย์กลางด้านหน้าของดอกจะมีชิ้นส่วนนี้ยื่นออกมา ซึ่งเราเรียกว่า "เส้าเกสร" (column) ตรงปลายเส้าเกสรนี้มีลักษณะเป็นโพรงและมีฝาครอบ หากเปิดฝาครอบออกก็จะได้พบเกสรตัวผู้ (pollinia) อยู่ภายใน เม็ดเกสรตัวผู้มีจำนวนเป็นคู่แล้วแต่ชนิดของกล้วยไม้ แต่ละเม็ดประกอบขึ้นจากเกสรตัวผู้จำนวนมากมายประสานเป็นเนื้อเดียวกัน เม็ดเกสรตัวผู้ของกล้วยไม้บางชนิด มีก้านซึ่งมีลักษณะเหนียวและยืดหยุ่นได้ บริเวณด้านใต้ของปลายเส้าเกสรนั้น มีลักษณะเป็นแอ่งและมีน้ำซึ่งข้นคล้ายแป้งเปียกอยู่ในแอ่งนี้ เราเรียกว่า "ปลายเกสรตัวเมีย"(stigma) ระหว่างโพรงที่อยู่ของเกสรตัวผู้กับปลายเกสรตัวเมียที่มีเยื่อบางๆ กั้นไว้
โคนของเส้าเกสรซึ่งเป็นศูนย์รวมของกลีบทุกกลีบของดอกกล้วยไม้นั้น เชื่อมโยงเป็นชิ้นเดียวกันกับก้านดอก (pedicel)ซึ่งอยู่ด้านหลัง และส่วนของก้านดอกที่อยู่ถัดจากกลีบดอกออกไปทางด้านหลังนี้เองคือ รังไข่ของตัวเมีย (ovary) ภายในเป็นโพรงและมีไข่อยู่เป็นจำนวนมาก ถ้าหากปลายเกสรตัวเมียได้รับการผสมโดยเม็ดเกสรตัวผู้ และถ้าการผสมเริ่มบังเกิดผล กลีบดอกจะเริ่มเหี่ยว และก้านดอกส่วนที่อยู่ใกล้กลีบดอก และมีลักษณะเป็นร่องยาวของก้านดอก ซึ่งก็คือส่วนที่เป็นรังไข่ของตัวเมีย ก็จะขยายตัวเจริญขึ้นเป็นฝักของกล้วยไม้ ถ้าการผสมระหว่างเชื้อตัวผู้และไข่ของตัวเมียภายในรังไข่สมบูรณ์เป็นปกติภายในฝักก็จะมีเมล็ดกล้วยไม้เกิดขึ้นเป็นจำนวนมากมายหลายแสนเมล็ด เมื่อเมล็ดแก่จัด จะหลุดจากผนังของฝักรวมๆ กันอยู่มีลักษณะเป็นผงละเอียดมาก หากผนังฝักมีรอยร้าวหรือแตกเมื่อใด เมล็ดเหล่านี้ก็จะปลิวไปตามกระแสลมได้
ฝักกล้วยไม้นับตั้งแต่ผสมเกสรจนถึงฝักสุก ใช้ระยะเวลาตั้งแต่ประมาณ ๑ เดือนไปจนถึงประมาณ ๒ ปี สุดแล้วแต่ชนิดของกล้วยไม้ อาทิเช่น กล้วยไม้ในสกุลสแพโทกลอตทิส ซึ่งพบขึ้นอยู่ตามโขดหินในจังหวัดภาคใต้ของประเทศไทย และในเขตดินแดนมาเลเซียนั้น มีอายุฝักประมาณ ๓๐ วัน กล้วยไม้ฟ้ามุ่ย (Vanda coerulaea) ซึ่งพบอยู่ตามธรรมชาติในจังหวัดภาคเหนือของประเทศไทย และประเทศใกล้เคียง มีอายุฝักตั้งแต่เริ่มผสมเกสรจนถึงฝักสุกประมาณ ๑๕-๑๘ เดือน กล้วยไม้สกุลหวายเดนโดรเบียมและสกุลคัทลียา รวมทั้งแวนดาลูกผสมต่างๆ ที่นิยมผสมและเลี้ยงกันอยู่ในประเทศไทยนั้น มีอายุฝักตั้งแต่ผสมจนถึงฝักสุกผิดเพี้ยนกันไประหว่าง ๓-๘ เดือน โดยทั่วๆ ไปแล้วในกล้วยไม้สกุลเดียวกัน ฝักของกล้วยไม้ลูกผสมจะมีอายุสั้นกว่ากล้วยไม้ป่าหรือกล้วยไม้พันธุ์แท้ ความผิดเพี้ยนของสภาพแวดล้อมที่กล้วยไม้ขึ้นอยู่ ก็มีส่วนทำให้อายุของฝักกล้วยไม้แปรเปลี่ยนไปได้พอสมควรเช่นกัน
แม้ว่ากล้วยไม้จะเป็นพันธุ์ไม้ประเภทเดียวกันกับพืชจำพวกข้าวและหญ้าก็ตาม แต่เมล็ดกล้วยไม้ก็มีองค์ประกอบหลักที่ไม่เหมือนกับพืชเหล่านั้น เมล็ดพืชทั่วๆไปจะมีองค์-ประกอบหลักอยู่ ๓ ส่วนด้วยกันคือ เปลือกเมล็ด เชื้อที่จะงอกและเจริญขึ้นมาเป็นต้นอ่อน และอาหารสำหรับเลี้ยงเชื้อในขณะที่กำลังงอกและยังเลี้ยงตัวเองไม่ได้ แต่เมล็ดกล้วยไม้มีเพียง ๒ ส่วนเท่านั้นคือ เปลือกเมล็ดกับเชื้อที่จะงอกขึ้นมาเป็นต้นอ่อน ดังนั้น เมล็ดกล้วยไม้จึงไม่สามารถจะงอกได้ด้วยตัวเอง แม้ว่าจะมีสภาพแวดล้อมต่างๆเหมาะสมก็ตาม
จำเป็นต้องพึ่งพาอาศัยเชื้อราจำพวกหนึ่งซึ่งมีชื่อเรียกรวมๆว่า "ไมคอไรซา" (Mycorhiza) ช่วยให้อาหารแก่เชื้อ และเมื่อต้นกล้วยไม้เจริญเลี้ยงตัวเองได้แล้ว เชื้อราประเภทนี้จะอาศัยดำรงชีวิตอยู่ภายในผิวของรากกล้วยไม้ต่อไป ดังนั้นเราจึงพบว่า เมล็ดกล้วยไม้ที่งอกในป่าตามธรรมชาติจะกระ-จายอยู่ไม่ไกลจากต้นเดิมมากนัก บางครั้งก็พบงอกอยู่ใกล้ๆผิวของรากกล้วยไม้ใหญ่ เชื้อราประเภทนี้มีอยู่หลายชนิดด้วยกันบางชนิดก็มีความเหมาะสมกับกล้วยไม้บางกลุ่มบางพวกเท่านั้นดังนั้น ในการเล่นกล้วยไม้สมัยก่อนๆ ขณะที่วิทยาศาสตร์ยังไม่เจริญมากนัก ผู้สนใจกล้วยไม้ในสมัยนั้นได้ใช้วิธีการเพาะเมล็ด กล้วยไม้โดยเลียนแบบธรรมชาติ คือ นำเมล็ดกล้วยไม้ที่แก่แล้วซึ่งมีลักษณะเป็นผงละเอียดไปหว่านลงบริเวณใกล้โคนต้นแม่พันธุ์ และเนื่องจากเมล็ดกล้วยไม้ที่ได้จากฝักหนึ่งๆ มีเป็นจำนวนแสนเมล็ด แม้จะได้รับอันตรายไปมากพอสมควร ก็ยังมีบางส่วนที่งอกเป็นต้นขึ้นมาได้ ชีวิตที่พึ่งพาอาศัยธรรมชาติซึ่งกันและกันในธรรมชาติ เช่น กล้วยไม้กับเชื้อรานี้ ภาษาวิชาการเรียกว่า "ซิมไบโอซิส" (symbiosis)
เมื่อการค้นคว้าทางวิทยาศาสตร์ได้เจริญขึ้น มนุษย์จึงได้เรียนรู้วิธีการเพาะเมล็ดกล้วยไม้โดยมิต้องอาศัยเชื้อราอีกต่อไปได้มีนักพฤษศาสตร์ชาวยุโรปและอเมริกัน ประกาศความสำเร็จในการเพาะเมล็ดกล้วยไม้ในขวดแก้ว โดยใช้วุ้นเป็นพื้นและผสมธาตุอาหารต่างๆ ที่เมล็ดกล้วยไม้ต้องการ เพื่อการงอกและเจริญเติบโตในระยะหนึ่ง พร้อมทั้งปรับสภาวะความเป็นกรดของวุ้นอาหารให้เหมาะสมกับการที่เมล็ดและต้นอ่อนของกล้วยไม้นั้นจะสามารถใช้อาหารให้เกิดประโยชน์มากที่สุด
การเตรียมวุ้นอาหารจำเป็นต้องอยู่ในสภาวะปลอดจากเชื้ออื่นๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเชื้อจุลินทรีย์ที่เรามองไม่เห็นด้วยตาเปล่าซึ่งปะปนอยู่ในบรรยากาศ และสิ่งต่างๆทั่วๆไป มิฉะนั้นแล้วเชื้อจุลินทรีย์เหล่านี้จะเจริญงอกงามอย่างรวดเร็วในวุ้นอาหารของกล้วยไม้ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการงอกของเมล็ดอย่างร้ายแรง
กล้วยไม้, กล้วยไม้ หมายถึง, กล้วยไม้ คือ, กล้วยไม้ ความหมาย, กล้วยไม้ คืออะไร
ร่วมเป็นแฟนเพจเรา บน Facebook..ได้ที่นี่เลย!!