ศิลปะผ้าทอไทยอันมีประวัติยาวนานและมีความมั่งคั่งหลากหลาย ซึ่งสืบทอดมาแต่โบราณจนทุกวันนี้ ตกอยู่ในมือของคนรุ่นเราและรุ่นหลังจะรักษาต่อไป หน่วยงานหลายๆ หน่วยงานทั้งของรัฐบาลและเอกชน ต่างก็ช่วยกันดำเนินการรับสนองพระราชดำริของสมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ ในเรื่องการศึกษา ส่งเสริมและพัฒนาศิลปะผ้าทอของไทย อย่างไรก็ตามเท่าที่ได้มีการศึกษา สำรวจปัญหาต่างๆ พบว่า ยังมีปัญหาในการส่งเสริมและพัฒนาศิลปะการทอผ้าไทยอยู่ดังนี้
๑. ศิลปหัตถกรรมในหลายๆ ท้องถิ่นยังถูกละเลย การผลิตศิลปหัตถกรรมกระจัดกระจายอยู่ทั่วไปไม่มีแหล่งรวมในบางท้องถิ่น
๒. ขาดการกระตุ้นหรือประกวดให้ผลิตผลงานที่มีคุณภาพมากๆ ขึ้น
๓. ผู้มีฝีมือเปลี่ยนไปประกอบอาชีพอย่างอื่น
๔. ไม่รักษาคุณภาพให้สม่ำเสมอ เมื่อผ้าทอมือขายดีจะผลิตผ้าที่ด้อยฝีมือมาขายแทน ช่างทอก็มีคุณภาพด้อยลง และมีจำนวนน้อยลงเรื่อยๆ
๕. ช่างฝีมือคุณภาพดีมักทำงานได้ช้าขายยาก เพราะต้องขายราคาแพงให้คุ้มกับเวลา หมดกำลังใจ ขาดการส่งเสริม ช่างทอฝีมือดีหลายคนยังไม่มีคนรู้จักและเห็นคุณค่า
๖. ช่างฝีมือขาดการแข่งขันทางความคิด
๗. การถ่ายทอดทำกันในวงจำกัด ขาดตัวผู้สืบทอดอย่างจริงจังและกว้างขวาง
กล่าวโดยสรุป คือ การทอตามแบบศิลปะการทอของไทยนั้น ก็เช่นเดียวกับศิลปหัตถกรรมประเภทอื่นๆ คือ ต้องมีการส่งเสริมให้ใช้สอยเป็นประโยชน์ในชีวิตปัจจุบันของสังคมที่มีการผลิตขึ้นเองให้มากขึ้น เพราะหากผู้คนในสังคมไม่นิยมใช้ผ้าทอตามแบบศิลปะของไทย หรือขาดความรู้ในศิลปะการทอไทย ขาดความนิยมยกย่องในฝีมือช่างทอที่มีคุณภาพแล้ว ศิลปะการทอของไทยก็ยากที่จะสืบทอดต่อไปถึงลูกหลานของเราได้
ดูเพิ่มเติมเรื่อง ผ้าไทย เล่ม ๑๕