เครื่องหีบฝ้ายชนิดนี้ อีไลวิตนีย์ (Eli Whitney) ได้ประดิษฐ์ขึ้นเมื่อปี พ.ศ. ๒๓๓๓ (ค.ศ. ๑๗๙๐) เป็นเครื่องหีบฝ้ายที่ทำงานได้รวดเร็วและใช้คนงานน้อยกว่าแบบลูกกลิ้งมาก ทำให้ ต้นทุนการหีบต่ำ หลักการของเครื่องหีบชนิดนี้ คือ มีใบเลื่อยวงเดือนขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ ๑๒ นิ้ว จำนวนหลายใบเรียงอยู่ชิดกัน โดยมีแกนเหล็กร้อยตรงกลาง ริมด้านหนึ่งของฟันเลื่อยนี้จะมีตะแกรงเหล็กเป็นซี่ๆ ชิดกันขนาดเมล็ดฝ้ายลอดไม่ได้ ตั้งขนานกับแนวของใบเลื่อย ด้านตรงข้ามของตะแกรงนี้ จะมีแปรงขนสัตว์แข็งที่ติดเป็นท่อนกลม มีแกนเหล็กตรงกลางเช่นกัน จัดให้ขนแปรงไม่ชิดกับปลายฟันเลื่อย และวางขนานกับตับของใบเลื่อย จัดให้แกนใบเลื่อยกับแกนแปรงหมุนตรงข้ามกัน เมื่อเอาฝ้ายทั้งเมล็ดมาให้อยู่ชิดตะแกรงด้านนอก แล้วหมุนใบเลื่อย ใบเลื่อยก็จะดึงเอาเส้นใยออกมา ปุยฝ้ายที่ติดมากับฟันเลื่อยก็จะถูกแปรงกวาดออกไปอีกทางหนึ่ง ส่วนเมล็ดซึ่งลอดตะแกรงไม่ได้ก็จะตกไปอยู่ด้านหนึ่ง
เครื่องหีบฝ้ายทั้ง ๒ แบบนี้ ได้รับการปรับปรุงแก้ไขขึ้นอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อได้ประดิษฐ์เครื่องจักรเก็บฝ้ายขึ้นแล้ว เครื่องจักรเก็บฝ้ายสามารถเก็บฝ้ายได้อย่างรวดเร็ว แต่สกปรก เพราะมีทั้งเปลือกสมอ เศษกิ่งและใบฝ้ายติดมา รวมทั้งมีความชื้นและอาจมีสมอฝ้ายที่ยังไม่แตกปุยติดมาด้วย นักประดิษฐ์เครื่องหีบฝ้ายจึงต้องเพิ่มเครื่องแยกเอาเปลือกสมอ กิ่งใบ และเศษผงต่างๆ ออกจากฝ้ายทั้งเมล็ดก่อน นอกจากนี้ ยังมีเครื่องตีสมอฝ้ายที่ยังไม่แตกให้แตกออกก่อน พร้อมกับเครื่องเป่าลมร้อน ทำให้ฝ้ายแห้งจนมีความชื้นร้อยละ ๖.๕-๘ จึงนำเข้าเครื่องหีบ
เครื่องหีบฝ้ายชนิดฟันเลื่อยได้รับการปรับปรุงขึ้นอย่างมาก โดยเพิ่มจำนวนใบเลื่อยขึ้น ประกอบกับติดเครื่องอัตโนมัติต่างๆ ทำให้ใช้คนงานน้อยลงปัจจุบันนี้เครื่องหีบฝ้ายชนิดฟันเลื่อยเครื่องเดียว สามารถหีบได้ฝ้ายปุยถึงชั่วโมงละ ๑๒-๑๕ เบล หรือประมาณ ๒,๕๕๖-๓,๙.๙๕ กิโลกรัม เครื่องหีบฝ้ายแบบฟันเลื่อยนี้เหมาะสำหรับหีบฝ้ายปุยยาวไม่เกิน ๑ ๑๑๖ นิ้ว