
ตุ๊กตาประเภทนี้ จัดเข้าอยู่ในประเภทตุ๊กตาผ้า ปัจจุบันมีผู้ประดิษฐ์ตุ๊กตาผ้ายัดนุ่นขึ้นมามาก แต่ตุ๊กตาผ้าที่ทำขึ้นอย่างประณีตได้มาตรฐานสากลนั้น เป็นตุ๊กตาที่ประดิษฐ์ขึ้นโดยคุณหญิงทองก้อน จันทวิมล เป็นตุ๊กตาที่ได้รับความนิยมไปทั่วโลก คุณหญิงทองก้อน จันทวิมล ศิลปินคนแรกที่ประดิษฐ์ตุ๊กตาไทยทำด้วยผ้า สำเร็จการศึกษาอักษรศาสตร์บัณฑิตและประโยคครู มัธยมจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และเข้ารับราชการในโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา หลังจากสมรสกับนายอภัย จันทวิมล แล้วก็ลาออกจากราชการ คุณหญิงทองก้อนมีความสนใจในงานประดิษฐ์หลายประเภท เช่น งานประดิษฐ์ดอกไม้เทียน งานจัดดอกไม้พาน การตัดเย็บเสื้อผ้า และเป็นผู้ค้นคว้าศึกษาตัวละครในวรรณคดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งตัวละครในเรื่องรามเกียรติ์
เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๙๘ คุณหญิงทองก้อนได้มีโอกาสเข้าเรียนและฝึกหัดการประดิษฐ์ตุ๊กตาในหลักสูตรพิเศษ ๕ วัน ของโรงเรียนโอซาวาดอลล์ ณ กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น ต่อมาในปี พ.ศ. ๒๔๙๙ คุณหญิงได้อ่านบทความเรื่อง "ตุ๊กตาฟิลิปปินส์" ของแพทย์หญิงอเลลี ควีรีโน ในนิตยสารฟรีเวิร์ลด์แล้วเกิดความบันดาลใจว่า ตนเองก็ควรจะทำตุ๊กตาได้ จึงนำชิ้นส่วนของตุ๊กตาญี่ปุ่นมาประดิษฐ์เป็นตุ๊กตาหญิงไทยโบราณขึ้น ในปีเดียวกันนั้นคุณหญิงทองก้อน จันทวิมล ได้ประดิษฐ์ตุ๊กตาละครรำสูง ๑๖ นิ้ว ขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ในวันเฉลิมพระชนมพรรษา ในนามของสมาคมศิษย์วังหลัง-วัฒนา ในฐานะนักเรียนเก่าของโรงเรียน ปรากฏว่าเป็นที่พอพระราชหฤทัยยิ่งนัก
หลักของการประดิษฐ์ตุ๊กตาของคุณหญิงนั้นมีอยู่ว่า ตุ๊กตาจะต้องมีส่วนสัดเป็นคนไทยแท้ๆ สวมเครื่องแต่งกายแบบไทยที่สวยงามเหมาะสม การศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับการผลิตตุ๊กตาจากหนังสือและจากศิลปินหลายท่าน ได้ช่วยให้คุณหญิงประสบความสำเร็จในการประดิษฐ์ตุ๊กตา เช่น ศาสตราจารย์ศิลป พีระศรี ได้ให้คำแนะนำในด้านส่วนสัดของตุ๊กตา พระยาเทวาธิราช ให้คำแนะนำในด้านวัฒนธรรมไทย หลวงวิศาลศิลปกรรม ให้คำแนะนำในด้านการออกแบบลายผ้า สร้างแบบหัวโขนและเครื่องประดับรวมทั้งให้ความรู้เกี่ยวกับลายไทยด้วย ท่านผู้หญิงแผ้ว สนิทวงศ์เสนีย์ ให้คำแนะนำในด้านนาฏศิลป์ นายมนตรี ตราโมท ให้คำแนะนำในด้านเพลงไทย นายเรวัต เสนีย์วงศ์ ณ อยุธยา ให้คำแนะนำในด้านการเขียนหัวโขน นายชิต เหรียญประชา ให้คำแนะนำในด้านการทำแม่พิมพ์ต่างๆ และนายประชุม มานะ ให้คำแนะนำในการเขียนหน้าตุ๊กตา ซึ่งช่วยทำให้หน้าตุ๊กตามีลักษณะเป็นคนไทย
ผลงานการประดิษฐ์ตุ๊กตาอันประณีตของคุณหญิงทองก้อน ทำให้มีผู้เชิญคุณหญิงจัดนิทรรศการตุ๊กตาทั้งในและนอกประเทศบ่อยๆ และสม่ำเสมอ นิทรรศการที่สำคัญคือ นิทรรศการเพื่อส่งเสริมสัมพันธภาพไทย-อเมริกัน ณ โรงแรมสยามอินเตอร์คอนติเนนตัล ในปี พ.ศ. ๒๕๑๙ เป็นตุ๊กตาชุดเด่น แสดงการลงนามในสัญญาทางไมตรีฉบับแรก เมื่อวันที่ ๒๐ มีนาคม พ.ศ. ๒๓๗๖ โดยนายเอ็ดมันด์ โรเบิรตส์ กับเจ้าพระยาพระคลัง (ดิส บุนนาค)
เกียรติครั้งล่าสุดที่คุณหญิงได้รับก็คือ การที่ตุ๊กตาบางกอกดอลล์ของคุณหญิงได้รับรางวัลชนะเลิศในการประกวดตุ๊กตาพื้นเมือง นานาชาติครั้งที่ ๓ ประจำปี พ.ศ. ๒๕๒๑ ณ เมืองคราคอฟ ประเทศโปแลนด์ มีชาติต่างๆ ส่งตุ๊กตาเข้าแข่งขันรวม ๑๘ ชาติ บางกอกดอลล์ได้รับหางนกยูงทองอันงดงามเป็นรางวัลชนะเลิศในครั้งนี้
รูปแบบของตุ๊กตาผ้าของคุณหญิงทองก้อน จันทวิมล นั้นมีหลากหลาย ซึ่งจัดได้เป็น ๔ แบบด้วยกันคือ
๑. ตุ๊กตาโขนละคร ตุ๊กตาแบบนี้อาจเป็นตุ๊กตาเดี่ยวหรือจัดเป็นฉากเป็นตอน ส่วนมากจะเป็นตัวละครเรื่องรามเกียรติ์แต่งตัวและแสดงท่ารำเหมือนตัวโขน บางทีก็เป็นตุ๊กตาคู่ตัวกษัตริย์ของทางมนุษย์และยักษ์รบกัน มีท่ารบประกอบด้วยตัวตุ๊กตา ๒-๔ ตัว หากเป็นนิทรรศการ เช่น การยาตราทัพประจันหน้า หรือตอนไมยราพสะกดทัพ ตัวละครอาจมีถึง ๒๐๐ ตัวขึ้นไป ตุ๊กตาแม่บทเล็กมี ๑๘ ตัว แต่ละตัวแสดงท่ารำตามแม่บท ถ้ามาจากละครรำ จะมีตัวพระตัวนางของแต่ละเรื่อง เช่น เจ้าเงาะและรจนาตอนเสี่ยงพวงมาลัย ตุ๊กตาพราหมณ์รำฉุยฉาย ฯลฯ แต่งตัวเหมือนแสดงบนเวที
๒. ตุ๊กตาชาวเขาเผ่าต่างๆ มีเผ่าอีก้อ แม้ว เย้า มูเซอร์ ลีซอ และยาง แต่ละ ตัวแต่งกายถูกต้องตามแบบแผนของแต่ละเผ่ารวมทั้งสีและเครื่องประดับ
๓. ตุ๊กตาชาวไทยสมัยต่างๆ เป็นตุ๊กตาคู่ชายหญิง แต่งกายตามสมัยนั้นๆ เช่น สมัยกรุงสุโขทัย สมัยกรุงศรีอยุธยา และสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครองใน พ.ศ. ๒๔๗๕
๔. ตุ๊กตาชาวนา ชาวบ้านและคนไทยอาชีพต่างๆ เช่น ชาวประมงน้ำจืด แม่ค้า ฯลฯ
ตุ๊กตาต่างๆ เหล่านี้จะหาชมได้ในพิพิธภัณฑ์ตุ๊กตาของร้านทำตุ๊กตาบางกอกดอลล์ น่าดูมาก และอาจใช้เป็นอุปกรณ์การ
สอนวิชาภูมิศาสตร์หรือวัฒนธรรมพื้นบ้าน และศิลปะการร่ายรำ มีประโยชน์แก่ผู้ที่ได้ชมทุกเพศทุกวัย และทุกสถานภาพ