![โรคผิวหนังที่มีการเปลี่ยนแปลงในสีของผิวหนัง](https://s.isanook.com/gu/0/ui/0/2199/5333__28122006020301.jpg?ip/crop/w300/q90/webp)
โดยทั่วไปคนไทยมีผิวคล้ำ ฉะนั้นการเปลี่ยนแปลงในสีของผิวที่คล้ำหรือดำขึ้นจึงไม่ค่อยน่าเกลียดนอกจากในผู้ที่มีผิวขาวตามธรรมชาติ แต่ถ้าเป็นผู้ที่มีผิวคล้ำแล้ว ผิวหนังเกิดมีสีซีดหรือขาวผิดปกติไป ก็มักจะทำให้ดูเด่นชัดและเห็นว่าน่าเกลียด จะทำให้ผู้นั้นมีความกังวลอยู่เสมอ
โรคที่ทำให้มีการเปลี่ยนแปลงในสีของผิวไม่ว่าจะทำให้ผิวคล้ำดำขึ้นเป็นสีน้ำตาลหรือสีอื่นๆ และสีของผิวที่ขาวซีดและผิดปกตินั้นมีมากมาย บางโรคก็อาจพบได้บ่อยๆ หรือเป็นกันมาก บางโรคก็พอพบได้บ้างเป็นครั้งคราว และบางโรคก็พบได้น้อยมากหรือนานๆ จะเห็นสักรายหนึ่ง
ในบรรดาผิวที่มีสีคล้ำขึ้นกว่าปกติและพบได้บ่อยเช่น ฝ้า ผิวตกกระ และขี้แมลงวัน เป็นต้น มีลักษณะเป็นจุดสีน้ำตาลเล็กๆ ขึ้นบนผิวหนังบริเวณที่ถูกแดด เกิดขึ้นเพราะเม็ดสีเมลานิน เกิดโฟโตออกซิเดชัน (photo-oxidation) โดยแสงอัลตราไวโอเลตขนาดคลื่นยาว ๓๒๐-๔๐๐ นาโนมิเตอร์ (320-400 nanometer; nm.) เข้าใจว่ากรรมพันธุ์เป็นปัจจัยสำคัญในการตกกระด้วย
นอกจากผิวหนังที่มีสีคล้ำหรือเข้มที่พบบ่อยดังกล่าวแล้วนี้ ผิวหนังก็ยังอาจมีสีผิดปกติอื่นๆ ได้อีกเช่น ค่อนข้างเหลืองในผู้ที่รับประทานมะละกอหรือฟักทองเป็นประจำ หรือจากยาบางชนิด หรือเป็นสีอื่นๆ เช่น ฟ้าหม่นเนื่องจากพิษของโลหะหนัก เช่นปรอท และบิสมัท เป็นต้น
ในทารกที่เกิดใหม่อาจเห็นมีปื้นสีฟ้าคล้ำๆ ที่บริเวณก้น เรียกว่า "จุดมองโกเลียน" ซึ่งจะหายไปเมื่ออายุได้ ๕-๖ ขวบ หรืออาจเป็นอยู่จนกระทั่งเป็นผู้ใหญ่ก็ได้