ความรู้ เกร็ดความรู้ สารานุกรม สารานุกรมออนไลน์ ความรู้รอบตัว ความรู้ทั่วไป พจนานุกรม เกมส์ เพลงใหม่ เพลง

การผ่าตัดปลูกอวัยวะ, การผ่าตัดปลูกอวัยวะ หมายถึง, การผ่าตัดปลูกอวัยวะ คือ, การผ่าตัดปลูกอวัยวะ ความหมาย, การผ่าตัดปลูกอวัยวะ คืออะไร
| เปิดอ่าน 0 | ความคิดเห็น 0
การผ่าตัดปลูกอวัยวะ

           การผ่าตัดเพื่อปลูกหรือเปลี่ยนอวัยวะ (organ transplantation) เป็นการผ่าตัดที่เพิ่งจะเริ่มทำกันอย่างจริงจังภายใน    ๒๐ ปี มานี้เอง ทั้งนี้เพราะปัญหาเกี่ยวกับการ "ไม่รับ" ของร่างกาย 
           ในร่างกายปกติจะไม่รับอวัยวะอื่นที่ไม่ใช่ของตัว ดังนั้นการเอาอวัยวะของผู้อื่นมาปลูกหรือฝังไวในร่างกาย ร่างกายจะขับออก ทั้งนี้เป็นไปตามกลไกการป้องกันตนเองตามธรรมชาติ
          ต่อมามนุษย์ได้ศึกษาปฏิกิริยาภูมิคุ้มกันมากขึ้น  และเข้าใจถึงวิธีที่จะลดภูมิคุ้มกันชนิดนี้ลงเพื่อประโยชน์ในการปลูกอวัยวะ และการคัดเลือดชนิดและการจับคู่อวัยวะของผู้ใด เพื่อพิจารณาว่าเข้ากันได้หรืออยู่ได้ในร่างกายของผู้ใดบ้าง  โดยการตรวจเลือดนั้น  ทำให้การปลูกเปลี่ยนอวัยวะกระทำกันกว้างขวางและได้ผลในระยะยาวมากขึ้น
 
          การเปลี่ยนแก้วตา (cornea) คนที่แก้วตาเป็นแผลมีแผลเป็นหรือขุ่นฝ้าจากสาเหตุใดก็ตาม ผู้ป่วยจะมองไม่เห็นและกลายเป็นคนตาบอดไป ถ้าส่วนอื่นของลูกตายังดีอยู่ การเปลี่ยนแก้วตาจะทำให้มองเห็นได้ การเปลี่ยนแก้วตาเป็นศัลยวิธีที่ทำได้ในที่ๆ มีเครื่องมือและแพทย์ที่ได้รับการฝึกฝนมาในทางนี้ การเปลี่ยนแก้วตาเป็นการปลูกเปลี่ยนอวัยวะที่ทำกันมากที่สุดและได้ผลดีเป็นที่น่าพอใจ
 
          การผ่าตัดเปลี่ยนไต คนที่ไตพิการอย่างถาวรทั้งสองข้างหมดสมรรถภาพในการขับสารน้ำและของเสียออกจากร่างกายนั้น  ทางอยู่รอดมีอยู่ทางเดียว คือ การให้ผู้ป่วยเข้าเครื่องไตเทียม ซึ่งมีหลายแบบหลายวิธี แต่การเข้าเครื่องไตเทียมนี้มีโรคแทรกมาก และเมื่อทำหลายๆ ครั้ง ร่างกายจะลดความต้านทานลง และไม่สามารถทดแทนไตได้จริงๆ เพียงแต่ให้อยู่รอดไปได้ชั่วระยะเวลาหนึ่งเท่านั้น การเปลี่ยนไตโดยใช้ไตคนปกติมาใส่เป็นวิธีเดียวที่จะหวังผลดีในระยะยาวได้ แต่การเลือกอวัยวะและการหาอวัยวะเป็นอุปสรรคมากกว่าการผ่าตัดเปลี่ยนอวัยวะ กล่าวคือ วิธีผ่าตัดเปลี่ยนอวัยวะทำได้ง่ายกว่าการหาอวัยวะที่เหมาะสมมาเปลี่ยน
          โดยมากจะได้อวัยวะมาจากผู้ประสพอุบัติเหตุ ที่ได้รับอันตรายต่ออวัยวะอื่น เช่น สมองมีพยาธิสภาพมาก จนไม่สามารถจะมีชีวิตอยู่ต่อไป แต่ไตยังทำหน้าที่ได้ดี ผู้ที่จะให้ไตกับผู้ที่จะได้รับไตต้องผ่านการตรวจ "ความเข้ากันได้" ของอวัยวะกับร่างกายเสียก่อน เมื่อพบว่าเข้ากันได้ ศัลยแพทย์จะตัดไตออกจากผู้ให้เช่นเดียวกับการผ่าตัดใหญ่ทั่วไป ไตที่ได้มาต้องล้างเอาเลือดออกจากหลอดเลือดเพื่อกันเลือดจับลิ่ม และเก็บไว้ในที่เย็น โดยแช่ในน้ำยาที่เตรียมพิเศษเพื่อใช้ในการเปลี่ยน ถ้าผู้รับและผู้ให้อยู่ห่างกัน จะมีวิธีเก็บและส่งซึ่งออกแบบมาเพื่อการนี้โดยเฉพาะ
          ผู้รับต้องเข้าห้องผ่าตัด เพื่อผ่าตัดเอาไตที่เสียออกและเอาไตที่จะให้ใส่เข้าไป โดยเชื่อมหลอดเลือดแดง หลอดเลือดดำ
และหลอดปัสสาวะเข้าด้วยกัน จากนั้นก็จะพักฟื้น โดยทั่วไปไตที่ใส่เข้าไปใหม่จะทำหน้าที่ขับปัสสาวะ และจะทำงานเหมือนไตปกติภายใน ๒๔ ชั่วโมง ระหว่างนี้ผู้ป่วยจะได้รับยาและการรักษาอื่นๆ ที่จะถ่วงเวลาการ "ไม่รับ" ไตที่เอามาปลูกใหม่ด้วยวิธีต่างๆ เพื่อจะให้ไตที่นำมาปลูกเปลี่ยนนี้ทำหน้าที่ของมันให้นานที่สุด
          นอกจากไตแล้ว ยังมีการปลูกเปลี่ยนอวัยวะอื่นๆ อีกแต่ผลที่ได้ยังไม่เป็นที่น่าพอใจ เช่น การปลูกเปลี่ยนตับอ่อนในรายที่เป็นเบาหวาน การปลูกเปลี่ยนต่อมพาราไทรอยด์ ผู้ทำการปลูกเปลี่ยนอวัยวะที่โด่งดังที่สุด ได้แก่นายแพทย์คริสเตียน บาร์นาร์ด ของประเทศแอฟริกาใต้ ซึ่งเป็นผู้เปลี่ยนหัวใจของคนที่เป็นโรคหัวใจสำเร็จเป็นคนแรก เมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๘
          การปลูกเปลี่ยนอวัยวะคงจะเจริญต่อไปอีกในอนาคต แต่จะมีทั้งผลดีและผลเสีย ผลเสียที่สำคัญ ได้แก่ การตัดสินใจเอาอวัยวะออกจากตัวผู้ให้ เพราะถ้ารอให้ผู้ให้ตายสนิทจริงๆ ก็จะสายเกินไป ถ้าเอาอวัยวะออกเร็วเกินไป ก็จะประสบปัญหาว่าได้เอาอวัยวะออกไปตั้งแต่ผู้ป่วยยังไม่ตาย
          ศัลยศาสตร์ในปัจจุบันนี้  ได้ขยายออกไปกว้างขวางมากมิได้มีความหมายเพียงแค่การผ่าตัดโดยใช้มีดกับกรรไกร และ   ฝึกมือให้มีความชำนาญในการผ่าตัดเท่านั้น  หากยังใช้เวลาเป็นส่วนมากสำหรับค้นคว้าและวิจัยในสาขาต่างๆ ให้ลึกซึ้งลงไปเพื่อที่จะทำให้มนุษย์มีปกติสุขมากที่สุดโดยศัลยวิธี
           ศัลยแพทย์ไม่ว่าสาขาใด ต้องทำงานเกี่ยวข้องกับบาดแผลทำการเสริมสร้างไปพร้อมๆ กับการตัดทำลายของเสีย การทำผ่าตัดเกือบทุกชนิดต้องอาศัยความรู้ทางสรีรวิทยา ความล้มเหลวของการผ่าตัดหลายอย่างในอดีตพบว่ามาจากการขาดความรู้ทางสรีรวิทยา และการผ่าตัดที่ยังไม่ประสบผลดีในปัจจุบันก็เนื่องจากความรู้ทางสรีรวิทยาในด้านนั้นยังไปไม่ถึง โดยตัวของมันเอง ศัลยศาสตร์อาจจะเป็นเพียงแค่มีดกับกรรไกร ซึ่งเป็น    เครื่องมือหลักในการผ่าตัด แต่กุญแจสำคัญของการผ่าตัดที่ประสบผลสำเร็จ ต้องอาศัยความรู้และเทคโนโลยีหลายด้านประกอบกันแท้จริงศัลยแพทย์รุ่นเก่าๆ สามารถทำผ่าตัดได้เรียบร้อย  และ สวยงามเท่ากันหรือดีกว่าศัลยแพทย์ปัจจุบัน แต่การที่ศัลยศาสตร์เจริญมาจนทุกวันนี้ ได้อาศัยความรู้ทั้งทางเคมี วิศวกรรมศาสตร์และชีวสังคม เข้ามาช่วยด้วยเป็นอย่างมาก หาไม่แล้วศัลยศาสตร์ก็คงหมายถึงการตกแต่งบาดแผลและผ่าฝีเหมือนเดิม
           ไม่ว่าจะเป็นบาดแผลหรือการทำผ่าตัดในกรณีต่างๆ ถ้าผู้ป่วยทุรนทุราย เจ็บปวด ก็ไม่อาจจะทำได้ ดังนั้นการใช้ยาชา  เฉพาะที่ การดมยาให้ผู้ป่วยหมดความรู้สึกเจ็บปวด นอกจากจะช่วยลดความทรมานของผู้ป่วยแล้ว ยังจะทำให้การผ่าตัดดำเนินไปได้ด้วยดี เช่น การผ่าตัดในช่องท้อง ถ้าทำให้ลำไส้คลายตัวการผ่าตัดก็จะดำเนินไปได้ด้วยดี ดังนั้นจึงเกิดมีศาสตร์ขึ้นอีกแขนงหนึ่ง เรียกว่า "วิสัญญีวิทยา"
           คนเรานั้นเกิดมา บางคนก็มีสุขภาพสมบูรณ์แข็งแรงดีบางคนก็มีโรคภัยไข้เจ็บ ซึ่งอาจรักษาให้ทุเลาลงหรือหายขาดได้  ด้วยการให้รับประทานยาหรือฉีดยา แต่โรคบางโรคต้องใช้วิธีผ่าตัดจึงจะหายได้ การรักษาโรคชนิดที่ต้องผ่าตัด และผู้ป่วยที่ถูกผ่าตัดไม่รู้สึกเจ็บปวดขณะถูกผ่าตัดก็ต้องมีหมอดมยาหรือที่เรียกว่าวิสัญญีแพทย์เป็นผู้ให้ยาดมหรือยาฉีดเข็มเล็กๆ เพียง ๑ ครั้ง เพียงเวลาไม่นานนักผู้ป่วยก็จะหลับสบาย ไม่รู้สึกตัวตลอดเวลาที่หมอทำการผ่าตัดให้ เมื่อเสร็จแล้วก็จะตื่นขึ้นมาคล้ายตื่นนอนตอนเช้า อาจมีอาการง่วงงัวเงียอยู่อีกนิดหน่อย ไม่นานนักก็ได้กลับไปหาครอบครัวและสามารถดำเนินชีวิตได้ตามปกติเช่นเดิม

การผ่าตัดปลูกอวัยวะ, การผ่าตัดปลูกอวัยวะ หมายถึง, การผ่าตัดปลูกอวัยวะ คือ, การผ่าตัดปลูกอวัยวะ ความหมาย, การผ่าตัดปลูกอวัยวะ คืออะไร

ร่วมเป็นแฟนเพจเรา บน Facebook..ได้ที่นี่เลย!!

บทความอื่น ของสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ เล่มที่ 8

สารานุกรมเล่มอื่นๆ

คำยอดฮิต

Sanook.commenu