
ประเทศไทยเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มาเป็นระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข เมื่อวันที่ ๒๔ มิถุนายน พุทธศักราช๒๔๗๕ โดยคณะราษฎรได้กราบบังคมทูลฯ ร้องขอให้พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานรัฐธรรมนูญ และขอให้ทรงอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญ อันที่จริงพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเคยมีพระราชดำริจะพระราชทานรัฐธรรมนูญอยู่ก่อนแล้ว แต่ทรงได้รับการคัดค้านจากขุนนางไทย และที่ปรึกษาชาวต่างประเทศ ดังนั้น ในวันที่ ๒๗ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๔๗๕ จึงทรงลงพระปรมาภิไธยในพระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วคราว พุทธศักราช ๒๔๗๕ และพระราชกำหนดนิรโทษกรรมในคราวเปลี่ยนแปลงการปกครองแผ่นดิน พุทธศักราช ๒๔๗๕ ทั้งนี้โดยไม่มีผู้ใดลงนามรับสนองพระบรมราชโองการเลย ซึ่งในทางกฎหมายมหาชน ต้องถือว่าทรงสมัครพระราชหฤทัยจำกัดพระองค์เองอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญที่พระราชทานนั้น ทั้งนี้เพื่อให้ราษฎรทั้งปวงปกครองกันเอง ดังปรากฏในพระราชหัตถเลขาทรงสละราชสมบัติ ตอนหนึ่งความว่า
“ข้าพเจ้ามีความเต็มใจที่จะสละอำนาจ อันเป็นของข้าพเจ้าอยู่เดิมให้แก่ราษฎรทั่วไป แต่ข้าพเจ้าไม่ยินยอมยกอำนาจทั้งหลายของข้าพเจ้าให้แก่ผู้ใด คณะใดโดยเฉพาะ เพื่อใช้อำนาจโดยสิทธิขาดและโดยไม่ฟังเสียงอันแท้จริงของประชาชนราษฎร”
นับแต่นั้นเป็นต้นมา ประเทศไทยก็มีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขมาตราบจนทุกวันนี้