ความรู้ เกร็ดความรู้ สารานุกรม สารานุกรมออนไลน์ ความรู้รอบตัว ความรู้ทั่วไป พจนานุกรม เกมส์ เพลงใหม่ เพลง

การเริ่มงานทำแผนที่จากรูปถ่ายทางอากาศ, การเริ่มงานทำแผนที่จากรูปถ่ายทางอากาศ หมายถึง, การเริ่มงานทำแผนที่จากรูปถ่ายทางอากาศ คือ, การเริ่มงานทำแผนที่จากรูปถ่ายทางอากาศ ความหมาย, การเริ่มงานทำแผนที่จากรูปถ่ายทางอากาศ คืออะไร
| เปิดอ่าน 0 | ความคิดเห็น 0
การเริ่มงานทำแผนที่จากรูปถ่ายทางอากาศ

          ภายหลังการถ่ายรูปทางอากาศบริเวณจังหวัดสุรินทร์แล้วประมาณ ๒๐ ปี จึงได้มีการนำเรื่องการทำแผนที่จากรูปถ่ายทางอากาศเสนอต่อกระทรวงมหาดไทย โดยกรมที่ดินได้เสนอนโยบายเร่งรัดการทำแผนที่รังวัดที่ดิน แต่เกิดสงครามเสียก่อน ครั้นเดือนเมษายน พ.ศ. ๒๔๙๐ กรมที่ดินจึงได้ยกเรื่องขึ้น พิจารณาอีกครั้ง แล้วเสนอต่อกระทรวงมหาดไทยและคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ ๓๐ เมษายน พ.ศ. ๒๔๙๐ ทางกรมแผนที่ก็ได้เสนองบประมาณการทำแผนที่ไปด้วย เมื่อวันที่ ๑๓ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๙๐ คณะรัฐมนตรีเห็นว่าการทำแผนที่ของทั้ง ๒ กระทรวงมีความมุ่งหมายคล้ายคลึงกัน  จึงได้มอบให้เจ้ากรมแผนที่ทหารบกขณะนั้นคือ พล.ต.พระวิภัติภูมิประเทศเป็นเจ้าของเรื่อง พิจารณาร่วมกับผู้แทนกระทรวงมหาดไทยกระทรวงเกษตร และกระทรวงคมนาคม ประชุมตกลงให้จัดตั้งองค์การทำแผนที่จากรูปถ่ายทางอากาศขึ้น โดยมี พล.ท.พระยาศัลวิธานนิเทศเป็นประธาน รัฐบาลอนุมัติให้จัดตั้งองค์การนี้เมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๓ และได้อนุมัติให้เป็นกรมการแผนที่รูปถ่ายทางอากาศเมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๔ เจ้าหน้าที่ในขณะนั้นเป็นผู้สำเร็จปริญญาตรีจากคณะวิทยาศาสตร์ และคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และผู้ที่เกษียณอายุจากกรมแผนที่ที่ยังมีร่างกายกำลังแข็งแรง มีความรู้ความสามารถและประสบการณ์อย่างดี จากงานทำแผนที่เป็นผู้ดำเนินงาน
          การทำแผนที่จากรูปถ่ายทางอากาศ มีทั้งงานบินถ่ายรูปและงานทำแผนที่ งานบินถ่ายรูปแต่เดิมเป็นหน้าที่ของกรมอากาศยาน ซึ่งภายหลังเป็นกองทัพอากาศ  เมื่อเป็นกรมการแผนที่รูปถ่ายทางอากาศแล้ว ก็มีเครื่องบินเฉพาะงานนี้ แต่ให้กองทัพอากาศดำเนินการ ใช้นายทหารและเจ้าหน้าที่ของกองทัพอากาศทั้งสิ้น ส่วนงานอื่นเป็นหน้าที่ของกรมการแผนที่รูปถ่ายทางอากาศ
          ระหว่างที่เป็นองค์การได้ทำงานชิ้นแรกเป็นงานสำรวจทำแผนที่เพื่อใช้ในการสร้างทางรถไฟ พื้นที่บริเวณที่จะสร้างทางรถไฟยังไม่มีการสำรวจแผนที่ภูมิประเทศ อันดับแรกจึงต้องทำการสำรวจทำแผนที่ภูมิประเทศบริเวณแนวทางที่จะสร้างทางรถไฟตามระบบกระบวนการสำรวจ ทางรถไฟ ที่จะสร้างนี้คือสายแก่งคอยไปบัวใหญ่ เป็นโอกาสดีที่องค์การฯ ได้ทำงานสำรวจโดยใช้รูปถ่ายทางอากาศ ซึ่งเป็นความประสงค์ของทางการรถไฟ เพราะจะได้ผลงานเร็ว และไม่สิ้นเปลืองไปกว่าการสำรวจทางพื้นดิน ทางการรถไฟมีเงินสำหรับการนี้ จึงได้ตกลงคัดเลือกให้บริษัท ฮันติงแอโร เซอร์เวย์ (Hunting Aero Servey) รับเหมาสำรวจถ่ายรูปทางอากาศ ส่วนองค์การฯ จัดหาคนทำงานประกอบทางพื้นดิน บริษัทนี้มีสำนักงานใหญ่อยู่ที่ประเทศอังกฤษ เป็นบริษัทมีชื่อเสียงและความสามารถดี เคยทำงานสำรวจทางอากาศในพม่า อินเดีย มาเลเซีย และทางตะวันออกกลางรวมหลายแห่ง ที่สำนักงานใหญ่ของบริษัทมีอุปกรณ์สำหรับทำงานโฟโตแกรมเมตรีครบถ้วนตั้งแต่เครื่องบินทำการบินถ่ายภาพตลอดไปจนถึงการรวบรวมเขียนรายละเอียดแผนที่ ในการเขียนรายละเอียดแผนที่เขาใช้เครื่องออโทกราฟ แบบวิลด์  เอ ๕ (Autograph Wild A5) และเครื่องสเตอริโอเรสติทิวเทอร์ แบบวิลด์ เอ ๖ (Stereorestituter Wild A6) ซึ่งมีอยู่หลายเครื่อง และเป็นเครื่องแบบเดียวกันกับของเราที่กำลังจะติดตั้งใช้ บริษัทได้ส่งเครื่องบินแบบเพอร์ซิวัล พรินซ์ (Percival Prince) และเจ้าหน้าที่เข้ามาทำการบินถ่ายภาพและอัดล้างภาพที่องค์การฯ 
          ส่วนงานประกอบการทำแผนที่สำรวจทางพื้นดิน บริษัทได้ส่งผู้ดำเนินงานมาเพียง ๑ คนองค์การฯ ได้ช่วยหาช่างแผนที่และผู้ช่วยให้ 
          งานนี้ได้ดำเนินไปโดยไม่มีอุปสรรคอย่างใดจนในที่สุดเป็นผลสำเร็จเสร็จสิ้น และใช้ในการเลือกแนวเส้นทางวางราง และการรถไฟได้ดำเนินการไปจนบัดนี้เสร็จเป็นทางรถไฟสายแก่งคอยบัวใหญ่แล้ว
           นอกจากนี้ บริษัทยังได้ให้นายช่างของเขาเข้ามาประจำทำการฝึกสอนให้พนักงานของเราเรียนใช้เครื่องอุปกรณ์เขียนแผนที่อย่างละเอียดมากนั้นด้วย  โดยองค์การฯ จัดหาที่พักและค่าพาหนะจากที่พักไป-มา ทำงานฝึกหัดพนักงานของเราให้ผลที่สุดเราได้พนักงานที่สามารถทำงานใช้อุปกรณ์อันละเอียดได้  และมีพื้นฐานความรู้ทางโฟโตแกรมเมตรีที่เกี่ยวข้อง
          กรมชลประทานได้แจ้งความประสงค์จะได้แผนที่จากรูปถ่ายทางอากาศของพื้นที่หลายพันตารางกิโลเมตรทางภาคเหนือ ในพื้นที่บริเวณนี้ยังไม่มีจุดหมุดหลักฐานที่โยงยึดจากหมุดหลักฐานการสามเหลี่ยม ซึ่งต้องมีใช้ตามกระบวนการสำรวจ แผนที่ภูมิประเทศมาตรฐานโดยใช้รูปถ่ายทางอากาศเมื่อทางกรมชลประทานต้องการด่วน เพราะได้กำหนดเวลาเริ่มงานสร้างเขื่อนไว้แล้ว และภายหลังที่ได้มีการพิจารณาปรึกษากันระหว่างบริษัทที่ถ่ายรูปทางอากาศและกรมชลประทานแล้ว ตกลงให้ทำเป็นแผนที่รูปถ่ายโมเสก (mosaic) ใช้โยงยึดต่อฐานสมมติทั้งพิกัดภูมิศาสตร์ และความสูงบรรดารายละเอียดที่เด่นชัดใช้โยงยึดกับพิกัดภูมิศาสตร์และความสูงสัมพันธ์กับมูลฐานที่สมมติใช้บริษัทที่ทำงานนี้เป็นบริษัทเดียวกันกับที่ทำแผนที่ทางอากาศให้แก่รถไฟแผ่นดินเพื่อสร้างทางรถไฟสายแก่งคอย-บัวใหญ่ 
          ยังมีงานอีกรายหนึ่งซึ่งเป็นงานสำรวจทางธรณีวิทยา ทางกรมการแผนที่รูปถ่ายทางอากาศได้จัดให้บริษัทฮันติง แอโร เซอร์เวย์ จัดทำ ใช้วิธีแมกนิโตมิเตอร์ (magnitometer) พ่วงติดกับเครื่องบินถ่ายเป็นครั้งแรกที่ใช้ในประเทศไทย
          นอกจากงานที่ทำให้แก่ ๓ สถาบันซึ่งได้กล่าวมาแล้ว กรมการแผนที่รูปถ่ายทางอากาศได้ทำงานร่วมกับทางฝ่ายสหรัฐอเมริกา แล้วงานนั้นก็ติดตามไปอยู่ที่กรมแผนที่ ภายหลังที่ได้โอนงานไป
          มีการลงนามในสัญญาลงวันที่ ๓ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๙๕ มีผลบังคับใช้ตั้งแต่บัดนั้น สาระสำคัญมีว่า ทางสหรัฐอเมริกาจะจัดการถ่ายรูปทางอากาศประเทศไทยทั้งหมดให้ ส่วนงานทางพื้นดินเป็นหน้าที่ของไทย 
          ทางสหรัฐอเมริกาได้ว่าจ้างบริษัทถ่ายรูปที่มีชื่อเสียงดี เพื่อใช้ทำแผนที่ทางอากาศ ให้เข้ามาทำการนี้ในนามของ บริษัทเวิรลด์ ไวด์ เซอร์เวย์ (World Wide Survey; WWS) ซึ่งเป็นบริษัทที่ตั้งขึ้นโดยร่วมทุนกันระหว่างบริษัทแฟร์ไชลด์ แอเรียล เซอร์เวย์ (Fairchild Aerial Survey) ซึ่งมีสำนักงานใหญ่อยู่ที่ลอสแองเจลีส (Los Angeles) และบริษัทแอโร เซอร์วิซ คอร์ปอเรชัน (Aero ServiceCorporation) สำนักงานใหญ่อยู่ที่ฟิลาเดลเฟีย (Philadelphia) ใช้เครื่องถ่ายแบบแฟร์ไชลด์ (Fairchild) และเครื่องบินโบอิง ๑๗ (Boeing 17) และ ภายหลังใช้บีชคราฟต์ (Beechcraft) ในการดำเนินงาน ใช้สำนักงานที่ถนนราชดำเนินนอก บริษัทนี้ได้ถ่ายตั้งแต่เหนือลงมาใต้ทั้งหมดถึงละติจูด ๑๑° ๔๕'ในชั่วเวลาไม่นาน ส่วนบริเวณใต้ละติจูด๑๑° ๔๕'ลงไป สภาพดินฟ้าอากาศไม่อำนวยไม่สามารถถ่ายรูปได้ ต่อมาได้มีข้อตกลงกับทางสหรัฐฯ ที่จะรวบรวมเขียนแผนที่และพิมพ์ขึ้นเป็นแผ่นแผนที่ใช้ระวางขนาด ๑๐'x ๑๕' แทนที่จะเป็น ๑๐' x  ๑๐'และให้ใช้อักษรทั้งไทยและอังกฤษ  ทางสหรัฐฯ เป็นฝ่ายรวบรวมเขียนรายละเอียดในแผนที่ และจัดพิมพ์ขึ้นก่อน เพราะมีเครื่องมือเครื่องใช้บริบูรณ์  ฝ่ายเราต้องรวบรวมข้อมูลที่ต้องใช้ส่งไปให้ ในการนี้ทางกรมแผนที่ได้ส่งนายทหารไปประจำกับทางฝ่ายสหรัฐฯ เป็นผู้ประสานงานเพื่อความสะดวกและรวดเร็ว โดยไปประจำอยู่คราวละ ๑ ปี แล้วส่งคนใหม่ไปแทนบางทีก็ต้องส่งไป ๒ คน ไปประจำทำหน้าที่ประสานงานที่วอชิงตันด้วยอีกคนหนึ่ง เริ่มส่งไปคนแรก ๑ คน ที่หน่วยบริการแผนที่กองทัพบกสหรัฐฯแห่งตะวันออกไกลเมืองโตเกียว (U.S. Army Map Service, Far East Tokyo) ประเทศญี่ปุ่น ใน พ.ศ. ๒๔๙๘ และเลิกส่งเมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๕ 
          งานบินถ่ายรูปที่เหลือค้างอยู่ในเวลานั้นระหว่างแนวพรมแดนไทย-มาเลเซีย ถึงละติจูด ๑๑°   ๔๕'เหนือ ประเทศไทยในฐานะประเทศภาคี ขององค์การสนธิสัญญาร่วมป้องกันแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (ส.ป.อ.) ได้ติดต่อขอให้อังกฤษช่วยทำการบินถ่ายรูปให้ โดยกองทัพอากาศอังกฤษ ได้ใช้เครื่องบินแคนเบอร์รา (Canberra) ถ่ายด้วยกล้องที่มีความยาวโฟกัส ขนาด ๖ นิ้ว ๒๐ นิ้ว และ ๓๖ นิ้ว รวม ๗ กล้อง ถ่ายเสร็จ เมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๒ รูปถ่ายที่ใช้กล้องความยาวโฟกัส ๖ นิ้ว มีมาตราส่วนประมาณ ๑:๖๐,๐๐๐ ซึ่งจะใช้ในการรวบรวมเป็นแผนที่ ยังไม่คมชัดเหมาะสมดีพอสำหรับวิธีโฟโตแกรมเมตรี ทางอังกฤษจึงได้บินถ่ายรูปให้อีกทั่วบริเวณตั้งแต่ละติจูด ๑๑° ๔๕'จนถึงพรมแดนมาเลเซีย 
          เมื่อเสร็จแล้ว อังกฤษยังได้ขยายความช่วยเหลืองานบินถ่ายรูปให้แก่ประเทศไทยทั่วบริเวณตั้งหมุดอยู่ที่เหนือละติจูด ๑๑° ๔๕ข  ขึ้นไปจนเหนือสุด งานนี้ได้แล้วเสร็จใน พ.ศ. ๒๕๐๕ กรมแผนที่ได้ใช้รูปถ่ายเหล่านี้เป็นข้อมูลแก้ไขในรายละเอียดแผนที่ซึ่งได้จากการบินถ่าย พ.ศ. ๒๔๙๕ ทำให้แผนที่มีรายละเอียดถูกต้องมากขึ้น
          ในการทำแผนที่มาตรฐาน ๑:๕๐,๐๐๐ ใต้ละติจูด ๗° ยังไม่ได้รูปถ่ายทางอากาศที่ดีพอจึงได้มีการหารือร่วมกันระหว่างเจ้าหน้าที่กรมแผนที่กับเจ้าหน้าที่ฝ่ายสหรัฐอเมริกาเมื่อวันที่ ๔ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๐๙ เจ้าหน้าที่ฝ่ายไทยได้ เสนอให้มีการจัดทำสิ่งที่ใช้แทนแผนที่ของบริเวณใต้ละติจูด ๗° ได้ตกลงกันว่า จะต้องมีการบินถ่ายรูปหรือสำรวจทางอากาศ ทั่วบริเวณระหว่างละติจูด ๗° ลงไปจนถึงพรมแดนไทย-มาเลเซียขึ้นใหม่และผลิตแผนที่พิกโต  การบินถ่ายรูปนี้ ได้เริ่มขึ้นเมื่อเดือนกันยายน พ.ศ. ๒๕๐๙ ทางสหรัฐฯ ได้ส่งหน่วยบินแวฟ ๖๑ (VAP-61 หรือHeavy Photographic Squadron) เข้ามาทำการบินถ่ายรูปบริเวณดังกล่าว กล้องถ่ายรูปที่ใช้มี ๒ แบบ คือ แบบซีเอ-๑๔ (CA-14) ความยาวโฟกัส ๖ นิ้ว และแบบเคเอ-๔๗เอ (KA-47a) ความยาวโฟกัส ๑๒ นิ้ว ใช้ทำแผนที่รูปถ่ายมาตราส่วน ๑:๕๐,๐๐๐
          ขณะที่สหรัฐฯ ทำการบินถ่ายรูปเมื่อเดือน กันยายน พ.ศ. ๒๕๐๙ กรมแผนที่กำลังดำเนิน การแก้ไขแผนที่ ๑:๕๐,๐๐๐ ขนาด ๑๐' x ๑๕' ที่ปกคลุมเหนือพื้นที่ละติจูด ๗°  เพื่อให้โครงการแก้ไขแผนที่ ๑:๕๐,๐๐๐ เสร็จในเวลาอันสั้นทางฝ่ายสหรัฐฯ ได้ตกลงบินถ่ายรูปบริเวณที่เหลือของประเทศทั้งหมด รูปถ่ายทางอากาศชุดนี้จึงเป็นข้อมูลที่ทันสมัย
          ใน พ.ศ. ๒๕๑๒ ได้มีการพิจารณาเปลี่ยนขนาดระวางแผนที่จากขนาดเดิม ๑๐' x ๑๕'  เป็นขนาด ๑๕' x ๑๕' และชื่อชุดระวางจึงเปลี่ยน  จากแอล ๗๐๘ (L 708) เป็น แอล ๗๐๑๗ (L 7017) จำนวนระวางแผนที่เดิม ๑,๒๑๖ ระวาง จึงได้ ลดลงเหลือ ๗๗๒ ระวาง  
          การดำเนินงานเปลี่ยนขนาดระวางแผนที่นี้ได้ดำเนินการจนเสร็จตามภารกิจของกรมแผนที่ เมื่อเดือนกันยายน พ.ศ. ๒๕๑๖ รวม ๕๐๐ ระวาง ส่วนที่เหลือนั้นดีเอ็มเอ (Defense Mapping Agency; DMA) สหรัฐฯ เป็น  ผู้ดำเนินการ ต่อมาเมื่อ พ.ศ.  ๒๕๒๒ ได้มีการโอนแผนที่ชุดแอล ๗๐๑๕ แอล ๗๐๑๖ (L 7015, L 7016) ซึ่งเป็นแผนที่เขตแดน ไทย-ลาว และไทย-กัมพูชาอีก ๕๘ ระวางเข้าในชุดแอล ๗๐๑๗ ดังนั้นแผนที่ครอบคลุมประเทศไทยทั้งสิ้นจึงเป็น ๘๓๐ ระวาง
          เพื่อส่งเสริมหน่วยงานทำแผนที่พร้อมกับให้นักโฟโตแกรมเมตรีได้รับการอบรมงานทางด้าน นี้ ใน พ.ศ. ๒๔๗๒ ที่สหรัฐอเมริกาได้มีการสอนวิชาโฟโตแกรมเมตรีเป็นแห่งแรกที่มหาวิทยาลัยมลรัฐนิวยอร์ก
          ในยุโรปก็มีการสอนวิชานี้ และในเวลาใกล้เคียงกัน ที่คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์ มหาวิทยาลัย ก็ได้มีการสอนวิชาโฟโตแกรมเมตรี 
          การสำรวจด้วยรูปถ่ายทางอากาศ เป็นวิทยาการทางวิทยาศาสตร์ ทางศิลปะ และทางเทคโนโลยี ด้วยเป็นวิทยาการที่ต้องการข้อมูลที่มีลักษณะทางกายภาพของวัตถุและสิ่งแวดล้อมโดยผ่านการจดบันทึก การวัด และการแปลความหมาย  หรือตีความหมายจากภาพจุดในรูปถ่ายและรูปลักษณะแบบอย่างของแม่เหล็กไฟฟ้าที่บันทึกไว้ รวมถึงกาวิเคราะห์รูปลักษณะของพลังงานแสง และปรากฏการณ์ทางแม่เหล็กด้วย
          การสำรวจทางรูปถ่ายประกอบด้วยงาน ๒ ลักษณะ คือ
          (๑) งานสำรวจรูปถ่ายที่เกี่ยวกับการวัดจากรูปถ่าย (photogrammetry)  ซึ่งรวมการวัดและการคำนวณให้ได้ขนาดและรูปร่างของวัตถุ
          (๒) งานสำรวจรูปถ่ายที่เกี่ยวกับการแปลความหมายของรูปถ่าย (interpretation) ซึ่งเป็นปฏิบัติการเกี่ยวกับการตรวจรู้ (recognition) และชี้แจงจำแนกวัตถุต่างๆ ในรูปถ่าย
          งานลักษณะแรกเป็นการประยุกต์ใช้รูปถ่ายในการทำแผนที่รูปแบบต่างๆ 
          งานลักษณะหลังเป็นการแปลความหมายรูปถ่าย เป็นการสำรวจข้อมูลจากระยะไกลหรือเรียกว่าการรับรู้จากระยะไกล (Remote sensing)งานแปลความหมายรูปถ่ายเป็นระบบการศึกษาภาพจุดรูปถ่ายเพื่อวัตถุประสงค์ในการชี้จำแนกและวินิจฉัยความสำคัญทางวัตถุ การรับรู้จากระยะ ไกลเป็นสาขาใหม่ของการสำรวจข้อมูลด้วยรูปถ่ายที่เกี่ยวกับการแปลความหมาย  มีกรรมวิธีเหมือนกับการแปลความหมายรูปถ่ายในการตรวจให้รู้และการชี้กำหนดวัตถุโดยไม่ต้องไปสัมผัสที่วัตถุนั้นๆ โดยตรง แต่ต่างกันตรงที่การรับรู้จากระยะไกลใช้ข้อมูลที่ได้จากเครื่องตรวจข้อมูล ซึ่งมีใช้หลายประเภท เช่น กล้องถ่ายรูปเชิงมัลติสเปกตรัม (multispectral camera) เครื่องอินฟราเรด เซนเซอร์(infrared sensor) เครื่องเทอร์เมล สแกนนิง (thermal scanning) และไซด์ลุคกิง เรดาร์ (side looking radar) ติดตั้งเครื่องมือไว้ทั้งบนเครื่องบินหรือดาวเทียมที่โคจรไปรอบโลก
          ต่อไปนี้เป็นคำอธิบายสังเขปเกี่ยวกับการแปลความหมายและงานด้านการรับรู้จากระยะไกลซึ่งเป็นกระบวนการสำรวจข้อมูลบนพื้นผิวโลกจากระยะไกล

การเริ่มงานทำแผนที่จากรูปถ่ายทางอากาศ, การเริ่มงานทำแผนที่จากรูปถ่ายทางอากาศ หมายถึง, การเริ่มงานทำแผนที่จากรูปถ่ายทางอากาศ คือ, การเริ่มงานทำแผนที่จากรูปถ่ายทางอากาศ ความหมาย, การเริ่มงานทำแผนที่จากรูปถ่ายทางอากาศ คืออะไร

ร่วมเป็นแฟนเพจเรา บน Facebook..ได้ที่นี่เลย!!

บทความอื่น ของสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ เล่มที่ 12

สารานุกรมเล่มอื่นๆ

คำยอดฮิต

Sanook.commenu