กรุงศรีอยุธยาถูกกองทัพพม่าเข้ารื้อเผาทำลายเมือง เมื่อวันที่ ๗ เมษายน พ.ศ. ๒๓๑๐ พระมหากษัตริย์ เชื้อพระวงศ์ ขุนนางและไพร่ฟ้าข้าแผ่นดินถูกจับเป็นเชลยกลับไปเมืองพม่า ราชอาณาจักรอยุธยาที่เคยรุ่งเรืองที่สุดในภูมิภาคก็ล่มสลาย ทุกหัวระแหงมีกลุ่มโจรปล้นสะดม มีการรวบรวมซ่องสุมผู้คนตั้งเป็นชุมนุมเพื่อป้องกันตนเองและพวกพ้องอันที่จริงสภาวการณ์ดังกล่าวนี้ได้เกิดขึ้นก่อนเวลากรุงศรีอยุธยาจะแตกเสียอีก เพราะในช่วงเวลานั้น ทุกคนต่างตระหนักถึงความล่มสลายของระบบป้องกันตนเองของราชอาณาจักรแล้ว ดังจะเห็นภาพได้จากตำนานเรื่องชาวบ้านบางระจันที่รวมตัวกันเพื่อปกป้องชุมชนของตน ข้าราชการไม่มีความคิดที่จะต่อสู้เพื่อป้องกันกรุงศรีอยุธยาขุนนางหัวเมืองที่ถูกเรียกเข้ามาป้องกันพระนครพยายามหาทางหลีกเลี่ยงเพื่อกลับไปป้องกันบ้านเมืองและครอบครัวของตนที่อยู่ตามหัวเมืองเนื่องจากทุกคนเห็นว่า พระนครศรีอยุธยาต้องเสียเอกราชอย่างแน่นอน ในช่วงเวลานั้น ทุกคนจึงคิดแต่จะหาทางเอาตัวรอดไว้ก่อน แม้แต่พลเมืองในพระนครศรีอยุธยาที่ถูกกองทัพพม่าล้อมอยู่จนขาดแคลนเสบียงอาหาร ก็มีอยู่เป็นจำนวนไม่น้อยที่ได้แอบหลบหนีออกจากพระนครเข้าไปอยู่กับกองทัพพม่า เพื่อรักษาชีวิตเอาไว้
ด้วยเหตุนี้ เมื่อกรุงศรีอยุธยาแตก พม่าได้เข้าเมืองกวาดต้อนผู้คนและทรัพย์สมบัติกลับไปเมืองพม่า โดยแต่งตั้งให้สุกี้ทหารพม่าเชื้อสายมอญเป็นพระนายกองอยู่ที่กรุงศรีอยุธยา ให้คอยรวบรวมทรัพย์สินและผู้คนที่อาจมีประโยชน์อยู่บ้าง เพื่อส่งกลับไปเมืองพม่า ภายในราชอาณาจักรอยุธยาจึงเกิดการจลาจลวุ่นวายไปทั่วมีการซ่องสุมผู้คนเพื่อปล้นสะดมและป้องกันตนเองอยู่ทั่วไป แต่หนังสือพระราชพงศาวดารได้เลือกกล่าวเฉพาะที่เป็นชุมนุมใหญ่ และมีบทบาทสำคัญต่อมาเพียง ๕ กลุ่มคือ
กลุ่มเจ้าพระฝาง คือกลุ่มชาวบ้านที่มีหัวหน้าชื่อ เรือน ซึ่งในอดีตเป็นพระภิกษุชั้นราชาคณะของเมืองเหนือเรียกว่า สังฆราชเรือนได้สึกออกมา และรวบรวมผู้คนซ่องสุมกำลังป้องกันตนเองอยู่ที่เมืองฝาง ซึ่งเป็นเมืองชายแดนเหนือสุดตามลำแม่น้ำน่านของกรุงศรีอยุธยา เป็นเมืองที่มีพระธาตุศักดิ์สิทธิ์ที่นับถือกันมาตั้งแต่เมื่อครั้งเมืองฝางยังเป็นดินแดนของแคว้นสุโขทัย ปัจจุบันตั้งอยู่ที่ตำบลผาจุก อำเภอเมือง จังหวัดอุตรดิตถ์
เมืองพิษณุโลก ซึ่งเคยเป็นหัวเมืองทางเหนือที่สำคัญของราชอาณาจักรอยุธยา และเคยเป็นเมืองสำคัญของแคว้นสุโขทัยมาก่อนเจ้าเมืองพิษณุโลกได้สถาปนาตนขึ้นเป็นพระเจ้าแผ่นดิน และพยายามรวบรวมบ้านเมืองที่เคยเป็นเมืองทางเหนือของกรุงศรีอยุธยาไว้ด้วยกันแต่ก็ไม่สามารถทำได้สำเร็จ จึงมีอำนาจอยู่เฉพาะที่เมืองพิษณุโลกเท่านั้น
เมืองพิมาย มีเจ้าพิมายรวบรวมผู้คนในละแวกเมืองพิมาย ซึ่งเป็นบริเวณที่มีผู้คนมาก เนื่องจากเป็นดินแดนของการตั้งรกรากที่อาศัยมาแต่ดั้งเดิม และเป็นบ้านเมืองที่เจริญมาตั้งแต่สมัยราชอาณาจักรของกัมพูชา กรมหมื่นเทพพิพิธ เชื้อพระวงศ์ชั้นสูงของราชสำนักอยุธยาได้หนีมาอยู่กับเจ้าพิมายด้วย แต่อำนาจทั้งหลายยังคงอยู่ที่เจ้าพิมายซึ่งมีฐานกำลังของคนพื้นเมืองพวกเดียวกัน
เมืองนครศรีธรรมราช เมืองใหญ่บนดินแดนแหลมมลายูของราชอาณาจักรอยุธยาเดิมและเคยเป็นเมืองสำคัญแต่โบราณที่ถูกกรุงศรีอยุธยาผนวกดินแดนไว้ตั้งแต่ก่อนการสถาปนากรุงศรีอยุธยา ปลัดเมืองนครศรีธรรมราชชื่อหนูตั้งตัวเป็นใหญ่ หัวเมืองอื่นๆ ตั้งแต่ใต้เมืองไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานีลงไป อาทิเช่น เมืองสงขลา เมืองพัทลุง ต่างก็ยอมรับอำนาจของเจ้าเมืองนครศรีธรรมราช (หนู) แต่โดยดี
เมืองจันทบุรี ซึ่งตั้งอยู่นอกเขตการรุกรานของกองทัพพม่าที่เข้ามาทำสงครามครั้งนี้หัวหน้าคือพระยาตากสิน ซึ่งต่อมาคือพระเจ้ากรุงธนบุรี หรือที่เรียกกันทั่วไปว่า พระเจ้าตากสินมหาราช ขุนนางหัวเมืองเหนือของกรุงศรีอยุธยาที่ถูกเรียกมาช่วยป้องกันพระนครศรีอยุธยา ได้นำทหารหัวเมืองที่ติดตามมาด้วยกันประมาณ๕๐๐ กว่าคน ตีฝ่าวล้อมกองทัพพม่าที่ปิดล้อมกรุงศรีอยุธยาออกมาได้ และมาตั้งมั่นรวบรวมผู้คนจากบ้านเมืองแถบชายฝั่งทะเลตะวันออกตั้งแต่จังหวัดระยองลงไป
บ้านเมืองที่แตกแยกตั้งตัวเป็นก๊กเป็นเหล่านี้แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า กรุงศรีอยุธยาที่ถูกพม่าตีแตกนั้น มิใช่แตกแต่เพียงตัวพระนครที่ ถูกเผาผลาญย่อยยับอย่างเดียว แต่ระบบที่ยึดโยงบ้านเมืองต่างๆ เข้าไว้ในอาณาจักรเป็นอันหนึ่ง
อันเดียวกันนั้นก็ได้แตกสลายไปด้วย สภาพของบ้านเมืองในเวลานั้นจึงเป็นดังที่ ศาสตราจารย์นิธิ เอียวศรีวงศ์ แห่งมหาวิทยาลัยเชียงใหม่กล่าวไว้ในหนังสือ การเมืองไทยสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี ว่า "...ทุกคนกลับมายืนบนพื้นที่ราบเสมอกัน ไม่มีกำเนิด ยศถาบรรดาศักดิ์หรือศักดินา สำหรับใช้เป็นข้ออ้างในการมีอำนาจเหนือผู้อื่น..."
ก๊กเหล่าที่เป็นอิสระไม่ขึ้นต่อกันเหล่านี้ จึงกลับไปมีสภาพเหมือนกับแว่นแคว้นเมืองเล็กเมืองน้อยที่ก่อตั้งขึ้นมาใหม่ และออกปล้นสะดมต่อกัน โดยมีลักษณะภายในที่แตกต่างกันออกไปบางก๊กก็มีลักษณะของการรวมตัวโดยใช้อำนาจศักดิ์สิทธิ์เป็นพื้นฐาน บางก๊กมีลักษณะที่ตั้งอยู่ บนระบบเดิมภายในที่ยังหลงเหลืออยู่ในท้องถิ่นแม้ว่าก๊กพิมายจะมีเจ้านายราชวงศ์เดิมอยู่ด้วยแต่ก็มิได้มีความหมายของการเป็นมูลฐานแห่งการรวมตัวนั้น กล่าวคือแต่ละหมู่เหล่าที่ตั้งตัวเป็นอิสระนั้น มีลักษณะเพื่อป้องกันตนเองในเบื้องแรก และพัฒนาไปสู่การจัดตั้งอำนาจรัฐใหม่เฉพาะท้องถิ่นของตน ไม่ปรากฏหลักฐานที่แสดงบทบาทหรือพฤติกรรมของก๊กใดเลย ที่ต้องการจะพลิกฟื้นราชอาณาจักรอยุธยาขึ้นมาใหม่เนื่องจากเห็นว่าได้กลายเป็นเมืองเก่าที่ไร้ประโยชน์แล้ว มีแต่ก๊กที่เมืองจันทบุรีของพระยาตากสินเพียงก๊กเดียวเท่านั้น ที่แสดงเจตนารมณ์อย่างชัดเจนตั้งแต่เริ่มแรกในการที่จะกลับมาพลิกฟื้นพระนครศรีอยุธยาขึ้นใหม่ให้ได้
เมื่อกองทัพพม่าเข้าล้อมกรุงศรีอยุธยานั้นพระยาตากสินซึ่งเป็นเจ้าเมืองตากถูกเรียกระดมพลให้เข้ามาป้องกันพระนครศรีอยุธยา ตั้งแต่พ.ศ. ๒๓๐๘ พระยาตากสินได้สู้รบกับกองทัพพม่าและได้รับชัยชนะหลายครั้ง แต่ดังที่ได้กล่าวแล้วถึงความเสื่อมโทรมภายในราชอาณาจักรหลายประการที่ทำให้พระยาตากสินเห็นว่า กรุงศรีอยุธยาไม่สามารถที่จะรอดพ้นเงื้อมมือกองทัพพม่าอย่างแน่นอน ดังนั้น ก่อนเวลาที่กรุงศรีอยุธยาจะเสียเอกราชให้แก่กองทัพพม่าประมาณ ๓ เดือน พระยาตากสินพร้อมกับนายทหารหัวเมืองที่ร่วมรบมาด้วยกันจำนวนประมาณ ๕๐๐ คนได้ยกกำลังตีฝ่าทัพพม่าออกไปทางทิศตะวันออกมุ่งหน้าไปสู่หัวเมืองชายทะเลฝั่งตะวันออกซึ่งกองกำลังทัพพม่าไม่สามารถเข้าไปรุกรานได้ ในที่สุดเมื่อกรุงศรีอยุธยาเสียแก่กองทัพพม่าแล้ว กองกำลังของพระยาตากสินก็ยึดเมืองจันทบุรีที่ตั้งตัวเป็นอิสระอยู่ และได้ใช้เมืองจันทบุรีเป็นที่รวบรวมกำลังคนแถบหัวเมืองใกล้เคียง ทั้งโดยวิธีการเกลี้ยกล่อม และใช้กำลังปราบปราม ในช่วงเวลานั้น มีข้าราชการกรุงศรีอยุธยาได้เข้ามาร่วมด้วย คนสำคัญคือ นายสุดจินดา มหาดเล็กหุ้มแพร ซึ่งภายหลังคือ สมเด็จกรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท ในรัชการที่ ๑ แห่งราชวงศ์จักรี
เมื่อพระยาตากสินสามารถรวบรวมกำลังคนสะสมอาวุธ และต่อเรือ ที่เมืองจันทบุรีได้มากพอแล้ว เมื่อสิ้นฤดูฝน จึงได้ยกกองทัพไปยังกรุงศรีอยุธยา และรบชนะพม่าที่ค่ายโพธิ์สามต้น ในที่สุดก็สามารถเอาชนะกองกำลังพม่าที่มีสุกี้คุมกำลังอยู่ได้ สุกี้ตายในที่รบ พระยาตากสินจึงยึดกรุงศรีอยุธยาที่เหลือแต่ซากปรักหักพังคืนมาได้ หลังจากที่ต้องเสียกรุงศรีอยุธยานานถึง๗ เดือน พระยาตากสินเห็นว่า ยังไม่มีกำลังเพียงพอที่จะบูรณะและรักษาเมืองหลวงเก่าแห่ง นี้ได้ จึงรวบรวมผู้คนกลับไปตั้งมั่นที่เมืองธนบุรี
พระยาตากสินทำพิธีปราบดาภิเษกเป็นกษัตริย์ครองกรุงธนบุรี เมื่อวันที่ ๒๘ ธันวาคม พ.ศ. ๒๓๑๑ ขณะมีพระชนมายุได้ ๓๔ พรรษา ทรงพระนามว่า สมเด็จพระศรีสรรเพ็ชญ์ หรือสมเด็จพระบรมราชาธิราชที่ ๔ อันเป็นการแสดงเจตนารมณ์สืบพระสมมติวงศ์แห่งกษัตริย์กรุงศรีอยุธยาโดยพระนาม แต่คนทั่วไปนิยมขนานพระนามพระองค์ว่า สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีหรือสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราช
พระราชประวัติของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชก่อนเข้ารับราชการนั้นค่อนข้างคลุมเครือส่วนมากที่ทราบกันอยู่นั้น เป็นเรื่องที่เขียนขึ้นในภายหลังโดยปราศจากหลักฐานใดๆ ทั้งสิ้นทั้งนี้เพราะการเขียนพระราชประวัติของสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชในสมัยนั้น เพื่อมุ่งเทิด พระเกียรติพระองค์เป็นสำคัญ มิได้มีแนวคิดเพื่อการเสนอข้อเท็จจริงเหมือนเช่นในปัจจุบันหลักฐานอันเป็นข้อเท็จจริงที่ ศาสตราจารย์ นิธิ เอียวศรีวงศ์ ได้นำเสนอประกอบการวิเคราะห์ในหนังสือ การเมืองไทยสมัยพระเจ้ากรุงธนบุรี นั้น จึงมีเพียงว่า พระองค์มีพระนามเดิมว่า สินทรงมีเชื้อสายทางบิดาเป็นจีนแต้จิ๋วแซ่แต้ ทรงพระราชสมภพ เมื่อ พ.ศ. ๒๒๗๗ ในต้นรัชสมัยพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ
ก่อนเข้ารับราชการ สมเด็จพระเจ้าตาก สินมหาราชมีอาชีพเป็นพ่อค้าเกวียน คือมีกอง เกวียนบรรทุกสินค้าขึ้นไปแลกเปลี่ยนซื้อขายสินค้า ที่เมืองตาก ซึ่งเป็นเมืองชายเขตขนาดเล็กของกรุงศรีอยุธยา พระองค์อาจจะคุมกองเกวียนติดต่อ กับเมืองชายเขตแถบเมืองเหนือ เช่น พิษณุโลกพิชัย ฝาง ด้วย ดังนั้น พระองค์จึงเข้าใจภูมิประเทศและฤดูกาลของบ้านเมืองในถิ่นนั้นได้เป็นอย่างดี การค้าระหว่างเมืองชายเขตกับส่วนกลางที่กรุงศรีอยุธยาช่วยสร้างความมั่งคั่งให้แก่พระองค์จนทำให้สามารถเป็นที่รู้จักคุ้นเคยกับขุนนางชั้นสูงในส่วนกลาง ดังนั้น เมื่อเมืองตากซึ่งเป็นเมืองชายเขตขนาดเล็ก และไม่ค่อยมีความสำคัญเกี่ยวกับความมั่นคงภายในราชสำนัก ขาดเจ้าเมืองเพราะเจ้าเมืองคนเก่าถึงแก่กรรม เนื่องจากกรุงศรี อยุธยามีระบบขุนนางที่ล้มเหลว พระเจ้าตากสินซึ่งเป็นพ่อค้าที่สามารถเข้าถึงวงในของระบบราชการของกรุงศรีอยุธยาได้ จึงได้รับการแต่งตั้งให้เป็นเจ้าเมืองตาก โดยที่การเป็นเจ้าเมืองตากสามารถอำนวยผลประโยชน์ให้แก่การค้าของพระองค์ได้
สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชเป็นเจ้าเมืองตากอยู่ได้ไม่นาน ก็เกิดสงครามพม่าล้อมกรุงศรีอยุธยา พระองค์ได้ถูกเรียกตัวเข้ามาช่วยป้องกันพระนคร ในฐานะเจ้าเมืองตาก พระองค์พร้อมกับทหารจำนวน ๕๐๐ คน จึงเข้ามาเป็นกองกำลังป้องกันพระนครอยู่ช่วงเวลาหนึ่ง แต่หลังจากเห็นว่า กรุงศรีอยุธยาคงไม่รอดจากเงื้อมมือกองทัพพม่าแน่นอนแล้ว พระองค์พร้อมไพร่พลคู่พระทัยทั้ง ๕๐๐ คน ก็ได้ตีฝ่าวงล้อมกองทัพพม่าออกไปตั้งหลักเพื่อต่อสู้กับพม่าต่อไป
เมื่อได้ปราบดาภิเษกเสวยราชสมบัติแล้วสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชได้พยายามสร้างความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันให้กลับคืนมาสู่ราชอาณาจักรสยามที่ย้ายมาตั้งอยู่ที่กรุงธนบุรีโดยทรงปราบปรามเมืองต่างๆ ให้ยอมรับพระราชอำนาจของพระองค์ ซึ่งบางเมืองต้องใช้กำลังบางเมืองก็สามารถเกลี้ยกล่อมจนยอมสวามิภักดิ์จนกระทั่ง พ.ศ. ๒๓๑๓ เมื่อพระองค์สามารถ ปราบก๊กของเจ้าพระฝางได้เป็นก๊กสุดท้าย ก็สามารถรวบรวมอาณาเขตเดิมของกรุงศรีอยุธยากลับคืนมาได้ดังเดิม โดยมีศูนย์กลางอยู่ที่กรุงธนบุรี เมืองหลวงแห่งใหม่ของราชอาณาจักรสยามทหารจำนวน ๕๐๐ คน จึงเข้ามาเป็นกองกำลังป้องกันพระนครอยู่ช่วงเวลาหนึ่ง แต่หลังจากเห็นว่า กรุงศรีอยุธยาคงไม่รอดจากเงื้อมมือกองทัพพม่าแน่นอนแล้ว พระองค์พร้อมไพร่พลคู่พระทัยทั้ง ๕๐๐ คน ก็ได้ตีฝ่าวงล้อมกองทัพพม่าออกไปตั้งหลักเพื่อต่อสู้กับพม่าต่อไป
เมื่อได้ปราบดาภิเษกเสวยราชสมบัติแล้วสมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชได้พยายามสร้างความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันให้กลับคืนมาสู่ราชอาณาจักรสยามที่ย้ายมาตั้งอยู่ที่กรุงธนบุรีโดยทรงปราบปรามเมืองต่างๆ ให้ยอมรับพระราชอำนาจของพระองค์ ซึ่งบางเมืองต้องใช้กำลังบางเมืองก็สามารถเกลี้ยกล่อมจนยอมสวามิภักดิ์ จนกระทั่ง พ.ศ. ๒๓๑๓ เมื่อพระองค์สามารถปราบก๊กของเจ้าพระฝางได้เป็นก๊กสุดท้าย ก็สามารถรวบรวมอาณาเขตเดิมของกรุงศรีอยุธยากลับคืนมาได้ดังเดิม โดยมีศูนย์กลางอยู่ที่กรุงธนบุรี เมืองหลวงแห่งใหม่ของราชอาณาจักรสยาม
นอกจากการรวมอาณาเขตบ้านเมืองได้กลับคืนมาเป็นปึกแผ่นดังเดิมแล้ว พระองค์ก็ได้ส่งกองทัพไปปราบปรามเมืองประเทศราชอื่นๆ คือ เขมร และลาว ให้เข้ามาอยู่ในพระราชอำนาจอย่างที่เคยเป็นในสมัยพระนครศรีอยุธยายิ่งไปกว่านั้น แคว้นล้านนาที่พระมหากษัตริย์กรุงศรีอยุธยาไม่เคยได้เข้าครอบครองอย่างถาวร นอกจากยกทัพไปเอาชนะได้ชั่วคราวเท่านั้น เมื่อยกทัพกลับ เจ้าเมืองทั้งหลายของล้านนาก็กลับเป็นอิสระปกครองตนเองกันต่อไป ในสมัยธนบุรี สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีจึงได้ทรงสนับสนุนชาวล้านนาตระกูลหนานทิพย์ช้าง ให้ต่อสู้ขับไล่ พม่าออกจากดินแดน ล้านนาจึงเป็นดินแดนที่เข้าร่วมอยู่กับกรุงธนบุรี และกรุงรัตนโกสินทร์ในลำดับต่อมาอย่างยั่งยืน
ตลอดระยะเวลา ๑๕ ปี แห่งการเสวยราชสมบัติที่กรุงธนบุรีนั้น สมเด็จพระเจ้าตากสิน มหาราชต้องทรงตรากตรำอย่างมากต่อการบริหารราชการแผ่นดินที่เพิ่งฟื้นตัวขึ้นมาใหม่ การที่ทรงมีชาติกำเนิดจากครอบครัวพ่อค้า อีกทั้งเมื่อรับราชการก็เป็นเพียงเจ้าเมืองขนาดเล็กชายเขต และได้เข้ามากรุงศรีอยุธยาก็ต่อเมื่อบ้านเมืองอยู่ในภาวะคับขันแล้ว ดังนั้น เมื่อต้องทรงดำรง พระอิสริยยศเป็นพระมหากษัตริย์ผู้สืบสมมติวงศ์แห่งราชอาณาจักรสยาม จึงสร้างความลำบากพระทัยให้แก่พระองค์อยู่มิใช่น้อย การที่ทรง ประสบความสำเร็จจากการรบ หรือการที่ทรงพยายามฟื้นฟูเศรษกิจของบ้านเมือง จนราชสำนักจีนยอมรับการเป็นพระมหาษัตริย์ของพระองค์ และให้มีการติดต่อค้าขายด้วย หรือการที่ทรงเป็นพุทธมามกะอุปถัมภ์พระพุทธ ศาสนา ก็มิได้ทำให้สถานภาพการเป็นพระมหากษัตริย์แห่งราชอาณาจักรสยามของพระองค์มีความสมบูรณ์ได้เลย
เหตุที่เป็นเช่นนี้ เพราะพระองค์ไม่ได้ มีเชื้อสายของพระราชวงศ์หรือขุนนางแห่งราชสำนักกรุงศรีอยุธยา ผู้ที่ช่วยส่งเสริมอำนาจให้แก่พระองค์จนขึ้นสู่ราชบัลลังก์ก็ได้นั้น ก็ล้วนเป็น ทหารและขุนนางหัวเมืองทั้งสิ้น แม้เมื่อภายหลังจะมีขุนนางจากอดีตราชสำนักส่วนกลางกรุงศรีอยุธยามาเข้าร่วมกับพระองค์ เพื่อช่วยฟื้นฟูบ้านเมืองและจารีตราชประเพณีทั้งหลายบ้างก็ตามระยะเวลาที่ไม่อำนวยก็คงไม่สามารถเสริมสร้างความเป็นสถาบันให้แก่พระองค์ได้ และพระองค์เองก็อาจมองไม่เห็นความสำคัญในด้านนี้ หรือทรงมองแตกต่างออกไปด้วยก็ได้ ดังจะเห็นได้จากขอบเขตพระราชฐานเล็กๆ ที่พระราชวังเดิมของพระองค์ ท้องพระโรงขนาดเล็กเป็นอาคารโถงธรรมดา มิได้มียอดปราสาทแสดงความยิ่งใหญ่แห่งพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์เหมือนกับกรุงศรีอยุธยา หรือแม้แต่จะเทียบกับกรุงรัตนโกสินทร์เมื่อแรกสถาปนาในภายหลัง พระตำหนักที่ประทับก็เป็นเพียงเก๋งจีนเล็กๆ ทึบและคับแคบ อีกทั้งพระราชจริยวัตรของพระองค์ที่ทรงเปิดเผยอาจจะเป็นลักษณะของผู้ที่มาจากครอบครัวชาวจีนที่สมถะก็ได้
ด้วยเหตุนี้ จึงปรากฏหลักฐานที่แสดงให้เห็นความสัมพันธ์ของพระองค์ต่ออาณาประชาราษฎร์และขุนนางทั้งหลายว่า ทรงประพฤติปฏิบัติเยี่ยง พ่อ กับ ลูก แต่การเป็นพ่อของ พระองค์นั้น ทรงเป็นพ่อตามแบบฉบับชาวจีนที่ลูกจะต้องเชื่อฟังปฏิบัติตามโดยเคร่งครัด ในขณะที่ความเป็นลูกของขุนนางทั้งหลายนั้น มิใช่ลูกอย่างที่เป็นในครอบครัวชาวจีนพฤติกรรมของพระองค์ที่แตกต่างไปจากราชประเพณีของพระมหากษัตริย์แห่งราชอาณาจักรกรุงศรีอยุธยาที่เคยมีมา ในขณะที่พระราชอำนาจแห่งความเป็นสถาบันพระมหากษัตริย์ของพระองค์ยังไม่สมบูรณ์ย่อมเป็นความเปราะบางแห่งราชบัลลังก์ ดังจะ
เห็นได้จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ในช่วงปลายรัชกาลที่กล่าวว่า พระองค์ทรงเสียพระสติ ไม่ว่าจะเป็นการสร้างข่าวเพื่อทำลายพระองค์ หรือทรงเป็นเช่นนั้นจริงๆ ก็ตาม แต่มูลเหตุที่มาย่อม มาจากพฤติกรรมของพระองค์ ที่แตกต่างไปจากขนบธรรมเนียมราชประเพณีของพระมหากษัตริย์ที่สืบมาแต่ราชสำนักกรุงศรีอยุธยาเป็นสำคัญ
ข่าวเรื่องการวิกลจริตของพระองค์แพร่ออกมาได้ โดยไม่มีผู้ใดออกมาปกป้องเช่นนี้ แสดงให้เห็นว่า พระองค์ขาดบุคคลที่ใกล้ชิดซึ่งมีอำนาจและสามารถไว้ใจได้ แตกต่างจากบุคคลใกล้ชิด ของพระมหากษัตริย์ในอดีตที่ผ่านมาจะเป็นขุนนางผู้ใหญ่ ซึ่งส่วนมากจะเป็นญาติพี่น้องของพระมหากษัตริย์หรือพระราชินี
ทั้งหมดที่กล่าวมานี้ล้วนเป็นปัจจัยที่ทำให้สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชต้องสูญเสียอำนาจและถูกปลงพระชนม์ในที่สุด เมื่อ พ.ศ. ๒๓๒๕ ซึ่งถือกันว่า พระองค์ทรงหมดบุญญาธิการแล้วตามแนวคิดของคนในสมัยนั้น กรุงธนบุรีที่มีฐานะเป็นเมืองหลวงของราชอาณาจักรสยามและมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขเพียงพระองค์เดียวตลอดระยะเวลา ๑๕ ปี จึงได้สิ้นสุดลง
ดูเพิ่มเติมเรื่อง มหาราชในประวัติศาสตร์ไทย เล่ม ๒ ลำดับพระมหากษัตริย์ไทย เล่ม ๔ ชุมชนโบราณในเมืองไทยจากหลักฐานภาพถ่ายทางอากาศ เล่ม ๑๕ การอนุรักษ์โบราณสถานและโบราณวัตถุ เล่ม ๑๖ และสภาพแวดล้อมกับการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ในประเทศไทย เล่ม ๑๘