ความรู้ เกร็ดความรู้ สารานุกรม สารานุกรมออนไลน์ ความรู้รอบตัว ความรู้ทั่วไป พจนานุกรม เกมส์ เพลงใหม่ เพลง

หอพระมณเฑียรธรรมหรือหอพระไตรปิฎกของวัดพระศรีรัตนศาสดาราม, หอพระมณเฑียรธรรมหรือหอพระไตรปิฎกของวัดพระศรีรัตนศาสดาราม หมายถึง, หอพระมณเฑียรธรรมหรือหอพระไตรปิฎกของวัดพระศรีรัตนศาสดาราม คือ, หอพระมณเฑียรธรรมหรือหอพระไตรปิฎกของวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ความหมาย, หอพระมณเฑียรธรรมหรือหอพระไตรปิฎกของวัดพระศรีรัตนศาสดาราม คืออะไร
| เปิดอ่าน 0 | ความคิดเห็น 0
หอพระมณเฑียรธรรมหรือหอพระไตรปิฎกของวัดพระศรีรัตนศาสดาราม

          ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของวัด มีลักษณะเป็นอาคารเครื่องก่อทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้าอย่างโบสถ์วิหารทั่วไป หอพระมณเฑียรธรรมที่เห็นอยู่ในปัจจุบันเป็นหอพระ ไตรปิฎกที่สร้างขึ้นแทนหอเดิมกลางสระน้ำ

          เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี ทรงสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์เป็นราช- ธานี ใน พ.ศ. ๒๓๒๕ นั้น  พระองค์มีพระราชดำริที่จะเจริญรอยตามพระราชประเพณีของพระมหากษัตริย์ไทยแต่โบราณ  ในการสร้างพระราชมณเฑียรใหม่  ใน  พ.ศ. ๒๓๒๖ จึงได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ  ให้สถาปนาพระอารามขึ้นภายในพระบรมมหาราชวัง  คือ  วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ซึ่งประกอบด้วยพระอุโบสถ  พระเจดีย์  พระวิหาร  ศาลาราย พร้อมทั้งขุดสระและสร้างหอพระไตรปิฎกลงในสระ  แล้วพระราชทานนามว่า หอพระมณเฑียรธรรม  ซึ่งแปลตามรูปศัพท์ หมายถึงเป็นที่สถิตแห่งธรรม  โปรดเกล้าฯ  ให้ เป็นที่เก็บคัมภีร์พระไตรปิฎกของหลวง  และ ใช้เป็นสถานที่ทำงานของบรรดานักปราชญ์ราชบัณฑิต  ที่เป็นอาจารย์ทำหน้าที่ตรวจสอบและบอกพระไตรปิฎกแก่พระสงฆ์สามเณรด้วย  เนื่องจากในระหว่างสงครามนั้น  หนังสือคัมภีร์ต่างๆ ได้กระจัดกระจายพลัดหายไป มีไม่ครบจบเรื่องเป็นจำนวนมาก พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลมหาราชมีพระราชประสงค์ที่จะรวบรวมและสร้างขึ้นใหม่ให้ครบ จึงใช้หอพระมณเฑียรธรรมเป็นสถานที่รวบรวมหนังสือของหลวง และโปรดเกล้าฯ ให้กระทำการสังคายนาพระไตรปิฎกขึ้นที่วัดนิพพานาราม (ปัจุบัน คือ วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎ์ราชวรมหาวิหาร) และให้ช่างจารพระไตรปิฎกที่สังคายนาแล้วลงใบลานด้วยอักษรขอม  ตกแต่งคัมภีร์ ลงรักปิดทองทึบตลอด เป็นฉบับหลวง เรียกว่า ฉบับทองทึบ  ในรัชกาลต่อมามีการสร้างคัมภีร์ปิดทองขึ้นอีก จึงเรียกฉบับทองทึบที่สร้างในรัชกาลที่ ๑ ว่า ฉบับทองใหญ่

          เมื่อการสร้างคัมภีร์พระไตรปิฎกฉบับหลวงตามที่สังคายนาสำเร็จใน พ.ศ. ๒๓๓๑แล้ว ได้อัญเชิญเข้าประดิษฐานในตู้ประดับมุก ตั้งในหอพระมณเฑียรธรรม กลางสระในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม แล้วโปรดเกล้าฯ ให้มีการมหรสพสมโภชพระไตร ปิฎกและหอพระมณเฑียรธรรม  ในคืนวันสมโภชนั้น เวลาจุดดอกไม้เพลิง ลูกพลุปลิวไปตกลงบน หลังคาหอพระมณเฑียรธรรม เกิดเพลิงไหม้ขึ้น แม้ว่าจะสามารถยกตู้ประดับมุก และขนคัมภีร์พระไตรปิฎกออกมาได้ทั้งหมด แต่เพลิงก็ไหม้หอพระมณเฑียรธรรมหมดทั้งหลัง

          พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชจึงโปรดเกล้าฯ  ให้ถมสระเดิมนั้น  แล้วสร้างพระมณฑปขึ้นแทน  สำหรับใช้เป็นที่เก็บพระไตรปิฎกแทนหอพระมณเฑียรธรรมเดิมที่ถูกเพลิงไหม้  แต่พระมณฑปเล็กและแคบ ไม่พอที่จะเก็บคัมภีร์พระไตรปิฎกของหลวงไว้ได้ทั้งหมด  ครั้งนั้นสมเด็จพระอนุชาธิราช  กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท จึงทรงรับอาสาให้ช่างวังหน้ามาสมทบสร้าง หอพระมณเฑียรถวายใหม่อีกหลังหนึ่งทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของพระมณฑป

          ใน พ.ศ. ๒๓๓๒  การสร้างพระมณฑปและหอพระมณเฑียรธรรมได้สำเร็จบริบูรณ์ จึงได้เชิญตู้ประดับมุก ซึ่งประดิษฐานพระไตรปิฎกฉบับทองใหญ่  มาตั้งไว้ในพระมณฑป ส่วนคัมภีร์ฉบับอื่นซึ่งเป็นของเดิมเรียกกันว่า  ฉบับครูเดิม  และที่สร้างขึ้นใหม่นอกจากที่อยู่ในพระมณฑป  ให้ใส่ตู้ทองลายรดน้ำเก็บไว้ในหอพระมณเฑียรธรรม  ฉะนั้นจึงมีหนังสือเป็นจำนวนมาก และสมบูรณ์เกือบทุกฉบับ ทำให้หอพระมณเฑียรธรรมมีลักษณะเป็นหอสมุดพระพุทธศาสนาของหลวงหลังแรกแห่งกรุงรัตนโกสินทร์

          นอกจากนั้น พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชยังได้โปรดเกล้าฯ ให้กรมราชบัณฑิตตั้งอยู่ในหอพระมณเฑียรธรรม โดยมีหน้าที่ตรวจสอบความถูกต้องของคัมภีร์พระไตรปิฎกฉบับต่างๆ  และดูแลรักษาหนังสือในหอพระมณเฑียรธรรมไปด้วย หอพระมณเฑียรธรรมของวัดพระศรีรัตนศาสดารามจึง เป็นศูนย์รวมแห่งนักปราชญ์ราชบัณฑิตประจำราชสำนัก  และยังเคยใช้เป็นสถานที่สอบบาลีสนามหลวง (คือการสอบไล่  ทดสอบความรู้ภาษาบาลี  ซึ่งดำเนินการโดยรัฐ) ของพระสงฆ์สามเณร  เพื่อเลื่อนฐานะเปรียญธรรม

          เห็นได้ว่า ในช่วงต้นกรุงรัตนโกสินทร์  หอพระมณเฑียรธรรม หรือที่เรียกสั้นๆ ว่า  หอหลวง นั้น มิได้ใช้เป็นที่เก็บคัมภีร์พระไตรปิฎกแต่เพียงอย่างเดียว  กิจการงานต่างๆ ซึ่งเป็นหน้าที่ของกรมราชบัณฑิต  ก็ได้ปฏิบัติกันในหอพระมณเฑียรธรรมทั้งสิ้น เช่น ในโอกาสที่พระราชโอรสพระราชธิดาประสูติใหม่  ยังมิได้พระราชทานนาม  ก็โปรดเกล้าฯ ให้นักปราชญ์ราชบัณฑิตประชุมกันในหอพระมณเฑียรธรรม  เพื่อตั้งพระนามทูลเกล้าฯ ถวาย  เมื่อโปรดเกล้าฯ พระราชทานพระราชวินิจฉัยอย่างไรแล้ว  จึงประกอบพิธีจารึกพระนามลงพระสุพรรณบัฏเจ้านายต่างกรมที่หอพระมณเฑียรธรรมนั้น  นอกจากนี้ยังใช้เป็นสถานที่จารึกพระราชสาส์นที่มีไปยังต่างประเทศ  และใช้เป็นที่แปลพระราชสาส์นที่ต่างประเทศมีมาถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวกับทั้งใช้เป็นที่ประชุมลูกขุน  ณ  ศาลา เช่นเดียวกับหอพระราชสาส์นครั้งกรุงเก่าด้วย

          ในรัชกาลที่ ๒ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ หอพระมณเฑียรธรรมยังใช้เป็นที่เก็บรวบรวมหนังสือของหลวงและสิ่งของอื่นๆ อีกหลายอย่าง  ได้แก่

          ๑.  ตู้พระไตรปิฎกประดับมุกคู่หนึ่ง ตกแต่งลวดลายวิจิตรงดงามหาที่เปรียบได้ยาก สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยาดำรงราชานุภาพ  ทรงสันนิษฐานว่า  ตู้ทั้งสองใบนี้  แต่เดิมคงจะมิได้สร้างขึ้นสำหรับตั้งในหอพระมณเฑียรธรรมแห่งนี้   แต่ได้เคลื่อนย้ายมาจากที่อื่น

          ๒.  ตู้พระไตรปิฎกลายทองใบใหญ่  ซึ่งทำขึ้นสำหรับใช้เป็นที่เก็บคัมภีร์พระไตรปิฎก ในหอพระมณเฑียรธรรมโดยเฉพาะ

          ๓.  พระแท่นบรรทมประดับมุก  ได้ตกแต่งลวดลายแบบเดียวกับพระแท่นเศวตฉัตร ซึ่งตั้งอยู่ที่พระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทแต่เดิมพระแท่นบรรทมนี้คงจะตั้งอยู่ในพระที่นั่งแห่งใดแห่งหนึ่ง ภายหลังจึงได้เคลื่อนย้ายมาตั้งในหอพระมณเฑียรธรรม

          หนังสือในหอพระมณเฑียรธรรมซึ่งได้ รวบรวมไว้ตั้งแต่รัชกาลที่ ๑ นั้น บางชุดได้ ใช้ในการสอบไล่พระปริยัติธรรม  และมีการอนุญาตให้วัดต่างๆ หยิบยืมไปใช้เสมอ  จนมาถึงรัชกาลที่ ๒ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ  ให้มีการตรวจสอบบัญชีหนังสือพระไตรปิฎก  ในหอพระมณเฑียรธรรม  ปรากฏว่าหนังสือ ขาดบัญชีไปเป็นจำนวนมาก  พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยจึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ  ให้สร้างเพิ่มเติมขึ้นใหม่สำหรับของหลวงคัมภีร์พระไตรปิฎกชุดนี้ ในกรมราชบัณฑิต เรียกชื่อว่า ฉบับรดน้ำแดง  ซึ่งสร้างขึ้นเพียงชุดเดียว แต่สร้างไม่ครบทั้งชุด

          นอกจากนั้นในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยนี้ ยังมีการสังคายนาสวดมนต์ ที่กล่าวว่า สังคายนาสวดมนต์ นั้น ที่จริงคือทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้แปล พระปริตรทั้งหลายออกเป็นภาษาไทยนั่นเอง และในครั้งนั้นยังได้โปรดเกล้าฯ ให้พระเจ้า น้องนางเธอ พระองค์เจ้าศศิธร เป็นหัวหน้าชักชวนพระบรมวงศานุวงศ์  และข้าราชการฝ่ายในฝึกหัดสวดพระปริตร โดยทรงกำหนดให้ราชบัณฑิตเข้าไปบอกที่พระทวารเทวราชมเหศวร และข้าราชการฝ่ายในท่องต่ออยู่ใน พระที่นั่งไพศาลทักษิณ  นับเป็นการเริ่มต้นครั้ง แรกแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ที่สตรีสวดพระปริตร

          ในรัชกาลที่ ๓ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เป็นยุคสมัยที่มีการฟื้นฟูและส่งเสริมในด้านการพระพุทธศาสนาเป็นเรื่องสำคัญ  พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ  ให้มีการบูรณปฏิสังขรณ์ และสถาปนาพระอารามขึ้นหลายแห่งรวมทั้งหอพระมณเฑียรธรรมก็ได้รับการปฏิสังขรณ์ในครั้งนั้นด้วยเช่นกัน  ด้วยเหตุที่พระเจ้าแผ่นดินทรงสนพระราชหฤทัยในกิจการของพระพุทธ-ศาสนา ทำให้พระสงฆ์สามเณรในรัชกาลนั้น มีความอุตสาหะเล่าเรียนพระปริยัติธรรมกัน อย่างแพร่หลายการศึกษาคัมภีร์พระไตรปิฎก ได้รับความนิยมทั่วไปทั้งในกรุงและนอกกรุง พระสงฆ์สามเณรสามารถสอบไล่หนังสือได้ เปรียญเอก โท  ตรี  เป็นจำนวนมาก และถ้าพระสงฆ์สามเณรลาสิกขาแล้ว จะไปทำราชการในกรมใด  ก็ให้ทำได้ตามใจสมัคร  ด้วยเหตุนี้เอง ในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นจึงมีผู้รู้ที่อยู่ในขั้นนักปราชญ์  ทั้งพระสงฆ์  และฆราวาสเป็นจำนวนมาก

          นอกจากนั้นพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวยังโปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระไตรปิฎกสำหรับหอหลวงอีก  ๕  ฉบับ  คือ

          ๑. ฉบับรดน้ำเอกเมื่อสร้างเสร็จแล้วโปรดเกล้าฯ ให้เก็บไว้ในหอพระเจ้าภายในพระบรมมหาราชวัง ภายหลังพระไตรปิฎกชุดนี้ถูกน้ำฝนชะ และปลวกกิน   ทำให้หนังสือชำรุดไปบ้าง  ในรัชกาลต่อมาจึงโปรดเกล้าฯ ให้เคลื่อนย้ายมาเก็บรักษาไว้ที่หอพระมณเฑียรธรรม

          ๒. ฉบับรดน้ำโท  สร้างสำหรับหอหลวง เพื่อใช้ในการสอบไล่พระปริยัติธรรม

          ๓. ฉบับทองน้อย  คัมภีร์ฉบับนี้  พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้ช่างผู้หญิงฝึกหัดจารหนังสือที่ตำหนักแพ  นับเป็นคัมภีร์พระไตรปิฎกของหลวงฉบับแรกแห่งกรุงรัตนโกสินทร์  ที่จารโดยฝีมือช่างผู้หญิง

          ๔. ฉบับเทพชุมนุม  ๒ ชุด สำหรับพระราชทานไปยังวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม  ราชวรมหาวิหาร   คัมภีร์ทั้ง ๒ ชุดนี้ ต่อมาถูกฝนชะ และปลวกกินชำรุดเสียหายเป็นจำนวนมาก  ต่อมาในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ย้ายคัมภีร์พระไตรปิฎกส่วนที่เหลือมาเก็บรักษาไว้ในหอพระมณเฑียรธรรม

          ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้า เจ้าอยู่หัว  ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตรวจ สอบบัญชีหนังสือในหอพระมณเฑียรธรรมอีก   ปรากฏว่า หนังสือขาดบัญชีไปเป็นจำนวนมากเช่นเมื่อครั้งรัชกาลที่ ๒  ดังนั้นจึงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างเพิ่มเติมแทนของเก่าที่หายไป   หนังสือชุดนี้เรียกว่า  ฉบับล่องชาด

          ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอม เกล้าเจ้าอยู่หัว  ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ  ให้จารคัมภีร์พระไตรปิฎกขึ้นอีกเรียกว่า  ฉบับทองทึบ  และเนื่องจากในรัชกาลนี้มีการพิมพ์หนังสือกันแพร่หลายยิ่งขึ้น  พระองค์จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้พิมพ์พระไตรปิฎก ขึ้นเป็นครั้งแรก โดยใช้อักษรไทยแทนอักษรขอม  และโปรดเกล้าฯ ให้เก็บพระไตรปิฎกฉบับพิมพ์นี้ไว้ในหอพระมณเฑียรธรรม ๑ ชุด เมื่อมีการพิมพ์พระไตรปิฎกด้วยเครื่องพิมพ์แล้ว  การจารพระไตรปิฎกลงใบลานด้วย อักษรขอมก็หมดความนิยม และต้องเลิกไปโดยปริยาย

          ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว  ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้มีการ ปฏิสังขรณ์หอพระมณเฑียรธรรม  คราวเดียวกับการปฏิสังขรณ์วัดพระศรีรัตนศาสดาราม  ครั้งนั้นสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้ทรงแนะนำให้เจ้าพระยาวรพงศ์พิพัฒน์ (หม่อมราชวงศ์เย็น อิศรเสนา) ผู้ควบคุมการปฏิสังขรณ์ นำบานประตูมุกลายกระหนก ซึ่งอยู่ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ มาใช้เป็นบานประตูกลางด้านหน้าหอพระมณมณเฑียรธรรม  แทนบานประตูลายน้ำบานเดิม บานประตูนี้ได้มาจากวัดบรมพุทธาราม จังหวัดพระนครศรีอยุธยา

          หอพระมณเฑียรธรรมจัดเป็นสถาปัตยกรรมไทยที่ยังคงรักษารูปแบบศิลปกรรมสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นไว้ได้ค่อนข้างมาก  แม้จะได้มีการบูรณปฏิสังขรณ์มาหลายครั้งแล้วก็ตาม การตกแต่งเครื่องไม้จำหลักประดับ กระจกตามส่วนต่างๆ ของอาคาร  เช่น ที่หน้าบันหน้าอุดปีกนก รวมทั้งซุ้มประตูหน้าต่างล้วนงดงามอย่างยิ่ง  โดยเฉพาะทวยที่รองรับชายคา จำหลักเป็นลายกระหนกม้วนปลาย มีส่วนหัวเป็นรูปหัวนาค ลักษณะของทวยแบบนี้ กล่าวกันว่าเป็นลักษณะเฉพาะของฝีมือช่างวังหน้าในรัชกาลที่ ๑

          ภายในอาคารหอพระมณเฑียรธรรม น่าจะได้มีการตกแต่งด้วยจิตรกรรมฝาผนังมาตั้งแต่แรกสร้าง และเมื่อมีการปฏิสังขรณ์แต่ละคราว จิตรกรรมฝาผนังภายในอาคารก็คงจะมีการอนุรักษ์เป็นระยะๆ เช่นเดียวกัน

         ปัจจุบันจิตรกรรมฝาผนังภายในหอพระมณเฑียรธรรมมีทั้งภาพเล่าเรื่อง  และภาพลอยตัว  เต็มผนังทั้ง ๔  ด้าน ที่ใต้ภาพบางภาพมีนามของช่างผู้เขียนปรากฏอยู่ เท่าที่รวบรวมได้มี  ๔  ชื่อ  คือ  ฉ. ณ นคร  นายไว้ นายทองอยู่   อินมี  และนายหงวน  รักมิตร์โดยเฉพาะที่ใต้ชื่อนายหงวน  รักมิตร์ นั้น มีข้อความว่า “เขียน พ.ศ. ๗๔” ซึ่งน่าจะหมายถึง “เขียน พ.ศ. ๒๔๗๔”  อันเป็นปีที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดเกล้าฯ ให้ปฏิสังขรณ์วัดพระศรีรัตนศาสดาราม  เมื่อครั้งมีอายุครบ  ๑๕๐  ปี นั่นเอง

          จิตรกรรมฝาผนังภายในหอพระมณเฑียรธรรม  ตอนล่างเป็นภาพเล่าเรื่องมหาชาติชาดก ตอนกลางระหว่างช่องหน้าต่างเขียนเป็นภาพลอยตัวเทพบุตรและเทพธิดายืนพนมหัตถ์  ส่วนตอนบนเป็นภาพเทพชุมนุม รวมถึงบริเวณบานแผละหน้าต่างตอนบนเป็นภาพต่อเนื่องกับภาพเทพชุมนุม  ซึ่งเขียนเป็นภาพเทวดากำลังเหาะเหินอยู่บนท้องฟ้า  ส่วนตอนล่างซึ่งเป็นภาพพื้นดิน  เขียนภาพเล่าเรื่องตามกระทู้คำพังเพย กลุ่มภาพกระทู้คำพังเพยเหล่านี้ แม้ว่าจะเป็นงานเขียนที่ไม่พิถีพิถันในด้านสุนทรียภาพมากนัก  แต่ผู้เขียนภาพเน้นไป ทางด้านเนื้อหาของเรื่องเป็นสำคัญ ซึ่งทำให้ภาพมีคุณค่ายิ่งขึ้น  ดังตัวอย่าง ๒ ภาพต่อไปนี้

          ๑. ภาพเด็กชายยืนอยู่ริมฝั่งน้ำในมือทั้งสองข้างจับปลาไว้ข้างละตัว ภาพนี้มีความหมายตามกระทู้คำพังเพยว่า จับปลาสองมือ

          ๒. ภาพชายคนหนึ่งยืนแหงนหน้าขึ้นสู่ท้องฟ้า  มีน้ำลายฟูฝอยอยู่สูงขึ้นไปเหนือใบหน้า ภาพนี้มีความหมายตามกระทู้คำพังเพยว่า  ถ่มน้ำลายรดฟ้า

          อีกประการหนึ่ง ปรากฏหลักฐานว่า  สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ   กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงคัดเลือกตู้มุกที่มีลวดลาย สวยงามบรรดาที่มีอยู่ในหอพระสมุดวชิรญาณ รวบรวมไปจัดตั้งไว้ในหอพระมณเฑียรธรรม ตู้เหล่านั้นบางตู้มีจารึกว่า สร้างใน พ.ศ. ๒๓๘๙  บางตู้มีประวัติบันทึกไว้ว่า เดิมเป็นตู้เก็บพระภูษาทรงในพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช จนถึงปัจจุบันตู้ดังกล่าวรวมทั้งบรรดาหนังสือคัมภีร์พระไตรปิฎกต่างๆ  ที่เก็บรักษาไว้ในหอนั้น  ก็ยังคงเก็บอยู่เช่นเดิม

          ปัจจุบันหอพระมณเฑียรธรรมใช้เป็นที่เก็บคัมภีร์ใบลานเพียงอย่างเดียว ซึ่งเจ้าหน้าที่หอสมุดแห่งชาติได้จัดทำบัญชีทะเบียนไว้แล้ว รวมเป็นคัมภีร์พระไตรปิฎก ๑,๑๒๘ คัมภีร์ แบ่งเป็นหมวดพระวินัยปิฎก  ๒๐๓  คัมภีร์ หมวดพระสูตร  ๗๒๓  คัมภีร์  และหมวดพระอภิธรรม  ๒๐๒  คัมภีร์  โดยปกติในหอพระมณเฑียรธรรมไม่มีเจ้าหน้าที่ประจำอยู่ทุกวัน   แต่จะมีกำหนดเปิดเป็นครั้งคราวตามวาระต่อไปนี้

          ๑. เมื่อมีงานพระราชพิธีที่ต้องใช้พระธรรมเป็นองค์ประกอบ  เจ้าหน้าที่สำนักงานวัดพระศรีรัตนศาสดารามจะแจ้งให้เจ้าหน้าที่หอสมุดแห่งชาติคัดเลือกคัมภีร์พระไตรปิฎกในหอพระมณเฑียรธรรมออกไปร่วมในงาน พระราชพิธีนั้น

          ๒.  เมื่อถึงวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา  เจ้าหน้าที่สำนักงานวัดพระศรีรัตนศาสดาราม จะเปิดหอพระมณเฑียรธรรม   เจ้าพนักงาน ของสำนักพระราชวังจะจัดตั้งเครื่องบูชาพานพุ่มดอกไม้ธูปเทียน ในวันอาสาฬหบูชาจะมีผู้แทนพระองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มาเป็นองค์ประธาน ในพิธีถวายเครื่องสักการบูชาพระธรรม

          ๓. เมื่อมีผู้ประสงค์ที่จะใช้คัมภีร์พระ ไตรปิฎกเพื่อการอ่าน แปล  ตรวจสอบ หรือคัดลอก  เฉพาะกรณีคัมภีร์ที่ไม่มีฉบับอื่นอยู่ในหอสมุดแห่งชาติ  ทั้งนี้ต้องไม่ขัดต่อระเบียบ ของทางราชการด้วย

หอพระมณเฑียรธรรมหรือหอพระไตรปิฎกของวัดพระศรีรัตนศาสดาราม, หอพระมณเฑียรธรรมหรือหอพระไตรปิฎกของวัดพระศรีรัตนศาสดาราม หมายถึง, หอพระมณเฑียรธรรมหรือหอพระไตรปิฎกของวัดพระศรีรัตนศาสดาราม คือ, หอพระมณเฑียรธรรมหรือหอพระไตรปิฎกของวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ความหมาย, หอพระมณเฑียรธรรมหรือหอพระไตรปิฎกของวัดพระศรีรัตนศาสดาราม คืออะไร

ร่วมเป็นแฟนเพจเรา บน Facebook..ได้ที่นี่เลย!!

บทความอื่น ของสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ เล่มที่ 30

สารานุกรมเล่มอื่นๆ

คำยอดฮิต

Sanook.commenu