ได้กล่าวมาแล้วข้างต้นว่า ดนตรีสำหรับเยาวชนไทยมีอยู่ด้วยกันหลายแบบ ทั้งที่เป็นดนตรีของไทยเราเอง ดนตรีจากต่างประเทศดนตรีไทยของเราเองนั้นยังแบ่งออกได้เป็นอีกสองกลุ่ม คือดนตรีพื้นบ้านที่มีอยู่ในภาคต่างๆของประเทศ เช่น ดนตรีอีสาน ดนตรีภาคเหนือและดนตรีของภาคใต้ ส่วนดนตรีที่เรียกว่าเป็นดนตรีไทยมาตรฐานนั้น คือดนตรีไทยภาคกลางอันได้แก่ การบรรเลงมโหรี ปี่พาทย์ และเครื่องสายนานาประเภท
ในส่วนที่เราได้รับอารยธรรมดนตรีตะวันตกเข้ามานั้น ที่เราใช้เป็นแบบฉบับอย่างเต็มที่ก็มีเช่น การบรรเลงวงดุริยางค์สากล วงดนตรีแจ๊สเป็นอาทิ และยังมีดนตรีตะวันตกที่เราผสมผสานเข้ากับวัฒนธรรมดนตรีของไทย มีสิ่งใหม่เกิดขึ้นในส่วนของดนตรีไทยแท้และดนตรีสากลที่ได้รับเข้ามา เกิดเป็นดนตรีสำหรับเยาวชนขึ้นมากมายหลายรูปแบบ ล้วนเป็นเรื่องน่าสนใจทั้งสิ้น
การเปลี่ยนแปลงของสภาพเศรษฐกิจและสังคม ทำให้ชีวิตของเยาวชนกับการดนตรีพลอยเปลี่ยนแปลงไปด้วยดังจะได้กล่าวต่อไป
สำหรับดนตรีไทยนั้น สมัยก่อนบิดามารดามักนำเด็กไปฝากให้เรียนดนตรีที่บ้านครูโดยกินนอนอยู่กับครูเหมือนกับเป็นลูกเป็นหลานของครู โดยไม่ต้องเสียค่ากินอยู่และค่าเล่าเรียนเลย นอกจากจะต้องฝึกหัดดนตรีแล้ว เด็กจะต้องช่วยงานที่บ้านครู เช่น ตักน้ำ หุงข้าว ขนย้ายเครื่องดนตรีเวลาไปออกงานบรรเลงตามที่ต่างๆ รวมทั้งรับใช้ท่านครู และนักดนตรีรุ่นพี่ตามสมควร
การฝึกหัดดนตรีไทยสมัยก่อนต้องเริ่มต้นด้วยการเรียนตีฆ้องวงใหญ่เป็นอันดับแรกโดยเรียนเพลงไหว้พระที่เรียกว่า "เพลงสาธุการ" เป็นเพลงแรก
การที่ได้คลุกคลีอยู่กับดนตรีในบ้านของครูตลอดทั้งวันนั้น หูก็เคยชินกับเสียงดนตรีไทยไปทีละน้อย จนในที่สุดก็จำเสียงเพลงต่างๆได้ เมื่อถึงเวลาเรียน ครูก็สอนให้ทีละขั้นตอนเมื่อหูจำเสียงได้ก่อนแล้ว การใช้มือปฏิบัติตามให้ได้ตรงเสียงที่จำได้นั้น ช่วยให้ทำเพลงได้ง่ายขึ้น การต่อเพลงอย่างไทยโบราณ ใช้วิธีปฏิบัติจนจำขึ้นใจได้ ไม่มีการจดและอ่านโน้ตเหมือนฝึกดนตรีสากล จนถึงสมัยรัชกาลที่ ๗ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ หลวงประดิษฐ์ไพเราะ (ศร ศิลปบรรเลง) จึงได้คิดโน้ตไทยที่เป็นตัวเลข๙ ตัวขึ้น และยังมีผู้คิดโน้ตเครื่องสาย มีตัวเลข ๐-๔ ตามมา
ผู้ที่เรียนดนตรีสมัยก่อน ต้องตื่นนอนแต่เช้ามืดเวลาประมาณ ๐๕:๐๐ นาฬิกา ก่อนพระอาทิตย์ขึ้น แล้วฝึกหัดบรรเลงทบทวนไปคนเดียว ครูเป็นคนนั่งฟัง และคอยแก้ไขให้จนถูกต้อง จนถึงเวลา ๗ นาฬิกาเศษ จึงไปทำธุรกิจส่วนตัว ไปช่วยงานในครัว กินอาหารเช้าพร้อมกับเพื่อนๆ ที่อยู่ร่วมกัน เสร็จแล้วพักผ่อนหรือช่วยงานบ้าน ตอนสายประมาณ ๐๙:๐๐ นาฬิกาเริ่มฝึกบรรเลงต่อไปอีกโดยอาจบรรเลงรวมวงหรือต่อเพลงใหม่แล้วแต่ครูผู้เป็นหัวหน้ากำหนดถึงเวลากลางวันรับประทานอาหารแล้วก็พักผ่อนเริ่มลงมือซ้อมอีกก็ประมาณบ่ายสองถึงสามโมง ซ้อมไปจนค่ำจึงอาบน้ำกินข้าว หากครูเจ้าของรับงานไว้ ก็ออกไปบรรเลงตามงานต่างๆ เสร็จแล้วกลับบ้านตอนดึก หากไม่มีงานก็ต้องฝึกซ้อมต่อไปจนถึงเวลาเข้านอน ประมาณ๒๑:๐๐ นาฬิกา ไม่ได้เรียนวิชาอื่นไปพร้อมกับดนตรี นักดนตรีไทยแต่ก่อนจึงมีความรู้ความถนัดแต่เรื่องการดนตรีอย่างเดียวเท่านั้น
การเรียนดนตรีไทยสมัยก่อน ต้องเริ่มต้นเรียนฆ้องวงใหญ่เป็นอันดับแรก ซึ่งเป็นเครื่องดนตรีหลักของวงปี่พาทย์ ต้องมีการไหว้ครูเป็นประจำทุกปีเพื่อเป็นการคารวะต่อครูไหว้ครูแล้วจึงต่อเพลงได้
เมื่อเรียนฆ้องวงจนคล่องแล้ว ครูก็สอนให้บรรเลงด้วยเครื่องดนตรีชนิดอื่นต่อไป เช่น ระนาดเอก ระนาดทุ้ม ฆ้องวงเล็ก เครื่องหนัง (กลองนานาชนิด) และเครื่องเป่า เช่น ปี่ บางคนเก่งเฉพาะเครื่องดนตรีชิ้นเดียว แต่บางคนอาจถนัดบรรเลงได้หลายชิ้น สามารถสลับกันบรรเลงในวงได้ คนที่เรียนจนสามารถบรรเลงได้ทุกเครื่องมือในวงปี่พาทย์เรียกว่า "เล่นดนตรีได้รอบวง หรือ เป็นรอบวง" สามารถออกไปประกอบอาชีพได้คล่องตัว
บางคนเรียนอยู่กับครูหลายปีตั้งแต่อายุได้ ๗ - ๘ ขวบ จนโตเป็นหนุ่ม เมื่ออายุครบ ๒๐ ปี ก็จะบวชเป็นพระสงฆ์ เรียนปฏิบัติธรรมราวหนึ่งพรรษาเป็นอย่างน้อย เมื่อลาสิกขาออกมาแล้วถือว่าเป็นผู้ใหญ่เต็มตัว ครูก็สอนเพลงสำคัญๆ ให้สำหรับไปประกอบอาชีพ บางคนกลับไปบ้านของตน มีวิชาดนตรีติดตัวไปทำมาหาเลี้ยงชีพได้ บางคนไปเป็นครูสอนดนตรีถ่ายทอดวิชาต่อไป
การเรียนเพลงสำคัญๆ บางเพลง เช่น เพลงตระ เพลงหน้าพาทย์ ต้องบวชเสียก่อนจึงจะเรียนได้ คือต้องเป็นผู้ใหญ่รู้ผิดรู้ชอบ รู้ควรไม่ควร จะได้ใช้เพลงที่ครูให้มานั้นได้ถูกต้องตามกาลเทศะ สำหรับเครื่องดนตรีชนิดอื่น เช่น เครื่องคุมจังหวะ อันได้แก่ กลอง ฉิ่ง ฉาบ กรับ โหม่ง นั้นให้ค่อยๆ เรียนรู้ไปทีละสิ่ง จนถึงเครื่องสายและเครื่องเป่า เลือกเรียนได้ตามใจชอบและความถนัด
นักดนตรีแต่ก่อน เคารพรักครูเหมือนบิดาครูเป็นผู้อบรมบ่มนิสัย สอนวิชาดนตรีให้ รู้จักรักและเกรงใจครู รู้ถึงพระคุณครู และมีความกตัญญูกตเวทีตอบแทนแก่ครู
ปัจจุบันนี้ วิธีการเรียนดนตรีไทยโดยไปกินนอนอยู่บ้านครูได้เลิกไปแล้ว เพราะครูสิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายมาก เปลี่ยนเป็นให้ครูมาสอนที่โรงเรียนโดยกำหนดตารางสอนแน่นอน ต่างจังหวัดอาจจะมีบ้านครูดนตรีไทยเช่นนี้เหลืออยู่บ้าง แต่ก็น้อยเต็มที ครูจึงเป็นผู้รับจ้างสอนดนตรีไทย แทนที่ครูจะเป็นผู้กำหนดเพลงที่สอนกลายเป็นผู้ต้องตามใจศิษย์ สอนให้ตามที่ศิษย์ต้องการ วิธีการนี้ทำให้การเรียนไม่เป็นไปตามระบบดั้งเดิมที่เคยปฏิบัติมา ดนตรีไทยจึงผิดไปจากรูปแบบดั้งเดิมที่เยาวชนควรจะได้เรียนรู้อีกประการหนึ่งอาชีพดนตรีไทยมีค่าตอบแทนน้อย จึงมีผู้สนใจเรียนน้อยลงทุกที
รัฐบาลโดยทบวงมหาวิทยาลัยของรัฐ ได้พยายามส่งเสริมเยาวชนในการเรียนดนตรีไทยนอกจากเปิดหลักสูตรการเรียนการสอนในระดับปริญญาตรีและปริญญาโทขึ้นแล้ว ยังมีแผนที่จะเปิดสอนถึงระดับปริญญาเอกด้วย ทั้งนี้ทบวงฯ ได้ตั้งคณะกรรมการกำหนดเกณฑ์มาตรฐานวิชาชีพดนตรีขึ้นเช่นเดียวกับวิชาชีพแขนงอื่น โดยหวังว่าเมื่อมีเกณฑ์กำหนดให้ปฏิบัติตามแล้ว วิชาความรู้ทางดนตรีจะได้มีหลักเกณฑ์รัดกุมปฏิบัติตามได้ถูกต้อง เกณฑ์มาตรฐานนี้ทบวงมหาวิทยาลัยได้จัดทำขึ้นโดยคำสั่งของคณะรัฐมนตรีตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๓๓ เป็นต้นมา จึงเป็นที่แน่ใจว่า เยาวชนไทยจะได้รับการฝึกฝนให้เป็นนักดนตรีไทยที่สมบูรณ์แบบทางวิชาการขึ้นจนเด่นชัดทั้งในความรู้และฝีมือในการบรรเลง
การดนตรีสำหรับเยาวชน
การดนตรีสำหรับเยาวชน, การดนตรีสำหรับเยาวชน หมายถึง, การดนตรีสำหรับเยาวชน คือ, การดนตรีสำหรับเยาวชน ความหมาย, การดนตรีสำหรับเยาวชน คืออะไร
การดนตรีสำหรับเยาวชน, การดนตรีสำหรับเยาวชน หมายถึง, การดนตรีสำหรับเยาวชน คือ, การดนตรีสำหรับเยาวชน ความหมาย, การดนตรีสำหรับเยาวชน คืออะไร
ร่วมเป็นแฟนเพจเรา บน Facebook..ได้ที่นี่เลย!!