ทรัพยากรวัฒนธรรมเป็นของเปราะบางการจะซ่อม บูรณะ หรือสงวนรักษานั้น ต้องระวังไม่ให้เสียหายไปกว่าเดิม หรือทำขึ้นใหม่ซึ่งกลับเป็นการทำลายคุณค่าทางประวัติศาสตร์ศิลปกรรม และความเป็นโบราณสถานและโบราณวัตถุของสิ่งของนั้น ๆ
หน่วยราชการที่รับผิดชอบในการอนุรักษ์โบราณสถานและโบราณวัตถุในประเทศไทย คือกรมศิลปากร ได้วางระเบียบว่าด้วยการอนุรักษ์โบราณสถาน พ.ศ. ๒๕๒๘ ไว้ดังนี้
"ข้อ ๔. ก่อนที่จะดำเนินการอนุรักษ์โบราณสถานใด ๆ ต้องปฏิบัติดังนี้
(๔.๑) ทำการสำรวจศึกษาสภาพเดิมและสภาพปัจจุบันของโบราณสถาน ทั้งด้านประวัติการก่อสร้าง การอนุรักษ์ ซึ่งรวมถึงรูปทรงสถาปัตยกรรม การใช้วัสดุ และสภาพความเสียหายที่ปรากฏอยู่ โดยการทำเป็นเอกสารบันทึกภาพ และทำแผนผังเขียนรูปแบบไว้โดยละเอียด เพื่อใช้เป็นข้อมูลสำหรับนำมาประกอบการพิจารณาทำโครงการอนุรักษ์และเป็นเอกสารสำคัญทางประวัติศาสตร์ต่อไป
(๔.๒) ทำโครงการอนุรักษ์โบราณสถาน โดยพิจารณาว่าโบราณสถานนั้นมีคุณค่าและลักษณะความเด่นในด้านใดบ้าง อาทิเช่น ด้านประวัติศาสตร์ โบราณคดี จิตรกรรม ประติมากรรม หรือสถาปัตยกรรม ฯลฯ เป็นต้น และวางแผนรักษาคุณค่า และความสำคัญที่เด่นที่สุดเป็นหลักไว้ แต่ทั้งนี้ต้องคำนึงถึงคุณค่า และความสำคัญในด้านที่รองลงมาด้วย
(๔.๓) พิจารณาก่อนว่าโบราณสถานนั้น ๆ ได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมมาแล้วหรือไม่เพียงใด หากได้ถูกแก้ไขและส่วนแก้ไขเพิ่มเติมขึ้นใหม่นั้น ทำให้คุณค่าของเดิมเสียไป ควรพิจารณารื้อสิ่งที่แก้ไขเพิ่มเติมออกและบูรณะให้เหมือนเดิม
ข้อ ๕. การอนุรักษ์โบราณสถานใด ๆก็ตาม จะต้องคำนึงถึงภูมิทัศน์และสิ่งแวดล้อมโดยรอบโบราณสถานนั้นด้วย สิ่งใดที่จะทำลายคุณค่าของโบราณสถานนั้น ๆ ให้ดำเนินการปรับปรุงให้เหมาะสมด้วย
ข้อ ๖. โบราณสถานที่มีการอนุรักษ์โดยมีการเปลี่ยนแปลงแก้ไขมาก่อนแล้ว จะต้องพิจารณาศึกษาให้ละเอียดว่าได้บูรณะแก้ไขมาแล้วกี่ครั้ง ผิดถูกอย่างไร ระยะเวลานานเท่าใดการอนุรักษ์ใหม่ที่จะทำนี้ไม่จำเป็นจะต้องใช้แบบใดแบบหนึ่งเสมอไป แต่ให้พิจารณาเลือกแบบที่เหมาะสมที่สุดที่เป็นหลักในการอนุรักษ์ เพื่อให้โบราณสถานนั้นมีคุณค่าและความสำคัญมากที่สุด ทั้งนี้จะต้องทำเป็นหลักฐานแสดงให้ปรากฏถึงการเปลี่ยนแปลงแก้ไข จะด้วยวิธีการบันทึกเป็นเอกสารเขียนแบบไว้ ทำหุ่นจำลอง หรือโดยวิธีการอนุรักษ์ก็ได้
ข้อ ๗. โบราณสถานที่มีคุณค่า ความสำคัญเยี่ยมยอด ควรทำแต่เพียงเสริมความมั่นคงแข็งแรงหรือสงวนรักษาไว้เท่านั้น
ข้อ ๘. การนำวิธีการและเทคนิคฉบับใหม่มาใช้ในงานอนุรักษ์ เพื่อความมั่นคงแข็งแรง จะต้องมีการศึกษาและทดลองจนได้ผลเป็นที่พอใจแล้ว จึงจะนำมาใช้ได้ โดยไม่ทำให้โบราณสถานนั้นเสื่อมคุณค่าไป
ข้อ ๙. การต่อเติมเพื่อความมั่นคงแข็งแรงของโบราณสถาน ทำเท่าที่จำเป็นให้ดูเรียบง่ายและมีลักษณะกลมกลืนกับของเดิม
ข้อ ๑๐. ในกรณีที่จำเป็นจะต้องทำชิ้นส่วนของโบราณสถานที่ขาดหายไปขึ้นใหม่ เพื่อรักษาคุณค่าทางด้านสถาปัตยกรรม และให้การอนุรักษ์โบราณสถานนั้นสามารถดำเนินการได้ต่อไปการทำชิ้นส่วนขึ้นใหม่นั้น อาจทำได้โดยวิธีการออกแบบที่แสดงให้เห็นได้อย่างชัดเจนว่าเป็นการทำขึ้นใหม่ จะด้วยวิธีการใช้วัสดุต่าง ๆ กันการใช้สีต่างกัน หรือการทำพื้นผิวให้ต่างกันกับของเดิมก็ได้ แต่ต้องเป็นไปในลักษณะที่มีความผสมกลมกลืนกับของเดิม
ข้อ ๑๑. การอนุรักษ์ชิ้นส่วนที่มีคุณค่าเยี่ยมยอดทางจิตรกรรม ประติมากรรม และโบราณวัตถุ ซึ่งติดหรืออยู่ประจำโบราณสถานนั้น ๆ ทำได้แต่เพียงการสงวนรักษา หรือเพิ่มความมั่นคงแข็งแรงขึ้นเท่านั้น ทั้งนี้ เพื่อคงคุณค่าของเดิมให้ปรากฏเด่นชัดมากที่สุด ยกเว้นปูชนียวัตถุที่มีการเคารพบูชา สืบเนื่องมาโดยตลอดและได้รับการพิจารณาเห็นชอบจากคณะกรรมการแล้ว
ข้อ ๑๒. ซากโบราณสถานควรอนุรักษ์โดยการรวบรวมชิ้นส่วนต่าง ๆ ที่มีผู้มาประกอบขึ้นไว้ให้เหมือนเดิม หรืออาจจะเป็นเพียงการรวบรวมชิ้นส่วนต่าง ๆ มาประกอบขึ้นไว้เป็นบางส่วน สำหรับชิ้นส่วนที่ขาดหายไป ซึ่งจำเป็นในการสงวนรักษานั้น ก็อาจทำเพิ่มขึ้นใหม่ได้
ข้อ ๑๓. การอนุรักษ์ซากโบราณสถานซึ่งมีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ และโบราณคดีนั้น ทำได้โดยรักษาไว้ตามสภาพเดิมหลังการขุดแต่ง แต่ต้องป้องกันมิให้เสียหายต่อไปด้วยวิธีที่ไม่ทำให้โบราณสถานเสียคุณค่า
ข้อ ๑๔. โบราณสถานที่เป็นปูชนียสถานอันเป็นที่เคารพบูชา ซึ่งเป็นที่รู้จักคุ้นเคยกันดีของประชาชนโดยทั่วไป จะต้องบูรณะไว้โดยไม่มีการแก้ไข เปลี่ยนแปลง ลักษณะสีและทรวดทรง ซึ่งจะทำให้โบราณสถานนั้นหมดคุณค่าหรือเสื่อมความศักดิ์สิทธิ์ไป
ข้อ ๑๕. เพื่อป้องกันมิให้ชิ้นส่วนของโบราณสถานที่มีคุณค่าทางศิลปะ ซึ่งรวมถึงประติมากรรม จิตรกรรม และศิลปกรรม เกิดการชำรุดเสียหาย หรือถูกโจรกรรม จะต้องนำชิ้นส่วนนั้นมาเก็บรักษาไว้ในสถานที่อันปลอดภัยและถูกต้องตามกฎหมาย พร้อมทั้งทำแบบจำลองให้เหมือนของเดิมไปประกอบไว้ในที่โบราณสถานนั้นแทน ซึ่งวิธีการนี้จะปฏิบัติได้ก็ต่อเมื่อไม่สามารถรักษาได้โดยวิธีอื่นแล้ว
ข้อ ๑๖. โบราณสถานใดที่ยังมีประโยชน์ใช้สอยอยู่ จะกระทำการอนุรักษ์โดยการเสริมสร้างหรือต่อเติมสิ่งที่จำเป็นขึ้นใหม่ก็ได้เพื่อความเหมาะสม ทั้งนี้ ไม่จำเป็นที่จะต้องทำให้เหมือนของเดิมทีเดียว แต่สิ่งที่เพิ่มเติมขึ้นใหม่นั้นจะต้องมีลักษณะกลมกลืนและไม่ทำลายคุณค่าของโบราณสถานนั้น ๆ
ข้อ ๑๗.โบราณสถานต่าง ๆ ทั้งที่ขึ้นทะเบียนแล้วและยังไม่ขึ้นทะเบียน จะต้องมีมาตรการในการบำรุงรักษาไว้ให้อยู่ในสภาพที่มั่นคงแข็งแรง สวยงามอยู่เสมอ
ข้อ ๑๘. กรณีที่โบราณสถานใดมีสภาพชำรุดทรุดโทรม อาจจะเป็นอันตราย การดำเนิน-การในเบื้องต้น ควรใช้มาตรการอันเหมาะสมทำการเสริมความมั่นคงแข็งแรงไว้ก่อนที่จะดำเนินการอนุรักษ์ เพื่อป้องกันมิให้เสียหายต่อไป
ข้อ ๑๙. ในบางกรณีจะต้องดำเนินการติดต่อขอความร่วมมือกับหน่วยราชการอื่น ๆหรือสถาบันเอกชนซึ่งมีหน้าที่รับผิดชอบ หรือผู้เชี่ยวชาญในสาขาวิชาการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องเพื่อประโยชน์ต่อการอนุรักษ์สมบัติวัฒนธรรมของชาติ
ข้อ ๒๐. งานทั้งปวงที่เกี่ยวข้องกับการอนุรักษ์หรือการขุดค้น จะต้องทำรายงานในรูปของการวิเคราะห์และวิจัย โดยมีภาพประกอบซึ่งเป็นภาพลายเส้นและภาพถ่ายและจะต้องรายงานสิ่งที่ได้ปฏิบัติทุกขั้นตอนโดยละเอียดเช่น งานแผ้วถาง การจัดบริเวณงาน เสริมความมั่นคงชิ้นส่วนต่าง ๆ ฯลฯ เป็นต้น และการบันทึกรายงานนี้จะต้องเก็บรักษาไว้ ณ หอจดหมายเหตุแห่งชาติ
ข้อ ๒๑. ให้อธิบดีกรมศิลปากร รักษาการให้เป็นไปตามระเบียบนี้
ส่วนระเบียบหรือหลักการในการอนุรักษ์โบราณวัตถุนั้น ไม่มีประกาศเป็นเอกเทศ คงอนุโลมให้ใช้ระเบียบข้อ ๑๐. และ ๑๑. ของระเบียบการอนุรักษ์โบราณสถานข้างต้นไปพลางก่อน"
ขอให้ดูหลักการดังกล่าวที่เป็นสากลเปรียบเทียบกับอดีต จะเห็นว่าเป็นไปในทำนองเดียวกัน
๑. พระราชกระแสในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เกี่ยวกับการบูรณะพระปรางค์วัดอรุณราชวราราม
"...การซ่อมพระปรางค์วัดอรุณและบริเวณ ต้องตั้งใจว่าจะรักษาของเก่าที่ยังคงใช้ได้ไว้ให้หมด ถึงสีจะมัวหมองเป็นของเก่ากับใหม่ต่อกัน เช่น รูปภาพเขียน ลายเพดาน เป็นต้นอย่าได้พยายามที่จะแต่งของเก่าให้สุกสดเท่าของใหม่ ถ้าหากกลัวอย่างคำที่เรียกว่าด่าง ให้พยายามที่จะประสมสีใหม่อ่อนลง อย่าให้สีแหลมเหมือนที่ใช้อยู่เดี๋ยวนี้ พอให้กลืนไปกับสีเก่า ลวดลายฤารูปพรรณอันใดก็ตามให้รักษาคงไว้ตามรูปเก่าถ้าจะเปลี่ยนแปลงแห่งใดสิ่งใดให้ดีขึ้น ต้องให้กราบทูลก่อนฯ..."
๒. รายงานการตรวจสภาพจิตรกรรมฝาผนังในพระอุโบสถวัดอรุณราชวราราม
"...การซ่อมงานเขียนทั้งปวง ในพระอุโบสถวัดอรุณราชวรารามนั้น การเขียนอื่น ๆก็ตาม ธรรมดาสำคัญอยู่แต่การเขียนผนังเท่านั้นเพราะว่าของเก่าทำไว้อย่างสุดฝีมือของช่างเอกในเวลานั้น ในการที่เพลิงไหม้ครั้งนี้ก็ไม่ทำให้เสียหายไปหมด ผนังเขียนทั้งหมดคิดเป็นตารางเมตร ได้ ๓๖๖ เสียไปน้อยกว่าที่ยังคงดี คือ
ปูนไม่แตกสีไม่เสีย ๒๒๔ ตารางเมตร
ปูนไม่แตกสีเสีย ๓ ตารางเมตร
ปูนแตกสีไม่เสีย ๖๑ ตารางเมตร
ปูนแตกสีเสีย ๑๙ ตารางเมตร
ปูนกะเทาะหาย ๔๗ ตารางเมตร
ที่ปูนไม่แตกสีไม่เสีย ควรคงเก่าไว้ให้กุลบุตรภายหน้าได้ดูต่อไป ดีกว่าลบเขียนใหม่หมด ส่วนที่บุบสลายเสียไปนั้น จะทำได้เป็นสองอย่าง อย่างหนึ่งเขียนเลียนให้เหมือนของเก่า อย่างหนึ่งเขียนให้ดีอย่างใหม่ตามฝีมือช่างทุกวันนี้ เมื่อพิจารณาดูในสองอย่างนี้ว่าอย่างใดจะดีกว่ากัน ก็เห็นว่าอย่างเขียนเลียนให้เหมือนเก่าดีกว่า เพราะว่าจะได้เข้ากันกับของเดิมที่ยังเหลืออยู่ แลทั้งเป็นกระบวนไทยแท้น่าชมกว่าวิธีเขียนอย่างใหม่... ส่วนที่ปูนไม่แตกแต่สีเสียและที่ปูนแตกสีเสีย และปูนกะเทาะหายนั้นไม่มีอย่างอื่น ถ้าทำเช่นนี้การที่จะต้องทำก็น้อย จะคงไว้ตามเดิมได้ถึง ๒๒๔ ตารางเมตร จะต้องเขียนใหม่ ๑๔๑ ตารางเมตร เท่านั้น แลในส่วนที่เขียนใหม่นี้จะได้ตามสำเนาเก่า ๖๑ ตารางเมตรจะเป็นใหม่แท้ ๘๐ ตารางเมตร..."
๓. พระราชหัตถเลขาของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ถึงมกุฎราชกุมารเมื่อคราวเสด็จประพาสจังหวัดเพชรบุรีเกี่ยวกับวัดใหญ่สุวรรณาราม
"...พระในวัดนี้ ตั้งแต่พระครูเป็นต้นไปเป็นช่างด้วยกันโดยมาก รู้จักรักษาของเก่าดีเป็นอย่างยิ่ง เช่น การเปรียญ ซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญ ไม้ท่อนไหนผุเปลี่ยนแก้ไม้ท่อนนั้น ส่วนที่เป็นลวดลายสลักหรือเขียนอันยังจะใช้ได้ เก็บของเก่าประกอบอย่างดีที่สุดซึ่งจะทำได้ แต่ในการซึ่งจะซ่อมขึ้นให้ดีบริบูรณ์อย่างเก่านั้น ไม่แต่ฝีมือพระ ถึงฝีมือช่างหลวงทุกวันนี้ก็ยากที่จะทำให้เข้ากันกับของเดิมได้ รูปภาพเทพชุมนุมที่นั่งเป็นชั้น ๆ ในผนังอุโบสถดูได้ทุกตัว และเห็นได้ว่าไม่มีฝีมือแห่งใดในกรุงเทพฯ เหมือนเลยเช่น หน้ายักษ์ไม่ได้เขียนเป็นหัวโขน เขียนเป็นหน้าคนอ้วน ๆ ย่น ๆ ที่ซึ่งเป็นกนกก็เขียนเป็นหนวดเคราแต่อย่าเข้าใจว่าเป็นภาพกาก ผู้ที่เขียนนั้นรู้ความคิดเรื่องเครื่องแต่งตัว รู้ว่าจะสอดสวมอย่างไร ไม่ได้เขียนยุ่ง ๆ อย่างทุกวันนี้ รูปนั้นอยู่ข้างจะลบเลือนมาก เพราะเหตุว่าคงจะได้เขียนก่อน ๓๐๐ ปีขึ้นไป เว้นแต่ด้านหน้ามารผจญที่ชำรุดมาก จึงได้เขียนเพิ่มขึ้นใหม่ ก็เลยเห็นได้ถนัดว่าความคิดไม่ตลอดลงร่องรอยเสาปูนแต่งทาสีน้ำมันเขียนลายรดน้ำ เปลี่ยนแม่ลายต่างกันทุกคู่ แต่กรอบเชิงอย่างเดียวกันกรอบเชิงงามนัก..."
๔. ลายพระหัตถ์สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ถึงสมเด็จพระบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เกี่ยวกับการซ่อมหอไตรวัดระฆังในสาส์นสมเด็จ เล่มที่ ๑๗ หน้า ๑๓๖ - ๑๓๗
"...การซ่อมหอไตรวัดระฆัง ยังกราบทูลอนุโมทนาไม่ได้ เพราะยังไม่ได้ไปเห็นว่าทำอย่างไร อันการซ่อมนั้นความหมายแต่ก่อนกับเดี๋ยวนี้ย่อมเดินเคลื่อนความเข้าใจกันไปเสียแล้วแต่ก่อนขึ้นชื่อว่าซ่อมแล้วก็คืออะไรที่แตกหักก็ทำเสียให้ดี แต่เดี๋ยวนี้ขึ้นชื่อว่าซ่อมแล้ว อะไรที่เก่าก็ทำให้เห็นเป็นใหม่หมด เช่น รูปภาพที่พระอาจารย์นาคเขียนไว้ที่หอไตรนั้น นับอายุก็ตั้ง ๑๕๐ ปี สีย่อมเก่าไปมากทีเดียว ถ้าซ่อมให้เป็นใหม่จำเป็นต้องทาสีทับเก่า การทานั้นลิงก็ทำได้ "ท่านหนู" ซึ่งอาศัยอยู่ ณ หอไตรนั้นว่ามีกัลนาณ์ คงไม่ทำเช่นว่านั้น..."
๕. ปาฐกถาเรื่องสงวนรักษาของโบราณของสมเด็จพระบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ นายกราชบัณฑิตสภา ทรงแสดงแก่เทศาภิบาล ณ พิพิธภัณฑสถานสำหรับพระนคร เมื่อวันพุธที่ ๑๙ พฤศจิกายน ๒๔๗๓ ตอนหนึ่งความว่า
"...ลักษณะการสงวนของโบราณที่ราชบัณฑิตยสภาทำมานั้น วิธีจัดสงวนโบราณสถานกับโบราณวัตถุผิดกัน ในตอนนี้จะว่าด้วยสงวนโบราณสถานก่อน วิธีสงวนโบราณสถาน กำหนดการที่ทำเป็น ๓ อย่าง อย่างที่ ๑ คือ การค้นให้รู้ว่ามีโบราณสถานอยู่ที่ไหนบ้าง ดังเช่นราชบัณฑิตยสภาได้มีตราขอให้เทศาภิบาลต่างมณฑล ช่วยสืบแล้วบอกมาให้ทราบเพื่อจะทำบัญชีและหมายลงแผนที่ประเทศสยามไว้เป็นตำรา อย่างที่ ๒ การตรวจ คือ เมื่อรู้ว่าโบราณสถานที่มีอยู่ ณ ที่ใดแล้ว แต่งให้ผู้เชี่ยวชาญออกไปยังที่นั้น พิจารณาดูให้รู้ว่าเป็นของอย่างไรสร้างในสมัยใด และเป็นของสำคัญเพียงใด การตรวจนี้บางแห่งขุดหาแนวรากผนังและค้นลวดลาย ต้องมากบ้าง น้อยบ้าง ตามลักษณะสถานนั้น อย่างที่ ๓ การรักษา ซึ่งนับว่าเป็นการยากยิ่งกว่าอย่างอื่น เพราะโบราณสถานในประเทศนี้มีมาก ในเวลานี้ยังเหลือกำลังราชบัณฑิตยสภาที่จะจัดการรักษาได้ทุกแห่ง จึงคิดจะจัดการรักษาแต่ที่เป็นสถานสำคัญ และที่พอจะสามารถรักษาได้เสียก่อน ถึงกระนั้นก็ยังต้องผ่อนผันทำไปทีละน้อย เพราะต้องหาเงินสำหรับจ่ายในการรักษานั้น จำเป็นต้องกำหนดลักษณะการรักษาเป็น ๓ ชั้น คือ ชั้นต่ำ เป็นแต่ห้ามปรามมิให้ผู้ใดรื้อทำลายโบราณสถานมิให้พังอีกต่อไป ยกตัวอย่างดังเช่นได้ทำที่พระราชวังกรุงศรีอยุธยา และที่ในเมืองลพบุรี เป็นต้น การรักษาโบราณสถานซึ่งนับว่าเป็นชั้นสูงนั้น คือ ปฏิสังขรณ์ให้คืนดีอย่างเดิม เรื่องนี้ฝรั่งเศสกำลังพากเพียรทำที่นครธม ราชบัณฑิตยสภาก็กำลังทำที่ปรางค์สามยอด เมืองลพบุรีดูแห่งหนึ่ง เพื่อจะให้รู้ว่าจะยากและสิ้นเปลืองสักเท่าใด แต่ถ้าว่าถึงเรื่องปฏิสังขรณ์แล้ว ประเทศเรามีภาษีอยู่อย่างหนึ่ง ด้วยมักมีบุคคลภายนอกศรัทธาบำเพ็ญกุศลในการปฏิสังขรณ์วัดวาอารามของโบราณ ซึ่งควรนับว่าช่วยรัฐบาลได้มาก แต่ในเรื่องนี้ทางเสียที่ต้องป้องกันก็มีอยู่ ด้วยในการปฏิสังขรณ์บางรายผู้ทำมักชอบรื้อหรือแก้ไขแบบอย่างของเดิมเปลี่ยนแปลงไปตามชอบใจตนจนเสียของโบราณ มีตัวอย่างปรากฏในมณฑลพายัพหลายแห่ง จนเมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จเลียบมณฑลนั้นทรงรำคาญ ได้พระราชทานพระราชทรัพย์โปรดให้ราชบัณฑิตยสภาอำนวยการปฏิสังขรณ์หอธรรมวัดพระสิงห์ให้คืนดี และคงตามแบบเดิมไว้เป็นเยี่ยงอย่างแก่ผู้อื่นแห่งหนึ่ง
ในเรื่องการปฏิสังขรณ์โบราณสถาน ราชบัณฑิตยสภาใคร่จะให้เทศาภิบาลคอยสอดส่องในความ ๓ ข้อที่จะกล่าวต่อไปนี้ คือ
ข้อ ๑. ถ้ามีผู้ศรัทธาจะปฏิสังขรณ์โบราณสถานที่สำคัญ ขอให้ชี้แจงแก่เขาให้ทำตามแบบเดิมอย่าให้เปลี่ยนแปลงรูปร่างและลวดลายไปเป็นอย่างอื่นเอาตามชอบใจ
ข้อ ๒. อย่าให้รื้อทำลายโบราณสถานที่สำคัญ เพื่อจะสร้างของใหม่ขึ้นแทน ข้อนี้มีเรื่องตัวอย่างจะยกมาแสดง เช่น ที่วัดพลับพลาชัยเมืองเพชรบุรี เดิมทีโบสถ์โบราณที่หน้าบันปั้นปูนเป็นภาพเรื่องพระพุทธประวัติ เมื่อเสด็จออกมหาภิเนษกรมณ์ งามน่าดูยิ่งนัก ใคร ๆ ไปเมืองเพชรบุรี แม้ที่สุดจนสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวงก็เสด็จไปยังวัดพลับพลาชัยเพื่อไปชมรูปภาพที่หน้าบันนั้น ครั้นถึงรัชกาลที่ ๖ เกิดไฟไหม้เมืองเพชรบุรี เมื่อ พ.ศ. ๒๔๕๘ วัดพลับพลาชัยถูกไฟไหม้ด้วย แต่ผนังโบสถ์กับรูปปั้นที่หน้าบันยังดีอยู่ ถึงสมัยนั้นข้าพเจ้าออกจากตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงมหาดไทยเสียแล้ว แต่เผอิญมีกิจไปเมืองเพชรบุรีก็ไปที่วัดพลับพลาชัยตามเคยไปได้ความว่าพวกชาวเมืองกำลังเรี่ยไรกันจะปฏิสังขรณ์ หัวหน้าทายกคนหนึ่งบอกข้าพเจ้าว่า โบสถ์เดิมเล็กนัก เขาคิดจะรื้อลงทำใหม่ให้ใหญ่โตกว่าเก่า ข้าพเจ้าได้ตักเตือนว่า โบสถ์เดิมนั้นมีลายปั้นที่หน้าบันเป็นสิริของวัด ไม่ควรจะรื้อลงทำใหม่ ถ้าประสงค์จะมีโบสถ์ให้ใหญ่โตก็ควรสร้างโบสถ์ใหม่ เอาโบสถ์เดิมไว้เป็นวิหารข้าพเจ้าสำคัญว่าเขาจะเชื่อก็วางใจ ต่อนานมาจึงทราบว่ามีผู้ถือตัวว่าเป็นช่างคนหนึ่งเข้าไปขันรับว่า จะปั้นรูปที่หน้าบันมิให้ผิดเพี้ยนของเดิมได้ พวกทายกกับพระสงฆ์หลงเชื่อ ก็ให้รื้อโบสถ์เดิมลงสร้างใหม่ ด้วยเห็นว่าจะเปลืองน้อย รูปภาพของเดิมก็เลยพลอยสูญ และเลยไม่มีใครชอบไปดูวัดพลับพลาชัยเหมือนแต่ก่อน เพราะภาพที่ปั้นขึ้นแทนเลวทรามรำคาญตาไม่น่าดูลาภพระสงฆ์วัดนั้นก็เห็นจะพลอยตกไปด้วย
ข้อ ๓. วัดโบราณที่ทำการปฏิสังขรณ์นั้นมักมีผู้ศรัทธาสร้างสิ่งต่าง ๆ เพิ่มเติมของโบราณดังเช่น สร้างพระเจดีย์ขนาดย่อม ๆ ขึ้นบรรจุอัฐิธาตุของญาติวงศ์ เป็นต้น ของที่สร้างเพิ่มเติมเช่นว่านี้ไม่ควรจะสร้างขึ้นในอุปจารใกล้ชิดกับของโบราณที่ดีงาม ด้วยอาจพาให้ของโบราณเสียสง่า และไม่เป็นประโยชน์แก่ผู้สร้าง เพราะฉะนั้นควรจะให้กะที่ไว้เสียส่วนหนึ่งในบริเวณวัดนั้นสำหรับให้สร้างของใหม่ ของนั้นจะได้อยู่ถาวรสมปรารถนาของผู้สร้าง การปฏิสังขรณ์วัดย่อมมีผู้เป็นหัวหน้าอำนวยการและมักเป็นพระภิกษุ ขอให้เทศาภิบาลชี้แจงข้อที่ควรระวังให้ทราบเสียแต่ก่อนลงมือปฏิสังขรณ์ ถ้าสงสัยหรือขัดข้องอย่างไรก็ควรรีบบอกมา ให้ราชบัณฑิตยสภาทราบ จะได้ป้องกันหรือเกื้อหนุนให้ทันการ ความเช่นนี้มีตัวอย่างจะยกมาแสดง เมื่อสักสองปีมาแล้ว มีผู้ศรัทธาจะปฏิสังขรณ์พระมหาธาตุหริภุญชัยที่เมืองลำพูน เห็นว่าแผ่นทองแดงที่หุ้มพระมหาธาตุมีชำรุดอยู่มาก จะขอลอกแผ่นทองแดงเสีย และใช้โบกปูนซีเมนต์แทนเจ้าพระยามุขมนตรีเมื่อยังเป็นพระยาราชนุกูลสมุหเทศาภิบาลมณฑลพายัพบอกมาหารือราชบัณฑิตยสภาห้ามไว้ทัน แผ่นทองแดงของโบราณอันมีชื่อผู้ถวายจารึกอยู่โดยมากจึงมิได้สูญเสีย..."
จะเห็นได้ว่าหลักการส่วนใหญ่ก็ยังไม่ได้เปลี่ยนแปลงไปกี่มากน้อย ที่ต่างกันจึงเป็นเพียงรายละเอียดที่เพิ่มขึ้นเพราะสมัยก่อนยังไม่มีวิชาการอนุรักษ์ (ศิลปกรรม/ศิลปวัฒนธรรม)ตัวอย่างที่ลอกมาเป็นอุทาหรณ์ จึงอาจเป็นเพียงข้อสังเกตและสำนึก ซึ่งเกิดจากการผูกพันกับมรดกวัฒนธรรมของท่านเหล่านั้น ซึ่งบังเอิญเหลือเกินที่พ้องกับแนวคิดในปัจจุบัน
อนุรักษ์กันอย่างไร
อนุรักษ์กันอย่างไร, อนุรักษ์กันอย่างไร หมายถึง, อนุรักษ์กันอย่างไร คือ, อนุรักษ์กันอย่างไร ความหมาย, อนุรักษ์กันอย่างไร คืออะไร
อนุรักษ์กันอย่างไร, อนุรักษ์กันอย่างไร หมายถึง, อนุรักษ์กันอย่างไร คือ, อนุรักษ์กันอย่างไร ความหมาย, อนุรักษ์กันอย่างไร คืออะไร
ร่วมเป็นแฟนเพจเรา บน Facebook..ได้ที่นี่เลย!!