ความรู้ เกร็ดความรู้ สารานุกรม สารานุกรมออนไลน์ ความรู้รอบตัว ความรู้ทั่วไป พจนานุกรม เกมส์ เพลงใหม่ เพลง

โรคระบบประสาท, โรคระบบประสาท หมายถึง, โรคระบบประสาท คือ, โรคระบบประสาท ความหมาย, โรคระบบประสาท คืออะไร
| เปิดอ่าน 0 | ความคิดเห็น 0
โรคระบบประสาท

          ระบบประสาทประกอบด้วยสมอง ไขสันหลังและกล้ามเนื้อ ระบบประสาทมีหน้าที่เกี่ยวข้องกับการเคลื่อนไหว   การพูด  ความนึกคิด  ความรู้สึก (เช่นเจ็บ สัมผัส) ความรู้สึกพิเศษ (เช่น การเห็น การได้กลิ่น การได้รส การได้ยิน)  การขับถ่ายต่างๆ (อุจจาระ  ปัสสาวะ  เหงื่อ  สิ่งขับหลั่งต่างๆ) รวมทั้งเกี่ยวข้องกับรีเฟล็กซ์ (reflex) ต่างๆ (เช่น การไอการกลืน) เป็นต้น          อาการปวดศีรษะเป็นอาการที่พบได้บ่อยที่สุดอาการหนึ่ง  และเป็นอาการซึ่งอาจชี้บ่งสาเหตุที่ร้ายแรงได้  แม้ว่าอาการปวดศีรษะจะมีความรุนแรงเพียงเล็กน้อยก็ตาม อาการปวดศีรษะเกิดขึ้นเนื่องจากมีการกระตุ้นต่ออวัยวะของศีรษะที่อาจเจ็บปวดได้  อวัยวะดังกล่าวที่สำคัญ ได้แก่ ผิวหนังของศีรษะ เนื้อเยื่อใต้ผิวหนัง  กลุ่มกล้ามเนื้อท้ายทอย ขมับและหน้าผากหลอดเลือดแดง โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลอดเลือดแดงใหญ่ๆ  ทั้งที่อยู่ภายในและนอกกะโหลกศีรษะ  เยื่อหุ้มกะโหลกศีรษะ  เยื่อหุ้มสมอง  โดยเฉพาะอย่างยิ่งเยื่อหุ้มบริเวณฐานสมองและเยื่อหุ้มสมองที่เป็นผนังของวีนัสไซนัสใหญ่ๆ ภายในกะโหลกศีรษะ ประสาทสมองและแขนงรากประสาท ซึ่งมีใยประสาทรับความรู้สึกเส้นประสาทสมองคู่ที่ ๕,๙,๑๐ และรากประสาทคอที่ ๑,๒,๓ เป็นต้น เป็นที่น่าสังเกตว่าตัวกระดูกของกะโหลกศีรษะ  เนื้อสมองและอวัยวะอื่นๆ ไม่มีการเจ็บปวดเมื่อได้รับการกระตุ้นโดยตรง    กลไกของการกระตุ้นอวัยวะที่อาจรับความรู้สึกเจ็บปวดได้ดังกล่าวมีหลายสาเหตุ เช่น การอักเสบ การกดโดยตรง การดึงหรือการทำให้บิดเบี้ยว การเปลี่ยนแปลงของขนาดของหลอดเลือดแดง และการระคายเคือง เป็นต้น

          อาการปวดศีรษะข้างเดียว อาการนี้บางทีเรียกว่า  โรคไมเกรน (migraine, hemicrania) เป็นโรคปวดศีรษะที่มีอาการเป็นพักๆ และมีสาเหตุจากความผิดปกติของหลอดเลือดแดง   ในผู้ป่วยที่มีอาการแสดงครบชุดจะปรากฏว่ามีอาการแสดงทางตาและอาการแสดงอื่นๆ ซึ่งแสดงว่ามีอาการผิดปกติในหน้าที่ของสมอง ร่วมกับอาการปวดศีรษะซีกเดียวและมีอาเจียนร่วมด้วย  โรคนี้เป็นโรคซึ่งพบได้บ่อยมาก โดยมากจะมีอาการเริ่มขึ้นในวัยหนุ่มสาว และมีอุบัติการสูงสุดในระหว่างอายุ ๓๐-๕๐ ปี
          ไมเกรนเป็นโรคซึ่งพบได้ทั้งในหญิงและชาย แต่กล่าวกันว่าพบได้บ่อยในหญิงมากกว่าชาย   นอกจากนี้ยังอาจมีประวัติของไมเกรนในครอบครัวได้ อาการของโรคนี้มีได้หลายระยะ คือ 
          อาการนำที่พบได้บ่อยที่สุด  ได้แก่อาการอ่อนเพลีย ง่วงนอน หรือมีอาการผิดปกติเกี่ยวกับลำไส้ เช่น ท้องร่วง ท้องอืด ท้องผูก อาการดังกล่าวเกิดขึ้นในวันที่ผู้ป่วยเริ่มมีอาการปวดศีรษะหรือก่อนมีอาการปวดศีรษะก็ได้ ผู้ป่วยอาจจะมีอาการที่มองเห็นเสมือนหนึ่งว่ามีใบไม้ไหว หรือแสงสว่างกะพริบ มีสีสว่างหรือสีอื่นๆ บางคนอาจให้ประวัติว่ามองเห็นจุดดำๆ อยู่ที่นัยน์ตาทั้งสองข้าง นอกจากนี้ ผู้ป่วยอาจมีอาการอื่นๆ เช่น อาการแสบ อาการชา อาการอ่อนแรงของแขนขา และอาการผิดปกติเกี่ยวกับการพูด เป็นต้น
          อาการปวดศีรษะเป็นอาการที่เด่นชัดที่สุดของโรคไมเกรน และมักเป็นอาการที่ทำให้ผู้ป่วยมาหาแพทย์  อาการปวดศีรษะมักจะเริ่มที่ข้างใดข้างหนึ่งของกะโหลกศีรษะ  เช่น  ที่บริเวณขมับแล้วค่อยๆ กระจายไปปวดที่บริเวณของศีรษะซีกนั้นทั้งหมด  บางครั้งบางคราวอาจจะมีอาการปวดทั่วศีรษะได้ ผู้ป่วยมักจะมีอาการกลัวแสงร่วมด้วย และมีอาการทางเวโซมอเตอร์ เช่น หน้าซีด  ตัวเย็น หน้าแดง ตาแดง คัดจมูกเมื่อหายจากอาการปวด ผู้ป่วยอาจมีอาการอ่อนเพลีย ไม่อยากทำงาน   อาการดังกล่าวอาจเป็นอยู่นานหลายนาที  จนถึงสองหรือสามวันได้
         การวินิจฉัยโรคอาศัยลักษณะของอาการที่ค่อนข้างเฉพาะของโรคนี้ อย่างไรก็ดี แพทย์จำเป็นต้องแยกโรคนี้จากผู้ป่วยที่มีอาการเหมือนไมเกรน ซึ่งอาจจะมีสาเหตุอย่างอื่นก็ได้
         การรักษา ผู้ป่วยที่มีอาการปวดแต่เพียงเล็กน้อยให้ยาแก้ปวดธรรมดา เช่น  แอสไพริน ในรายที่มีอาการรุนแรง อาจให้ยาเออร์โกทามีนทาร์เทรต (ergotamine tartrate) ซึ่งเป็นยาที่มีฤทธิ์ลดการขยายตัวของหลอดเลือดแดง นอกจากนี้เป็นการรักษาปัจจัยซึ่งอาจกระตุ้นให้มีอาการปวดได้ ส่วนผู้ป่วยที่มีอาการปวดรุนแรง    และปวดถี่แพทย์อาจให้ยาป้องกันอาการปวด เช่น พิโซทิเฟน (pizotifen) โพรพาโนลอล (propanolol)  เป็นต้น

           อาการปวดศีรษะจากความเครียด  อาการปวดศีรษะจากความเครียดเกิดขึ้นเนื่องจากมีการหดตัวเกินปกติของกล้ามเนื้อรอบศีรษะ  และกล้ามเนื้อบริเวณคอ โรคนี้เป็นโรคที่พบได้บ่อยมากโดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศไทย 
          อาการปวดศีรษะชนิดนี้มีลักษณะการปวดตื้อๆรอบๆ ศีรษะเสมือนหนึ่งมีผ้ามาบีบรัด  โดยที่บางครั้งอาจจะมีอาการมากที่บริเวณท้ายทอยหรือขมับทั้งสองข้างได้ การปวดมักจะเป็นมากในเวลาบ่ายหรือหลังจากได้ทำงานมาเป็นเวลานาน  ผู้ป่วยอาจมีอาการแสดงของความเคร่งเครียดร่วมด้วย  เช่น มีอาการคิ้วขมวดหน้าผากย่นหรือกัดฟันตลอดเวลา
          การวินิจฉัยโรคส่วนใหญ่อาศัยลักษณะประวัติของผู้ป่วยและการตรวจร่างกาย ซึ่งนอกจากอาการกดเจ็บข้างต้น  ผู้ป่วยมักไม่มีอาการผิดปกติในการตรวจร่างกายแต่อย่างใด
          การรักษาสำคัญประกอบด้วยการให้ยาระงับปวดในกรณีที่มีอาการปวดมากร่วมกับการให้ยาระงับประสาท

          อาการปวดศีรษะจากภาวะความดันภายในกะโหลกศีรษะสูงเกินปกติ อาการปวดศีรษะชนิดนี้เกิดขึ้นเนื่องจากมีความดันภายในกะโหลกศีรษะสูงเกินปกติ ทำให้มีการดึงการดัน หรือทำให้มีการเปลี่ยนที่ของอวัยวะที่อาจจะเจ็บปวดได้    สาเหตุของการเจ็บปวดชนิดนี้มีได้หลายประการเช่น เป็นเนื้องอกสมองเนื่องจากไฮโดรซีฟาลัสอุดกั้น(obstructive hydrocephalus) ผู้ป่วยมักมีอาการปวดตลอดศีรษะแต่อาจจะปวดมากที่บริเวณใดบริเวณหนึ่ง อาการปวดมักจะเป็นชนิดตื้อๆ และมักจะรุนแรงในเวลากลางคืนดึกๆ หรือเช้ามืด โดยที่ในเวลากลางวันการปวดศีรษะอาจทุเลาลง การปวดจะมีมากขึ้นเมื่อมีอาการไอ จาม หรือเบ่งอุจจาระ และอาจจะมีอาการปวดตุบๆร่วมด้วยได้ นอกจากนี้ยังอาจจะมีอาการอาเจียนถ้าอาการปวดศีรษะมีอาการรุนแรงมาก
          การรักษาที่สำคัญคือการรักษาตามสาเหตุที่ทำให้เกิดภาวะความดันภายในกะโหลกศีรษะสูงขึ้น  นอกจากนี้ ในรายจำเป็นรีบด่วนหรือหาสาเหตุไม่ได้ ก็มีการรักษาชั่วคราวเพื่อช่วยลดความดันภายในกะโหลกศีรษะสูงเกินปกติดังกล่าวได้หลายวิธี เช่น โดยการผ่าตัด เป็นต้น

          อาการปวดศีรษะที่มีสาเหตุทางจิตใจ อาการปวดศีรษะชนิดนี้มีสาเหตุทางจิตใจ มักพบในผู้ป่วยซึ่งมีลักษณะของโรคทางจิตเวชชนิดนิวโรซิส (neurosis)  ฮิสทีเรีย (hysteria) และโรคจิตซึมเศร้าเป็นต้น  ผู้ป่วยมักให้ประวัติการปวดศีรษะได้ละเอียดลออมากเกินความจริง  และถ้าแพทย์ซักประวัติโดยการแนะอาการ  ผู้ป่วยมักจะมีอาการนั้นๆทุกชนิด  การรักษาอาการปวดชนิดนี้จำเป็นต้องรักษาโรคทางจิตเวชซึ่งเกิดร่วมกับการปวดศีรษะนั้น          
          นอกจากการปวดศีรษะดังกล่าวแล้ว ยังมีการปวดศีรษะเนื่องจากสาเหตุอื่นๆอีก ดังนี้

          อาการปวดศีรษะจากโรคของอวัยวะเฉพาะที่ โรคที่เกิดขึ้นกับอวัยวะเฉพาะที่ของกะโหลก ศีรษะอาจทำให้มีอาการปวดศีรษะได้ง่าย  เช่น  การปวดศีรษะจากนัยน์ตา ดังจะเห็นได้ชัดจากผู้ป่วยที่มีความผิดปกติของสายตา (สายตาสั้น สายตายาวสายตาพร่าต่างแนว) ต้อหิน การปวดศีรษะจากจมูก และโพรงจมูก เช่น ในผู้ป่วยที่เป็นโรคโพรงจมูกอักเสบจากโรคกระดูกของกะโหลกศรีษะ เช่น การอักเสบของกระดูกของกะโหลกศีรษะ และจากโรคของหู เช่น หูชั้นกลางอักเสบ โพรงอากาศมาสทอยด์ (mastoid)อักเสบ เป็นต้น

          อาการปวดศีรษะจากประสาทสมองหรือรากประสาท ในกรณีที่ประสาทสมองหรือรากประสาทถูกกดทับหรืออักเสบ อาจทำให้มีอาการปวดไปตามบริเวณของผิวหนังที่เลี้ยงด้วยประสาทนั้นๆ ได้ เช่น ถ้ามีการอักเสบ    หรือมีการกดทับของประสาทสมองคู่ที่ ๕ไทรเจมินัส (trigeminus)  จะทำให้มีอาการแสบหรือปวดหรือชาของบริเวณศีรษะ ซึ่งถูกเลี้ยงโดยประสาทสมองคู่ที่ ๕ นี้

          อาการปวดศีรษะเนื่องจากการระคายเคืองต่อเยื่อหุ้มสมอง การปวดศีรษะชนิดนี้  ในภาวะที่มีการอักเสบของเยื่อหุ้มสมองมักมีการปวดศีรษะเป็นอาการสำคัญอาการปวดนั้นมักจะปวดทั่วศีรษะรวมทั้งท้ายทอยและบริเวณคอ และมักจะเป็นการปวดตื้อๆ ตลอดเวลาโดยที่อาการปวดจะมีมากขึ้นถ้ามีอาการไอ จาม  ผู้ป่วยอาจจะมีอาการกลัวแสงร่วมกับมีอาการคอแข็งทำให้ก้มศีรษะลำบาก

          อาการปวดศีรษะภายหลังภยันตรายต่อกะโหลกศีรษะ การปวดศีรษะชนิดนี้เป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มอาการที่เกิดขึ้นภายหลังภยันตรายต่อกะโหลกศีรษะ ซึ่งประกอบด้วยอาการปวดศีรษะ เวียนศีรษะ อาการไวต่อการกระตุ้นและความตั้งใจทำงานเสียไป อาการปวดศีรษะชนิดนี้มีลักษณะไม่แน่นอน แต่มักมีความสัมพันธ์กับท่าทางของร่างกาย 
          การรักษาอาการปวดศีรษะจากสาเหตุต่างๆ ดังกล่าวข้างต้น อาศัยหลักการรักษาทั่วๆไป  ได้แก่การรักษาสาเหตุ และในรายที่จำเป็นยังไม่ทราบสาเหตุอาจต้องให้การรักษาตามอาการก่อน เช่น การให้ยาระงับปวด เป็นต้น

          อาการหมดสติหรือโคม่า อาการหมดสติหรือหมดความรู้สติ  หรือโคม่า(coma) คืออาการที่ผู้ป่วยไม่สามารถจะตอบสนองต่อการกระตุ้นใดๆ  ไม่ว่าการกระตุ้นนั้นจะมีความรุนแรงหรือเจ็บปวดมากเพียงใดก็ตาม   ผู้ป่วยที่มีอาการในลักษณะนี้จะปรากฏว่า  รีเฟล็กซ์ต่างๆหายไป  เช่น  รีเฟล็กซ์เทนดอน (tendon reflex)  รีเฟล็กซ์แสงของ รูม่านตา และอาจจะมีอาการแสดงแบบบาบินสกี (Babinski's sign) ร่วมด้วยได้ ผู้ป่วยที่มีอาการสูญเสียความรู้สติยังไม่ถึงระดับหมดสติ   ซึ่งอาจเรียกว่า   อาการครึ่งรู้สติ  หมายถึงอาการที่ผู้ป่วยหมดความรู้สติชนิดไม่สมบูรณ์  กล่าวคือ ยังสามารถที่จะดึงแขนหรือขาออกไปเมื่อถูกหยิกหรือกระตุ้นให้เจ็บปวดอย่างรุนแรงได้รีเฟล็กซ์ต่างๆดังกล่าวข้างต้นก็ยังอาจจะมีอยู่
          สาเหตุของอาการหมดสติหรืออาการครึ่งรู้สติมีได้หลายสาเหตุ    คือ ภยันตรายต่อกะโหลกศีรษะโรคลมบ้าหมู โรคของหลอดเลือดของสมองพิษยาเยื่อหุ้มสมองและสมองอักเสบ   รอยโรคกินที่ภายในกะโหลกศีรษะ ความผิดปกติของต่อมไร้ท่อและเมแทบอลิซึม และฮิสทีเรีย 
          อาศัยประวัติและลักษณะทางคลินิก รวมทั้งการตรวจอาการแสดงของผู้ป่วย  ผู้ป่วยที่มีอาการหมดสติจากเบาหวานมักมีประวัติว่าเป็นเบาหวานหรือมีร่องรอยว่าผู้ป่วยเป็นเบาหวาน เช่น มียารักษาโรคเบาหวานติดตัว ผู้ป่วยที่มีอาการหมดสติเนื่องจากกินยาเกินขนาดอาจมีร่องรอยของยานั้น  หรือมียานั้นติดตัว หรือมีจดหมายซึ่งแสดงว่าผู้ป่วยกินยานั้นเพื่ออัตวินิบาตกรรมเป็นต้น
         การพยาบาลนับว่าเป็นส่วนสำคัญที่สุดในการรักษาผู้ป่วยที่มีอาการหมดสติ  ผู้ป่วยควรได้รับการพลิก  ตัวทุก   ๒ ชั่วโมงเป็นอย่างน้อย ทั้งนี้เพื่อป้องกันมิให้เกิดมีแผลนอนทับเกิดขึ้น นอกจากนี้ยังช่วยป้องกันมิให้เกิดมีโรคปอดบวมเนื่องจากนอนท่าเดียว

โรคระบบประสาท, โรคระบบประสาท หมายถึง, โรคระบบประสาท คือ, โรคระบบประสาท ความหมาย, โรคระบบประสาท คืออะไร

ร่วมเป็นแฟนเพจเรา บน Facebook..ได้ที่นี่เลย!!

บทความอื่น ของสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ เล่มที่ 10

สารานุกรมเล่มอื่นๆ

คำยอดฮิต

Sanook.commenu