ลักษณะผ้าไทยแต่ละประเภท
ลักษณะผ้าไทยแต่ละประเภท, ลักษณะผ้าไทยแต่ละประเภท หมายถึง, ลักษณะผ้าไทยแต่ละประเภท คือ, ลักษณะผ้าไทยแต่ละประเภท ความหมาย, ลักษณะผ้าไทยแต่ละประเภท คืออะไร
ผ้ากาสา เป็นผ้าดิบเนื้อหยาบ ไม่ได้ย้อมฝาดมีสีหม่นไม่ขาวทีเดียว คำว่า กาสา (Kassar) เป็นคำมลายู แปลว่า หยาบ
ผ้ากรองทอง เป็นผ้าที่ถักด้วยแล่งเงินหรือแล่งทอง ถักให้เป็นลวดลายต่อกันเป็นผืน ส่วน มากนำมาทำเป็นผ้าสไบ ใช้ห่มทับลงบนผ้าแถบ และผ้าสไบอีกทีหนึ่ง มักใช้แต่เฉพาะเจ้านายผู้หญิงชั้นสูง มีขนาดกว้างยาวเท่ากับผ้าสไบ ชายผ้าด้านกว้างปล่อยเป็นชายครุย
เมื่อต้องการให้ผ้ากรองทองมีความงดงามเพิ่มมากขึ้น นิยมนำปีกแมลงทับมาตัดเป็นชิ้นเล็กๆ เหมือนรูปใบไม้ และปักลงไปบนผ้ากรองทอง ในตำแหน่งที่คิดว่าจะสมมุติเป็นลายใบไม้
ผ้าเกี้ยว ผ้าคาดเอว มีทั้งผ้าลายพิมพ์ ผ้าไหม ฯลฯ
ผ้าขาวม้า เดิมเรียก ผ้ากำม้า เป็นผ้าประจำตัวของผู้ชาย ใช้เป็นทั้งผ้านุ่ง ผ้าเช็ดตัว ผ้าเคียนพุงและผ้าพาดไหล่ เป็นผ้าฝ้ายผืนยาวทอเป็นลายตาตาราง
ผ้าเขียนทอง ผ้าพิมพ์ลายอย่างดี เน้นลวดลาย เพิ่มความสวยงามด้วย การเขียนเส้นทองตามขอบลาย ผ้านี้เกิดขึ้นครั้งแรกสมัยรัชกาลที่ ๑ และใช้ได้เฉพาะพระมหากษัตริย์ลงมาถึงชั้นพระองค์เจ้าโดยกำเนิดเท่านั้น
ผ้าตาโถง ผ้าลายตาสี่เหลี่ยมหรือลายตาทแยงใช้เป็นผ้านุ่งของผู้ชายคล้ายผ้าโสร่ง
ผ้าตามะกล่ำ ผ้าตาเล็ดงา ผ้าตาสมุก ผ้าฝ้ายสีคล้ำมีลายเล็กๆ ใช้เป็นผ้านุ่ง
ผ้าบัวปอก ผ้าฝ้ายเนื้อหยาบ ชาวบ้านใช้ โดยเฉพาะผู้หญิงใช้เป็นผ้านุ่ง
ผ้าปักไหม เป็นผ้าที่ใช้กันในบรรดาเจ้านายชั้นสูง มีทั้งผ้านุ่ง ผ้าห่ม ซึ่งใช้ห่มทับสไบ ผ้าปูลาดและผ้าห่อเครื่องทรง ส่วนมากใช้ผ้าไหมพื้นเนื้อดีปักลวดลายด้วยไหมสีต่างๆ ทั้งผืน การปักไหมนี้ถ้าใช้ไหมสีทองมากก็เรียกว่า ผ้าปักไหมทอง
ผ้าปูม (มัดหมี่) ผ้าปูม หรือปัจจุบันทราบกันในชื่อมัดหมี่ ในประเทศไทยมีผลิตมากทั้งผ้าไหมและผ้าฝ้าย โดยเฉพาะในภาคตะวันออกเฉียงเหนือส่วนล่างแทบทุกจังหวัด
ผ้าปูมนี้เดิมเป็นผ้าส่วยของหลวงมาจากเมืองเขมรที่ใช้พระราชทานเป็นเครื่องยศขุนนางเดิมไทยเรามีโรงไหมของหลวงทอผ้าสมปักปูมและสมปักเชิงกรวยพระราชทาน ทอด้วยไหมเพลาะ กลางผืนผ้าเป็นลายสีต่างๆ ใช้ตามยศตามเหล่า มีสมปักปูมเป็นชนิดสูงสุด สมปักริ้วเป็นชนิดต่ำสุด ดังนั้นผ้าปูมคงหมายถึงเฉพาะผ้าสมปักปูมนั่นเอง อันเป็นของหายากมาก
ลักษณะการทอและรูปแบบของผ้ามัดหมี่นี้พบว่าเป็นเทคนิคที่มีอยู่ทั่วโลกในประเทศที่มีอารยธรรมโบราณ ไม่ว่าจะเป็นประเทศในทวีปเอเชีย ทั้งจีน อินเดีย อินโดนีเซีย หรือในทวีปยุโรปและแอฟริกาด้วย ซึ่งจัดเป็นเทคนิคที่มีต้นกำเนิดที่น่าสนใจยิ่ง
ผ้าเปลือกไม้ เป็นผ้าที่ทอจากใยที่ทำจากเปลือกไม้ ซึ่งมีมาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์และเข้าใจว่าคงจะทอใช้เรื่อยมาจนครั้งรัชกาลที่ ๑ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ส่วนมากพวกนักพรตใช้นุ่งห่มคล้ายกับผ้าคากรอง
ผ้าพิมพ์ในสมัยอยุธยา เรามีช่างผลิตหรือเขียนลายบนผ้าอยู่แถววัดขุนพรหม และน่าจะมีการสั่งทำจากอินเดียด้วย ในสมัยรัตนโกสินทร์มีหลักฐานว่า สั่งทำผ้าพิมพ์หรือผ้าลายจากอินเดียตามแบบลายไทยที่สั่งไป เช่น ลายพุ่มข้าวบิณฑ์พรหมก้านแย่ง เทพนมก้านแย่ง และกินรีรำ เป็นต้น เรียกว่า ลายอย่าง ต่อมาทางอินเดียคิดทำผ้าพิมพ์เองโดยเขียนขึ้นตามลายไทย เพื่อส่งมาขายในอยุธยา แต่ลายที่อินเดียเขียนขึ้นนั้นเป็นลายแปลงของอินเดียผสมลายไทย เรียกลายนอกอย่าง
ผ้ายก ไทยเราผลิตผ้ายกได้ดีทั้งยกไหมและยกดิ้น ปรากฏทั้งในภาคเหนือ เช่น เชียงใหม่ ลำพูน และในภาคใต้ เช่นที่นครศรีธรรมราช และที่พุมเรียง อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี คำว่ายก มาจากการเรียกกระบวนทอ เวลาทอเส้นด้ายหรือไหมที่เชิดขึ้นเรียกว่า เส้นยก เส้นด้ายหรือไหมที่จมลงเรียกว่า เส้นข่ม แล้วพุ่งกระสวยไปในระหว่างกลาง ถ้าจะให้เป็นลาย เลือกยกเส้นข่มขึ้นบางเส้น ก็เกิดลายยกขึ้น จึงเรียกว่าผ้ายก
ผ้าลาย ถ้าหมายถึง ผ้าที่มีลวดลายแล้ว กล่าวว่าเดิมมีกระบวนการทำอยู่ ๔ วิธี คือ ลายปัก ลายปูม ลายยก และลายพิมพ์
ผ้าสมปัก ผ้านุ่งพระราชทานให้ขุนนางตาม ตำแหน่งใช้เป็นเครื่องแบบมาก่อนสมัยพระบาท-สมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๕ จะใช้เฉพาะในเวลาเข้าเฝ้าหรือในพระราชพิธี เป็นผ้าทอด้วยไหมเพลาะกลางผืนผ้าเป็นสีและลายต่างๆสมปักมีหลายชนิด ได้แก่ "สมปักปูม" ถือว่าเป็นชนิดดีที่สุด "สมปักล่องจวน" เป็นสมปักที่ทอเป็นรอยยาว เป็นสมปักชนิดท้องพื้นมีเชิงลาย นอกจากนี้มี "สมปักลาย" และ "สมปักริ้ว"ซึ่งเป็นผ้าสามัญที่พวกเจ้ากรมปลัดกรมนุ่งเท่านั้นมิใช่เป็นของพวกขุนนางชั้นผู้ใหญ่
ผ้าสมรดหรือสำรด เป็นผ้าคาดทับเสื้อครุยในงานพระราชพิธีของขุนนางชั้นสูง หรือเรียกว่าผ้าแฝง ทำด้วยไหมทองถักโปร่งๆ บางๆ คล้ายผ้ากรองทอง แต่โปร่งและบางกว่ามาก บางทีหมายถึง ผ้าคาดเอวที่ทำด้วยผ้าตาดทองปักดิ้นปักปีกแมลงทับ เป็นลวดลายดอกไม้เครือเถา เดิมก่อนรัชกาลที่ ๕ ไม่มีการแต่งกายไว้ทุกข์ด้วยสีดำ ในงานพระเมรุใหญ่ๆ เจ้านายและขุนนางจึงนุ่งสมปักลายสีต่างๆ คาดทับเสื้อครุย พวกที่ไม่มีหน้าที่แห่เสด็จจะทำผ้าคาดย่อ คือ คาดแต่สมรดเป็นทีว่าได้คาดเสื้อครุย เรียกว่าผ้าแฝง แต่ผู้มีหน้าที่แห่เสด็จต้องคาดเสื้อครุยจริง เวลาเข้าริ้วขบวนก็เอามาสวม แต่ถ้าอยู่นอกริ้วขบวนจะถอดเสื้อครุยออกแล้วคาดสมรด เสื้อครุยมีวิธีการใช้อยู่ ๓ วิธี คือ เวลาอยู่ในหน้าที่จะสวมเสื้อครุยทั้งสองแขน ถ้าอยู่นอกหน้าที่เอาออกมาม้วนคาดพุง แต่ถ้าสวมแขนเดียวอีกแขนหนึ่งพาดเฉียงบ่าแสดงว่าอยู่ในหน้าที่เข้ากรม
ผ้าสุกุลพัสตร์ เป็นผ้าขาวเนื้อละเอียดชนิดดีมีในสมัยสุโขทัย
ผ้าไหม ผ้าอย่างดีทอด้วยไหม มีทั้งแบบเรียบยกดอก และเป็นลวดลาย
ดูเพิ่มเติมเรื่องหัตถกรรมพื้นบ้าน เล่ม ๑๓
ลักษณะผ้าไทยแต่ละประเภท, ลักษณะผ้าไทยแต่ละประเภท หมายถึง, ลักษณะผ้าไทยแต่ละประเภท คือ, ลักษณะผ้าไทยแต่ละประเภท ความหมาย, ลักษณะผ้าไทยแต่ละประเภท คืออะไร
ร่วมเป็นแฟนเพจเรา บน Facebook..ได้ที่นี่เลย!!