ความรู้ เกร็ดความรู้ สารานุกรม สารานุกรมออนไลน์ ความรู้รอบตัว ความรู้ทั่วไป พจนานุกรม เกมส์ เพลงใหม่ เพลง

วัตถุดิบอาหารสัตว์, วัตถุดิบอาหารสัตว์ หมายถึง, วัตถุดิบอาหารสัตว์ คือ, วัตถุดิบอาหารสัตว์ ความหมาย, วัตถุดิบอาหารสัตว์ คืออะไร
| เปิดอ่าน 0 | ความคิดเห็น 0
วัตถุดิบอาหารสัตว์

          ประเทศไทยมีวัตถุดิบอาหารสัตว์จากพืชสัตว์ และโรงงานอุตสาหกรรมบางประเภทเป็นจำนวนมาก  ตัวอย่างวัตถุดิบอาหารสัตว์ที่สำคัญๆ มีดังนี้

          รำข้าว เป็นผลพลอยได้จากการสีข้าวเปลือก ประกอบด้วยวัตถุหุ้มผิวข้าวสารปนแกลบ รำหยาบมีแกลบปนมากถึงร้อยละ  ๖๐  ส่วนรำละเอียดมีแกลบปนน้อยมาก  มีคุณค่าอาหารสูง  มีวิตามินมากกว่าข้าวสารแท้ๆ รำละเอียด เป็นอาหารสัตว์ที่สำคัญยิ่ง ใช้เลี้ยงสัตว์ได้ทุกชนิดใช้มากในอาหารโค สุกร และไก่ ในรำข้าวมีน้ำมัน ประมาณร้อยละ ๑๔-๑๘ มีการสกัดน้ำมันรำเพื่อใช้ในอุตสาหกรรม  กากที่สกัดน้ำมันออกแล้วใช้เลี้ยงสัตว์ได้ดีเช่นกัน

          ปลายข้าว เป็นผลพลอยได้จากการสีข้าวเปลือก  คือ เศษเมล็ดข้าวสารที่แตกหักเป็นชิ้นเล็กๆ มีคุณค่าอาหารสูง ให้พลังงานมาก กากน้อย ใช้เป็นอาหารประเภทพลังงาน ส่วนมากใช้เป็นอาหารสุกร เป็ด ไก่ และโคนม

          ฟางข้าว   เป็นส่วนของต้นข้าวซึ่งแก่เต็มที่หลังจากนวดเมล็ดออกแล้ว ใช้เป็นอาหารหลักของโคกระบือในชนบท  มีคุณค่าอาหารต่ำ มีกากเยื่อใยมาก ย่อยยาก แต่ก็สามารถปรับปรุงคุณภาพได้ โดยการหมักน้ำยูเรีย ใช้ยูเรียร้อยละ ๖ ละลายน้ำพรมให้ทั่วแล้วคลุมด้วยแผ่นพลาสติกป้องกันมิให้อากาศเข้า หมักไว้  ๒๑  วัน  นำออกใช้เลี้ยงโคกระบือได้ การหมักทำให้ย่อยง่าย  นอกจากนั้นอาจเพิ่มคุณภาพโดยให้สัตว์กินร่วมกับใบพืชสกุลถั่ว เช่น กระถิน ใบแคและถั่วอื่นๆ เป็นการเพิ่มโปรตีนและการย่อย

          เมล็ดข้าวโพด ใช้พันธุ์สำหรับเลี้ยงสัตว์    โดยเฉพาะ เช่น พันธุ์สุวรรณ ๑ ซึ่งเป็นพันธุ์ที่ผสมและคัดเลือกโดยศูนย์วิจัยข้าวโพดและข้าวฟ่างแห่งชาติ  เมล็ดข้าวโพดให้สารอาหารประเภทพลังงาน ประเทศไทยผลิตได้เพียงพอกับความต้องการและเหลือส่งขายในต่างประเทศด้วย การใช้เลี้ยงสัตว์ต้องบดหรือป่นเสียก่อน เพื่อให้ย่อยง่าย นอกจากนั้นเราผลิตข้าวโพดหวานเป็นอาหารมนุษย์ เมล็ดข้าวโพดกลุ่มนี้มีความหวานกว่าพันธุ์ที่ใช้เลี้ยงสัตว์  หลังจากเก็บฝักแล้ว ต้นยังเขียวสดใช้เป็นอาหารโคกระบือได้ดี  นอกจากนั้นมีการปลูกข้าวโพดเพื่อเก็บฝักอ่อนจำหน่ายแก่โรงงานอาหารกระป๋อง บรรจุกระป๋องส่งขายต่างประเทศ ข้าวโพดฝักอ่อนใช้พันธุ์ข้าวโพดหวานบางพันธุ์เก็บฝักขณะยังอ่อนๆ อายุประมาณ ๔๕ วันเท่านั้น ดังนั้นต้นและใบจึงยังเขียวสดและอ่อนเหมาะกับการใช้เลี้ยงโคกระบือ ในระยะตั้งแต่พ.ศ. ๒๕๒๘ เกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมในเขตจังหวัดนครปฐม  ราชบุรี และสระบุรี ใช้เศษต้นและเศษเปลือกข้าวโพดฝักอ่อนเลี้ยงโคนมอย่างเป็นล่ำเป็นสัน มีการซื้อขายกันโดยคิดราคา  ๔๐๐ บาทต่อไร่ต่อการเก็บเกี่ยว ๑ ครั้ง ต้นข้าวโพดฝักอ่อนมีคุณค่าอาหารสูง โคชอบกิน

          เมล็ดข้าวฟ่าง เป็นวัตถุดิบอาหารสัตว์ประเภทให้พลังงานเช่นเดียวกับข้าวโพด แต่มีสารแทนนินสูง ทำให้รสชาติอาหารไม่ดี ใช้เป็นอาหารโค ไก่ และสุกร ต้นข้าวฟ่างใช้เป็นอาหารโคกระบือได้ แต่ต้องเก็บเกี่ยวเมื่อเริ่มติดดอกติดเมล็ดแล้ว หากใช้ต้นอ่อนเลี้ยงสัตว์จะเป็นอันตรายทำให้สัตว์ตายได้  เนื่องจากมีสารพิษไฮโดรไซยานิก

          หัวมันสำปะหลัง หัวมันเป็นอาหารที่ให้พลังงานสูง มีโปรตีนและแร่ธาตุต่ำ ดังนั้นในสูตรอาหารที่มีหัวมันผสมมากจะต้องผสมอาหารประเภทให้โปรตีนให้พอเหมาะด้วย ใช้เลี้ยงสัตว์ได้ทุกชนิด  แต่เรานิยมใช้ผสมอาหารโคและสุกรหัวมันสำปะหลังที่ใช้เป็นอาหารสัตว์ ต้องหั่นตากแห้ง ป้องกันการบูดเน่า อาจเก็บไว้ใช้ในรูปหัวมันหั่น เรียกว่า มันเส้น หรือทำเป็นมันอัดเม็ด หัวมันสดมีสารพิษไฮโดรไซยานิกมาก ก่อนใช้เลี้ยงสัตว์ จะต้องตากแดดเพื่อให้สารชนิดนี้ลดปริมาณลง ประเทศไทยผลิตมันสำปะหลังได้ปีละ ๑๕ ล้านต้นและส่งออกจำหน่ายในต่างประเทศ เช่น ในประเทศยุโรปปีละ ๕ ล้านตันใบมันสำปะหลัง มีสารโปรตีนสูงใช้เป็นอาหารโคกระบือได้ดี แต่จะต้องผึ่งแดดเพื่อลดสารไฮโดรไซยานิกก่อน เพื่อป้องกันอันตรายต่อสัตว์

          กากถั่วเหลืองและกากถั่วลิสง เป็นของเหลือจากการสกัดน้ำมันจากเมล็ดถั่ว เป็นแหล่งอาหารโปรตีนมีสารโปรตีนเกินร้อยละ ๔๐ ใช้เลี้ยงสัตว์ได้ทุกชนิด กากถั่วถ้าเก็บรักษาไม่ดีมีความชื้นสูง จะทำให้ขึ้นราและเกิดพิษจากสารอะฟลาท็อกซินได้ ปัจจุบันเราผลิตถั่วเหลืองไม่เพียงพอ ต้องสั่งเข้าจากต่างประเทศปีละประมาณสามแสนตัน เถาถั่วแห้งทั้งสองชนิดใช้เป็นอาหาร โคกระบือได้ดี ในภาคเหนือเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนมรับซื้อเถาถั่วแห้งไว้ใช้เลี้ยงโคนมและนิยมกันมาก กากน้ำเต้าหู้จากถั่วเหลืองใช้เป็นอาหารสัตว์ได้ดีเช่นกัน

          ถั่วเขียว ไม่ใช้เป็นอาหารสัตว์ใหญ่เพราะราคาแพงแต่ใช้ผสมอาหารนก เถาถั่วเขียวใช้เลี้ยงโคกระบือได้ ปัจจุบันปลูกกันไม่มากและราคาแพง

          กากเมล็ดฝ้าย
ได้จากเศษเหลือของเมล็ดฝ้ายสกัดน้ำมัน มีโปรตีนประมาณร้อยละ ๒๘ ใช้เป็นอาหารโปรตีนเลี้ยงโค สุกร ไก่ แต่มีสารพิษเรียกว่า กอสซิปอล (gosypol) เป็นพิษต่อสุกรและไก่  นอกจากนั้นมีกากเมล็ดนุ่น กากงา กากเมล็ดปาล์มน้ำมัน  กากยางพารา และกากมะพร้าวซึ่งเป็นสารเหลือจากการสกัดน้ำมัน ใช้เป็นอาหารสัตว์ได้ดี โดยผสมกับวัตถุดิบอื่นๆ

          เศษสับปะรด
เป็นเศษเปลือกและไส้สับปะรดจากโรงงานสับปะรดกระป๋อง ใช้เป็นอาหารโคนม โคเนื้อ (โคขุนพิเศษ) กระบือได้ดี โดยนำมาหมักทิ้งไว้  ๑-๒  สัปดาห์ เพื่อลดความเปรี้ยวใช้เลี้ยงโคควบคู่กับอาหารข้น มีโปรตีนร้อยละ ๓.๑ กากร้อยละ ๑๓.๘ ใน พ.ศ. ๒๕๓๐ เกษตรกรผู้ขุนโคในเขตอำเภอชะอำ  และหัวหิน ซื้อเศษสับปะรดในราคาประมาณตันละสองร้อยบาทแสดงว่าเศษสับปะรดกลายเป็นของมีค่าสำหรับการเลี้ยงโค ระหว่าง พ.ศ. ๒๕๒๘-๒๕๓๑  บริษัทสับปะรดกระป๋องแห่งหนึ่งในเขตอำเภอหัวหินเลี้ยงโคขุนปีละ ๑,๐๐๐ ตัว โดยใช้เศษสับปะรดจากโรงงานของตนเองเป็นอาหารหลักเสริมด้วยอาหารข้นเท่าที่จำเป็น

          ปลาป่น ผลิตจากปลาทะเลที่ไม่เหมาะที่จะใช้เป็นอาหารมนุษย์ โดยนำปลามาอบแห้งและป่นใช้ผสมเป็นอาหารโปรตีน มีโปรตีนสูงและคุณภาพดี ใช้เลี้ยงสัตว์ได้ทุกชนิด ราคาแพงเราผลิตได้พอใช้ สำหรับอาหารกุ้งต้องใช้ปลาป่นที่มีโปรตีนสูงกว่าร้อยละ ๖๐ แต่เรายังผลิตได้ไม่ดีพอ จึงต้องสั่งเข้ามาจากต่างประเทศ

          เปลือกหอยและกระดูกสัตว์ ให้สารอาหารประเภทแร่ธาตุ เปลือกหอยให้ธาตุแคลเซียม กระดูก ให้ธาตุแคลเซียมและฟอสฟอรัสซึ่งจำเป็นสำหรับการเจริญเติบโตของสัตว์ ทั้งเปลือกหอยและกระดูกใช้ป่นให้ละเอียดนำไปผสมกับวัตถุดิบอื่นๆ ในสูตรอาหาร

          กากน้ำตาล เป็นของเหลวพลอยได้จากโรงงานน้ำตาล เป็นอาหารประเภทให้พลังงานมีรสหวาน โปรตีนต่ำประมาณร้อยละ ๓ ใช้ผสมกับอาหารแร่ธาตุหรือฟางข้าว หรืออาหารผสม นอกจากนั้นใช้ในการทำหญ้าหมัก เพื่อถนอมอาหารสัตว์ โดยใช้ประมาณ ๓๐ กิโลกรัมต่อหญ้า ๑,๐๐๐ กิโลกรัม

          ยอดอ้อย เป็นผลพลอยได้จากการตัดอ้อยส่งโรงงานน้ำตาล ประกอบด้วยใบและยอดอ่อนของต้นอ้อย เป็นอาหารหยาบชนิดหนึ่งใช้เลี้ยงโคกระบือ มีโปรตีนต่ำประมาณร้อยละ ๓  กากร้อยละ ๑๓.๔ เมื่อขณะยังสดความชื้นร้อยละ ๖๒.๓ ใช้เลี้ยงโคได้ทั้งยอดสดหรือแปรรูปเป็นหญ้าหมัก

          ใบกระถินป่น ทำได้โดยเก็บใบกระถินมาตากแห้ง ๒-๓ วันแล้วนำไปป่นใช้ผสมอาหารไก่และสุกร ในอัตราไม่เกิน ๕ ส่วนต่ออาหาร ๑๐๐ ส่วน ส่วนในโคกระบือใช้ได้ถึง ๔๐ ส่วนเป็นแหล่งอาหารโปรตีนและวิตามิน แต่มีสารพิษปนอยู่ด้วย ชื่อว่าสารมิมโมซีน และดีเอชพี มีพิษต่อไก่และสุกรอย่างรุนแรง ทำให้ขนร่วงกระทบต่อระบบสืบพันธุ์ ในโค กระบือ และม้า ทำให้ขนร่วงสุขภาพทรุดโทรม  ต่อมไทรอยด์บวมอาการนี้เกิดได้ในกรณีให้กินมากและเป็นเวลานาน

          เศษมะเขือเทศ ได้จากโรงงานผลิตซอสและน้ำมะเขือเทศ เช่น ที่อำเภอศรีเชียงใหม่ จังหวัดหนองคาย และที่จังหวัดสกลนคร  เกษตรกรใกล้โรงงานและเจ้าของโรงงานเองใช้เศษมะเขือเทศ เลี้ยงโค โคชอบกิน ใช้เลี้ยงเสริมอาหารข้นและหญ้า

          กากข้าวมอลต์  ได้จากต้นข้าวบาร์เลย์ต้นอ่อนๆ หลังจากเมล็ดงอกสามวัน  ซึ่งใช้ในการหมักเชื้อผลิตเบียร์ เหลือเป็นกากประกอบด้วยรากอ่อน ต้นอ่อน  ขนาดต้นถั่วงอก กากข้าวมอลต์ มีคุณค่าอาหารสัตว์สูง  ย่อยง่าย มีโปรตีนร้อยละ ๑๕.๓ เมื่อตากแห้งแล้วให้พลังงาน ๔.๗ กิโลแคลอรีต่อกรัม โคชอบกิน  ใช้ผสมกับอาหารข้น เลี้ยงสัตว์ได้หลายประเภท  เช่น  โคเนื้อ โคนม บริษัทบุญรอดบริวเวอรี่  จำกัด นำมาปลูกครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๗ เพื่อใช้ในการผลิตเบียร์  ปัจจุบันบริษัทได้ใช้กากมอลต์ขุนโค และเป็นอาหารโคนมของบริษัทด้วย

         ทุ่งหญ้าเลี้ยงสัตว์ ประกอบด้วยหญ้าและถั่วล้มลุกพันธุ์พื้นเมือง หรือพันธุ์ดีจากต่างประเทศ ซึ่งเหมาะสมกับท้องถิ่น  ปรากฏประวัติการนำพันธุ์หญ้าต่างประเทศเข้ามาตั้งแต่  พ.ศ. ๒๔๗๒ โดยนำมาจากประเทศมาเลเซีย  มีหญ้าเนเปียร์หญ้ามอริชัสและหญ้ากินนี  ซึ่งยังคงใช้ได้ดีทุกวันนี้ ต่อมาได้มีการนำพันธุ์ต่างๆ เข้ามามากกว่า ๒๐๐ ชนิด พันธุ์ที่แนะนำให้ใช้ในปัจจุบันมีหญ้าบัฟเฟิล  ซิกแนล  ซอกัม เฮมิล กินนี เนเปียร์ รูซี ถั่วฮามาตา ถั่วสไตโล ถั่วลาย และกระถิน เป็นต้น
          พืชพื้นเมืองที่แนะนำให้ปลูกเลี้ยงสัตว์มีต้นแค ทองหลาง ถั่วแระต้น และแคฝรั่ง โดยให้ตัดกิ่งใบใช้เป็นอาหารเสริมโปรตีนสำหรับโค กระบือ แพะ และแกะ

          การทำทุ่งหญ้าเลี้ยงสัตว์ อาจทำเป็นทุ่งปล่อยสัตว์แปลงใหญ่ มีรั้วล้อม  แบ่งเป็นแปลงเล็กๆ หรือทำแบบหญ้าสวนครัว ใช้พื้นที่เล็กน้อยใกล้บ้านเรือนหรือไร่นา สำหรับเก็บเกี่ยวให้สัตว์กิน ไม่ปล่อยสัตว์ลงแทะเล็ม นอกจากมีทุ่งหญ้าธรรมชาติในท้องที่ต่างๆ ประกอบด้วยหญ้าพื้นเมืองหลายชนิด เช่น ทุ่งเลี้ยงสัตว์สาธารณะ 
          ปัจจุบันมีการเลี้ยงโคนมกันอย่างแพร่หลายทำให้มีความต้องการเมล็ดพันธุ์หญ้าเพิ่มขึ้น กรมปศุสัตว์ส่งเสริมให้เกษตรกรรายย่อยปลูกหญ้าเก็บเมล็ดจำหน่ายเป็นรายได้เสริมใน พ.ศ. ๒๕๓๑ เกษตรกรขายเมล็ดหญ้ารูซีกิโลกรัมละ  ๕๐  บาท และเมล็ดถั่วฮามาตากิโลกรัมละ ๓๖ บาท  มีเกษตรกรร่วมโครงการนี้กว่า  ๓,๒๐๐ ราย เกษตรกรเหล่านี้มีอาชีพหลักคือ การปลูกข้าว ปลูกมัน พืชไร่ ส่วนการปลูกหญ้าจำหน่ายเมล็ดเป็นอาชีพเสริมเพิ่มรายได้  และยังได้เศษหญ้าเป็นอาหารโคกระบือ อีกด้วย

วัตถุดิบอาหารสัตว์, วัตถุดิบอาหารสัตว์ หมายถึง, วัตถุดิบอาหารสัตว์ คือ, วัตถุดิบอาหารสัตว์ ความหมาย, วัตถุดิบอาหารสัตว์ คืออะไร

ร่วมเป็นแฟนเพจเรา บน Facebook..ได้ที่นี่เลย!!

บทความอื่น ของสารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ เล่มที่ 14

สารานุกรมเล่มอื่นๆ

คำยอดฮิต

Sanook.commenu