เมื่อได้มีการพัฒนาเครื่องคอมพิวเตอร์เจริญขึ้นมากจนกระทั่งสามารถนำไปใช้ในกิจการทางธุรกิจได้แล้ว จึงมีการจัดลำดับเครื่องคอมพิวเตอร์ออกเป็นรุ่นดังต่อไปนี้
ยุคของเครื่องคอมพิวเตอร์รุ่นที่ ๔ เริ่มขึ้นใน พ.ศ.๒๕๑๓ แม้จะมีเทคโนโลยีก้าวหน้าขึ้นเรื่อยๆ แต่ก็ยังไม่เด่นกว่ายุคของเครื่องคอมพิวเตอร์รุ่นที่ ๓ มากนัก นอกจากจะมีการสร้างเครื่องคอมพิวเตอร์ขนาดใหญ่ที่สามารถทำงานได้ด้วยอัตราเร็วสูงขึ้นเท่านั้น จึงยังไม่สิ้นสุดยุคของคอมพิวเตอร์รุ่นที่ ๔ แม้ว่าจะล่วงเลยระยะเวลา ๖ ปีมาแล้ว โดยมีการพัฒนาต่างๆ ดังต่อไปนี้
วงจรเบ็ดเสร็จขนาดจิ๋ว (microscopic integrated circuits) โดยเทคโนโลยีระบบก้อนเดียวหรือเอ็มเอสที(monolithic system technology; MST) ซึ่งบรรจุวงจรจำนวนมากลงบนแผ่นชิป (chip) เล็กๆที่ผลิตขึ้นมาจากแผ่นซิลิคอนเล็กๆ รูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสขนาด ๑๘ ตารางนิ้ว มีชิ้นส่วนทางอิเล็กทรอนิกส์บรรจุอยู่แผ่นละ ๑,๔๐๐ สมาชิก (บนแผ่นชิพเล็กๆ นี้มีจำนวนวงจรมากกว่าแผ่นชิพที่ใช้กับคอมเตอร์ยุคที่ ๓ ถึง ๘ เท่า) และบรรจุแผ่นเล็กๆ นี้ลงในก้อนพลาสติกแข็ง เล็ก และมีขาต่อยื่นออกมาไม่กี่ขา ซึ่งได้นำมาใช้ในไอบีเอ็มระบบ/๓๗๐ สามารถทำงานได้เร็วกว่าระบบ/๓๖๐ หลายเท่า
ความก้าวหน้าที่น่าประทับใจมากที่สุด คือ ไอบีเอ็มระบบ/๓๗๐ โมเดล ๑๔๕ ซึ่งเป็นเครื่องคอมพิวเตอร์ขนาดกลางที่นำวงจรเบ็ดเสร็จชนิดใหญ่หรือแอลเอสไอ (LSI;large-scale integration) มาใช้เป็นวงจรอิเล็กทรอนิกส์และส่วนความจำของคอมพิวเตอร์เป็นเครื่องแรก วงจรแอลเอสไอของคอมพิวเตอร์เป็นสิ่งประดิษฐ์ที่เล็กกว่าเอ็มเอสที โดยใช้แผ่นซิลิคอนสี่เหลี่ยมจัตุรัสขนาด ๑๑๐ ตารางนิ้ว สามารถบรรจุวงจรอิเล็กทรอนิกส์ได้สูงถึง ๑๐,๐๐๐สมาชิก กินกำลังไฟฟ้าเลี้ยงวงจรน้อยลง และทำงานได้รวดเร็วมาก โดยเครื่องอิลลิแอ็ก ๔ (ILLIAC IV) ของบริษัทเบอร์โร สร้างขึ้นด้วยวงจรแอลเอสไอ สามารถทำงานได้เร็วเท่ากับเครื่องคอมพิวเตอร์รุ่นที่ ๓ ช่วยกันทำ ๑๒๘เครื่อง
ในเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๑๔ บริษัทอินเทล (Intel Corporation) ได้ผลิตโพรเซสเซอร์ (microprocessor) เล็กๆ เบอร์ ๔๐๐๔ ขึ้นมาเป็นครั้งแรก และยังได้ผลิตรอม (read-only memory; ROM) เบอร์ ๔๐๐๑ และแรม (random-access memory; RAM) เบอร์ ๔๐๐๒ มาใช้ประกอบในการสร้างคอมพิวเตอร์ ในตอนแรกโพรเซสเซอร์ ๔๐๐๔ ไม่ได้ทำให้อุตสาหกรรมคอมพิวเตอร์ตื่นเต้นเนื่องจากมีความยาวข้อมูล ๔ บิต และมีอัตราเร็วในการทำงานช้ามาก ต่อมาใน พ.ศ. ๒๕๑๘ ได้มีการประดิษฐ์วงจรเบ็ดเสร็จชนิดใหญ่มาก หรือวีแอลเอสไอ (VLSI;very-large-scale-integration) ขึ้นได้ โดยวงจรนี้จะบรรจุวงจรอิเล็กทรอนิกส์ลงบนแผ่นซิลิคอนเล็กๆ ได้มากกว่า ๑๐,๐๐๐สมาชิก ทำให้การปรับปรุงโพรเซสเซอร์ออกเป็นแบบต่างๆ มีลักษณะวงจรและสถาปัตยกรรมต่างๆ มีอัตราเร็วสูง มีความยาวข้อมูล ๘ หรือ ๑๖ บิต และมีประสิทธิภาพดีขึ้น ออกมาจำหน่ายอีกหลายแบบโดยบริษัทอีกหลายบริษัท ทำให้เกิดมีการนำเอาโพรเซสเซอร์มาใช้สร้างคอมพิวเตอร์ออกเป็นสองแนวทาง แนวทางแรกสร้างคอมพิวเตอร์ขนาดยักษ์ หรือซูเปอร์คอมพิวเตอร์ (super computer) และอีกแนวทางเป็นการสร้างเครื่องคอมพิวเตอร์ขนาดจิ๋วหรือไมโครคอมพิวเตอร์ (microcomputer) เป็นผลให้มีการสร้างเป็นเครื่องคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล (personalcomputer)
ส่วนความจำ ในยุคของเครื่องคอมพิวเตอร์รุ่นที่ ๔ ได้มีการพัฒนานำเอาระบบความจำแบบวงจรเบ็ดเสร็จชนิดใหญ่ หรือแอลเอสไอ (LSI; large-scale integration)และแบบเลเซอร์ (laser mass memory) มาใช้งาน การใช้ระบบความจำแบบวงจรเบ็ดเสร็จชนิดใหญ่เป็นที่นิยมกันมากโดยจะต้องใช้ร่วมกับวิธีการเก็บข่าวสารด้วยวิธีที่เรียกว่า"เก็บความจำแบบแอสโซซิเอทีฟ" (associative memory)ซึ่งเป็นวิธีการระบุตำแหน่งที่เก็บข่าวสารในส่วนความจำด้วยข้อความในข่าวสาร แทนที่จะระบุตำแหน่งของส่วนความจำวิธีการนี้จะทำให้มีราคาลดลงประมาณ ๒ เท่า (ถ้านำวิธีการนี้ไปใช้กับส่วนความจำแบบเก่าที่นิยมใช้กันอยู่ ราคาจะลดลง๔ เท่า) ถ้าหากนิยมใช้กันมากและทำการผลิตวงจรเบ็ดเสร็จชนิดใหญ่จำนวนมาก จะทำให้ราคาลดต่ำลงกว่านี้มากและสิ่งที่สำคัญมากที่สุดนั้นก็คือ จะทำให้ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับระบบสั่งงานถูกลงมาก นอกจากนี้ จะสามารถปฏิบัติงานกับข้อมูลขนาดใหญ่ได้ดีขึ้น และรวดเร็วขึ้นกว่าเดิม
ระบบความจำแบบเลเซอร์นิยมใช้เก็บข้อมูลขนาดใหญ่ ใช้เป็นส่วนความจำรอง ระบบความจำแบบเลเซอร์เป็นแถบแม่เหล็กที่เจาะเป็นรูเล็กๆ ด้วยลำแสงเลเซอร์ รูเหล่านี้ไม่สามารถปะติดกันตามเดิม ซึ่งหมายความว่าส่วนความจำแบบนี้ไม่สามารถลบออกหรือเขียนใหม่ได้ อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าการบันทึกจะคงที่แต่สามารถทำให้ทันสมัยได้ด้วยการทิ้งช่องว่างไว้บนแถบเพื่อที่จะเพิ่มข้อมูลลงไปในภายหลัง ระบบความจำแบบเลเซอร์สามารถเก็บข้อมูลได้หลายพันล้านบิตเพื่อใช้งานในระบบออนไลน์
ชุดคำสั่งไมโคร (microprogramming) เป็นพัฒนาการที่สำคัญมาก โดยเฉพาะชุดคำสั่งเป็นวิธีปฏิบัติของส่วนควบคุม เพื่อควบคุมการทำงานของเครื่องคอมพิวเตอร์ตามคำสั่งที่เป็นขั้นตอนเล็กๆ ตามลำดับ ในลักษณะของการปฏิบัติงานเบื้องต้น แทนที่จะสร้างสัญญาณควบคุมขึ้นโดยตรง แล้วนำไปควบคุมการทำงานของเครื่องคอมพิวเตอร์ วิธีการนี้ได้เคยใช้กับเครื่องคอมพิวเตอร์รุ่นที่๓ มาแล้ว คือ ไอบีเอ็มระบบ/๓๖๐ และอาร์ซีเอสเปกตรา ๗๐ แต่เมื่อมาถึงเครื่องคอมพิวเตอร์รุ่นที่ ๔ ได้พัฒนาให้ก้าวหน้าอย่างกว้างขวาง สามารถทำให้เครื่องคอมพิวเตอร์ขนาดเล็กได้คำสั่งชุดเดียวกับที่ได้เตรียมไว้ใช้กับเครื่องคอมพิวเตอร์ขนาดใหญ่ ที่สร้างขึ้นตามแนวทางเดียวกัน จึงได้เป็นที่ยอมรับกันว่า ชุดคำสั่งเป็นวิธีการของเครื่องคอมพิวเตอร์รุ่นที่ ๔
ระบบการสั่งงาน ได้มีการพัฒนาระบบการสั่งงานคอมพิวเตอร์รุ่นที่ ๔ ให้ดีขึ้น แต่ยังไม่เป็นที่สำคัญเด่นชัด เช่น ได้มีการใช้คำสั่งแบบใหม่ ๑๔ แบบ กับไอบีเอ็มระบบ/๓๖๐ (เครื่องคอมพิวเตอร์รุ่นที่ ๓) แต่สามารถนำไปใช้ได้กับระบบ/๓๗๐ แบบ (เครื่องคอมพิวเตอร์รุ่นที่ ๔) ในปัจจุบันมีระบบสั่งงาน ๓๖๐ แบบ สามารถใช้ได้กับเครื่องคอมพิวเตอร์อนุกรม ๓๗๐ ยกเว้นระบบสั่งงานบางแบบที่ชุดคำสั่งขึ้นอยู่กับเวลาและขึ้นอยู่กับอุปกรณ์เครื่องใช้ ซึ่งสามารถแก้ไขด้วยระบบการสั่งงาน "ซิสเจน" (SYSGEN; systemgenerator) โดยจะสามารถเปลี่ยนคำสั่งเหล่านั้นให้ใช้กับระบบ/๓๗๐ ได้
การพัฒนาที่สำคัญนอกจากนี้ได้ปรากฏขึ้นอย่างเด่นชัดตอนกลางปี พ.ศ. ๒๕๑๓ ไอบีเอ็มได้โฆษณาถึงโครงการใช้ระบบการสั่งงานอัตโนมัติ ซึ่งใช้แสงกวาดไปตามแผนภูมิ(flow chart) แล้วทำให้สามารถเขียนเป็นภาษาฟอร์แทรนอย่างง่ายๆ ออกมาได้
การสร้างเครื่องคอมพิวเตอร์ขนาดยักษ์ คอมพิวเตอร์ขนาดยักษ์นี้นิยมเรียกว่า ซูเปอร์คอมพิวเตอร์ ในยุคของเครื่องคอมพิวเตอร์รุ่นที่ ๔ มีการสร้างคอมพิวเตอร์ขึ้นมาทั้งขนาดเล็ก กลาง ใหญ่ และยักษ์ โดยระบุลักษณะสำคัญของเครื่องคอมพิวเตอร์ขนาดใหญ่ด้วยการมีคำสั่งระดับล้านคำสั่งต่อวินาที (mips; million instruction per second)และคอมพิวเตอร์ขนาดยักษ์ ด้วยการมีคำสั่งระดับสิบล้านคำสั่งขึ้นไปต่อวินาที บริษัทซีดีซี (CDC) ได้เป็นผู้นำในการสร้างคอมพิวเตอร์ขนาดยักษ์ ซีดีซี ๗๖๐๐ (CDC 7600) ขึ้นต่อมาบริษัทไอบีเอ็มได้สร้าง ไอบีเอ็ม ๓๖๐/๑๙๕ (IBM360/195) เครื่องทั้งสองนี้ทำงานด้วยอัตราเร็วประมาณ ๑๕ล้านคำสั่งต่อวินาที
ต่อมาบริษัทซีดีซีได้สร้างเครื่องคอมพิวเตอร์ขนาดยักษ์ ที่มีความเร็วสูงขึ้นถึงประมาณ ๑๐๐ ล้านคำสั่งต่อวินาทีเรียกว่า สตาร์ (STAR; string aray) นอกจากนี้บริษัทเบอร์โรก็ได้สร้างเครื่องอิลลิแอ็ก ๔ ขึ้นมา มีความเร็วใกล้เคียงกับเครื่องสตาร์ ซึ่งอัตราเร็วขนาดนี้นับว่าสูงมาก และเป็นที่น่าประทับใจอย่างยิ่ง
บริษัทที่มีชื่อเสียงในการผลิตคอมพิวเตอร์ขนาดยักษ์อีกบริษัทหนึ่งคือ บริษัทเครย์ (Cray) สร้างเครื่องเครย์ ๑(Cray 1) และเครย์ ๒ (Cray 2)
มินิคอมพิวเตอร์ วิวัฒนาการด้านเครื่องคอมพิวเตอร์ขนาดใหญ่หรือที่นิยมเรียกว่า เมนเฟรม (mainframe) ได้เริ่มด้วยเครื่องคอมพิวเตอร์รุ่นที่ ๑ ถึงรุ่นที่ ๔ และในระหว่างการพัฒนาคอมพิวเตอร์ขนาดใหญ่จากรุ่นที่ ๓ เป็นรุ่นที่ ๔ ให้เป็นเครื่องที่ใหญ่ขึ้น ทำงานได้มากขึ้น มีความเร็วสูงขึ้นนั้น ได้มีผู้มองเห็นตลาดอีกแห่งหนึ่งซึ่งยังไม่มีใครผลิตคือ เครื่องคอมพิวเตอร์ขนาดเล็กหรือมินิคอมพิวเตอร์ราคาต่ำ พอใช้ทำงานได้ในกิจการที่ไม่ใหญ่นัก
ผู้ที่เห็นลู่ทางการตลาดสำหรับมินิคอมพิวเตอร์ในช่วงแรกๆ ของพ.ศ. ๒๕๐๓-๒๕๑๒ จึงตั้งบริษัทขึ้น จัดจำหน่ายมินิคอมพิวเตอร์ ซึ่งทำงานได้ทุกอย่างคล้ายคอมพิวเตอร์ขนาดใหญ่ แต่ทำงานได้ปริมาณน้อยกว่าและมีความเร็วน้อยกว่า
บริษัทแรกคือ เดก (DEC; Digital EquipmentCorporation) ผลิตเครื่องมินิคอมพิวเตอร์ขนาดตั้งโต๊ะออกมาขาย เมื่อขายได้ดีก็มีบริษัทอื่นๆ ผลิตตามบ้าง เช่น ดาตาเจเนอรัล (Data General) ดาตาพอยนต์ (Datapoint)เท็กซัสอินสตรูเมนต์หรือทีไอ (TI) แทนเด็ม (Tandem)เพอร์กิน-เอลเมอร์ (Perkin-Elmer) ไพรม์(Prime) แวง(Wang) เอชพี (HP) เอ็นอีซี (NEC) ไอบีเอ็ม (IBM)ฮันนีเวลล์ (Honeywell) และฮิตาชิ (Hitachi)
มินิคอมพิวเตอร์รุ่นแรกๆ นั้นเป็นขนาด ๑๖ บิต แต่ต่อมาเมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๘ บริษัทโกลด์ (Gould) ได้พัฒนาซูเปอร์มินิ (super mini) ขนาด ๓๒ บิตออกสู่ตลาด และใน พ.ศ.๒๕๒๐ เดก (DEC) ได้ประกาศเครื่องแวกซ์ ๑๑/๗๘๐ (Wax11/780) เป็นซูเปอร์มินิขนาด ๓๒ บิต ที่ช่วยให้ตลาดขยายได้อย่างกว้างขวาง
ไมโครคอมพิวเตอร์ หลังจากที่มีผู้ผลิตมินิคอมพิวเตอร์ออกสู่ตลาดเพียง ๒-๓ ปี ประวัติศาสตร์ด้านวิวัฒนาการคอมพิวเตอร์ก็ได้ซ้ำรอยอีกครั้งหนึ่งด้วยการที่มีผู้ผลิตเครื่องคอมพิวเตอร์ขนาดจิ๋วหรือคอมพิวเตอร์ขึ้นมา ราคาต่ำกว่าและทำงานได้ทุกอย่างเหมือนมินิคอมพิวเตอร์ แต่น้อยกว่าและช้ากว่า
บริษัทที่ผลิตไมโครคอมพิวเตอร์บริษัทแรกคือ บริษัท อินเทล ซึ่งได้ผลิตโพรเซสเซอร์ ขนาด ๔ บิต ชื่ออินเทล ๔๐๐๔ และสร้างแบบจำลองคอมพิวเตอร์ขนาด ๔ บิต ชื่อ ซิม ๐๔ (SIM 04) แต่มิได้เอาออกวางตลาด
ถึงปลาย พ.ศ. ๒๕๑๗ บริษัทอัลแทร์ (Altari) ได้นำไมโครคอมพิวเตอร์ ขนาด ๘ บิต ออกสู่ตลาดเป็นแบบชิ้นส่วนให้ผู้สนใจซื้อไปประกอบเอง ราคาชุดละไม่ถึง ๔๐๐ เหรียญสหรัฐ และใช้โพรเซสเซอร์ อินเทล ๘๐๐๘
จากการที่ได้เห็นเครื่องอัลแทร์ขายดี ก็มีผู้สนใจรายอื่นๆ ผลิตไมโครคอมพิวเตอร์ขึ้นมาขายอีกรวมกว่า ๑๕๐บริษัท บริษัทที่มีชื่อเสียงมากสำหรับเครื่องขนาด ๘ บิตได้แก่ แอปเปิล (Apple) เรดิโอแช็ค (Radio Shack) เป็นต้น
ไมโครคอมพิวเตอร์ ขนาด ๘ บิตนั้น มีข้อจำกัดที่สำคัญ คือ สามารถมีส่วนความจำหลักได้เพียงอย่างมาก๖๔ KB (KB = kilobyte ๑ KB = ๑,๐๒๔ หน่วยของส่วนความจำ)
ต่อมาจึงได้มีการพัฒนาไมโครคอมพิวเตอร์ขนาด ๑๖บิตขึ้น มีส่วนความจำได้ถึง ๖๔๐ KB และบริษัทที่มีชื่อเสียงที่สุดด้านไมโครคอมพิวเตอร์ขนาด ๑๖ บิต ก็คือ ไอบีเอ็มซึ่งประกาศ ไอบีเอ็ม พีซี (PC) ออกตลาดใน พ.ศ. ๒๕๒๖และยึดครองตลาดไมโครคอมพิวเตอร์ได้มากกว่าบริษัทอื่นๆ