
๒. กฎการเข้ารหัสซาวน์เด็กซ์ของ วิชิตหล่อจีระชุณห์กุล และ เจริญ คุวินทร์พันธุ์
วิชิต หล่อจีระชุณห์กุล และ เจริญ คุวินทร์-พันธุ์ ได้ศึกษาขั้นตอนวิธีของ Odell และ Russellเพื่อสร้างกฎการเข้ารหัสซาวน์เด็กซ์สำหรับภาษาไทยพร้อมทั้งเสนอวิธีวัดความถูกต้องระบบซาวน์เด็กซ์ใดๆ ต่อไปนี้คือ กฎการเข้ารหัสที่ทั้งสองท่านเสนอ
๑. รหัสจะอยู่ในรูป "พยัญชนะ ตัวเลขฐานสิบหก ตัวเลขฐานสิบหก ตัวเลขฐานสิบหกตัวเลขฐานสิบหก" (ความยาวทั้งหมด ๕ ตัว)
๒. จัดระดับภาษาไทยเป็น ๔ ระดับเหมือนพิมพ์ดีด
ระดับที่ ๑ วรรณยุกต์ ทัณฑฆาต
ระดับที่ ๒ สระบน ไม้ไต่คู้ นิคหิต
ระดับที่ ๓ พยัญชนะ สระกลาง ไม้ยมกไปยาลน้อย
ระดับที่ ๔ สระล่าง พินทุ
๓. การลงรหัส จะกระทำโดยพิจารณาอักขระทั้ง ๔ ระดับ ณ ตำแหน่งหนึ่งๆ ของอักขระในระดับที่ ๓
๔. ทิ้งอักขระในระดับที่ ๑ โดยไม่ลงรหัสและถ้าเป็นทัณฑฆาต ให้ทิ้งอักขระระดับอื่นในตำแหน่งเดียวกัน โดยไม่ต้องลงรหัสเช่นกัน
๕. ทิ้ง ็ (ไม้ไต่คู้) ํ (นิคหิต) ฺ (พินทุ) ๆ (ไม้ยมก) ฯ (ไปยาลน้อย) โดยไม่ลงรหัส
๖. ถ้าอักขระตัวแรกในระดับที่ ๓ เป็นพยัญชนะ ให้เข้ารหัสตามตารางที่ ๒.๑ หรือมิฉะนั้น ให้เข้ารหัสตัวที่ ๒ ในระดับที่ ๓ (ซึ่งต้องเป็นพยัญชนะ) ตามตารางที่ ๒.๑ และเข้ารหัสตัวแรกตามตารางที่ ๒.๒
๗. ถือ ะ ั ิ ี เป็นตัวคั่น แต่ไม่ลงรหัส
๘. ถือ า ๅ ึ ื ู เป็นตัวคั่น และลงรหัสด้วย
๙. ถือ ุ เป็นตัวคั่น และลงรหัสเสมอถ้าอยู่ในตำแหน่งที่ ๑ แต่ถ้าอยู่ในตำแหน่งอื่นจะลงรหัสเมื่อไม่ได้อยู่ใต้พยัญชนะ ต และ ธ
๑๐. ทิ้ง ห และ อ โดยไม่ต้องลงรหัสนอกจากเป็นพยัญชนะตัวแรก หรือมี ึ ื ุ ู อยู่ในตำแหน่งเดียวกัน
๑๑. ทิ้ง ร ว ย ฤ ฦ โดยไม่ลงรหัส นอกจากเป็นพยัญชนะตัวแรก หรือมีตัวที่คั่นนำหน้าหรือมี ึ ื ุ ู อยู่ในตำแหน่งเดียวกัน
๑๒. รหัสของอักขระที่เหลือให้เป็นไปตามตารางที่ ๒.๒
๑๓. ถ้าอักขระที่ติดกันได้รหัสเดียวกัน ให้ทิ้งรหัสที่ซ้ำไป นอกจากมีตัวคั่นระหว่างกลาง
๑๔. เติมศูนย์ให้เต็ม หรือตัดตัวเลขที่เกินออก