ระบบปฏิบัติการดอสเป็นระบบปฏิบัติการที่ใช้เครื่องคอมพิวเตอร์ระดับไมโครคอมพิวเตอร์ การใช้งานระบบปฏิบัติการดอสนั้น ผู้ใช้ต้องพิมพ์คำสั่งลงไป เช่น ถ้าต้องการดูรายชื่อแฟ้มข้อมูลที่จัดเก็บอยู่บนฮาร์ดดิสก์ของเครื่องผู้ใช้ก็ต้องพิมพ์คำสั่งในการดูชื่อแฟ้มข้อมูลลงไประบบปฏิบัติการจึงจะทำงานในแต่ละคำสั่งนั้น
คำสั่งของระบบปฏิบัติการดอสแบ่งเป็น ๒ ประเภท คือ คำสั่งภายใน (internal command) และคำสั่งภายนอก (external command) คำสั่งภายใน คือ คำสั่งที่สามารถเรียกใช้งานได้ทันที เนื่องจากคำสั่งจะถูกเก็บไว้ในหน่วยความจำสำรอง ตั้งแต่เมื่อเปิดเครื่องคอมพิวเตอร์ขึ้นมา ส่วนใหญ่เป็นคำสั่งที่เรียกใช้งานบ่อย ๆ ตัวอย่างเช่น คำสั่งดูรายชื่อแฟ้มข้อมูล "dir" คำสั่งลบแฟ้มข้อมูล "del ตามด้วยชื่อแฟ้มข้อมูล" เป็นต้น
คำสั่งภายนอก คือ คำสั่งที่เรียกโปรแกรมที่เก็บไว้มาทำงาน เนื่องจากโปรแกรมเหล่านี้ไม่มีการใช้งานบ่อยเหมือนกับคำสั่งภายใน โดยโปรแกรมที่เรียกทำงานได้จะต้องเป็นโปรแกรมที่มีส่วนขยายเป็น com exe และ bat เท่านั้นนอกจากนี้ยังมีลำดับการทำงานอีกด้วย กล่าวคือโปรแกรมที่มีชื่อเดียวกับระบบปฏิบัติการดอสจะประมวลผลโปรแกรมที่มีส่วนขยายเป็น com ก่อนถ้าไม่มี จึงจะประมวลผลโปรแกรมที่มีส่วนขยายเป็น exe และถ้าไม่มีทั้งสองส่วนขยายข้างต้น จึงจะประมวลผลโปรแกรมที่มีส่วนขยายเป็น bat
ข้อจำกัดของระบบปฏิบัติการดอสมีหลายประการ คือ ระบบปฏิบัติการดอสไม่สามารถทำงานแบบหลายๆ งานพร้อมกันได้ และจำกัดเนื้อที่หน่วยความจำเพียง ๖๔๐ กิโลไบต์
นอกจากนี้ การใช้งานระบบปฏิบัติการดอสผู้ใช้จะต้องจำคำสั่งต่างๆ ในการใช้งานจำนวนมากเพื่อเรียกใช้โปรแกรมเพียง ๑ โปรแกรม ทำให้ผู้ใช้รู้สึกว่า การใช้งานเครื่องคอมพิวเตอร์มีความยุ่งยาก ระบบปฏิบัติการดอสจึงไม่เป็นที่นิยมใช้กันแล้วในปัจจุบันนี้ ต่อมาจึงได้มีการพัฒนาโปรแกรม โดยออกแบบส่วนติดต่อกับผู้ใช้ที่ใช้ รูปภาพแทนคำสั่งขึ้นมา ที่เราเรียกกันโดยทั่วไปว่า "โปรแกรมวินโดวส์"